ไตเรื้อรัง อย่าสิ้นหวัง เราอยู่ได้ (บันทึกของแผ่นดิน ๑๑)

ไตเรื้อรัง อย่าสิ้นหวัง เราอยู่ได้


…..โรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Diseases – CKD) คือ ภาวะที่ไตถูกทำลายจนทำให้ความสามารถในการทำงานของไตค่อยๆ เสื่อมลง การวินิจฉัยโรคไตเรื้อรังส่วนใหญ่ประเมินจาก “อัตราการขจัดของเสียที่ไต” (Glomerular Filtration Rate – GFR) ที่น้อยกว่า ๖๐
…..ถ้าหากไตทำงานได้น้อยกว่าร้อยละ ๑๕ เรียกว่าเข้าสู่ภาวะไตวาย ต้องทำการฟอกไตหรือล้างไตด้วยเครื่องที่ทำหน้าที่แทนไต การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ร่วมกับการปรับวิถีชีวิตจะช่วยให้ผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายมีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือและความเข้าใจของผู้ป่วยและญาติก็เป็นปัจจัยที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ดังนั้นการมีความรู้ความเข้าใจในโรคไตเรื้อรังจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยป้องกันและชะลอความเสื่อมของไต

ระยะของโรคไตเรื้อรัง รายละเอียด ค่าการทำงานของไต (GFR)      % การทำงานของไต
ระยะที่ ๑  ไตเริ่มเสื่อม แต่ภาวการณ์ทำงานของไตยังปกติ อาจพบโปรตีนในปัสสาวะได้ ๙๐ หรือมากกว่า       ๙๐-๑๐๐ %
ระยะที่ ๒ ไตเสื่อม เริ่มสูญเสียการทำงานของไตเล็กน้อย     ๖๐-๘๙              ๖๐-๘๙ %
ระยะที่ ๓ ไตเสื่อมสูญเสียการทำงานของไตระดับปานกลาง ๓๐-๕๙              ๓๐-๕๙ %
ระยะที่ ๔ ไตเสื่อม สูญเสียการทำงานของไตอย่างรุนแรง    ๑๕-๒๙              ๑๕-๒๙ %
ระยะที่ ๕ ไตเรื้อรังระยะสุดท้าย                                    น้อยกว่า ๑๕       น้อยกว่า ๑๕%

ความเสื่อมเป็นธรรมชาติของไต
…..โดยปกติแล้วไตของคนเราจะเริ่มเสื่อมหรือมีการทำงานถดถอยลงในอัตราร้อยละ ๑ ต่อปี นับตั้งแต่อายุ ๓๕ ปีเป็นต้นไป ซึ่งไม่ถือว่าเป็นโรคแต่เป็นการเสื่อมตามธรรมชาติ การเสื่อมไม่ได้เกิดกับทั้งไต จะมีหน่วยไตบางส่วนเริ่มเสื่อม แต่ไตก็ยังสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ เมื่อเราอายุ ๘๐ ปี ความสามารถในการทำงานของไตจะลดลงเหลือประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งก็จัดว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ถือว่าเป็นโรคแต่อย่างใด

เหตุปัจจัย…แห่งโรคไตเรื้อรัง
๑. อายุ
๒. ผู้ที่เป็นโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น โรคติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะซ้ำซาก โรคนิ่วในไตและทางเดินปัสสาวะ โรคไต (เป็นถุงน้ำซึ่งสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์) โรคต่อมลูกหมาก โรคไตอื่นๆ
๓. ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังที่มีผลกระทบต่อการทำงานของไต เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันสูงโรคเกาต์ โรคเอสแอลอี (SLE) เป็นต้น
๔. ยาบางชนิด โดยเฉพาะยาในกลุ่มต้านอักเสบ ทั้งชนิดที่เป็นสเตียรอยด์และไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti inflammation Drugs-NSAIDs)
๕. การสัมผัสกับสารเคมีบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น สารตะกั่ว แคดเมียม

อาการเป็นไฉน โรคไตเรื้อรัง
…..ผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะแรกส่วนมากจะไม่มีอาการแสดงให้เห็นชัด จะรู้ได้ก็จากผลการตรวจเลือดหรือปัสสาวะ ซึ่งค่าอาจแสดงให้เห็นความผิดปกติหรือพบโปรตีนในปัสสาวะ สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคไตเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตมีการบาดเจ็บ โรคนิ่วในไต ต่อมลูกหมากโต โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจล้มเหลว มีประวัติสมาชิกในครอบครัวป่วยอยู่ในภาวะไตเรื้อรัง มีโรคทางพันธุกรรมที่เกี่ยวกับไต โรคเอสแอลอีหรือที่บางครั้งเรียกกันว่าเป็นโรคพุ่มพวง ผู้ที่มีภาวะเลือดปนในปัสสาวะ (Haematuria) ผู้ที่มีภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะ (Proteinuria) เป็นต้น โดยผู้ที่มีอาการเหล่านี้ควรได้รับการตรวจการทำงานของไตทั้งจากการตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะเป็นระยะ เพื่อตรวจหาและเฝ้าระวังความผิดปกติต่างๆ ของไตไม่ให้เกิดภาวะไตเรื้อรังในอนาคตได้ ผู้ป่วยไตเรื้อรังอาจจะมีอาการแสดงที่แตกต่างกันไป โดยขึ้นกับความรุนแรงของโรคไต อาการที่อาจพบ ได้แก่
• เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
• เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ไม่มีแรง น้ำหนักลด
• บวมที่ขาแขน และหน้า โดยเฉพาะรอบดวงตา
• พบความดันโลหิตสูง หรือคุมความดันโลหิตได้ยาก
• ซีด มึนงง ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ คันตามตัว เป็นตะคริว อาการแขนขาอยู่ไม่เป็นสุข (restless leg syndrome)
• ปวดหลังใต้ชายโครง
• ปัสสาวะบ่อยกลางคืน
• ปวดกระดูกและกระดูกหักง่ายในผู้ใหญ่ แต่ในผู้ป่วยเด็กจะโตช้า
• มีประจำเดือนผิดปกติ
…..อาการเหล่านี้อาจเกิดจากโรคอื่นก็ได้ ไม่ได้เป็นอาการเฉพาะของโรคไตเท่านั้น จึงถือเป็นพียงข้อสังเกตเท่านั้น นอกจากนี้การไม่มีอาการผิดปกติดังที่กล่าวมาก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่เป็นโรคไตเรื้อรัง การจะรู้ได้ชัดเจนจำเป็นจะต้องมีการตรวจวินิจฉัยโดยเฉพาะภาวะไตเรื้อรังในระยะที่การทำงานของไตลดลงมาก มักสังเกตเห็นอาการบวมในร่างกาย ที่อาจเกิดจากการสูญเสียโปรตีนทางปัสสาวะ โดยที่ไตยังทำงานได้ปกติ หรือ มีการคั่งของโซเดียมจากภาวะไตเรื้อรังก็ได้ อาการบวมมักเริ่มที่เท้าก่อน โดยอาจบวมไม่มากในตอนแรก แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จนบวมทั่วตัวได้ แต่อาการบวมมิได้แสดงว่าไตเรื้อรังเสมอไป
…..สำหรับผู้ป่วยที่ไตเข้าสู่ภาวะไตเรื้อรัง หากไม่รักษาจะมีอาการดังนี้คือ คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ขาดสมาธิในการทำงาน ซีด อ่อนเพลีย หายใจหอบลึก ชาตามปลายมือปลายเท้า ตะคริว คันตามตัว ซึม ชัก และหมดสติในที่สุด นอกจากนี้ ในระยะท้ายๆ ของภาวะไตเรื้อรังปริมาณปัสสาวะจะลดลงและอาจลดลงจนไม่มีปัสสาวะเลย

การรักษาโรคไตเรื้อรัง
…..ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคไตเรื้อรังให้หายขาด มีเพียงการรักษาชะลอภาวะไตเสื่อมให้ช้าลง ชะลอการเกิดไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ยืดระยะเวลาก่อนเข้าสู่กระบวนการล้างไต หรือการปลูกถ่ายไต รวมทั้งควบคุม บรรเทา และรักษาภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากโรคไตเรื้อรัง เช่น อาการคันตามผิวหนัง ภาวะกระดูกอ่อนทำให้แตกหักง่าย การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ตลอดจนป้องกันการเกิดโรคร่วมต่างๆ โดยเฉพาะโรคทางระบบหลอดเลือดหัวใจ โดยการให้ยาร่วมกับการปรับพฤติกรรมของผู้ป่วย
การใช้ยา
….การให้ยาควบคุมความดันโลหิตสูง เป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยลดการลุกลามของความเสียหายที่ไต โดยใช้ยาในกลุ่มที่เรียกว่า Angiotensin Converting Enzyme (ACE) Inhibitors ซึ่งลดความเสื่อมของไตในหลายกลไก เช่น ลดความดันของเลือดในหน่วยไต ลดการรั่วของโปรตีนในทางเดินปัสสาวะ ลดการเกิดอนุมูลอิสระ
การปรับพฤติกรรม
การควบคุมภาวะโรคเรื้อรัง ที่สามารถก่อให้เกิดโรคไตได้ เช่น โรคความดัน เบาหวาน โรคเกาต์ หรือนิ่วในไต โดยทำการรักษาอย่างจริงจังจนสามารถควบคุมโรคได้เป็นอย่างดีและต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือ การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ไปพบแพทย์ตามที่ได้รับนัดหมาย และทำการตรวจการทำงานของไตทุกๆ ปี
• จัดการอย่างเด็ดขาดกับโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น เมื่อมีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ) หรือมีภาวะอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ (นิ่ว ต่อมลูกหมากโต) จำเป็นต้องได้รับการรักษาให้หายขาด อย่าปล่อยให้เป็นเรื้อรัง
รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ไม่สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดและหัวใจ รวมไปถึงโรคหัวใจวายหรือเส้นเลือดสมองตีบ และยังอาจทำให้ปัญหาโรคไตที่เป็นอยู่ทรุดลงไปอีก
รับประทานอาหารสมดุล อาหารที่ดีต่อสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญต่อการป้องกันโรคไตเรื้อรัง หากจำกัดอาหารโปรตีนให้เหมาะสมตั้งแต่ระยะต้นๆ จะช่วยชะลอความเสื่อมของไตได้ การเลือกกินอาหารยังช่วยควบคุมระดับโคเลสเตอรอลในเลือด คงระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี อาหารที่ดียังรวมถึงการจำกัดปริมาณเกลือในอาหารไม่ให้มากกว่า ๖ กรัมต่อวันหรือ ๑ ช้อนชาต่อวัน (เกลือหนึ่งช้อนชามีน้ำหนักเท่ากับน้ำหนัก ๖ กรัมพอดี) การบริโภคเกลือมากเกินไปอาจจะมีผลให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นได้ นอกจากนั้นแล้วควรเลี่ยงการทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง หันมาทานอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวสูงซึ่งจะช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลได้ เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันปลา อะโวควาโด ถั่วและเมล็ดพืช น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันมะกอก เป็นต้น
งดแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณสูงเกินไปจะเพิ่มระดับความดันโลหิตและระดับโคเลสเตอรอลในเลือดให้สูงขึ้น ดังนั้นควรดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณจำกัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงและโรคไตเรื้อรัง
การออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยลดความดันโลหิต คุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดไตเรื้อรัง และยังช่วยลดความตึงเครียด ทำให้หัวใจแข็งแรงและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ เพิ่มระดับของ Hematocrit และ Hemoglobin ในร่างกายซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการพาออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย
หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจสร้างความเสียหายแก่ไต อาทิ ยาต้านอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น อิบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนก เว้นแต่จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ และไม่ควรซื้อยาจากร้านขายยามารับประทานเอง
ดูแลจิตใจไม่ให้เครียด ความเครียดจะทำให้ระบบประสาทที่เรียกว่าซิมพาเธติกทำงานมากขึ้น ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตน้อยลง
• ตรวจวัดค่าไตสม่ำเสมอ

ทางเลือก เมื่อไตล้มเหลว
…..ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังส่วนมากจะค่อยๆ เริ่มเข้าสู่ภาวะไตล้มเหลวร่วมกับภาวะสุขภาพที่ย่ำแย่ลง ทีละน้อย โดยมีค่า GFR ต่ำกว่า ๑๕ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่าจะต้องเข้าสู่กระบวนการล้างไต ภาวะไตล้มเหลวจะส่งผลต่อชีวิตของผู้ป่วยและคนใกล้ชิดอย่างมาก ทั้งเรื่องอารมณ์ความรู้สึกและทางร่างกาย เมื่อประสบภาวะไตล้มเหลว ผู้ป่วยจะต้องรับการรักษาด้วยการฟอกไตหรือปลูกถ่ายไต หากไม่รักษาก็ไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ แต่ถ้าได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมก็จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้
การปลูกถ่ายไต
…..ถึงแม้ว่าการปลูกถ่ายไตจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะไตล้มเหลว แต่โอกาสในการที่จะได้รับการปลูกถ่ายไตนั้นค่อนข้างต่ำมาก ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รอการผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่ประมาณ ๔๐,๐๐๐ คน แต่ในปี ๒๕๖๐ ที่ผ่านมามีการปลูกถ่ายไตได้เพียง ๗๐๙ คน เนื่องจากไตที่บริจาคมีไม่เพียงพอ ซึ่งการปลูกถ่ายไตจะทำก็ต่อเมื่อได้รับไตบริจาคจากผู้ที่เพิ่งเสียชีวิตหรือผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต
…..การผ่าตัดปลูกถ่ายไตมีอัตราการประสบความสำเร็จสูงมาก แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่สำคัญ คือ การที่ร่างกายของผู้ป่วยปฏิเสธอวัยวะใหม่ที่ได้รับการปลูกถ่าย เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของผู้รับไตอาจโจมตีไตของผู้บริจาคเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม ในทางการแพทย์การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้มักจะให้ผู้ป่วยรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงคือ ภูมิต้านทานอ่อนแอลง และทำให้ติดเชื้อง่าย ดังนั้นผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตต้องพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
การฟอกไต
…..การฟอกไต เป็นกระบวนการบำบัดที่ใช้เครื่องภายนอกร่างกายช่วยกรองของเสียจากเลือดและน้ำส่วนเกินออกทดแทนการทำงานของไตที่เสื่อมถอยไป แต่เครื่องฟอกไตก็ยังไม่มีประสิทธิภาพใช้การได้เทียบเท่ากับไตจริงของมนุษย์ ทำให้ผู้ป่วยที่ต้องรับการฟอกไตยังคงต้องคอยระมัดระวังเรื่องอาหารการกินและการดื่มอย่างเข้มงวด รวมถึงอาจต้องกินอาหารเสริมในกลุ่มเกลือแร่ แร่ธาตุต่างๆ รวมถึงการใช้ยาลดความดันโลหิตควบคู่กันไป
การฟอกไตปัจจุบันมีอยู่ ๒ แบบ คือ การฟอกไตทางช่องท้อง (Peritoneal dialysis) และการฟอกด้วยเครื่องไตเทียม (Haemodialysis)
การฟอกไตทางช่องท้อง
…..ร่างกายมนุษย์จะมีเยื่อบุท้องที่เรียกว่า Peritoneal membrane ที่ใช้กรองน้ำและของเสียส่วนเกินออกจากร่างกาย การฟอกไตทางช่องท้อง ทำได้โดยใช้สายสวนสอดเข้าไปยังช่องท้องของผู้ป่วยเพื่อดูดน้ำยาฟอกไตเข้าและออกจากช่องท้อง ใช้เวลาหนึ่งหรือสองชั่วโมงต่อวัน ทำเองที่บ้านได้
การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม
…..การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมเป็นวิธีกำจัดของเสียและน้ำส่วนเกินที่สะสมอยู่ภายในร่างกายจากการที่ไตหยุดทำงานออก เลือดจะถูกนำออกจากร่างกายเพื่อรับการกรองในเครื่องฟอกไตที่สามารถใช้งานแทนไตของจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณสี่ชั่วโมงและต้องทำซ้ำๆ สามครั้งต่อสัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนมากต้องเข้ารับการฟอกไตเช่นนี้ที่โรงพยาบาล มีผู้ป่วยจำนวนน้อยที่เลือกฟอกด้วยเครื่องไตเทียมที่บ้านเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงมาก


การดูแลผู้ป่วยไตล้มเหลว
…..ในภาวะนี้ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาและการปฏิบัติตัวตามข้อแนะนำของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านอย่างเคร่งครัด โดยมีญาติคอยดูแลอย่างใกล้ชิดและเข้มงวด ภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยแต่ละรายจะต่างกันไป ที่สำคัญๆ ได้แก่ อาการบวม ความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหยุดเต้นจากโพแทสเซียมสูง ภาวะกระดูกเปราะทำให้แตกหักง่าย ภาวะซีด (โลหิตจาง) ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ภูมิต้านทานโรคต่ำ ทำให้เป็นโรคติดเชื้อง่าย เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ภาวะแทรกซ้อนทางสมอง
การดูแลด้านอาหาร
…..สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาไตเรื้อรัง การรับประทานอาหารที่เหมาะสมมีความสำคัญมาก เพื่อให้ได้รับโปรตีนที่เหมาะสม และจำกัดอาหารที่จะเป็นภาระให้ร่างกายต้องกำจัดออกให้น้อยที่สุด ซึ่งมีข้อควรปฏิบัติดังนี้
• ควรได้รับอาหารที่มีโปรตีนต่ำเพื่อชะลอการเสื่อมของไต ในผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะ ๔-๕ ควรได้รับโปรตีน ๐.๘ กรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว และควรได้รับโปรตีนคุณภาพสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ขาว เป็นต้น ทั้งนี้ปริมาณโปรตีนที่เหมาะสมในผู้ป่วยไตเรื้อรังในแต่ละระยะควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือนักโภชนาการ ที่มีความรู้เพื่อคำนวณหาขนาดที่เหมาะสมเป็นประจำทุก ๓-๖ เดือน
• ได้รับพลังงานจากอาหารอย่างเพียงพอ
• รักษาระดับโพแทสเซียมให้อยู่ในระดับปกติ หากมีความดันโลหิตสูงหรืออาการบวมน้ำร่วมด้วย ควรจำกัดปริมาณเกลือโซเดียมด้วย
• ผู้ป่วยไตเรื้อรังควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและฟอสเฟตในปริมาณที่เหมาะสม ทั้งนี้อาจต้องพิจารณาจากผลเลือดในแต่ละรายอีกครั้งหนึ่ง

ปิดการแสดงความเห็น