ดาวหางสว่างใน พ.ศ. ๒๕๕๖

ดาวหางแพนสตาร์ส – C/2011 L4 (PANSTARRS)

McNaught     นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวหางแพนสตาร์สในภาพถ่ายเมื่อเดือนมิถุนายน 2554 ขณะนั้นดาวหางสว่างที่โชติมาตรประมาณ 19.4 ห่างดวงอาทิตย์ไกลถึง 7.9 หน่วยดาราศาสตร์ ดาวหางมีวงโคจรเป็นรูปไฮเพอร์โบลา ผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 10 มีนาคม 2556 และใกล้โลกที่สุดในวันที่ 5 มีนาคม 2556 ที่ระยะ 1.1 หน่วยดาราศาสตร์ ระนาบวงโคจรของดาวหางเกือบตั้งฉากกับวงโคจรโลก โดยเอียงทำมุม 84°

ปลายเดือนมกราคมหรือต้นเดือนกุมภาพันธ์เป็นช่วงที่คาดว่าดาวหางแพนสตาร์สจะเริ่มสว่างจนเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซีกโลกใต้สามารถสังเกตได้ดี ส่วนประเทศไทยยังไม่สามารถสังเกตได้ หรือสังเกตได้ยากมาก เนื่องจากดาวหางจะขึ้น-ตก เกือบพร้อมกับดวงอาทิตย์

   เดือนมีนาคม ดาวหางเริ่มปรากฏบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ วันที่ 9-17 มีนาคม 2556  น่าจะเป็นช่วงที่สังเกตดาวหางดวงนี้ได้ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย เนื่องจากคาดว่าจะเป็นช่วงที่ดาวหางสว่างที่สุด และตกลับขอบฟ้าช้าที่สุด อย่างไรก็ตาม การสังเกตส่วนหัวของดาวหางแพนสตาร์สอาจทำได้ยาก เพราะดาวหางปรากฏให้เห็นได้เฉพาะในเวลาที่มียังมีแสงสนธยา ท้องฟ้าไม่มืดสนิท และดาวหางจะอยู่ใกล้ขอบฟ้าในกลุ่มดาวปลา ถึงกระนั้น เราอาจสังเกตเห็นส่วนหางที่ทอดยาวขึ้นมาเหนือขอบฟ้าได้

จากแนวโน้ม คาดว่าวันที่  8-12 มีนาคม 2556  โชติมาตรของดาวหางแพนสตาร์สอาจอยู่ในช่วง +1 ถึง -1 ซึ่งนับว่าสว่างมาก แต่การพยากรณ์ความสว่างของดาวหางมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้เสมอ การสังเกตจะทำได้ตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ตกไปแล้ว 30 นาที (ภาคกลางตรงกับเวลาประมาณ 1 ทุ่ม) โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันตก

อุปสรรคสำคัญในการสังเกตดาวหางดวงนี้ในช่วงดังกล่าว คือดาวหางอยู่ห่างดวงอาทิตย์ 15° จึงมีเวลาสังเกตได้ไม่นานก่อนตกลับขอบฟ้า และดาวหางจะอยู่ใกล้ขอบฟ้ามาก จึงต้องสังเกตจากสถานที่ที่ขอบฟ้าทิศตะวันตกเปิดโล่ง ไม่มีสิ่งใดบดบัง หรือสังเกตจากอาคารสูง และอาจต้องใช้กล้องสองตาช่วยกวาดหาบริเวณขอบฟ้า ตาเปล่ามีโอกาสเห็นได้ หากดาวหางสว่างมาก มีหางยาว และท้องฟ้าเปิด ไม่มีเมฆหมอกและฝุ่นควันบดบัง

ดาวหางไอซอน – C/2012 S1 (ISON)
Lovejoy   ดาวหางไอซอนเป็นดาวหางอีกดวงหนึ่งที่มีแนวโน้มจะสว่างเห็นได้ด้วยตาเปล่าในปี 2556 และน่าจะสว่างกว่าดาวหางแพนสตาร์ส โดยปรากฏบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดในช่วงฤดูหนาวของปลายปี 2556 ถึงต้นปี 2557

ดาวหางไอซอนถูกค้นพบเมื่อเดือนกันยายน 2555 ข่าวการค้นพบดาวหางดวงนี้สร้างความตื่นเต้นในแวดวงนักดาราศาสตร์สมัครเล่นอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะนักดาราศาสตร์ในซีกโลกเหนือ ซึ่งไม่มีโอกาสเห็นดาวหางสว่างมานานหลายปี ขณะค้นพบ ดาวหางอยู่ห่างดวงอาทิตย์ 6.3 หน่วยดาราศาสตร์ สว่างที่โชติมาตร 18.8 ดาวหางไอซอนจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดราววันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2556 ที่ระยะห่าง 0.012 หน่วยดาราศาสตร์ หรือประมาณ 1.9 ล้านกิโลเมตร นับว่าเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์มาก ห่างผิวดวงอาทิตย์เพียง 1.2 ล้านกิโลเมตร

คาดว่าขณะดาวหางสว่างที่สุดในวันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2556 ความสว่างโดยรวมทั้งหัวและหางอาจสูงมาก คาดว่าอยู่ในช่วงโชติมาตร -10 ถึง -16 ซึ่งใกล้เคียงหรือสว่างกว่าดวงจันทร์เต็มดวง เราสามารถเห็นดวงจันทร์ในเวลากลางวันได้ ดังนั้นความสว่างระดับนี้จึงเพียงพอที่จะเห็นได้ในเวลากลางวัน อย่างไรก็ตาม ขณะนั้นดาวหางอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ การสังเกตจึงทำได้ไม่ง่ายนัก

หากความสว่างเป็นไปตามความคาดหมาย ผู้สังเกตในประเทศไทยจะเห็นดาวหางไอซอนด้วยตาเปล่าบนท้องฟ้าเวลากลางคืนได้ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2556 จนถึงต้นเดือนมกราคม 2557 บนซีกฟ้าตะวันออกในเวลาเช้ามืด (ยกเว้นปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม ซึ่งดาวหางจะขึ้น-ตกพร้อมดวงอาทิตย์) ดาวหางไอซอนจะใกล้โลกที่สุดราววันที่ 26-27 ธันวาคม 2556 ที่ระยะ 0.4 หน่วยดาราศาสตร์ (64 ล้านกิโลเมตร) ช่วงนั้นดาวหางขึ้นเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือในเวลาตี 3 เศษ และอยู่สูงเหนือขอบฟ้าราว 20°-25° เมื่อท้องฟ้าเริ่มสว่าง

ดาวหางไอซอนอาจกลายเป็นดาวหางที่สว่างที่สุดในรอบหลายสิบปี หรืออาจเป็นดาวหางที่สร้างความผิดหวังก็ได้ นักดาราศาสตร์เตือนว่าอย่าเพิ่งตั้งความหวังไว้สูงเกินไปนัก ในอดีตมีตัวอย่างของดาวหางหลายดวงที่มีแนวโน้มว่าจะสว่างเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เมื่อถึงเวลา กลับสว่างน้อยกว่าที่พยากรณ์ไว้หลายเท่า

เรื่อง : วรเชษฐ์ บุญปลอด   4 พฤศจิกายน 2555
ที่มา : สมาคมดาราศาสตร์ไทย (http://thaiastro.nectec.or.th)

 

3 thoughts on “ดาวหางสว่างใน พ.ศ. ๒๕๕๖

  1. เพิ่มเติมสำหรับผู้ไม่คุ้นเคย
    “โชติมาตร” ( Brightness มาจากคำว่า โชติ = สว่าง, มาตร = หน่วยวัด) เป็นคำเรียกอันดับความสว่างของเทหวัตถุ (ดาว อุกาบาต…) มีหน่วยเรียกเป็น Magnitude ค่าเป็นลบมากๆ คือสว่างมาก ค่าเป็นบวกมากๆ คือสว่างน้อย เหมือนเรียกอันดับการแข่งขันกีฬาถ้าได้อันดับมากก็แสดงว่าฝีมือยังไม่ดี ในที่นี้หมายถึงอันดับความสว่างที่ปรากฏแก่สายตาเปล่า เช่นดวงอาทิตย์ที่เราเห็นว่าสว่างที่สุดบนท้องฟ้ามีโชติมาตร -26.7 ดวงจันทร์วันเพ็ญ -12.6 ดาวซิลิอุส -1.5

    ยังมีอันดับความสว่างอีกอย่างคืออันดับความสว่างที่แท้จริงของดาว เพราะที่เรามองเห็นว่าดวงอาทิตย์สว่างที่สุดเพราะดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้โลกที่สุด แต่ความจริงแล้วมีดาวฤกษ์ที่ใหญ่กว่า ใหม่กว่า (อายุน้อยกว่า..ยังมีพลังงานมากกว่า) สว่างกว่าดวงอาทิตย์หลายเท่า แต่เพราะระยะทางห่างไกลจากโลกกว่าเราจึงเห็นว่าสว่างน้อยกว่า

    อีกคำหนึ่งที่น่ารู้จักคือ “หน่วยดาราศาสตร์” (Astronomical Unit, AU) เป็นหน่วยบอกระยะทางเท่ากับระยะห่างโดยเฉลี่ยระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ที่นักดาราศาสตร์ยอมรับคือประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร หรือ 93 ล้านไมล์

  2. ดาว ถ้ามีหาง ก็น่าสน..หุ หุ

  3. เพิ่มเติมสำหรับผู้เริ่มต้นและสนใจ
    “โชติมาตร” (Brightness มาจากคำว่า โชติ : สว่าง, มาตร : สิ่งที่ใช้วัด) เป็นค่าบอกอันดับความสว่าง (Magnitude) ของดาวหรือสิ่งอื่นๆ ในอวกาศในที่นี้หมายถึงอันดับความสว่างจากการเปรียบเทียบเห็นด้วยตาเปล่า อันดับความสว่างมีค่าลบมากๆ คือสว่างมาก มีค่าบวกมากๆ คือสว่างน้อย (เหมือนอันดับการแข่งขันต่างๆ ถ้าได้อันดับมากๆ แสดงว่าฝีมือยังไม่ดี) เช่นดวงอาทิตย์มีค่า magnitude เท่ากับ -26.7 ดวงจันทร์เต็มดวง -12.6 ดาวซิลิอุส (Sirius ในกลุ่มดาวหมาใหญ่) เท่ากับ -1.5 ถ้าดาวที่มีความสว่างน้อยๆ (ริบหรี่) ก็จะมีค่าเป็นบวก…

    นอกจากนี้ยังมีอันดับความสว่างที่แท้จริงของดาว เช่นดาว Sirius แท้จริงแล้วมีขนาดใหญ่กว่า อายุน้อยกว่าจึงยังมีพลังงานสูงกว่า จึงสว่างกว่าดวงอาทิตย์หลายเท่า แต่เพราะอยู่ไกลจากโลกมากกว่าเราจึงเห็นสว่างไม่เท่าดวงอาทิตย์

    อีกคำหนึ่งที่น่ารู้คือ “หน่วยดาราศาสตร์” (Astronomical Unit, AU) คือหน่วยบอกระยะทางเท่ากับระยะห่างโดยเฉลี่ยระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ที่นักดาราศาสตร์ยอมรับเท่ากับ 150 ล้านกิโลเมตร หรือ 93 ล้านไมล์