นกเงือก .. ความรัก .. เขาใหญ่ …

นกเงือก   หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Hornbill เป็นนกที่มีขนาดใหญ่ จัดอยู่ในวงศ์ Bucerotidae ทั่วโลกพบทั้งหมดมี 52 ชนิด  มีการแพร่กระจายและพบอยู่ในป่าเขตร้อน ของทวีปอัฟริกา และเอเชียเท่านั้น  ในประเทศไทยมีการค้นพบทั้งหมด 13 ชนิด  ในส่วนเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และบริเวณกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ พบ 4 ชนิด ได้แก่
–    นกกก  (นกกาฮัง)
–    นกเงือกกรามช้าง
–    นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว
–    นกแก๊ก  (นกแกง) 

 นกเงือกเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ ถึงใหญ่มาก ส่วนปากบนมี “โหนก” ประดับอยู่ สีขนของนกมักมีสี ดำ – ขาว ขอบตามีขนตายาวงาม เสียงร้องดัง ลักษณะเด่นที่สำคัญทางพฤติกรรมคือ นกเงือกตัวเมียจะทำรังภายในโพรงไม้ที่มันไม่สามารถเจาะเองได้ ไม่เพียงแต่เข้าไปอยู่อาศัยในโพรงไม้เท่านั้น เมื่อถึงช่วงออกไข่ ทำรัง นกเงือกยังจะปิดปากโพรงเหลือเพียงช่องกว้างเพียงแค่ให้ปากนกเงือกโผล่ออกมาได้เท่านั้น เพื่อรับอาหารจากนกเงือกตัวผู้ที่ไปหาอาหารมา นกเงือกกินผลไม้เป็นอาหารหลัง แต่ก็กินสัตว์เล็กเป็นอาหารด้วย เช่น งู และกิ้งก่า
นกเงือกเป็นนกที่มีนิสัยผัวเดียวเมียเดียว และมีพฤติกรรมน่าสนใจ ทำให้เกิดความประทับใจแก่ผู้พบเห็น   มีลักษณะการทำรังที่แปลกจากนกอื่น คือ เมื่อถึงฤดูกาลทำรัง นกคู่ผัวเมียจะพากันหารัง ซึ่งได้แก่ โพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นยาง ที่อยู่ในที่ลับตา เมื่อตัวเมียเข้าไปอยู่ในโพรง จะทำความสะอาดแล้วเริ่มปิดปากโพรง ด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น ดิน เปลือกไม้ ตัวเมียจะขังตัวอยู่ภายในเพื่อออกไข่และผลัดขนเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ไข่ และลูกนกที่เกิดมา ส่วนตัวผู้มีหน้าที่หาอาหารมาป้อนให้ถึงรัง ดังนั้นถ้าหากนกเงือกตัวผู้เสียชีวิต เนื่องจากการล่า หรือด้วยกลไกลอื่นในช่วงฤดูทำรัง นั่นหมายถึงเราจะต้องสูญเสียนกเงือกแม่ลูก ที่เฝ้ารอการกลับมาของนกเงือกตัวผู้ไปด้วย เนื่องจากตัวเมียผลัดขนไม่สามารถออกจากรังได้ ทำให้ค่อย ๆ อดอาหารตายอย่างช้า ๆ ทั้งแม่และลูก  ซึ่งนิยายความรักนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นกเงือกเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์          บทบาทหลักของนกเงือกในระบบนิเวศป่าช่วยกระจายพันธุ์ไม้ป่า ทำหน้าที่เป็นกลไกลหลักของการกระจายเมล็ดพันธุ์ต้นไม้ใหญ่ที่เป็นอาหารของนก และช่วยควบคุมประชากรของสัตว์เล็ก  เช่น   แมลง  และหนูอันอาจเป็นผู้ทำลายเมล็ดซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญในการรักษาโครงสร้างและความสมบูรณ์ของป่า  การอนุรักษ์นกเงือกก่อให้เกิดผลดีอย่างยิ่งต่อการพิทักษ์รักษาคุณภาพระบบนิเวศป่าไม้  เพราะนกเงือกมีอิทธิพลต่อสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศป่าเดียวกัน  จากบทบาทสำคัญในการช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้  นกเงือกจะช่วยฟื้นฟูสภาพธรรมชาติในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้กลับคืนมา  นอกจากนี้ยังมีบทบาทเป็นสัตว์ผู้ล่าซึ่งเป็นการควบคุมประชากรของสัตว์ที่เป็นเหยื่อให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม  ซึ่งจะก่อให้เกิดความสมดุลแก่ระบบนิเวศวิทยาป่า

นกกก  (นกกาฮัง, นกกะวะ หรือ นกอีฮาก)
Great Hornbill  (Great Indian Hornbill)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Buceros bicornis

ลักษณะทั่วไป
นกกกหรือนกกาฮัง เป็นนกที่มีขนาดใหญ่มากและใหญ่ที่สุดในจำพวกนกเงือกของไทย โดยมีขนาดลำตัว 122 เซนติเมตร ตัวผู้และตัวเมียโดยทั่วไปมีลักษณะคล้ายกัน แต่ตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่า และต่างกันตรงที่ตัวผู้มีตาสีแดงทับทิม โหนกมีสีดำที่ด้านหน้าและด้านท้าย ตัวเมียตาสีซีดหรือสีขาว และไม่มีสีดำที่โหนก จากกลางโหนกของนกกกลงมามีสีเหลืองอ่อนปนสีส้ม สีนี้เกิดจากต่อมน้ำมันที่ก้น เมื่อนกตายลงสีนี้จะหายไปด้วย ตอนเช้าและตอนเย็นชอบร้องเสียงดัง กก กก หรือ กาฮัง กาฮัง

ถิ่นอาศัย, อาหาร
มีถิ่นกำเนิดในอินเดียตะวันตกเฉียงใต้ ตลอดถึงพม่า ไทย และเกาะสุมาตรา สำหรับประเทศไทยมีทั่วไปเกือบทุกภาคยกเว้นภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน และเคยมีมากที่เกาะตะรุเตา ชนิดย่อย homrai พบบริเวณภาคเหนือ ชนิดย่อย biconnis พบทางภาคใต้
นกกกกินผลไม้สุก เช่น กล้วย มะละกอ มะเดื่อ ไทร มะปางป่า และสัตว์เล็ก ๆ เช่น กิ้งก่า แย้ หนู งู โดยเอาหางจับฟาดกับกิ่งไม้ให้ตายก่อน แล้วเอาปากงับตลอดตัวให้เนื้อนิ่มกระดูกแตก แล้วโยนขึ้นไปในอากาศ อ้าปากรับให้สัตว์นั้นเข้าไปในปากแล้วกลืนลงไป

พฤติกรรม, การสืบพันธุ์
ชอบอาศัยอยู่ตามป่าดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบเขา ซึ่งมีต้นไม้สูง ๆ ชอบอยู่กันเป็นฝูงเล็ก ๆ ฤดูผสมพันธุ์จะอยู่กันเป็นคู่ ๆ ชอบกระโดดหรือร้อง ขณะหากินร้องเสียงดังมาก เวลาบินจะกระพือปีกสลับกับร่อน เสียงกระพือปีกดังคล้ายเสียงหอบ ปกติจะเกาะตามกิ่งไม้ โดยเฉพาะต้นไม้ผลในป่า บริเวณต้นที่มีผลสุกชนิดที่ชอบ มันจะมากินทุกวันจนผลไม้หมด จึงไปหากินที่ต้นอื่น
นกกกผสมพันธุ์ในหน้าหนาวจนถึงหน้าร้อน วางไข่ตามโพรงไม้สูง วางไข่ครั้งละ 1-2 ฟอง ก่อนวางไข่ตัวเมียจะเข้าไปในโพรงแล้วทำการตบแต่งโพรงก่อน ตัวผู้คาบดินผสมกับมูลของตัวเมียโบกปิดปากโพรง หรืออาจใช้อาหารที่กินเข้าไปแล้วสำรอกออกมาเพื่อปิดปากโพรง เหลือช่องไว้ตรงกลางพอให้ตัวเมียยื่นปากออกมาได้ ขณะที่ตัวเมียกกไข่และเลี้ยงลูกอยู่นี้ ตัวผู้จะหาอาหารมาเลี้ยงลูกและเมียของมัน ตัวเมียจะผลัดขนออกและขนขึ้นใหม่เต็ม ซึ่งกินเวลาพร้อมๆไปกับลูกของมันมีขนขึ้นเต็ม เมื่อขนขึ้นเต็มตัวเมียจะจิกปากโพรงออกแล้วหัดบินพร้อมกับลูก

สถานภาพปัจจุบัน
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

นกเงือกกรามช้าง 
Plain-pouched Hornbill (Blyth’s Hornbill)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Rhyticeros subruficollis

ลักษณะทั่วไป
มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะไม่เหมือนกัน ลักษณะโดยทั่วไปของนกชนิดนี้คล้ายคลึงกับนกเงือกกรามช้างชนิดธรรมดา แต่แตกต่างกันตรงที่โคนปากบนและปากล่างไม่มีรอยย่น และไม่มีแถบสีดำ ที่ถุงบริเวณคอ ตัวผู้มีคอสีขาวและมีถุงที่โป่งออกสีเหลือง ส่วนตัวเมียมีคอสีดำและถุงเนื้อสีเทาหม่น

ถิ่นอาศัย, อาหาร
พบในสุมาตรา พม่า และในประเทศไทยพบทางฝั่งตะวันตก
นกชนิดนี้ชอบกินผลไม้สุก สัตว์เลื้อยคลานต่าง ๆ ตามป่าเป็นอาหาร

พฤติกรรม, การสืบพันธุ์
ชอบอาศัยอยู่ตามป่าดงดิบ โดยเกาะอยู่ตามกิ่งไม้สูง ชอบอยู่เป็นคู่หรือฝูงเล็ก ๆ มักออกบินเป็นฝูงในตอนเช้าและตอนเย็น และบินออกจากรังไปหาอาหารไกล ๆ
นกเงือกกรามช้างปากเรียบทำรังอยู่ในโพรงไม้บนต้นไม้ใหญ่บริเวณหุบเขา วางไข่ครั้งละ 2 ฟอง

นกเงือกสีน้ำตาล
Brown Hornbill
ชื่อทางวิทยาสาศตร์   Ptilolaemus tickelli 

ลักษณะทั่วไป
เป็นนกเงือกที่มีขนาดใกล้เคียงกับนกแก๊ก จงอยปากสีขาวงาช้าง มีโหนกเป็นสันเล็กๆ ตัวผู้มีสีด้านบนของลำตัว หัว และท้ายทอย เป็นสีน้ำตาล ด้านใต้ลำตัวสีน้ำตาลแดง ปลายปีกมีสีขาว คางคอและด้านข้างของคมมีสีขาว ปลายขนหางมีสีขาวยกเว้นขนหางสองเส้นตรงกลางซึ่งมีสีน้ำตาลตลอด ตัวเมียมีด้านบนลำตัวน้ำตาลเข้ม เช่นเดียวกับหัว ส่วนด้านใต้ลำตัวมีสีน้ำตาลเทาออกคล้ำกว่าตัวผู้
นกเงือกสีน้ำตาลมี ๒ ชนิดพันธุ์ย่อย (Subspeciees) คือ นกเงือกสีน้ำตาลที่พบทางผืนป่าตะวันตก (P. tickelli tickelli) และบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (P. tickelli austeni) ตัวผู้มีลักษณะต่างกันเล็กน้อย ชนิดพันธุ์ย่อยที่พบแถบป่าตะวันตก มีขนใต้ลำคัวสีน้ำตาลแดง ส่วนชนิดพันธุ์ย่อยที่พบที่เขาใหญ่ มีขนบริเวณคาง คอ และด้านข้างคอเป็นสีขาว แต่ที่ต่างกันชัดเจนคือ นกเงือกสีน้ำตาลตัวเมียที่พบทางป่าตะวันตกมีปากสีดำ ส่วนที่เขาใหญ่ปากสีเดียวกับตัวผู้
ปัจจุบันได้จัดชนิดพันธุ์ย่อยทั้งสองขึ้นเป็นสองชนิดพันธุ์ คือ Ptilolaemus tickelli tickelli เป็น Anorrhinus tickelli และ Ptilolaemus tickelli austeni เป็น  Anorrhinus austeni จึงทำให้ประเทศไทยมีนกเงือก ๑๓ ชนิด
นอกฤดูผสมพันธ์นกเงือกสีน้ำตาลจะอยู่เป็นฝูงเล็กๆ ๘-๑๐ ตัว หรือมากกว่า เป็นนกที่ชอบร้องเอะอะโวยวายเหมือนนกแก๊ก แต่เสียงกรี๊ดมากกว่า เสียงร้องของนกเงือกสีน้ำตาลมีหลายเสียง เช่น แว๊ว ๆ ๆ กรี๊ด ๆ ๆ ต๊อ ๆ ๆ
ถิ่นอาศัย, อาหาร
นกเงือกสีน้ำตาลพบได้ทั้งป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าดงดิบเขา หรือแม้แต่ป่าเต็งรัง ( A. tickelli) กระจายอยู่แถบภาคตะวันตกเรื่อยลงมาถึงบริเวณป่าจังหวัดชุมพร นกเงือกสีน้ำตาลที่พบบริเวณเขาใหญ่และทางตะวันตกจะมีลักษณะแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย โดยที่นกเงือกสีน้ำตาลที่พบทางป่าตะวันตกนั้นตัวเมียมีปากสีดำ แต่ที่เขาใหญ่ ตัวเมียปากสีเดียวกับตัวผู้  นกเงือกสีน้ำตาล ชอบกินผลไม้ได้แก่ผลไทร ตาเสีอ ยางโดน พิพวน หว้า ส้มโมง แต่เวลาเลี้ยงลูกจะป้อนอาหารพวกสัตว์เล็กๆ

นกแก๊ก (นกแกง)
Oriental Pied Hornbil
ชื่อวิทยาศาสตร์  Anthracoceros albirostris (Shaw & Nodder, 1807)

ลักษณะทั่วไป

นกแก๊กมีลำตัวเป็นสีดำ ท้องสีขาว ปลายขนปีกแต่ละเส้นเป็นสีขาว ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนขณะบิน มีหนังเปลือยสีขาวที่รอบและใต้ดวงตา มีปากและมีโหนกขนาดใหญ่สีเหลือง ด้านหน้าของโหนกมีแต้มสีดำ ชนิดย่อยที่พบทางภาคใต้ตอนล่างไม่มีแถบสีดำใต้หางเหมือนที่พบในภาคอื่นๆ ตัวผู้และตัวเมียต่างกันตรงที่ตัวเมียมีโหนกเหนือปากขนาดเล็กกว่า และมีแต้มสีดำที่จะงอยปากมากกว่า สีขาว-ดำของมันและถิ่นอาศัยที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวางทั่วทั้งภูมิภาคเป็นที่มาของชื่อ Oriental Pied Hornbill

ตัวผู้เกี้ยวพาราสีตัวเมียด้วยการป้อนผลไม้ เมื่อจับคู่แล้วมันจะนำผลไม้ไปวางไว้ในโพรงที่จะทำรังเพื่อล่อให้ตัวเมียเข้าไป หลังจากนั้นตัวเมียจะเข้าไปขยายด้านในของโพรงให้ใหญ่ขึ้นแล้วทำการกักขังตัวเองไว้ข้างใน ในระหว่างนี้ตัวผู้จะทยอยเอาดินโคลนมาส่งให้ตัวเมียใช้ปิดโพรงรังเพื่อป้องกันรังจากนกเงือกคู่อื่น เพราะโพรงที่นกเงือกใช้ทำรังมักเป็นโพรงต้นไม้ขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้หาเจอกันได้บ่อยๆ งานนี้ใครช้าอดหมดสิทธิ์ครับ นกตัวเมียจะขังตัวเองในโพรงเพื่อวางไข่และเลี้ยงลูกจนกว่าลูกจะบินได้ หน้าที่หาอาหารจึงตกอยู่ที่ตัวพ่อแต่เพียงผู้เดียว 

ถิ่นอาศัย, อาหาร

นกเงือกทุกชนิดเป็นนกประจำถิ่น แต่ก็มีการพบว่าพวกมันอพยพย้ายถิ่นเป็นระยะทางใกล้ๆด้วยในบางฤดูกาล นกแก๊กเป็นนกเงือกที่พบได้บ่อยตามป่าดิบในระดับความสูงไม่เกิน 1,400 เมตรจากน้ำทะเล และป่าบนเกาะ ตั้งแต่อินเดีย ตอนใต้ของจีน ไปจนถึงอินโดนีเซีย ถึงมันจะมีขนาดเล็กสำหรับนกเงือกแต่ก็ตัวใหญ่กว่านกป่าทั่วไป เราสามารถได้ยินแม้แต่เสียงกระพือปีกของนกชนิดนี้หากมันบินผ่านในระยะที่ไม่ไกลมาก  นกแก๊กกินอาหารได้ทั้งพืชและสัตว์เช่นเดียวกับนกเงือกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นลูกไม้ สัตว์เลื้อยคลาน และนกขนาดเล็ก มีลีลาการกินอาหารอันเป็นที่จดจำสำหรับผู้พบเห็น โดยมันจะโยนอาหารขึ้นไปกลางอากาศแล้วอ้าปากรับ มักรวมฝูงใหญ่เพื่อหลับนอนในช่วงพลบค่ำ 

ปิดการแสดงความเห็น