ประเพณีทำขวัญข้าว

                 คาถาบูชาพระแม่โพสพ

ตั้งนะโม 3 จบ แล้วกล่าวว่า
       “โพสะภะโภชะนัง อุตตะมะ ลาภัง มัยหัง
                  สัพพะสิทธิหิตัง โหตุ”
คาถาบูชาพระแม่โพสพ สำหรับคติความเชื่อเรื่อง แม่โพสพ ตำนานพระแม่โพสพ เป็นเทพธิดา หรือเทพีประจำพืชพรรณธัญชาติ ซึ่งหมายถึง ต้นข้าว ซึ่งถือว่าเป็นพืชพรรณชนิดเดียวที่มีเทพธิดาประจำพระแม่โพสพ เป็นท่านเทพธิดาที่ได้รับความเคารพนับถือกราบไหว้มาแต่โบราณกาล กล่าวว่าท่านเป็นผู้ที่คุ้มครองดูแลต้นข้าวให้เจริญงอกงาม ให้ผลิตผลอุดมสมบูรณ์ แม่โพสพ จึงเป็นเทพธิดาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงอยู่ของชีวิตเหล่าชาวนา เมื่อแรกทำนา จนกระทั่งถึงเวลา ไถคราด เก็บเกี่ยวรวงข้าวด้วยเคียวเหล็ก จะต้องประกอบพิธีเซ่นบูชาแม่โพสพทุกระยะไปเช่น ก่อนหน้าเวลาฤกษ์แรกนา จะปลูกศาล เพียงตาสูงระดับสายตาคนขึ้น ณ ที่ใดที่หนึ่ง ที่กำหนดไว้เป็นที่แรกนา ตระเตรียมเครื่องสังเวยบูชา แม่โพสพให้ครบถ้วน พร้อมทั้งกล่าวคำขวัญเป็นถ้อยคำไพเราะ อ้อนวอน พระแม่โพสพให้คุ้มครอง รักษาต้นข้าว ขอให้ปีนี้จงทำนาได้ผล ไม่ว่าจะเป็นนาหว่าน นาดำ เพราะแม่โพสพเป็นหญิงขวัญอ่อนง่าย จึงต้องทำ
“พิธีเรียกขวัญ”  เสมอ

ทำขวัญข้าว

ประเพณีทำขวัญแม่โพสพ (ข้าว) ตามความเชื่อว่าแม่โพสพมีพระคุณจึงต้องทำขวัญเป็นการกล่าวขอขมา ต่อต้นข้าวทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับข้าว ทั้งการเกิดเองตามธรรมชาติ และจากการที่มนุษย์ จะกระทำอะไรก็ตามกับต้นข้าว เช่น เกี่ยวข้าว อีกทั้งเพื่อเป็นการขอบคุณและเอาใจแม่โพสพที่ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่ผืนนา และเพื่อขออภัยและเรียกขวัญแม่โพสพ เป็นสิริมงคลดลบันดาลให้มั่งมียิ่งขึ้น ปกติจะทำกันในวันศุกร์ซึ่งถือว่าเป็นวันขวัญข้าว ประเพณีทำขวัญข้าวของบางจังหวัด อาจมีประเพณีทำขวัญข้าว อยู่ 2 ช่วง คือ ช่วงที่ข้าวตั้งท้อง และช่วงข้าวพร้อมเกี่ยว โดยในแต่ละช่วงจะมีเครื่องเซ่นไม่เหมือนกัน เครื่องเซ่นของการทำขวัญข้าวตอนตั้งท้อง ด้วยความเชื่อที่ว่า แม่โพสพเป็นมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกัน พอข้าวตั้งท้อง จึงเชื่อว่าจะอยากทานอาหารเหมือนคนท้อง สิ่งที่ขาดไม่ได้ในเครื่องเซ่นช่วงดังกล่าวจึงเป็นของรสเปรี้ยว อ้อย น้ำมะพร้าว นอกเหนือจากหมาก พลู ธงกระดาษสีต่างๆ ผ้าแดง ผ้าขาว ใส่ลงในชะลอมเล็ก ๆ มีเส้นด้ายสีแดงและสีขาวเพื่อผูกเครื่องเซ่นเข้ากับต้นข้าว ดอกไม้ และด้วยความเชื่อว่าแม่โพสพเป็นผู้หญิง จึงต้องมีน้ำอบ น้ำหอมด้วย โดยคนที่ทำพิธีมักจะเป็นผู้หญิงเจ้าของที่นา แต่พิธีนี้ให้โอกาสผู้ชายทำได้แต่ไม่นิยม หลังจากมัดโยงเครื่องเซ่นกับต้นข้าวด้วยด้ายสีแดงและขาวเข้าด้วยกันแล้ว ผู้ทำพิธีจะพรมน้ำหอมแป้งร่ำต้นข้าว จากนั้นจึงจุดธูปปักลงบนที่นาพร้อมกล่าวคำขอขมาต่าง ๆ แล้วแต่ที่จะนึกได้ ส่วนมากก็จะเป็นการบอกกล่าวถึงสิ่งที่กำลังจะทำ เช่น ขอให้มีรวงข้าวสวย มีข้าวเยอะ ๆ ให้ผลผลิตสูง ๆ เมื่อพูดทุกอย่างที่อยากพูดจบก็ต้อง กู่ร้องให้แม่โพสพรับทราบเจตนาดัง ๆ เมื่อข้าวเริ่มตั้งท้องชาวนาจะเอาไม้ไผ่มาสานชะลอมแล้วนำเครื่องแต่งตัวของหญิง เช่นแป้ง น้ำมันใส่ผม น้ำอบไทย หวี กระจกใส่ในชะลอม พร้อมด้วยขนมหวานสักสองสามอย่าง ส้มเขียวหวาน ส้มโอแกะกลีบ ปักเสาไม้สะแกแล้วเอาชะลอมแขวนไว้ในนา เพื่อให้แม่พระโพสพแต่งตัวและเสวยสิ่งของนั้น จะได้ออกรวงได้ผลดี เขาเรียกว่า “เฉลวหรือ ตาเหลว” เป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่ง ทำจากไม้ไผ่ จะทำจากตอกหนึ่งก้านที่หักไปมาเป็นแฉก หรือจะทำจากตอกหลายก้านมาสานรวมกันเป็นแฉกก็ได้ สำหรับ คำว่าตาเหลว เป็นภาษาเหนือ แต่ถ้าจะเรียกชื่อเป็นภาษากลาง ก็คือ “เฉลว” ทำขึ้นเพื่อจุดประสงค์เป็นสัญลักษณ์บอกสถานที่ ในอดีตภาคกลางใช้ ”เฉลว” เป็นเครื่องบอกด่านเก็บภาษีอากรทางน้ำ หรือที่เรียกว่าการเก็บจังกอบ ถ้าเห็นสัญลักษณ์”เฉลว”อยู่ที่ท่า แสดงว่าท่านี้เป็นด่านจังกอบ แต่ถ้าหากเป็นความเชื่อล่ะก็ “เฉลว” จะเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์บ่งบอกถึงเขตห่วงห้าม เขตป้องกันสิ่งชั่วร้าย สิ่งไม่ดี ชาวบ้านจะนำ ”เฉลว” มาประกอบพิธีต่างๆเกี่ยวกับความเชื่อ อาทิ การสู่ขวัญข้าว สืบชะตา ทำบุญบ้าน ทำบุญเมือง มัดติดหน้าบ้าน ปักบนหม้อยา ปักไว้ในที่ไม่ใช้ผีผ่าน และที่สำคัญ ในการประกอบการปลุกเสกที่เป็นพุทธคุณ หรือพุทธาภิเสก  ก็จะมี ”เฉลว” มัดติดกลับรั้ว ๔ ทิศ สำหรับให้พระสงฆ์เจริญมนต์พุทธาภิเษก ที่เรียกว่า สัตตภัตร  (อาจเข้าใจผิดว่าเป็นสัตตภัณฑ์              เพราะสัตตภัณฑ์คือเชิงเทียน) ”เฉลว” ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างหนึ่ง ที่เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งหวงห้ามอันมีเจ้าของอยู่แล้ว เป็นสัญลักษณ์ความพิเศษอีกด้วย โดยเฉพาะหม้อต้มยา หลังจากปิดหรือไม่ปิดด้วยใบตองอ่อนก็ดี จะมีการปัก ”เฉลว” เล็กไว้บนหม้อต้มยา มีนัยว่าเพื่อบอกว่าหม้อนี้คือยาต้มนะไม่ใช้น้ำต้มหรือแกงต้ม แต่ทางความเชื่อแล้วหม้อยามีครูบาอาจารย์มีสิ่งศักดิ์สิทธ์สถิตอยู่ เพื่อรักษาคุณยาที่ต้มทั้งปวง โบราณจารย์กล่าวว่าอย่าให้ผีข้ามหม้อยา เพราะจะทำให้ยาต้มเสื่อมคุณประโยชน์ ดังนั้น  “เฉลว” เป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ป้องกันผีร้าย หรือสิ่งชั่วร้ายทำลายคุณของยา ในการ สู่ขวัญข้าว  “เฉลว” ถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันมีให้ผีร้ายเข้ามาทำลาย พระแม่โพสพ

ชนิดของ  ”เฉลว”   ถูกแบ่งออกตามจำนวนแฉก  คือ
๑. เฉลวที่เป็นรูปสามเหลี่ยม หรือมีสามแฉก มีความหมายว่า มะ อะ อุ  เฉลวชนิดเมื่อตั้งไว้แล้วจะเหมือนกับว่ามีคนมานั่งสวดคำว่า มะ อะ อุ ตลอดเวลา ทำให้ผีไม่กล้าเข้าใกล้
๒. เฉลวที่เป็นรูปดาวห้าแฉก มีความหมายว่า นะ โม พุท ธา ยะ เฉลวชนิดเมื่อตั้งไว้แล้วจะเหมือนกับว่ามีคนมานั่งสวดคำว่า นะ โม พุท ธา ยะ ตลอดเวลา ทำให้ผีไม่กล้าเข้าใกล้
๓. เฉลาที่เป็นรูปแปดแฉก มีความหมายว่า อิติปิโส ภควตา เฉลวชนิดเมื่อตั้งไว้แล้วจะเหมือนกับว่ามีคนมานั่งสวดคำว่า อิติปิโส ภควตา ตลอดเวลา ทำให้ผีไม่กล้าเข้าใกล้

เขียนโดย จักรภฤต บรรเจิดกิจ
ศูนย์เรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติเพื่อขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดพิจิตร (องค์กรสาธารณะประโยชน์)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
• สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร
• คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, สำนักงาน. งานไม้ไผ่ในชีวิตคนเอเซียและแปซิฟิค. ม.ป.พ, (2537)
• ทองคำ พันนัทธี. “ไม้ไผ่กับชีวิตไทย”. วัฒนธรรมไทย. ป.35 ฉ.12 (กันยายน 2541) หน้า 19-21

ปิดการแสดงความเห็น