อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีเนื้อที่ ๑,๓๕๕,๓๙๖.๙๖ไร่ มีพื้นที่ ๒,๑๖๘ ตารางกิโลเมตร เป็น
อุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย มีพื้นที่ต่อเนื่องกับผืนป่าเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่ามรดกโลก ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ นับเป็นผืนป่าอุทยานแห่งชาติ ที่รวมกันแล้วใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่สำหรับพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นั้น มีพื้นที่มากเป็นอันดับ ๓ รองจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและอุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นแหล่งที่มีพืชพันธุ์ไม่ ต่ำกว่า ๒,๐๐๐-๒,๕๐๐ ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า ๖๐ ชนิด และนกต่างๆ ไม่น้อยกว่า ๒๙๔ ชนิด ด้วยเหตุนี้ เขาใหญ่จึงได้รับการจัดให้เป็นหนึ่ง ใน ๑๑ แห่งของโลกที่เป็น “Vavilov Center” คือ เป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากร พืช และสัตว์ป่าอันล้ำค่า ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับผลิตยารักษาโรคและผลิตสายพันธุกรรมใหม่ๆ ในด้านเกษตรกรรม พื้นที่ป่าส่วนใหญ่ เป็นป่าดิบที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มีสภาพป่าดิบเขา ดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ มีป่าทุ่งหญ้าและป่าเต็งรังเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นแหล่งที่มีสัตว์ป่าชุกชุม ในบางโอกาสขณะขับรถยนต์ไปตามถนน จะสามารถเห็นสัตว์ป่าเดินผ่าน หรือออกหากินตามทุ่งหญ้า หรืออาจจะเห็นโขลงช้างออกหากินริมถนน ลูกช้างเล็กๆ ซนและน่ารักมาก สัตว์ป่าที่สามารถพบได้บ่อยๆ และตามโอกาสอำนวย ได้แก่ เก้ง กวาง ตามทุ่งหญ้าทั่วๆ ไป นอกจากนี้ยังพบ เสือโคร่ง กระทิง เลียงผา หมี เม่น ชะนี พญากระรอก หมาไม้ ชะมด อีเห็น กระต่ายป่า นกชนิดต่างๆ จำนวน ๒๕๐ ชนิด จากจำนวนไม่น้อยกว่า ๓๔๐ ชนิด ที่สำรวจพบอยู่บริเวณป่าเขาใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งหาอาหาร และที่อาศัยอย่างถาวร นกที่น่าสนใจและพบเห็นได้บ่อย ได้แก่ นกเงือก นกขุนทอง นกขุนแผน นกพญาไฟ นกแต้วแล้ว นกโพระดก นกแซงแซว นกเขา นกกระปูด ไก่ฟ้า และนกกินแมลงชนิดต่างๆ นกเงือกทั้ง ๔ ชนิด ซึ่งได้แก่ นกกก นกเงือกกรามช้าง นกแก๊ก และนกเงือกสีน้ำตาล ที่พบบนเขาใหญ่ นับว่าเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักดูนกเป็นอย่างดี เพราะพบเห็นได้ทั่วไป พวกแมลงที่มีมากกว่า ๕,๐๐๐ ชนิด ที่สวยงามและพบเห็น
บ่อยได้แก่ ผีเสื้อ มีรายงานพบกว่า ๒๑๖ ชนิด สัตว์กินเนื้อ ๑๖ ชนิด สัตว์กีบ ๗ ชนิด สัตว์กินแมลง ๓ ชนิด สัตว์จำพวกลิง ๕ชนิด กระต่าย ๑ ชนิด สัตว์จำพวกใช้ฟันแทะ ๖ ชนิด และค้างคาวไม่น้อยกว่า ๒๕ ชนิด สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำประมาณ ๗๐ ชนิด
ต้นธารแห่งชีวิต : ผืนป่าในเขตของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญหลายสาย เป็นต้นธารของแม่น้ำนครนายก แม่น้ำปราจีนบุรี ที่ไปไหลรวมกันเป็นแม่น้ำบางปะกง เป็นต้นน้ำลำตะคอง ที่เลี้ยงคนนครราชสีมาทั้งจังหวัด และเป็นต้นน้ำของแม่น้ำมูล ที่สายธารจากเขาใหญ่ไหลเลาะเลียบขึ้นทางทิศเหนือและออกสู่แม่น้ำโขงในที่สุด เพราะป่าเขาใหญ่ ที่คุณสัมผัสอยู่นี้คือ”แหล่งผลิตน้ำจืดที่สำคัญที่สุด ของพื้นที่ภาคกลางและภาคอีสาน ตอนล่าง”
– ลุ่มน้ำนครนายก อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุทยานฯ ในเขตจังหวัดนครนายก เกิดจากการรวมตัวของลำห้วยสำคัญหลายสาย เช่น สาลิกา นางรอง ลำกระตุก ท่าด่าน และสมพุงใหญ่ ไหลผ่านจังหวัดนครนายก ไปบรรจบกับแม่น้ำปราจีนบุรี เป็นแม่น้ำบางปะกงที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้ปริมาณน้ำแก่ลุ่มน้ำนครนายกนี้มากกว่า ๘๑๓ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ยังประโยชน์ให้แก่พื้นที่ ๖๖๐ ตารางกิโลเมตร
– ลุ่มน้ำปราจีนบุรี อยู่ทางตอนเหนือของอุทยานฯ เกิดจากการรวมตัวของห้วยน้ำสำคัญที่ไหลลงมาจากเขาใหญ่ เช่น ลำพระยาธาร คลองหนองแก้ว ใสน้อย ใสใหญ่ ไหลผ่านที่ตั้งของอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี แล้วไปบรรจบกับแม่น้ำนครนายก เป็นแม่น้ำบางปะกงที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ปริมาณน้ำทั้งหมดของเขาใหญ่ให้น้ำแก่ลุ่มน้ำนี้มากกว่า ๗๙๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มีพื้นที่ใช้ประโยชน์จากลุ่มน้ำนี้ถึง ๑,๑๒๒ ตารางกิโลเมตร
– ลุ่มน้ำลำตะคอง อยู่ทางตอนเหนือของอุทยานฯ ห้วยที่สำคัญคือ ลำตะคอง แม่น้ำนี้จะไหลลงสู่แม่น้ำมูลในที่สุด ไหลลงสู่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำประมาณ ๑๐๔ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี พื้นที่ใช้ประโยชน์จากน้ำนี้ขนาด ๒๐๑ ตารางกิโลเมตร
– ลุ่มน้ำลำพระเพลิง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพื้นที่เขาใหญ่ มีห้วยลำพระเพลิงเป็นแม่น้ำสายหลัก แต่เนื่องจากสภาพของพื้นที่เคยผ่านการบุกรุกทำลายไปมาก น้ำที่ได้จากลุ่มน้ำนี้จึงค่อนข้างต่ำ ประมาณ ๑๙ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี พื้นที่รองรับน้ำขนาด ๑๑๔ ตารางกิโลเมตร
สภาพภูมิประเทศ ลักษณะ ทั่วไปของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน มีระดับความสูงแตกต่างกัน ตั้งแต่ความสูงใกล้ระดับน้ำทะเล ตามแนวเขตอุทยานด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงระดับความสูง ๑,๓๕๑ เมตร จากระดับน้ำทะเล ในบริเวณตอนกลางของพื้นที่ ทางด้านทิศตะวันออก ภูมิประเทศมีลักษณะเป็นที่ลาดต่ำ ส่วนทางทิศเหนือความลาดชันน้อยจนถึงปานกลาง ทิศทางความลาดชันส่วนใหญ่มุ่งสู่ถนนมิตรภาพ ในขณะที่ทางทิศใต้และทิศตะวันตก มีลักษณะเป็นภูเขาสูงชันโดดเด่นขึ้นมาจากที่ราบ ซึ่งใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรนอกเขตอุทยานฯ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะคล้ายเป็นกำแพงภูเขาตามแนวเขตอุทยานฯ จึงเรียกว่า เขากำแพง และเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งสูงโดดเด่นขึ้นมาจากที่ราบภาคกลาง แล้วก่อตัวเป็นแนวเขตของที่ราบสูงโคราช โดยมียอดเขาที่สำคัญอยู่ ๖ ยอดด้วยกัน คือ เขาร่ม(ยอดเขาร่ม สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๓๕๑ เมตรเป็นยอดเขาสูงที่สุดในเทือกเขาใหญ่) และเขาเขียว(๑,๒๙๒ เมตร) บริเวณตอนกลาง เขาแหลม(๑,๓๒๖ เมตร) บริเวณทิศเหนือ เขาสามยอด(๑,๑๔๒ เมตร) กับเขาฟ้าผ่า(๑,๐๗๘ เมตร) บริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอุทยานฯ เขากำแพง(๘๗๕ เมตร) บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
สภาพภูมิอากาศ สภาพ ป่ารกทึบ ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม ทำให้เกิดฝนตกชุกตามฤดูกาล อากาศไม่ร้อนจัดและหนาวจัดจนเกินไป จัดอยู่ในประเภทเย็นสบายตลอดทั้งปี เหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยว และประกอบกิจกรรมนันทนาการต่างๆ อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ ๒๓ องศาเซลเซียส
– ฤดูร้อน แม้ว่าอากาศจะร้อนอบอ้าวกว่าในที่อื่น แต่ที่เขาสูงบนเขาใหญ่อากาศเย็นสบายเหมาะแก่การพักผ่อน เล่นน้ำในลำธารและนำอาหารไปรับประทาน ไม้ป่ามีดอกหลากสีบานสะพรั่งบ้างออกผลตามฤดูกาล
– ฤดูฝน เป็นช่วงหนึ่งของปีที่สภาพบนเขาใหญ่ชุ่มฉ่ำ ป่าไม้ทุ่งหญ้าเขียวขจีสดสวย น้ำตกทุกแห่ง ไหลแรงส่งเสียงดังก้องป่าให้ชีวิตชีวาแก่ผู้ไปเยือน แม้การเดินทางจะลำบากกว่าปกติแต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็ไม่ลดน้อยลงเลย
– ฤดูหนาว ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นฤดูที่นิยมไปเขาใหญ่มากที่สุด ท้องฟ้าสีครามแจ่มใสตัดกับสีเขียวขจีของป่าไม้พยับหมอกที่ลอยเอื่อยไปตามทิวเขา ดวงอาทิตย์กลมโตอยู่เบื้องหน้าไกลโพ้น อากาศหนาวเย็นในเวลากลางคืน แต่รุ่งเช้าวันใหม่จะพบกับธรรมชาติที่สวยงาม แตกต่างไปจากเมื่อวานอีกแบบหนึ่ง กิจกรรมเล่นแค้มป์ไฟเหมาะสมในฤดูนี้มาก
สถานที่ที่น่าสนใจ ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญนั่นก็คือ น้ำตกที่สวยงาม มีน้ำตกน้อยใหญ่เกิดขึ้นหลายแห่ง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งสำรวจพบและทำเส้นทางเดินเท้าไปถึงแล้วประมาณ ๓๐ แห่ง มีความสวยงามแตกต่างกันไป ตามสภาพของธรรมชาติของภูมิประเทศเป็นที่รู้จักกันดี เช่น น้ำตกนางรอง อยู่ถัดจากทางแยกเข้าน้ำตกสาริกาไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข ๓๐๔๙ จนถึงทางเข้าน้ำตก แล้วเดินเลียบห้วยนางรองไปอีก ๒๕๐ เมตร จะมีสะพานข้ามห้วยไปถึงน้ำตก ซึ่งไหลลดหลั่นลงมาตามโขดหินเป็นทางยาวประมาณ ๑๐๐ เมตร น้ำตกนางรองแต่ละชั้นไม่สูงมากนัก แต่กระแสน้ำไหลแรง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ อยู่ในพื้นที่จังหวัดนครนายก มีชื่อเสียงมาช้านานก่อนจัดตั้งอุทยานฯ
น้ำตกสาริกา ตั้งอยู่ที่ตำบลสาริกา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เป็นน้ำตกขนาดใหญ่สายน้ำไหลตกจากหน้าผาเป็นทอดๆ ถึง ๙ ชั้น ผาที่สูงที่สุดประมาณ ๑๐๐ เมตร แต่ละชั้นมีอ่างรับน้ำขนาดย่อม เหมาะแก่การลงเล่นน้ำ บริเวณน้ำตกชั้นล่างมีแอ่งน้ำให้เล่นน้ำได้ และมีทางเดินต่อไปตามธารน้ำที่ไหลตกลงมาเป็นชั้นๆ จนไปถึงแอ่งน้ำกว้างและโขดหินก้อนใหญ่ มองขึ้นไปจะเห็นน้ำตกสาริกาชั้นสูงที่สุด น้ำตกสาริกามีน้ำไหลเกือบตลอดปี และในฤดูฝนจะมีปริมาณน้ำมาก น้ำตกสาริกาอยู่ห่างจากตัวเมืองนครนายกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เดินทางจากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๐๔๙ เป็นระยะทาง ๑๒ กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๐๕๐ อีก ๓ กิโลเมตร เป็นทางลาดยางตลอดสาย จากตัวเมืองนครนายกมีรถโดยสารสายนครนายก – สาริกา วิ่งวันละหลายเที่ยว หากขับรถมาเองจะมีป้ายบอกตลอดทาง
น้ำตกกองแก้ว เป็นน้ำตกเตี้ยๆ ที่เกิดจากห้วยลำตะคอง ในฤดูฝนจะดูสวยงามมากเหมาะสำหรับการเล่นน้ำ ใกล้บริเวณน้ำตกจะมีสะพานแขวนข้ามลำห้วยถึง ๒ สะพาน ห้วยลำตะคอง เป็นแนวแบ่งเขต ๒ จังหวัด คือ จังหวัดนครนายก กับจังหวัดนครราชสีมา น้ำตกแห่งนี้อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และศูนย์บริการนักท่องเที่ยวประมาณ ๑๐๐ เมตร
น้ำตกผากล้วยไม้ เป็นน้ำตกขนาดกลาง ที่อยู่ในห้วยลำตะคองเช่นเดียวกัน อยู่ระหว่างทางไปน้ำตกเหวสุวัต
น้ำตกเหวสุวัต ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ ๗ กิโลเมตร สามารถเข้าถึงได้โดยทางรถยนต์และทางเดินเท้า ทางเดินเริ่มจากจุดกางเต็นท์ผากล้วยไม้ไปประมาณ ๑.๒ กิโลเมตร โดยเดินเลียบไปตามห้วยลำตะคองที่เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้ใหญ่ร่มครึ้ม มีโอกาสพบนกหลายชนิด เช่น นกกางเขนน้ำหลังเทา นกกะรางคอดำ นกปรอดโอ่งเมืองเหนือ ฯลฯ น้ำตกผากล้วยไม้มีลักษณะเป็นหน้าผาลดหลั่นกันลงมา สูงประมาณ ๑๐ เมตร ด้านล่างเป็นแอ่งน้ำกว้างมาก เหมาะสำหรับเล่นน้ำ ตามหน้าผาและคบไม้บริเวณน้ำตกพบกล้วยไม้นานาชนิดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก กล้วยไม้ที่โดดเด่นที่สุดคือ หวายแดง ที่จะออกดอกสีแดงเป็นช่อยาวในช่วงหน้าร้อน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของน้ำตกแห่งนี้น้ำตกเหวสุวัต เป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียงมาก เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วๆ ไป น้ำตกเหวสุวัตนี้อยู่สุดถนนธนะรัชต์ หรือจะเดินเท้าต่อจากน้ำตกผากล้วยไม้ไปก็ได้ ประมาณ ๓ กิโลเมตร น้ำตกนี้มีลักษณะเป็นสายน้ำตกลงมาจากหน้าผาสูง ประมาณ ๒๐ เมตรเศษ บริเวณด้านล่างของน้ำตกเป็นแอ่งน้ำและลำธาร เหมาะที่จะลงเล่นน้ำ แต่สำหรับฤดูฝนน้ำจะมากและไหลแรง ค่อนข้างเย็นจัด
น้ำตกเหวนรก เป็น น้ำตกขนาดใหญ่และสูงที่สุด อยู่ทางทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีทั้งหมด ๓ ชั้น ทางเดินเท้าระยะทาง ๑ กิโลเมตรถึงน้ำตกชั้นแรก น้ำตกชั้นแรกสูงประมาณ ๖๐ เมตร เมื่อน้ำไหลผ่านหน้าผาชั้นนี้จะพุ่งไหลลงสู่หน้าผาชั้นที่ ๒ และ ๓ ที่อยู่ถัดลงไปใกล้ๆ กันในลักษณะการไหลตก ๙๐ องศา รวมความสูงไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ เมตร เป็นสายน้ำที่ไหลทะลักไปสู่หุบเหวเบื้องล่าง ในฤดูฝนน้ำจะไหลแรงมากจนดูน่ากลัว การเดินทาง จากตัวเมืองเดินทางไปทางทิศตะวันออก ตามถนนสุวรรณศร ถึงสี่แยกเนินหอม หรือวงเวียนนเรศวร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวง ๓๐๗๗ ซึ่งเป็นทางขึ้นเขาใหญ่ไป จนถึงก.ม.ที่ ๒๔
น้ำตกไม้ปล้อง เป็นน้ำตกที่พบมานาน และได้รับการปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ มีทั้งหมด ๕ ชั้น ลดหลั่นกันลงมา ชั้นสูงสุดไม่เกิน ๑๒ เมตร มีลักษณะคล้ายคลึงกับน้ำตกเหวนรก หรือน้ำตกเหวสุวัต จะพบความงามตลอดเส้นทางเดินเท้า ประกอบด้วยโขดหินเล็กใหญ่และลำธารที่สวยงาม การเดินทางไปยังน้ำตกแห่งนี้เริ่มต้นที่วังตะไคร้ โดยการเดินเท้าตามเส้นทางเดินเท้าระยะทางประมาณ ๒๔ กิโลเมตร ผู้สนใจติดต่อสอบถามได้ที่หน่วยพิทักษ์ฯ ขญ.๑๓(นางรอง) มีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้ด้วย
น้ำตกวังเหว เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มีความกว้างประมาณ ๔๐-๖๐ เมตร ในฤดูฝนมีน้ำมากและไหลแรง อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์ฯ ขญ.๙(ใสใหญ่) ประมาณ ๑๗ กิโลเมตร อยู่ใจกลางป่าทางด้านทิศตะวันออก ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ การเดินทางจะต้องใช้เวลาในการเดินทางประมาณ ๒ วัน เหมาะสำหรับผู้ที่รักการผจญภัย ไปพักค้างแรมในป่าเป็นอย่างยิ่ง ตลอดเวลาการเดินทางจะพบกับพันธุ์ไม้นานาชนิด และแก่งหินที่สวยงามตามธรรมชาติ นับเป็นน้ำตกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง
น้ำตกตะคร้อ น้ำตกสลัดได น้ำตกส้มป่อย เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่สวยงาม อยู่ใกล้กับหน่วยพิทักษ์ฯ ขญ.๑๐(ประจันตคาม) เหมาะสำหรับพักผ่อนเล่นน้ำ ทุกวันจะมีนักท่องเที่ยวในท้องถิ่น และใกล้เคียงไปเที่ยวชมและเล่นน้ำตกนี้ โดยเฉพาะในวันหยุดสุดสัปดาห์ จะมีนักท่องเที่ยวจากถิ่นอื่นไปเที่ยวชมมากเช่นกัน
น้ำตกแก่งกฤษณา น้ำตกเหวจั๊กจั่น น้ำตกเหวอีอ่ำ เป็นน้ำตกขนาดเล็กและใหญ่ ที่มีความงดงามไม่แพ้แห่งอื่นๆ โดยเฉพาะน้ำตกเหวอีอ่ำ มีความสูงประมาณ ๒๕ เมตร เหมาะสำหรับการพักแรมในป่า และชมทิวทัศน์ธรรมชาติรอบกาย อย่างเพลิดเพลินใจ
น้ำตกผาไทรคู่ น้ำตกผากระชาย น้ำตกผาด่านช้าง และ น้ำตกผามะนาวยักษ์ เป็นน้ำตกขนาดกลางที่เกิดจากห้วยโกรกเด้ บริเวณเขาแหลม อยู่ทางด้านทิศเหนือของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีความสูงประมาณ ๑๕ เมตร ไหลลาดไปตามพื้นหินที่สูงชัน เหมาะสำหรับผู้ชอบผจญภัยค้างแรมในป่า อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์ฯ ขญ.๓(ตะเคียนงาม) ประมาณ ๕ กิโลเมตร น้ำตกทั้ง ๒ แห่งนี้เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามอีกรูปแบบหนึ่ง
น้ำตกแก่งหินเพิง เป็นแก่งหินที่มีความยาวและใหญ่ สายน้ำลดหลั่นกันคล้ายขั้นบันได อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์ฯ ขญ.๒(ผากระดาษ) ประมาณ ๕ กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงทางด้าน การล่องเรือยาง ในแต่ละปี จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปล่องเรือกันเป็นจำนวนมาก
น้ำตกเหวไทร เป็นน้ำตกที่เกิดจากห้วยลำตะคองอยู่ทางใต้ ถัดไปจากน้ำตกเหวสุวัต ห่างจากน้ำตกเหวสุวัต ประมาณ ๗๐๐ เมตร น้ำตกนี้มีลักษณะเป็นหน้าผากว้างเต็มลำห้วย สูงประมาณ ๕ เมตร ในฤดูฝนน้ำตกนี้จะไหลแรงเต็มหน้าผา สวยงามน่าชมมาก การเดินทางไปน้ำตกเหวไทรไปได้ ๒ เส้นทาง คือ เดินเท้าต่อไปจากน้ำตกเหวสุวัต ระยะทางประมาณ ๗๐๐ เมตร หรือ เดินเท้าจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ไปตามเส้นทางเดินเท้าสายกองแก้ว-เหวสุวัตก็ได้ ระยะทางประมาณ ๘.๓ กิโลเมตร ตามสองข้างทางเดินที่ผ่านไป จะมีสิ่งที่น่าสนใจอย่างอื่นๆ อีกมากมาย เช่น สมุนไพร และเห็ดป่า เป็นต้น
น้ำตกเหวประทุน เป็นน้ำตกที่อยู่ในห้วยลำตะคองอีกแห่งเหมือนกัน อยู่ถัดจากน้ำตกเหวไทร ประมาณ ๑ กิโลเมตรเศษ สามารถเดินทางจากน้ำตกเหวสุวัตไปได้ หรือจะเดินจาก บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไปก็ได้ เดินตามเส้นทางเดินเท้าสายกองแก้ว-เหวสุวัต ระยะทางประมาณ ๘ กิโลเมตร น้ำตกนี้มีลักษณะเป็นหน้าผากว้างและสูงสวยงามมาก
น้ำตกตาดมะนาว เป็นน้ำตกขนาดเล็กๆ ที่สวยงามอีกรูปแบบหนึ่ง อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ เดินไปตามเส้นทางเดินเท้าออกจากด้านหลังศูนย์วิจัยอุทยานแห่งชาติ(โภชนาการเดิม) เขาใหญ่ประมาณ ๕-๖ กิโลเมตร จะผ่านป่าดงดิบชื้น ที่มีพันธุ์ไม้เล็กใหญ่ และไม้สมุนไพรที่น่าสนใจศึกษา
น้ำตกตาดตาภู่ น้ำตกนี้อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เกิดจากห้วยระย้า เป็นน้ำตกที่มีลักษณะเป็นโขดหิน และลาดหินที่มีน้ำไหลหลั่นเป็นทอดลาดเอียงไปข้างล่างประมาณ ๑๐๐ เมตร เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบพักแรมค้างในป่า ระยะทางประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ใกล้ๆ น้ำตกจะมีทุ่งหญ้าสลับกับป่าไม้ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ป่านานาชนิด ที่เห็นประจำ ได้แก่ เก้ง กวาง ช้างป่า กระทิง นกนานาชนิด เป็นต้น
น้ำตกตาดตาคง เป็นน้ำตกที่งดงามและสูงอีกแห่งหนึ่ง ที่อยู่ถัดไปจากน้ำตกตาดตาภู่ประมาณ ๔ กิโลเมตรเศษ การเดินทางจะเริ่มต้นที่ด้านหลังศูนย์วิจัยอุทยานแห่งชาติ(โภชนาการเดิม) เขาใหญ่ก็ได้ ระยะทางประมาณ ๑๕ กิโลเมตร หรือจะเริ่มที่ ก.ม. ๕.๕ ถนนเขาใหญ่-ปราจีนบุรีก็ได้ ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร
กลุ่มน้ำตกผาตะแบก น้ำตกกลุ่มนี้เป็นน้ำตกขนาดไม่เล็กมากนักเกิดบนห้วยน้ำซับ ลักษณะของน้ำตกเป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันลงไป ๕ ชั้น จากปากทางเข้าบนถนนสายเขาใหญ่-ปราจีนบุรี ช่วงระหว่าง กม. ๖.๕-๗ จะมีทางเดินเท้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จัดทำเอาไว้เดินเข้าไปเพียง ๕๐๐ เมตร ก็จะถึงน้ำตกแห่งแรก คือ น้ำตกผากระจาย และเดินต่อไปอีกจะถึง น้ำตกผาหินขวาง น้ำตกผารากไทร น้ำตกผาชมพู และน้ำตกผาตะแบก รวมระยะทางในการเดินเท้าทั้งสิ้นประมาณ ๓ กิโลเมตร
น้ำตกธารทิพย์ เป็นน้ำตกเล็กๆ ไหลมาตามลานหินกว้างเป็นทางยาว จากนั้นสายน้ำจะไหลผ่านช่องเขาแคบที่ขนาบข้างก่อนตกลงเป็นน้ำตกสูง ๕ เมตร จากน้ำตกธารทิพย์มีทางเดินป่าไปอีก ๔ กิโลเมตร ถึง น้ำตกเหวอีอ่ำ ซึ่งเป็นน้ำตกขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่ง มีความสูงประมาณ ๒๕ เมตร ผู้สนใจติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางที่หน่วยพิทักษ์ฯ ขญ.๑๐(ประจันตคาม)
จุดชมทิวทัศน์ จุดชมทิวทัศน์ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่เด่นๆ มีด้วยกัน ๓ จุด ดังนี้
๑.จุดชมทิวทัศน์ กิโลเมตรที่ ๓๐ ถนนธนะรัชต์(จากปากช่อง) สามารถชมทิวทัศน์ด้านทิศเหนือของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้เป็นบริเวณกว้างและสวยงาม
๒.จุดชมทิวทัศน์เขาเขียว (ผาเดียวดาย) นับเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงามน่าชม เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมาก มีลักษณะคล้ายผานกเค้าที่ภูกระดึงจะมองเห็นเขาร่มวางอยู่เป็นแนวยาวและ ทิวทัศน์ที่สวยงามด้านจังหวัดปราจีนบุรี ตอนเช้าตรู่จะเห็น พระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าเป็นดวงกลมสีแดง เหนือสันเขาสวยงาม เส้นทางถึงยอดเขาเขียวมีระยะทางประมาณ ๑๔ กิโลเมตร บริเวณช่วงกิโลเมตรที่ ๙ มีเส้นทางลงสู่จุดชมทิวทัศน์ผาเดียวดาย ผ่านป่าดิบเขาที่ชุ่มชื้นและอากาศเย็นตลอดปี ตามต้นไม้และโขดหินมีมอสและตะไคร่ขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไป บริเวณนี้จะพบนกบนที่สูงหลายชนิด เช่น นกปรอดดำ นกเปล้าหางพลั่ว นกแซงแซวหางบ่วงเล็ก เป็นต้น
๓.จุดชมทิวทัศน์ ก.ม.๙ อยู่ช่วงกิโลเมตรที่ ๙ ถนนขึ้นเขาเขียว สามารถมองเห็นทิวทัศน์ ป่าไม้และภูเขาสูงด้านทิศเหนือได้ตลอดแนว
หอดูสัตว์ เป็นสถานที่ที่จัดทำขึ้นสำหรับการซุ่มดูสัตว์ป่า นักท่องเที่ยวสามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่เวลา ๑๖:๐๐-๑๘:๐๐ น. จำนวน ๒ โซนได้แก่
๑. โซนที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
– หอดูสัตว์หนองผักชี อยู่บริเวณหนองผักชี ซึ่งเป็นแหล่งน้ำของสัตว์ป่า รอบๆ หนองน้ำเป็นทุ่งหญ้าคากว้างใหญ่ มีโป่งสัตว์ปากทางเข้าอยู่บริเวณ ก.ม. ๓๕-๓๖ ถนนธนะรัชต์ เดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ ๑ กิโลเมตร
– หอดูสัตว์มอสิงโต อยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำมอสิงโต รอบๆ มีลักษณะเป็นทุ่งหญ้าโล่งที่เหมาะสำหรับซุ่มดูสัตว์ป่าที่มากินดินโป่ง ซึ่งเป็นดินที่มีแร่ธาตุสำคัญของสัตว์กินพืช อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ ๕๐๐ เมตร
๒. โซนหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ขญ.๔(คลองปลากั้ง)
– หอดูสัตว์เขากำแพง อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์ฯ ประมาณ ๒ กิโลเมตร ตั้งอยู่ในทุ่งหญ้าติดชายป่าเชิงเขากำแพง มีทิวทัศน์สวยงาม ในเวลาเย็นจะมีฝูงกระทิงออกหากินบริเวณใกล้ๆ สามารถชมจากหอดูสัตว์นี้ได้ชัดเจน
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (อาคารสุวรรณกร) เป็นแหล่งข้อมูลของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อยู่ใกล้กับที่ทำการอุทยานฯ ภายในมีการจัดนิทรรศการ ให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว มีขนาดใหญ่พอที่จะรับนักท่องเที่ยวได้ครั้งหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ คน บริเวณนี้มีห้องประชุมซึ่งสามารถบรรจุคนได้ถึง ๑๐๐ คน ใช้สำหรับเป็นที่ประชุมบรรยาย ฉายสไลด์และภาพยนตร์ (ขณะนี้ปิดปรับปรุงอยู่)
ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ ตั้งอยู่ที่ ก.ม.๒๔ ถนนธนะรัชต์ เส้นทางขึ้นเขาใหญ่ ด้านอำเภอปากช่อง นักท่องเที่ยวที่ผ่านเข้าอุทยานฯและประชาชนทั่วไป มักแวะไปกราบไหว้ และขอพรอยู่เสมอ
เดินป่าศึกษาธรรมชาติ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีเส้นทางเดินป่าระยะสั้น และเส้นทางเดินป่าประเภทท่องไพร สามารถสอบถามรายละเอียดการเดินป่า และติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว แบ่งเป็น เส้นทางเดินป่าประเภทไม่พักแรม(Niking trail ) โดยเส้นทางตั้งแต่ลำดับที่ ๒ จะต้องติดต่อขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ก่อนเข้าไป ดังนี้
๑. เส้นทางศูนย์บริการนักท่องเที่ยว-น้ำตกกองแก้ว ระยะทางประมาณ ๑,๒๐๐ เมตร เส้นทางนี้จะปูด้วยอิฐตัวหนอน มีป้ายสื่อความหมายตลอดเส้นทาง นักท่องเที่ยวสามารถเดินเองได้
๒. เส้นทางดงติ้ว-มอสิงโต ระยะทาง ๒ กิโลเมตร ผ่านป่าดงดิบเลียบริมห้วย มีไม้ใหญ่ที่เป็นจุดเด่น คือ ต้นสมพงขนาดยักษ์ มีพูพอนสูงท่วมหัวคน
๓. เส้นทางสายดงติ้ว-หนองผักชี ระยะทาง ๔ กิโลเมตร ทางช่วงแรกใช้ทางเดียวกับเส้นมอสิงโต จากนั้นจะผ่านป่าดงดิบที่มีความหลากหลายของพืชพันธุ์ จนไปถึงหอดูสัตว์หนองผักชี
๔. เส้นผากล้วยไม้-เหวสุวัต ระยะทาง ๓ กิโลเมตร ทางเลียบริมห้วย ริมทางมีเห็ดมากมายหลายชนิด อาจได้พบสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ริมน้ำ เช่น ตะกอง นาก
๕. เส้นทาง กม.33-หนองผักชี ระยะทาง ๒.๕ กิโลเมตร ทางผ่านป่าดงดิบที่มีต้นไม้ใหญ่หลายคนโอบ เช่น ไทร หว้า กะเพราต้น เถาวัลย์มากมายหลายชนิด
๖. เส้นทางกองแก้ว-เหวสุวัต ระยะทาง ๘ กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่ไกล ต้องเดินขึ้นลงภูเขา ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมและติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางไว้ เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทั้งวัน ต้องออกตั้งแต่เช้า และเตรียมเสบียงกลางวันไปให้พร้อม
เส้นทางเดินป่าแบบท่องไพร(Trekking trail) เส้นทางเดินป่าระยะไกล เป็น เส้นทางที่ต้อง มีการพักแรมในป่า โดยมากเป็นเส้นทางที่อยู่รอบอุทยานฯ ใช้เวลาค้างคืนตั้งแต่ ๑-๓ คืน สามารถติดต่อเดินป่าได้ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ใกล้เคียงและที่ทำการอุทยานฯ เช่น เส้นทางเขาสมอปูน, เส้นทางคลองปลากั้ง-น้ำตกวังเหว-รอยตีนไดโนเสาร์-แก่งหินเพิง , เส้นทางคลองสะท้อน-แก่งยาว ,เส้นทางโป่งตาลอง-น้ำตกผาด่านช้าง-น้ำตกผามะนาวยักษ์-น้ำตกไทรคู่-น้ำตกผากระชาย เป็นต้น
แก่งหินเพิง เป็นแก่งหินขนาดใหญ่กลางแม่น้ำใสใหญ่ในเขต อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี แก่งหินเพิงจะสวยงามมากที่สุดในยามน้ำหลาก ราวเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน ฤดูฝนจึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดสำหรับการท่องเที่ยวแก่งหินเพิง มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเล่นน้ำตามแก่งต่างๆ เป็นจำนวนมาก สำหรับผู้ชื่นชอบความตื่นเต้นเร้าใจ ยังนิยมนำการล่องแก่งแพยางจากแก่งหินเพิงลงมายังหน่วยพิทักษ์ฯ ขญ.๙ อีกด้วย
ข้อมูลจาก
http://www.khaoyaizone.com/