โครงการรณรงค์เพื่อการลดขยะและเลิกให้อาหารสัตว์ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
หลักการและเหตุผล
เขาใหญ่ เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย ได้รับสมญานามว่าเป็นอุทยานมรดกของกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นป่าผืนใหญ่ตั้งอยู่ในเทือกเขาพนมดงรัก ในส่วนหนึ่งของดงพญาไฟหรือดงพญาเย็นในอดีต ประกอบด้วยขุนเขาน้อยใหญ่สลับซับซ้อนหลายลูก เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำลำธารที่สำคัญหลายสาย เช่น แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำมูล อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่านานาชนิด เช่น ช้างป่า กวางป่า เก้ง กระทิง เสือ ตลอดจนมีลักษณะทางธรรมชาติที่สวยงาม เขาใหญ่ มีเนื้อที่ 1,353,471.53 ไร่ หรือ 2,165.55 ตารางกิโลเมตรและที่สำคัญ เมื่อกลางเดือน กรกฎาคม พ.ศ.2548 ณ กรุงเดอแบน ประเทศแอฟริกาใต้ ที่ประชุมองค์กรยูเนสโก ได้ประกาศผนวกรวมอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็น 1 ในผืนป่ามรดกโลก“ดงพญาเย็น-เขาใหญ่” ซึ่งนับเป็นแหล่งมรดกแห่งที่ 5 และเป็นมรดกทางธรรมชาติอันดับ 2 ของประเทศไทย
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า และพรรณพืช และเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามและมีชื่อเสียงระดับโลก นอกจากนั้นการเดินทางก็สะดวกสบายและอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จึงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมเป็นจำนวนมาก จากสถิตินักท่องเที่ยวที่เข้ามาอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ปี 2553 ประมาณ 7 แสนคน/ปี ทั้งนี้จากตัวเลขจำนวนของนักท่องเที่ยวดังกล่าว ได้ก่อผลกระทบต่อพื้นที่และระบบนิเวศของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวคือ ปัญหาขยะและของเสียที่เกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยว ภายในอุทยานฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สัตว์ป่า เป็นอย่างมาก รวมไปถึงปัญหา การให้อาหารสัตว์ป่า ที่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของนักท่องเที่ยว หรือบางคนก็อาจจะนึกสนุก เพียงแค่อยากดูมันใกล้ๆ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา เช่น สัตว์ป่าเหล่านั้นอาจถูกรถชนตาย หรือสูญเสียสัญชาตญาณการหาอาหารกินเองของสัตว์ป่า และที่สำคัญที่สุดก็คือพฤติกรรมของสัตว์ป่าที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ความก้าวร้าวที่เพิ่มขึ้น จากที่ไม่เคยมายุ่งกับข้าวของของนักท่องเที่ยว แต่ลิงที่อาศัยอยู่บริเวณบ้านพักหรือจุดกางเต็นท์ต่างๆ เข้ามาขโมยของกิน และแย่งอาหารจากนักท่องเที่ยว เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ผลกระทบที่เกิดขึ้นเหล่านี้ คงไม่สามารถจัดการแก้ไขได้โดยภาครัฐเพียงลำพัง แต่ต้องประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาชนที่อยู่โดยรอบ ในการร่วมไม้ร่วมมือแก้ไขปัญหา และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความรับผิดชอบของนักท่องเที่ยว ต่อขยะที่ตัวเองนำมาและต้องงดให้อาหารสัตว์อย่างจริงจัง ก่อนที่เขาใหญ่จะสูญเสียความเป็นธรรมชาติของสัตว์ป่าและสภาพแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อให้อุทยานแห่งชาติแห่งนี้คงความอุดมสมบูรณ์สืบต่อไป
เป้าหมายโครงการ
เพื่อลดปริมาณขยะและการไม่มีการให้อาหารสัตว์ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
วัตถุประสงค์ของโครงการ
- เพื่อให้นักท่องเที่ยวรับผิดชอบกับขยะที่นำขึ้นมา ให้นำกลับลงไปจากเขาใหญ่ และรับรู้ถึงผลกระทบที่เกิดจากปัญหาขยะ
- เพื่อให้นักท่องเที่ยวเลิกให้อาหารสัตว์ป่า และรับทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น
- เพื่อให้นักท่องเที่ยวตระหนักถึงความรับผิดชอบของตนเอง ในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์เขาใหญ่ซึ่งเป็นมรดกโลกที่คนไทยภาคภูมิใจ การรักษาความสะอาด และสิ่งแวดล้อมภายในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
กิจกรรม
1. รับสมัครเยาวชนเพื่อเป็นอาสาสมัครโครงการ
วิธีดำเนินการ
- ประสานงานในโรงเรียนเครือข่ายเยาวชนรักษ์เขาใหญ่ในพื้นที่รอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และที่อื่นๆ เพื่อเปิดรับอาสาสมัครโครงการ
2. ฝึกอบรมหลักสูตรการให้ความรู้กับนักท่องเที่ยว
วิธีดำเนินการ
- จัดค่ายเยาวชนเพื่อฝึกอบรมการให้ความรู้กับนักท่องเที่ยว และการทำป้ายประชาสัมพันธ์ต่างๆ
- จัดทำแผนงานในการรณรงค์ตลอดปี
3. จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ขนาดใหญ่บริเวณทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ทั้งสองด้าน
4. จัดงานแถลงข่าว เพื่อให้สาธารณชนตระหนังถึงการนำขนะกลับเมือง และการงดให้อาหารสัตว์ ในเขตอุทยานฯ
5. จัดโปรแกรมการรณรงค์ 1 ครั้ง/ 1 เดือน ( รวม 11 ครั้ง )
วิธีดำเนินการ
- ดำเนินการรณรงค์ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยการแบ่งพื้นที่ในการจัดการเดือนละ1ครั้ง
- ดำเนินการติดป้ายประชาสัมพันธ์ตามจุดสำคัญ บ้านพัก ภายใต้ข้อบังคับของอุทยานฯ
- จัดทำเสื้อทีมอาสาสมัคร
- จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ วิทยุ ทีวี หนังสือพิมพ์
6. จัดโปรแกรมการรณรงค์ใหญ่ประจำปี 1 ครั้ง / 1 ปี ( รวม 1 ครั้ง )
วิธีดำเนินการ
- จัดค่ายเยาวชนที่เป็นอาสาสมัครโครงการร่วมกับเยาวชนในภูมิภาคอื่น โดยมีการเชิญ สื่อมวลชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ เพื่อให้เป็นประเด็นที่สาธารณะชนในวงกว้างร่วมรับรู้
งบประมาณ ขอสนับสนุนจาก กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ และมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ทั้งนี้ ขอสนับสนุน
- ที่พัก และค่าผ่านด่าน ให้กับเยาวชนต่อครั้งต่อเดือน
- ที่พักและค่าผ่านด่าน ในการรณรงค์ใหญ่ 1 ครั้งต่อปี 400 คน
องค์กรรับผิดชอบ
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
กลุ่มรักษ์เขาใหญ่
สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดนครนายก
องค์กรสนับสนุน
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ศูนย์ฝึกอบรมการป่าไม้เขาใหญ่
ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ
ทอสอบ รณรงค์ 4 มอ…. On web + Facebook
ทดสอบ Register+login FB ตัวใหม่