สมุนไพร กับ กลยุทธ์ปกป้องไต (บันทึกของแผ่นดิน ๑๑)

สมุนไพร กับ กลยุทธ์ปกป้องไต


…..การที่ไตอ่อนแอมีสาเหตุใหญ่ๆ มาจากปริมาณและคุณภาพเลือดที่ไปเลี้ยงไตไม่ดี ซึ่งเป็นผลมาจากโรคเรื้อรังต่างๆ โดยเฉพาะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ทำให้เซลล์ไตขาดเลือดและเสียหาย นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการมีสารพิษที่เข้าสู่ร่างกาย การกินยาบางชนิดที่ใช้บ่อยๆ เช่น ยาแก้ปวดข้อ แก้อักเสบ ทั้งที่มีสเตียรอยด์ และที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDS) การบริโภคอาหารที่มีเกลือมากเกิน และอาหารที่มีไขมันสูง (ซึ่งเพิ่มการดูดซึมของสารพิษเอนโดทอกซินที่มีอยู่ในลำไส้) ซึ่งล้วนทำให้ไตต้องทำงานหนักขึ้นในการกำจัดออก สาเหตุเหล่านี้ค่อยๆ ทำให้อัตราการกรองของเสียของไต (GFR) ลดลง หรือการทำงานของไตค่อยๆ เสื่อมลง
…..จากสาเหตุที่กล่าวมา เราสามารถป้องกันและบรรเทาความเสื่อมของไตโดยใช้อาหารและสมุนไพรที่มีอยู่มากมายหลายชนิดให้เหมาะกับกลยุทธ์พื้นฐานในการดูแลไตในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้
๑. เพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังไต
๒. ลดสารพิษที่เข้ามาสู่ไต
๓. ปกป้องไตจากอนุมูลอิสระ
๔. เพิ่มการขับของเสีย ลดการคั่งค้าง
๕. บำรุงและฟื้นฟู

๑. เพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังไต
…..การเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังไตทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ จะมีผลอย่างมากในการช่วยไตขจัดของเสียและสารพิษออกจากร่างกาย และลดปฏิกิริยาการทำลายเซลล์ไตจากอนุมูลอิสระ สมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อไตในแง่นี้ คือ กลุ่มที่มีฤทธิ์ในการเพิ่มการไหลเวียนของหลอดเลือดส่วนปลาย ซึ่งมักเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น พริกไทย ที่นิยมนำมาเข้าตำรับยากษัยไตพิการ จะช่วยเพิ่มการผลิตไนตริกออกไซด์ทำให้เกิดการขยายหลอดเลือดส่วนปลาย เพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังเนื้อเยื่อของไต นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่าพริกไทยช่วยป้องกันการเกิดการแข็งตัวของหลอดเลือด
…..ในต่างประเทศมีการศึกษาพืชผักสมุนไพรที่สามารถช่วยทำให้เลือดมาเลี้ยงไตได้มากขึ้น และพบว่า น้ำบีทรูทมีฤทธิ์เพิ่มไนตริกออกไซด์เช่นเดียวกับพริกไทย นอกจากนี้การแพทย์ทางเลือกยังมีการแนะนำให้ใช้บัวบกเพื่อปรับปรุงการไหลเวียนของเลือด และฟื้นฟูเซลล์เนื้อเยื่อของเส้นเลือด ทำให้นำส่งเลือดไปเลี้ยงไตได้ดีขึ้น ในการแพทย์แผนจีนบัวบกเป็นสมุนไพรในยาจีนโบราณที่มีการใช้รักษาโรคไตมานานหลายศตวรรษ มีการวิจัยพบว่า สารเอเชียติโคไซด์(Asiaticoside) ในบัวบกมีฤทธิ์ในการทำให้เซลล์สามารถใช้ออกซิเจนได้ดีขึ้น มีการศึกษาในหนูพบว่า สารสกัดบัวบกสามารถฟื้นฟูไตที่ถูกทำให้เสียหายจากยา Adriamycin ได้ เมื่อเทียบกับกลุ่มหนูที่ไม่ได้รับสารสกัดบัวบก
…..ข้อมูลงานวิจัยเหล่านี้มาสอดคล้องกับตำรับแก้กษัยไตพิการบำรุงร่างกายที่หมอยาพื้นบ้านนิยมใช้กันมาก คือ ใช้บัวบก ๒ ส่วน พริกไทย ๑ ส่วน บดผงปั้นเป็นลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดพุทราไทย กินครั้งละ ๒ เม็ด เช้า เย็น
…..นอกจากพริกไทยแล้ว ยังมีสมุนไพรที่มีรสร้อนหรือฤทธิ์ร้อนอื่นๆ ซึ่งจะช่วยทำให้เลือดไปเลี้ยงไตได้ดีขึ้น อย่างเช่น ดีปลี ขิง ข่า ไพล กะทือ กระชาย ว่านน้ำ สะค้าน ขมิ้นอ้อย กะเพรา กานพลู ผักเสี้ยนผี แก่นลั่นทม เปล้า ฝาง คำฝอย สมุนไพรเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังมีสรรพคุณอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อไตด้วย เช่น แก้อักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น
บัวบก
…..ยาจีนโบราณ ใช้รักษาโรคไตมาอย่างยาวนาน ยาพื้นบ้านไทยใช้เป็นยาแก้กษัย แก้ปวดเมื่อย
     • ฟื้นฟูเซลล์ของหลอดเลือดทำให้เลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ดีขึ้น
     • ลดอาการอักเสบ ลดความเสียหายให้กับเซลล์
     • ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันไม่ไห้เซลล์ถูกทำร้าย
     • มีรายงานปกป้องไตในสัตว์ทดลอง
     • ขับปัสสาวะ
พริกไทย
…..เป็นส่วนประกอบในตำรับกษัย ตำรับยาอายุวัฒนะ
     • มีสารเพิ่มการดูดซึมของตัวยาอื่นๆ
     • เพิ่มการไหลเวียนของเลือด
     • ต้านอนุมูลอิสระ
     • เพิ่มภูมิคุ้มกัน
     • ขับปัสสาวะ
…..บัวบก ๒ ส่วน พริกไทย ๑ ส่วน ทำเป็นลูกกลอน ขนาดเท่าผลมะแว้ง ครั้งละ ๒ เม็ด เช้า-เย็น คือยาบำรุงร่างกาย แก้กษัย เป็นยาอายุวัฒนะ คู่บ้านของคนไทย

๒. ลดสารพิษที่เข้ามาสู่ไต
…..ในยุคปัจจุบันร่างกายของคนเรายิ่งได้รับสารพิษจากทุกทิศทุกทาง เพราะสารเหล่านี้ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร น้ำ และอากาศ จึงเป็นภาระหนักสำหรับไตที่จะต้องกำจัดออกจากร่างกาย สารพิษเหล่านี้ ได้แก่ สารเคมีที่ใช้ในการเกษตรหรือปนเปื้อนอยู่ในอาหาร เช่น สารกำจัดศัตรูพืช สารกำจัดวัชพืช สารปรอท เป็นต้น สารที่ใช้เติมในอาหาร เช่น สารกันบูดในอาหารสำเร็จ เกลือและฟอสเฟตที่มีมากเกินไปในอาหาร ยาหลายชนิดก็ทำให้ไตเสียหายหากกินไปนานๆ โดยเฉพาะยาพื้นๆ ที่ใช้กันบ่อยๆ เช่น พาราเซตามอล และพวกยาแก้ปวดข้อต่างๆ ล่าสุดยังมีสารพิษอีกอย่างที่ต้องให้ความสนใจ คือ ฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งมีผลเสียต่อไตด้วย
…..การดูแลสุขภาพไตจะต้องหาทางหลีกเลี่ยงหรือลดการรับสารพิษเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย ในกรณีของยาที่มีอันตรายต่อไตดังที่กล่าวข้างต้น ควรใช้เท่าที่จำเป็น และดื่มน้ำอย่างเพียงพอเพื่อขับยาที่ตกค้างออกไปทางปัสสาวะ การลดสารพิษที่ผ่านเข้ามาทางอาหารนั้น ทางหนึ่งคือ อย่าติดอยู่กับความสะดวกสบายจากการกินอาหารสำเร็จซึ่งส่วนใหญ่มักมีสารปรุงแต่งที่มีผลต่อไตในระยะยาว ควรเปลี่ยนมารับประทานอาหารปรุงสด แต่ถ้าให้ดีที่สุดควรทำอาหารกินเอง ที่สำคัญ พยายามเลือกอาหารที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ เพราะอาหารที่ปลูกโดยใช้สารเคมีมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารพิษและโลหะหนัก
…..สารที่สำคัญตัวหนึ่งที่มีพิษต่อไตโดยตรง คือ แคดเมียม ซึ่งเป็นโลหะหนักที่ใช้ในสารกำจัดแมลง สารกำจัดเชื้อรา อุตสาหกรรมยาสูบ ทำให้มีแคดเมียมตกค้างอยู่ในระบบห่วงโซ่อาหาร แคดเมียมมีค่าครึ่งชีวิต ๑๐-๓๐ ปี (หมายความว่า เมื่อร่างกายได้รับแคดเมียมแล้ว จะต้องใช้เวลายาวนานถึง ๑๐-๓๐ ปี ถึงจะขับออกจากร่างกายได้ครึ่งหนึ่ง)
…..แคดเมียมครึ่งหนึ่งจะถูกสะสมไว้ที่ตับและไต และมีผลทำลายไตโดยตรง ดังนั้นนอกจากเลือกกินอาหารอินทรีย์เพื่อไม่รับแคดเมียมเข้าไปในร่างกายแล้ว การออกกกำลังกายและการกินสมุนไพรที่มีฤทธิ์ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ เช่น ตะไคร้ กระชาย ขิง ก็เป็นวิธีที่จะขับแคดเมียมออกจากร่างกายได้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากมีรายงานว่า แคดเมียมสามารถกำจัดผ่านทางผิวหนังทางเหงื่อได้ นอกจากนี้ยังพบว่าสมุนไพรบางชนิดสามารถลดพิษแคดเมียมได้ เช่น มะขามป้อม ขมิ้นชัน ขิง ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยและคนไทยใช้กันทั่วไป
…..มีการศึกษาพบว่า ขมิ้นช่วยปกป้องระบบหัวใจและหลอดเลือดจาก PM 2.5 ได้ ในขณะที่มะขามป้องก็สามารถลดพิษของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ซึ่งเป็นส่วนประกอบของ PM 2.5 ได้ สมุนไพรกลุ่มนี้หมอแผนไทยมักเรียกว่า ยาล้อม ส่วนใหญ่จะมีรสฝาด รสขม

…..ตำรับยาพื้นบ้านในการบำรุงไตภาคเหนือ นิยมใช้รากหรือเปลือกของต้นงิ้ว ภาคกลางนิยมใช้แห้วหมู ภาคอีสานนิยมใช้ยาหัว อ้อยดำ ยาหัวจะช่วยลดการอักเสบ ส่วนอ้อยดำจะช่วยบำรุงความชุ่มชื้น ถ้าไตเริ่มมีปัญหาจะให้เพิ่มมะตูมลงไปด้วย ซึ่งน่าสนใจที่มีการวิจัยพบว่า มะตูมมีสรรพคุณในการช่วยฟื้นฟูการทำงานของไต ใบมะตูมยังช่วยป้องกันไม่ให้ไตเสื่อมจากเบาหวานได้อีกด้วย
ขมิ้นชัน มหัศจรรย์แห่งการป้องกันไต
…..ขมิ้นชันเป็นสมุนไพรที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน รวมถึงเป็นเครื่องเทศสมุนไพรที่ใช้เป็นอาหารของผู้คนโดยเฉพาะในแถบเอเชียมาหลายพันปี และปัจจุบันก็เป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย โดยมีข้อบ่งใช้คือ บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด หลายคนคงทราบดีอยู่แล้วว่าขมิ้นชันมีฤทธิ์โดดเด่นในการดูแลสุขภาพของระบบทางเดิน แต่อาจจะไม่รู้ว่าขมิ้นชันเป็นสมุนไพรที่น่าจะมีประโยชน์อย่างมากต่อผู้ป่วยโรคไต
…..ในต่างประเทศมีการศึกษาเกี่ยวกับขมิ้นชันมากมายหลายพันชิ้น พบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ มากมาย ที่โดดเด่นมากคือ ฤทธิ์ลดอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรคไต มีงานวิจัยในหลอดทดลองและหนูทดลองหลายชิ้น พบว่าขมิ้นชันมีกลไกการปกป้องไตได้ จากที่ผลยับยั้งกระบวนการอักเสบและการเกิดอนุมูลอิสระ โดยมีการศึกษาในแบบจำลองการทดลองหลายแบบ ทั้งการศึกษาในภาวะโรคไตจากเบาหวาน ภาวะโรคไตเรื้อรัง ภาวะไตอักเสบจากการขาดเลือด ความเป็นพิษต่อไต เป็นต้น ซึ่งภาวะดังกล่าว ถูกกระตุ้นให้เกิดโดยการใช้สารหรือยาบางชนิด เช่น Gentamicin, Adriamycin, Chloroquine, Iron nitrilotriacetate, Sodium fluoride, Hexavalent chromium และ Cisplatin
…..การศึกษาในหนูทดลองพบว่า การได้รับขมิ้นชันมีผลทำให้ไตทำงานดีขึ้น ลดการอักเสบของไต ลดโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ขมิ้นชันยังช่วยควบคุมแรงดันของหลอดเลือดในไตให้ปกติ ขมิ้นชันยังสามารถออกฤทธิ์ที่ระดับยีนในการต้านอนุมูลอิสระ สารเคอร์คูมินซึ่งเป็นสาระสำคัญในขมิ้นชันมีผลในการป้องกันการเกิด Lipid peroxidation ซึ่งเป็นการก่ออนุมูลอิสระจากการเสื่อมสลายของไขมัน ช่วยเพิ่มเอนไซม์ที่มีผลต่อต้านอนุมูลอิสระและป้องกันภาวะเครียดของร่างกายจากออกซิเดชัน (Oxidative stress) อีกทั้งป้องกันการลดลงของเอนไซม์ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระต่างๆ นอกจากนี้ยังช่วยต้านการอักเสบผ่านทางการลด NF-K และ TNF-α ซึ่งเป็นโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ และมีผลในการลด TGF-β ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง พังผืดที่ท่อไต และโกลเมอรูลัสแข็ง (Glomerulosclerosis) อันเป็นสภาวะเฉพาะของโรคไตจากเบาหวาน ซึ่งเมื่อเป็นเบาหวานมานาน จะเกิดความผิดปกติของกระจุกหลอดเลือดแดงฝอยในไตที่ทำหน้าที่กรองเลือดขั้นแรก
…..ความรู้ใหม่อีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับกลไกของขมิ้นชันในโรคไต ที่ผู้เขียนได้อ่านพบในงานวิจัย ซึ่งทำให้รู้สึก “ว้าว” กับขมิ้นชันยิ่งขึ้นไปอีกคือ การกินอาหารไขมันสูงหรืออาหารแบบฝรั่งทางตะวันตกนั้น อาจจะมีผลทำให้เกิดการรั่วหรือเสียหายของเยื่อบุผนังลำไส้ จนมีการรั่วของสารพิษที่เกิดจากแบคทีเรียตัวร้ายที่เรียกว่า Lipopolysaccharide (LPS) จากลำไส้เข้าไปในกระแสเลือด และกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบ ซึ่งถือว่าเป็นสารพิษในเลือดที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง มีการพบว่า ขมิ้นชันมีส่วนเข้ามาช่วยในการป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วหรือเสียหายของเยื่อบุผนังลำไส้ และยับยั้งการรั่วไหลของสารพิษเข้าไปในกระแสเลือด จึงน่าจะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยชะลอการเกิดโรคไตเรื้อรัง
สำหรับการศึกษาในคนที่น่าสนใจมีดังนี้
– การได้รับสารสกัดขมิ้นชัน ๘๒๔ มิลลิกรัม (95% Curcuminoids) วันละ ๒ ครั้งเป็นเวลา ๘ สัปดาห์ ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง มีผลลดระดับสารสื่ออักเสบในร่างกาย และไม่มีผลเปลี่ยนแปลงค่าการทำงานของไตทั้งค่าครีอะตินีน และ BUN
– ในผู้ป่วยโรคไตอักเสบลูปัส เมื่อได้รับผงขมิ้นชันครั้งละ ๕๐๐ มิลลิกรัม ซึ่งให้สารเคอร์คูมิน ๒๒.๑ มิลลิกรัม วันละ ๓ ครั้งเป็นเวลา ๒ เดือนมีผลลดระดับโปรตีนรั่วในปัสสาวะและลด Transforming growth factor-beta (TGF-β) ซึ่งส่งผลในกรลดการเกิดพังผืดที่หน่วยกรองของเสียที่ไต
– ข้อมูลจากเว็บไซต์ Natural Medicines พบว่า การให้ผงขมิ้นชัน ๕๐๐ มิลลิกรัม วันละ ๓ ครั้งเป็นเวลา ๘ สัปดาห์ สามารถลดอาการคันในผู้ป่วยฟอกไตได้ ๑.๙ เท่า เทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก
…..ศ.พญ.ธัญญารัตน์ ธีรพรเลิศรัฐ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าเมื่อให้ผู้ป่วยไตจากโรคเบาหวานได้รับสารสกัดจากขมิ้นชันแคปซูล ซึ่งมีสารเคอร์คูมินอยด์ ๒๕๐ มิลลิกรัมต่อแคปซูล ครั้งละ ๒ แคปซูล วันละ ๓ ครั้ง เป็นเวลา ๓ เดือน พบว่าขมิ้นชันมีแนวโน้มในการลดโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ลดภาวะเครียดจากออกซิเดชัน(Oxidative stress) และชะลอการเสื่อมของการทำงานของไต โดยไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงใดๆ ในผู้ป่วย เมื่อทราบถึงความสามารถในการปกป้องไตของขมิ้นชันแล้ว อาจมีคำถามว่าแล้วในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตหรือการทำงานของไตไม่ดี จะใช้สมุนไพรขมิ้นชันได้หรือไม่
…..ถึงแม้จะยังไม่มีการศึกษาชี้ชัดว่าขมิ้นชันสามารถรักษาโรคไตได้ แต่ขมิ้นชันอาจมีประโยชน์ในผู้ป่วยโรคไตในแง่ของการเพิ่มความสามารถของการต้านอนุมูลอิสระ และลดกระบวนการอักเสบในผู้ป่วยไตเรื้อรัง ผู้ป่วยเบาหวานที่เริ่มมีการทำงานของไตแย่ลง หรือมีการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ
…..นอกจากนี้สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตมาจากโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังอันเนื่องมาจากการทำงานของไตที่เสียไป ทำให้ไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ หรือเกิดภาวะน้ำเกิน ซึ่งก็ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนทางระบบหัวใจและหลอดเลือดตามมา เช่น อัมพาต หัวใจล้มเหลว ดังนั้นการที่ขมิ้นชันมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด ก็น่าจะช่วยชะลอการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) และป้องกันภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้
…..ขมิ้นชันยังสามารถใช้บรรเทาอาการความเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคไต เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย คันตามผิวหนัง
…..สำหรับขนาดการใช้ของขมิ้นชันในผู้ป่วยไต ยังไม่ทราบขนาดแน่ชัด แต่หากอิงจากงานวิจัยที่ทำในผู้ป่วยโรคไต พบว่ามีการใช้ขนาดอยู่ที่ ๘๒๔-๑๕๐๐ มิลลิกรัมต่อวัน หรือคิดเป็นสารเคอร์คูมิน ๖๖ มิลลิกรัมต่อวัน นาน ๒ เดือน หรือสารเคอร์คูมินอยด์ ๑๕๐๐ มิลลิกรัมต่อวัน นาน ๓ เดือน ซึ่งใกล้เคียงกับขนาดเฉลี่ยที่ใช้เป็นอาหารของคนเอเชียคือ วันละ ๕๐๐-๑๕๐๐ มิลลิกรัมต่อคน ดังนั้นการกินขมิ้นชันให้เป็นส่วนหนึ่งของอาหารประจำวันจึงเข้าแนวคิด “อาหารเป็นยา” ได้
…..สำหรับในรูปแบบแคปซูลขนาดปกติเพื่อบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อคือ ครั้งละ ๒ แคปซูล วันละ ๔ ครั้ง แต่ในผู้ป่วยที่ไตวายระยะ ๓-๕ ครั้ง หรืออาจใช้เฉพาะเวลามีอาการท้องอืด และต้องระวังการใช้ขมิ้นชันในรายที่ต้องจำกัดปริมาณโพแตสเซียม

๓. ปกป้องไตจากอนุมูลอิสระ
…..อาหารและสมุนไพรที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบดูเหมือนจะเป็นความจำเป็นในการดูแลสุขภาพในยุคปัจจุบัน จากการทบทวนงานวิจัยสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการฟื้นฟูและปกป้องไตพบว่า สมุนไพรเหล่านี้มีกลไกสำคัญ คือ กลไกการเพิ่มภูมิคุ้มกัน ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ซึ่งตรงกับคุณสมบัติของสมุนไพรหลักๆ ที่ใช้แก้โรคกษัยไตพิการของหมอพื้นบ้านไทย เช่น พืชตระกูลขิง ข่า ตรีผลา (มะขามป้อม สมอไทย สมอพิเภก) มะคำไก่ เถาวัลย์เปรียง รางแดง กำแพงเจ็ดชั้น ข้าวเย็นเหนือ (ยาหัว) ข้าวเย็นใต้ เป็นต้น
…..ในจำนวนนี้สมุนไพรที่เด่นในเรื่องฤทธิ์ในการต้านการทำลายเซลล์จากอนุมูลอิสระ ได้แก่ มะขามป้อม (ทั้งเดี่ยวๆ และใช้ในรูปของตรีผลา) ขมิ้นชัน รางจืด หมอพื้นบ้านสมัยก่อนมักจะต้มน้ำตรีผลาผสมกับกระพังโหม ในอินเดียนิยมกินมะขามป้อมกวนกับขมิ้นชัน ชาวเขานิยมเอารางจืดมาต้มกินเป็นประจำ สมุนไพรเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังปกป้องเซลล์จากปฏิกิริยา Lipid peroxidation ซึ่งเป็นอีกกลไกหนึ่งที่อนุมูลอิสระทำความเสียหายแก่เยื่อหุ้มเซลล์
…..ส่วนสมุนไพรตัวสำคัญอื่นๆ ในตำรับแก้กษัยไตพิการอย่างเถาวัลย์เปรียง รางแดง บอระเพ็ด จะมีฤทธิ์หลายด้านๆ รวมกัน ได้แก่ แก้ปวดเมื่อย แก้อักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ขับปัสสาวะและเป็นยาระบายอ่อนๆ การศึกษาฤทธิ์ต่อไตของสมุนไพรกลุ่มนี้ยังมีอยู่น้อย แต่เป็นที่น่าทึ่งว่า สมุนไพรที่ใช้เป็นหลักอีกตัว คือ ยาหัว ซึ่งพืชตระกูลยาหัว (Smilax) บางชนิดมีรายงานว่าสามารถปกป้องและฟื้นฟูการทำงานของไต

พืชตระกูลขิงข่า
…..ขมิ้นชัน ขมิ้นน้อย ขิง กระชาย กระทือ ข่า ว่านอุตพิต เป็นส่วนประกอบในยากษัย มีรสร้อน เพิ่มการไหลเวียน ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อไต เช่นมีรายงานว่า ขิง ช่วยปรับปรุงการทำงานของไต ช่วยปกป้องไตจากแคดมียม การลดการอักเสบซึ่ง ลดความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระต่อเนื้อเยื่อไต ซึ่งสัมผัสกับสารพิษหลากหลายชนิด
รางแดง
…..แก้กษัยไตพิการ สมุนไพรบำรุงไตของคนโบราณ (อ่านรายละเอียดบันทึกของแผ่นดิน ๔ สมุนไพรยากำลัง หน้า ๔๖-๔๙) ใช้ชงรับประทานแทนใบชา ขับถ่ายปัสสาวะ ทำให้เส้นเอ็นตามร่างกายอ่อน เขาเรียกกันว่า รางแดง กะเหรี่ยงแดง เครือก้องแกบ แสงอาทิตย์ เถาวัลย์เหล็ก ย่านอีเหล็ก
เถาวัล์เปรียง
…..แก้กษัย แก้เส้นเอ็น แก้เหน็บชา คำตอบของยาแก้กษัยไตพิการ ตามวิถีชาวบ้านครบครัน
     • แก้ปวดเมื่อยเรื้อรัง
     • ช่วยล้างพิษ ด้วยการขับปัสสาวะอ่อนๆ ระบายอ่อนๆ
     • ทำให้มีกำลังวังชา
     • เพิ่มภูมิคุ้มกัน
…..เป็นสมุนไพรคู่บ้าน ตากแห้ง คั่วไฟอ่อนๆ เพื่อลดความชื้นเก็บไว้ต้มกิน ชงกินเป็นประจำ
…..งานวิจัยยืนยันการแก้ปวดหลังและมีความปลอดภัยสูงผ่านการศึกษาวิจัยจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
มะคำไก่ ยากษัย ยอดฮิต
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Drypetesroxburghii Wall.
ชื่อวงศ์ : EUPHORBIACEAE
ต้านการอักเสบ ช่วยแก้ปวดเมื่อย ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องเซลล์
…..เป็นยาแก้โรคกษัยไตพิการ ที่หมอพื้นบ้านไทยจะขาดเสียมิได้ เพราะช่วยระบายอ่อนๆ ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปวดเมื่อย แก้เส้นเอ็นหย่อน ใช้ใบ หรือแก่น หรือราก ต้มกินต่างน้ำก็ยิ่งดี หรือใช้แก่นมะคำไก่ หัวสับปะรดเขียว ต้มกินแก้กษัย

๔. เพิ่มการขับของเสีย ลดการคั่งค้าง
…..การขับของเสีย หรือ ดีทอกซ์ ที่กำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายในปัจจุบัน เป็นแนวคิดที่ตะวันตกเพิ่งรับเอาไปไม่นานมานี้ แต่ที่จริงเป็นหัวใจของการรักษาของหมอยาพื้นบ้านไทยเลยทีเดียว โดยเน้นการขับออกทางอุจจาระและปัสสาวะ
๔.๑ ล้างพิษในลำไส้ เพื่อไตดี
…..หมอยาพื้นบ้านมีแนวคิดว่า การขับถ่ายดี ปัสสาวะดี จะนำไปสู่สุขภาพดี ในอดีตจึงมีตำรับอาหารที่ช่วยระบายอ่อนๆ เช่น แกงขี้เหล็ก แกงผักปลัง แกงบอน แกงขนุนอ่อน เป็นต้น
…..ในตำรับยากษัยไตพิการมักมีสมุนไพรที่มีฤทธิ์ระบายเพื่อกำจัดพิษที่คั่งค้างอยู่ในลำไส้ เช่น โกฐน้ำเต้า ชุมเห็ดเทศ แสมทะเล ยาดำ รากตองแตก ใบมะกา ฝักคูน ฯลฯ สมุนไพรเหล่านี้มีสารอีโมดินซึ่งเป็นสารพวกแอนทราควิโนน ถ้าใช้ปริมาณสูงจะเป็นยาระบาย ในปริมาณน้อยๆ สามารถช่วยฟื้นฟูไต โดยจะใช้การต้มให้นานๆ เพื่อลดปริมาณสารพวกแอนทราควิโนน ดังจะเห็นว่ายากษัยที่เข้า
…..สมุนไพรเหล่านี้จะใช้ในรูปแบบของยาต้ม เช่น โกฐน้ำเต้า ซึ่งในจีนมีการศึกษาทางคลินิกถึงผลในการช่วยฟื้นฟูไต
…..นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรรสเปรี้ยวที่ช่วยล้างเมือกที่สะสมของเสียให้ขับถ่ายออกมาทางอุจจาระ ช่วยระบาย และปรับความเป็นกรดด่างของปัสสาวะ สมุนไพรในกลุ่มนี้ได้แก่ เช่น ใบมะขาม ส้มป่อย ส้มเสี้ยว สารส้ม ส้มกุ้ง มะกรูด มะนาว เป็นต้น ถ้าหากเป็นสมุนไพรในตระกูลส้มก็จะไปช่วยเพิ่มซิเตรทในปัสสาวะช่วยป้องกันและขับนิ่วกรดยูริกได้ด้วย
๔.๒ ขับปัสสาวะ ไม่ให้ของเสียคั่งค้าง
…..หมอพื้นบ้านเชื่อว่า ลักษณะของปัสสาวะเป็นตัวบ่งบอกสุขภาพ ดังนั้นจึงมีตำรับยาสมุนไพรที่ใช้กินเป็นประจำเพื่อทำให้ปัสสาวะเป็นปกติทั้งกลิ่น สี รส (หมอพื้นบ้านบางคนให้คนไข้ชิมรสของปัสสาวะ) ความถี่ในการปัสสาวะ และกริยาอาการเมื่อปัสสาวะ สมุนไพรที่มีสรรพคุณทำให้การปัสสาวะเป็นปกตินี้จัดเป็นสมุนไพรพื้นฐานของตำรับยากษัยไตพิการ คล้ายๆ กับที่เกสรทั้งห้า เป็นสมุนไพรยืนพื้นในตำรับยาหอม
…..นอกจากลักษณะปัสสาวะแล้ว หมอพื้นบ้านยังเชื่อว่าปัสสาวะต้องไม่คั่งค้าง ตามแนวคิดที่ว่า น้ำนิ่งทำให้น้ำเน่า น้ำที่ดีต้องมีการไหลเวียน จึงมีการใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เช่น หญ้าหนวดแมว ไหมข้าวโพด บานไม่รู้โรย โด่ไม่รู้ล้ม รากเตย รากลำเจียก รากไผ่ รากหญ้าคา หนามกระสุน ขลู่ เป็นต้น การใช้สมุนไพรในกลุ่มนี้ถือเป็นพื้นฐานของการดูแลไตของคนสมัยก่อน โดยมากจะตากแห้งคั่วไฟไว้ชงกินแบบชา ทำให้ปัสสาวะคล่อง ป้องกันปัญหาในทางเดินปัสสาวะ
…..เนื่องจากมีคุณสมบัติในการช่วยขับปัสสาวะ ช่วยปรับความเป็นกรดด่าง ช่วยขับนิ่ว หรือป้องกันการเกิดก้อนนิ่ว การใช้จะเริ่มต้นจากสมุนไพรชนิดเดียวหรือสองชนิดก่อน ถ้าอาการหนักจะต้องใช้ยาตำรับ สมุนไพรที่นิยมใช้มากที่สุด คือ หญ้าหนวดแมว

๕. บำรุงและฟื้นฟู
…..แนวคิดเรื่องการบำรุงและฟื้นฟูอวัยวะต่างๆ ไม่มีอยู่ในการแพทย์แผนปัจจุบัน แต่เป็นหัวใจของการแพทย์ตะวันออก รวมทั้งการแพทย์แผนไทย โดยดูจากธรรมชาติของอวัยวะนั้นๆ ว่ามีธาตุอะไรเป็นหลัก เช่น ไตมีน้ำอยู่เป็นหลัก มีคุณลักษณะเด่นเป็นเสมหะ ดังนั้นต้องคงความเป็นเสมหะไว้ไม่ให้หย่อน
…..เพื่อป้องกันปิตตะกำเริบ ในขณะเดียวกันก็ไม่ให้เสมหะกำเริบ จนปิตตะหย่อน การดูแลไตซึ่งมีความชุ่มชื้นเป็นธรรมชาติ ไม่ควรกินของรสจัดมากเกินไป และใช้สมุนไพรที่มีความชุ่มชื้นช่วยบำรุงไต เช่น อ้อยดำ รากหญ้าคามะตูม แห้วหมู รากสามสิบ ถั่วเขียว ชะเอมเทศ ผักปลัง ผักโขมหิน รากหรือเปลือกของต้นงิ้ว เป็นต้น
…..ตำรับยาพื้นบ้านในการบำรุงไตภาคเหนือนิยมใช้รากหรือเปลือกของต้นงิ้ว ภาคกลางนิยมใช้แห้วหมู ภาคอีสานนิยมใช้ยาหัว อ้อยดำ ยาหัวจะช่วยลดการอักเสบ ส่วนอ้อยดำจะช่วยบำรุงความชุ่มชื้น ถ้าไตเริ่มปัญหาจะให้เพิ่มมะตูมลงไปด้วย ซึ่งน่าสนใจตรงที่มีการวิจัยพบว่ามะตูมมีสรรพคุณในการช่วยฟื้นฟูการทำงานของไต ใบมะตูมยังช่วยป้องกันไม่ให้ไตเสื่อมจากเบาหวานได้อีกด้วย
อ้อยดำ บำรุงไต
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Saccharum sinense Roxb.
ชื่อวงศ์ : POACEAE
ชื่ออื่น : อ้อย อ้อยขม อ้อยตาแดง
…..อ้อยดำเป็นสมุนไพรไทยแท้ๆ บำรุงร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ ลดความดัน ขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ แก้ขัดเบา เจ็บหลังเจ็บเอว บำรุงกำลัง บำรุงโลหิต รักษาร่างกายอ่อนเพลีย คัดอก โรคหัวใจ อ้อยดำจะใช้เดี่ยวๆ ก็ได้ แต่นิยมใช้คู่กับยาหัว
…..ยาหัวเป็นพวกหัวข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ มีอยู่หลายชนิด สรรพคุณเด่นของยาหัวคือ ลดการอักเสบเรื้อรัง
ตำรับยาบำรุงไต
…..อ้อยดำ ยาหัว ต้มกินเป็นประจำ อาจรวมกับสมุนไพรตัวอื่น

ปิดการแสดงความเห็น