นิ่ว เรื่องใหญ่ที่ไตพัง (บันทึกของแผ่นดิน ๑๑)

นิ่ว เรื่องใหญ่ที่ไตพัง


…..โรคนิ่วเป็นโรคที่มีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ทีเดียว เพราะมีรายงานว่า พบนิ่วในกระเพาะปัสสาวะในโครงกระดูกมัมมี่ของประเทศอียิปต์ มัมมี่ดังกล่าวเชื่อว่า เป็นศพของเด็กชายอายุประมาณ ๑๖ ปี ซึ่งตายมาแล้วประมาณ ๗,๐๐๐ ปี
…..นิ่วเกิดจากการสะสมของเกลือแร่จนกลายเป็นผลึกแข็งในทางเดินปัสสาวะ เกิดได้ทั้งในทางเดินปัสสาวะส่วนบนและส่วนล่าง ส่วนบน ได้แก่ ไตและท่อไต นิ่วมีหลายขนาดตั้งแต่เป็นผงละเอียดจนถึงก้อนใหญ่ แล้วไปอุดการไหลของปัสสาวะ ชนิดที่พบบ่อยที่สุดคือ แคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate) ส่วนชนิดอื่นๆ ได้แก่ นิ่วที่เกิดจากกรดยูริก ผลึกกรดอะมิโน และสารจำพวกฟอสเฟต หรือนิ่วสตรูไวท์ที่เกิดจากการติดเชื้อ
…..นิ่วและการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะเป็นความผิดปกติร้ายแรงที่อาจส่งผลเสียต่อไต จนลุกลามเป็นไตวายได้ นิ่วเป็นโรคที่ต้องรักษาโดยใช้การศัลยกรรมเป็นหลักแต่มีการใช้ยาร่วมด้วย ปัจจุบันการรักษานิ่วมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น แต่คนเป็นนิ่วอาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก


นิ่วรู้ไม่ยาก หากให้ดี ป้องกันไว้ก่อน
…..อาการเป็นนิ่วจะรู้ได้ไม่ยาก ที่สำคัญคือ อาการปวดที่ตำแหน่งไต หรือปวดชนิดที่รุนแรงจนเหงื่อตก เกิดเป็นพักๆ ปัสสาวะจะขัด ถ่ายเจ็บ ไม่สะดวก ปัสสาวะมีสีผิดปกติ อาจมีเลือดหรือเป็นสีน้ำล้างเนื้อ หรืออาจมีหนองร่วมด้วยได้ บางทีออกกะปริดกะปรอย หรือออกเป็นหยดขุ่นหรือขาวเหมือนมีผงแป้งอยู่ หรือเกิดการอยากถ่ายปัสสาวะอยู่เสมอ แต่ถ่ายไม่ออก ถ้ามีอาการที่ว่ามานี้ น่าจะเป็นนิ่วแน่ๆ ต้องรีบมาพบแพทย์โดยเร็ว
…..สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดนิ่วยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อาจเกิดจากการกินอาหารที่ขาดสมดุล กรรมพันธุ์ หรือการเจ็บป่วยด้วยโรคบางอย่าง เช่น เกาต์ การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น แต่ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใด นิ่วคือ เกลือแร่ที่จับกันเป็นก้อน ไม่ละลายไปกับน้ำปัสสาวะ จึงไม่สามารถขับออกไป ได้ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ มีสารที่ไม่ละลายน้ำอย่างเช่นกรดยูริกมากเกินไป ไม่มีสารไปป้องกันการจับตัวกันเป็นก้อนนิ่ว เช่น พวกซิเตรท หรือในร่างกายมีน้ำน้อยเกินไปเนื่องจากกินน้ำน้อยหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้เสียเหงื่อมากทำให้ปัสสาวะข้น ดังนั้นการดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยในการป้องกันการเกิดนิ่วและขับนิ่วก้อนเล็กๆ ให้ออกมากับปัสสาวะได้


กินอาหาร ต้านนิ่ว
• การได้รับโปรตีนสูงจากเนื้อสัตว์เป็นสาเหตุหนึ่งของนิ่วในไต ดังนั้นควรกินผักใบเขียวให้มากขึ้น เพราะมีวิตามินเค และโปแตสเซียม ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดก้อนนิ่วได้
• คาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลแปรรูป ทำให้มีการผลิตอินซูลินเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการขับของเสียพวกแคลเซียมมากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่ว จึงไม่ควรบริโภคอาหารพวกนี้มากเกินไป
• การได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เหมาะสม จะลดการเกิดนิ่วได้
• คนเป็นโรคเกาต์ซึ่งมีกรดยูริกในเลือดมากเกินไป ต้องคุมของที่แสลงกับโรค (ดูรายละเอียดในบันทึกของแผ่นดิน ๑๑ หน้า ๓๕)
• สมุนไพรที่มีโปแตสเซียมสูง เช่น หญ้าหนวดแมว และสมุนไพรที่ทำให้มีซิเตรทในปัสสาวะสูงเช่น พวกน้ำส้ม น้ำมะนาว จะช่วยป้องกันการเกิดการจับตัวกันของนิ่ว
• การขาดวิตามินและเกลือแร่บางตัวเช่น วิตามินบี ๑ บี ๖ บี ๑๒ จะมีผลทำให้เมตาบอลิซึมของร่างกายผิดปกติ และมีการสร้างออกซาเลตมากกว่าปกติ ทำให้ออกซาเลตออกมาในปัสสาวะเพิ่มขึ้น จึงควรรับประทานข้าวกล้องซึ่งมีวิตามินเหล่านี้ และผลไม้ที่มีแมกนีเซียมสูง เช่น กล้วย
• ดื่มชาสมุนไพรช่วยขับปัสสาวะ เช่น ไหมข้าวโพด น้ำตะไคร้ ใบเตย พืชตระกูลหญ้า เพื่อลดสาเหตุของการติดเชื้อ
ข้อแนะนำสำหรับคนเป็นนิ่ว
๑. ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อเพิ่มปริมาณปัสสาวะ และลดความเข้มข้นของสารเกลือในปัสสาวะ ป้องกันการอิ่มตัวของสารที่ละลายน้ำได้น้อยจนเกิดการจับเป็นผลึกและตกตะกอนเป็นก้อนนิ่ว ควรดื่มน้ำประมาณ ๑ แก้ว ๒๐๐ หรือ ๒๕๐ ซี.ซี. ทุก ๒ ชั่วโมง ในเวลากลางวัน และถ้าตื่นขึ้นมาตอนกลางคืน ให้ดื่มน้ำอีก ๑ – ๒ แก้ว
๒. หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น กระโดดเชือก หรือวิ่งเหยาะๆ ตามสมควร ควรเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ ซึ่งจะทำให้เกิดก้อนนิ่วได้ยาก และโดยเฉพาะผู้ที่มีนิ่วในท่อไต นิ่วจะเคลื่อนและหลุดได้ง่ายขึ้น
๓. กินยาตามที่แพทย์สั่งโดยสม่ำเสมอ
๔. จำกัดอาหารที่เป็นสาเหตุของนิ่ว เช่น เนื้อหรือสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์
๕. สมุนไพรพื้นบ้านบางชนิด โดยเฉพาะหญ้าหนวดแมว มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ และสามารถเปลี่ยนภาวะกรดด่างได้ จึงน่าจะนำมาใช้ร่วมในการรักษา เพื่อทดแทนยาแผนปัจจุบันบางชนิด

ปิดการแสดงความเห็น