ดูแลทางเดินปัสสาวะ ลดภาระให้ไต (บันทึกของแผ่นดิน ๑๑)

ดูแลทางเดินปัสสาวะ ลดภาระให้ไต


ระบบทางเดินปัสสาวะ จุดอ่อนติดเชื้อ
…..ระบบทางเดินปัสสาวะมีโอกาสจะติดเชื้อได้ง่าย สาเหตุมักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ เมื่อคนเราเคลื่อนไหวร่างกายแบคทีเรียบางส่วนที่อยู่รอบๆ ทวารหนักมีโอกาสจะเล็ดลอดเข้าไปที่ท่อปัสสาวะ บางครั้งก็เกิดการเช็ดทำความสะอาดโดยไม่ระมัดระวังโดยเฉพาะในผู้หญิง วิธีที่ถูกต้องคือต้องไม่เช็ดจากทางทวารหนักมาด้านหน้า และการร่วมเพศก็อาจทำให้เชื้อดังกล่าวเข้าไปที่กระเพาะปัสสาวะได้เช่นกัน
…..แบคทีเรียที่มักทำให้เกิดการติดเชื้อ คือ เชื้ออีโคไล (Escherichia coli) ซึ่งสายพันธุ์ส่วนใหญ่มีประโยชน์เมื่ออยู่ในลำไส้ แต่หากเข้าไปอยู่ในกระเพาะปัสสาวะและแพร่ขยายจำนวน ก็จะทำให้ระบบทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ เชื้อในกลุ่มนี้ดื้อยาได้ง่าย ถ้ารักษาไม่ดีอาจเรื้อรังและทำให้การติดเชื้อลุกลามขึ้นมาถึงกรวยไตและลามถึงไตทำให้ไตวายเรื้อรังได้ นอกจากนี้การติดเชื้อยังอาจมีส่วนทำให้เกิดนิ่วที่ไตได้อีกด้วย
…..ปัญหาในระบบทางเดินปัสสาวะมักเกิดง่ายขึ้นตามวัยที่สูงขึ้น เนื่องจากความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะลดลง ผู้สูงอายุจะมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้บ่อยขึ้นเนื่องจากกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไม่ดีพอที่จะทำให้ปัสสาวะออกไปหมด มีการคั่งค้างของน้ำปัสสาวะ ทำให้เชื้อที่อาจเล็ดลอดเข้ามาไม่ถูกกำจัดออกไป

คุณผู้หญิง ยิ่งต้องดูแล
…..การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะเป็นปัญหาที่ผู้หญิงต้องระวังมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงติดเชื้อได้ง่ายกว่าผู้ชายถึง ๔ เท่า ด้วยสาเหตุต่างๆ ดังนี้
• รูเปิดของท่อปัสสาวะและทวารหนักของผู้หญิงอยู่ใกล้กันมากกว่าของผู้ชาย ดังนั้นโอกาสที่แบคทีเรียจะเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งจึงมีมากกว่า นอกจากนี้ท่อปัสสาวะของผู้หญิงยังสั้นกว่าของผู้ชายอย่างเห็นได้ชัด แบคทีเรียจึงเดินทางเข้าไปถึงกระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่า
• การได้รับแรงดันที่กระเพาะปัสสาวะเช่นในกรณีการตั้งครรภ์ เมื่อมดลูกขยายใหญ่ขึ้นจะไปเบียดกระเพาะปัสสาวะทำให้มีโอกาสติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะสูงขึ้น
• ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนมีแนวโน้มจะติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะได้ง่ายขึ้น เนื่องจากท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะมีความเปราะบางมากขึ้น
• ผู้หญิงจำนวนมากมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจทำให้เกิดความระคายเคืองต่อท่อปัสสาวะ และเพิ่มความเสี่ยงที่แบคทีเรียจากทวารหนักจะเข้าไปที่ท่อปัสสาวะ
การรักษาแผนปัจจุบันสำหรับการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะคือ การให้ยาฆ่าเชื้อ พร้อมกับให้ดื่มน้ำมากๆ เพื่อลดปริมาณของเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
…..ส่วนในทางการแพทย์แผนไทย การติดเชื้อมีสาเหตุหลักมาจากปิตตะกำเริบ ปัจจัยที่ส่งผลให้ปิตตะกำเริบและนำไปสู่การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะมีหลายประการ เช่น
• การกินอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น ของหมักดอง อาหารรสจัด อาหารทอด
• การสัมผัสกับความร้อนมากเกินไป เช่น อากาศร้อน ความอับชื้น
• อารมณ์โกรธ ใจร้อน ริษยา
• การดื่มแอลกอฮอล์
• การกลั้นปัสสาวะ
• การดื่มน้ำในปริมาณที่ไม่เพียงพอ
อาการที่ต้องคอยสังเกต
…..การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะช่วงแรกจะยังไม่มีอาการ จะตรวจพบได้ก็ต่อเมื่อมีการตรวจปัสสาวะเท่านั้น แต่เมื่อรุนแรงขึ้นจะมีอาการดังต่อไปนี้
• เจ็บจี๊ดหรือรู้สึกแสบร้อนขณะถ่ายปัสสาวะ
• ปัสสาวะบ่อยครั้งแต่ละครั้งมีปริมาณน้อย
• แม้ว่าจะถ่ายปัสสาวะออกมาแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกปวดอยู่เพราะว่ากระเพาะปัสสาวะยังเต็มไปด้วยปัสสาวะ
• ปัสสาวะมีกลิ่นแรง
• อ่อนเพลียและเหน็ดเหนื่อย
• อาจพบว่ามีไข้ หากไตหรือกรวยไตเกิดการติดเชื้อ
• รู้สึกมีแรงดันเหนือกระดูกหัวเหน่า
• อาจพบเลือดในปัสสาวะ
ปฏิบัติตัวอย่างไร ไม่ให้ติดเชื้อ
• ล้างบริเวณอวัยวะเพศให้สะอาด และดื่มน้ำ 1 แก้วก่อนมีเพศสัมพันธ์
• ถ่ายปัสสาวะก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากการถ่ายปัสสาวะช่วยขับเชื้อแบคทีเรียออกไป
• ดื่มน้ำมากๆ เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากการมีปัสสาวะที่ไหลได้อย่างราบรื่น ช่วยชะล้างแบคทีเรียออกจากร่างกาย
• เช็ดถูอย่างเหมาะสมหลังจากถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ เพื่อป้องกันแบคทีเรียจากทวารหนักเข้าไปในท่อปัสสาวะ
• สวมกางเกงในทำจากผ้าฝ้าย เพราะอากาศผ่านได้ดี ช่วยให้มีความเย็นและแห้ง (แบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดีในสภาพที่อุ่นชื้น) หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่คับแน่นเกินไป
• หลีกเลี่ยงการใช้สบู่แรงๆ และครีมระงับเชื้อ เพราะอาจระคายเคืองต่อท่อปัสสาวะ
• ไม่กลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน เพราะมีโอกาสจะทำให้ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
• ผู้หญิงต้องใช้ผ้าอนามัยในช่วงที่มีประจำเดือน หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ เนื่องจากเลือดเป็นตัวกลางอย่างดีสำหรับการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย

อาหารและสมุนไพรดูแลทางเดินปัสสาวะ
• ดื่มน้ำมากๆ เพื่อระบายเชื้อออกมากับปัสสาวะ
• หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกาแฟ
• รับประทานผัก ผลไม้ สมุนไพรฤทธิ์เย็น เพื่อลดปิตตะ เช่น รากสามสิบ ฟักแฟง เป็นต้น และ หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดร้อน
• รับประทานผลไม้หรือสมุนไพรที่มีฤทธิ์ช่วยขับปัสสาวะ เช่น มะขามป้อม บัวบก ลูกผักชี ลูกใต้ใบ โคกกะออม เป็นต้น
• รับประทานผลไม้ที่ทำให้ปัสสาวะมีฤทธิ์เป็นกรดเพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เช่น ทับทิม มะขามป้อม กระเจี๊ยบ น้ำมะนาว เป็นต้น
• ดื่มน้ำมะพร้าวอ่อน น้ำอ้อย น้ำไหมข้าวโพด เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณปัสสาวะอย่างสม่ำเสมอ
• กินสมุนไพรและเครื่องเทศที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย เช่น กระเทียม ขมิ้นชัน ฯลฯ เป็นส่วนหนึ่งของอาหารประจำวัน นอกจากนี้น้ำคั้นจากหยวกกล้วย ก็ช่วยรักษาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

…..ถ้าสงสัยว่าตนเองติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และการดูแลตนเองไม่ได้ผลภายใน ๒ – ๓ วันหรือเริ่มมีอาการไข้ต้องรีบไปพบแพทย์ในทันที (พร้อมกับปฏิบัติตัวตามที่กล่าวมา) เนื่องจากอาจเกิดการติดเชื้อ ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับยาปฏิชีวนะ และเมื่อได้รับยาปฏิชีวนะมารับประทาน จะต้องใช้ให้ครบตามระยะเวลาที่กำหนด มิเช่นนั้นเชื้ออาจดื้อยา ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม การติดเชื้ออาจลามไปยังไตจนเกิดการทำลายไตอย่างถาวรได้

ปิดการแสดงความเห็น