โรคไต ผลพวงของโรคเรื้อรัง (บันทึกของแผ่นดิน ๑๑)

โรคไต ผลพวงของโรคเรื้อรัง

โรควิถีชีวิต โรคเรื้อรัง ระวังไตเสื่อม

…..การเจ็บป่วยนานๆ จากโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรควิถีชีวิต ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง เป็นสาเหตุสำคัญที่ให้เกิดความเสื่อมของไต โรคเหล่านี้มีผลในระยะยาวทำให้เกิดความเสื่อมของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย ทำให้อวัยวะต่างๆ มีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ การทำงานของสมองและหัวใจจะได้รับผลกระทบเป็นระบบแรกๆ ส่วนไตเนื่องจากมีหน่วยไตสำรองไว้จำนวนมากจึงปรากฏอาการออกมาในระยะท้ายๆ เมื่อโรคไตรุนแรงมากแล้ว
…..มีหลักฐานมากมายบ่งชี้ว่า ภาวะความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานเป็นต้นตอหลักของโรคไตเรื้อรัง ในประเทศไทยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายหรือไตวายมีสาเหตุมาจากโรคไตจากเบาหวานเป็นอันดับ ๑ รองลงมาคือ ความดันโลหิตสูง และพบว่าผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคไตเรื้อรังจะมีการดำเนินสู่โรคไตวายเร็วกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นถึง ๒ เท่า ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงทุกคนจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจการทำงานของไตเป็นระยะๆ ด้วยการตรวจเลือดและปัสสาวะ หากพบว่าเริ่มมีการเสื่อมของไตจะได้หาทางชะลอไว้ด้วยการกินยาและปรับพฤติกรรม และยังสามารถหาความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและการใช้สมุนไพรที่เหมาะสมคุมเบาหวานและความดันโลหิตสูงควบคู่ไปด้วยได้
…..ในทางการแพทย์แผนไทยอธิบายว่า การเจ็บป่วยและปัญหาสุขภาพเกิดจากความผิดปกติของตรีโทษ ได้แก่ วาตะ ปิตตะ เสมหะ และธาตุทั้ง ๔ ของร่างกาย ซึ่งในระยะแรกอาจจะเกิดจากความพิการหรือการทำงานผิดปกติของธาตุใดธาตุหนึ่งก่อน แต่เมื่อเจ็บป่วยเรื้อรังนานๆ ก็จะส่งผลกระทบถึงกันหมด หากถึงขั้นธาตุดินเสื่อมแล้วก็ยากที่จะแก้ไข เช่น กรณีของผู้ป่วยเบาหวานในระยะท้ายๆ น้ำหนักจะลดลง มีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะด้วย ดังนั้นการเข้าใจกลไกการทำงานของธาตุ ๔ ตรีโทษ ๓ เพื่อหาทางปรับพฤติกรรม การดูแลด้านจิตใจ อาหารการกิน การออกกำลังกาย และการใช้สมุนไพรอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ความพิการของธาตุใดธาตุหนึ่งขยายวงไปทั้งระบบ จนสุดท้ายไปทำให้ไตเสียหายจนยากจะฟื้นฟู ซึ่งควรปฏิบัติควบคู่ไปกับการรักษาตามแนวทางการแพทย์แผนปัจจุบัน

เบาหวานบานปลาย ทำร้ายไต

…..โรคเบาหวานเป็นโรคที่มีความผิดปกติในการควบคุมน้ำตาลของร่างกาย ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น กรรมพันธุ์ เชื้อชาติ อายุ น้ำหนัก และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ทางตา หัวใจ ไต เป็นต้น โรคเบาหวานเป็นสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งของโรคไต จนมีชื่อโรคไตชนิดนี้โดยเฉพาะว่า โรคไตจากเบาหวาน (Diabetic kidney disease หรือ DKA) ที่สูงกว่าปกติในผู้ป่วยเบาหวานจะไปทำอันตรายต่อเซลล์ทั้งระบบ เพื่อให้เห็นภาพลองนึกถึงการทำเป็ดย่างที่จะใช้น้ำตาลทาหนังเป็ดเพื่อให้ไหม้เป็นสีน้ำตาลกรอบน่ารับประทาน การมีกลูโคสสูงในเลือดก็มีผลในทำนองเดียวกัน คือ เป็นการทำลายผนังเซลล์ของหลอดเลือด รวมไปถึงตัวเซลล์เนื้อไต โรคเบาหวานยังทำให้เซลล์สามารถใช้น้ำตาลได้น้อยลง เนื่องจากไตทำหน้าที่กรองของเสียและดูดสารที่มีประโยชน์กลับคืน การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจึงทำให้ไตต้องทำงานหนัก จนค่อยๆ เสื่อมสภาพ นอกจากนี้โรคเบาหวานกับความดันมักจะมาพร้อมๆ กัน จึงมาช่วยกันทำให้ไตเสียหายหนักขึ้นไปอีก เบาหวานยังเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้ง่าย อันเป็นปัจจัยลบต่อสุขภาพไตด้วย
…..วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคไตจากเบาหวาน คือ พยายามควบคุมระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด และระดับความดันโลหิตให้ได้ตามเกณฑ์ ซึ่งต้องใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ส่งผลให้มีสุขภาพดี ซึ่งนอกจากจะช่วยควบคุมโรคแล้ว ยังทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นด้วย
…..ภาวะแทรกซ้อนทางไตที่เกิดจากโรคเบาหวานโดยตรงอาจเกิดขึ้นหลังจากเป็นเบาหวานอย่างน้อย ๕ ปี แต่ส่วนใหญ่มักเกิดเมื่อผ่านไปแล้ว ๑๕ – ๒๕ ปี การตรวจพบที่สำคัญคือ ตรวจปัสสาวะพบโปรตีนซึ่งมีปริมาณไม่มากในระยะต้น ต่อมาปริมาณโปรตีนจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จนอาจมีการสูญเสียโปรตีนในปัสสาวะมาก ทำให้โปรตีนในเลือดลดต่ำลงและผู้ป่วยมีอาการบวม ระยะเวลาตั้งแต่พบโปรตีนในปัสสาวะจนเกิดภาวะไตวายไม่แน่นอน เฉลี่ย ๔ – ๕ ปี หากมีโปรตีนในปัสสาวะมากแล้ว การรักษาฟื้นฟูจะทำได้ยาก ดังนั้นการป้องกันจึงควรทำตั้งแต่ระยะต้นๆ ก่อนที่จะมีโปรตีนออกมาในปัสสาวะ
…..ภาวะแทรกซ้อนทางไตมิได้เกิดกับผู้ป่วยเบาหวานทุกคน พบประมาณร้อยละ ๒๐ – ๔๐ ของผู้ป่วยเท่านั้น ผู้ที่มีแนวโน้มจะเกิดภาวะแทรกซ้อนนี้ ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานเกิน ๑๐ ปี และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ผู้ที่มีประวัติโรคความดันโลหิตสูงในครอบครัว ผู้ที่มีพี่น้องเป็นโรคไตจากโรคเบาหวาน ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงที่คุมไม่ได้ ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนควรเข้ารับการตรวจไตทุกปี หากพบความบกพร่องของไตได้เร็วจะทำให้ผู้ป่วยกับแพทย์ร่วมกันจัดการกับความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้

เบาหวาน ธาตุไฟหย่อน เสมหะกำเริบ

…..ตามหลักการแพทย์แผนไทย โรคเบาหวานมีสาเหตุมาจากธาตุไฟหย่อน มีการเผาผลาญน้อย ทำให้เสมหะกำเริบ (อ้วน) หรืออาจเกิดจากเสมหะกำเริบไปทำให้ปิตตะหย่อน ดังนั้นเมื่อเริ่มอ้วน จะต้องรีบควบคุมก่อนที่จะนำไปสู่การเผาผลาญที่ผิดปกติ (ปิตตะ) สุดท้ายนำไปสู่การทำลายระบบประสาทและอวัยวะที่มีหน้าที่ขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย (วาตะ) เช่น ไต

ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
    • ลดอาหารที่มีฤทธิ์เสริมเสมหะ คือ รสหวาน มัน ของทอด ของเค็ม
• เพิ่มอาหารที่มีคุณสมบัติอุ่น รสขม รสฝาด เช่น ขมิ้นชัน มะระขี้นก ผักเชียงดา มะขามป้อม
• รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย
• พักผ่อนให้เพียงพอ
• ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ไม่หักโหมเกินไป

…..ในการใช้สมุนไพรดูแลเบาหวาน มีพืชผักสมุนไพรหลายชนิดที่คนไทยนิยมใช้และได้รับการยืนยันถึงฤทธิ์ในการคุมเบาหวานจากงานวิจัยต่างๆ เช่น นิโครธ ตำลึง มะระ หอมใหญ่ บัวหลวง บอระเพ็ด มะตูม กะเพรา กระเทียม ว่านหางจระเข้ กระถิน กระเทียม ข้าว ช้าพลู เตยหอม บัว ฝรั่ง พริกชี้ฟ้า มะขามป้อม มะตูม มะระขี้นก มะแว้งต้น มะแว้งเครือ แมงลัก ไมยราบ ลูกใต้ใบ ว่านหางจระเข้ ส้มกบ สะตอ หญ้าหนวดแมว หนุมานประสานกาย หอมแดง หอมใหญ่ เห็ดหลินจือ ผักเชียงดา เป็นต้น สมุนไพรเหล่านี้ส่วนใหญ่สามารถใช้รับประทานเป็นผัก หรือเป็นชาสุขภาพ แต่ต้องไม่ละเลยการรับประทานยาแผนปัจจุบัน และคอยวัดระดับน้ำตาลอยู่เป็นประจำ

ความดันสูง ปัจจัยพิฆาตหน่วยไต

…..การเป็นโรคความดันโลหิตสูงจะส่งผลเสียต่ออวัยวะภายในร่างกายจนทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ เส้นเลือดสมองตีบ ตาเสีย ที่สำคัญจะค่อยๆ สร้างความเสียหายแก่ไตทีละน้อย ทั้งนี้ก็เนื่องจากความดันโลหิตสูงจะทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหนาขึ้น รูเล็กลง เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้น้อยลง โดยเฉพาะไตซึ่งมีเลือดไหลเวียนในปริมาณมากกว่าอวัยวะอื่นๆ เมื่อเลือดนำอาหารไปหล่อเลี้ยงไตได้ไม่เพียงพอ หน่วยไตจะถูกทำลายและลดจำนวนลง ทำให้ประสิทธิภาพการกรองของเสียของไตเสียหาย จนนำไปสู่ภาวะไตวายได้
…..สำหรับผู้ที่มีปัญหาไตอยู่แล้ว ยิ่งต้องคุมระดับความดันให้อยู่ระหว่าง ๑๒๐/๘๐ มิลลิเมตรปรอท เพื่อจะช่วยชะลอการเสื่อมของไต การกินยาลดความดันเลือดอย่างสม่ำเสมอจึงมีความสำคัญในการชะลอไม่ให้เกิดไตเสื่อมเรื้อรัง แต่ทางที่ดีที่สุดควรป้องกันไม่ให้เป็นโรคความดันโลหิตสูงตั้งแต่ต้น
…..แม้ว่าสาเหตุการเกิดโรคนี้ในผู้ป่วยร้อยละ ๙๐ จะไม่พบสาเหตุที่แท้จริง แต่เชื่อว่ามีความเกี่ยวโยงบางอย่างกับสุขภาพโดยรวม อาหารการกิน และวิถีชีวิตของผู้ป่วย ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ ได้แก่ เพศ ผู้ชายจะพบมากกว่าผู้หญิง อายุ (ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยพบใน ๓ ใน ๔ ของประชากรที่มีอายุ ๗๐ ปีขึ้นไป) มีประวัติโรคความดันโลหิตสูงในครอบครัว ภาวะอ้วน ความเครียด การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การบริโภคเกลือมากเกินไป กินอาหารไขมันสูง กินผักที่เป็นแหล่งของเกลือโปแตสเซียมน้อยเกินไป
…..ข้อปฏิบัติตัวเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงสำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นโรคนี้ และเพื่อควบคุมความดันสำหรับผู้ที่เป็นแล้ว ได้แก่ งดสูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่ควบคุมปริมาณเกลือ ออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หาวิธีคลายเครียด

สมุนไพร เลือกใช้ให้เหมาะสม

…..ผู้ป่วยความดันสูงยังสามารถเลือกใช้สมุนไพรที่ปลอดภัย โดยพิจารณาจากลักษณะของผู้ป่วยตามแนวทางการแพทย์แผนไทยควบคู่ไปกับการใช้ยาแผนปัจจุบัน ดังนี้
ความดันสูงแบบปิตตะ : หน้าแดง ตาแดง หัวใจเต้นเร็ว ไวต่อแสง เลือดออกจมูก ร้อนวูบวาบตามตัว ชีพจรเต้นเร็วและแรง สมุนไพรที่เหมาะสม: ใช้สมุนไพรรสขมจืด เช่น ว่านหางจระเข้ บัวบก ผักกาดน้ำ
ความดันสูงแบบวาตะ: ความดันไม่สม่ำเสมอ ขึ้นเร็วลงเร็ว ชีพจรไม่สม่ำเสมอทั้งความแรงและความเร็ว ความดันจะขึ้นสูงเมื่อมีความเครียด นอนน้อย ทำงานหนัก หรือมีปัญหาทางจิตใจ สมุนไพรที่เหมาะสม: สมุนไพรที่ช่วยทั้งลมกองหยาบ กองละเอียด เช่น กระเทียม ขึ้นฉ่าย ยาหอม กระเจี๊ยบแดง บัวบก
ความดันโลหิตสูงแบบเสมหะ: ความดันสูงอย่างสม่ำเสมอ บวมน้ำ อ้วน ไขมันในเลือดสูง สมุนไพรที่เหมาสม : สมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อน เช่น พริก หอม กระเทียม กระเจี๊ยบแดง อาหารที่ต้องลด: นม เนย ไข่ อาหารไขมัน

…..ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง จำเป็นต้องรู้เป้าหมายในการควบคุมให้ค่าต่างๆเช่น ค่าน้ำตาลสะสม ค่าความดัน อยู่ในระดับที่เหมาะสม จึงควรใฝ่หาความรู้เพื่อดูแลตัวเองให้เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ เพราะเราไปหาหมอได้เป็นครั้งๆ แต่โรคเรื้อรังเหล่านี้อยู่กับเราทุกลมหายใจ ดังนั้นเราจึงต้อง “เป็นหมอให้กับตัวเราเอง” และพึงระลึกไว้เสมอว่า ยาหรือสมุนไพรก็ตามเป็นเพียงตัวช่วย การแก้ปัญหาที่ต้นตอจริงๆ อยู่ที่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและปฏิบัติตัวตามข้อแนะนำดังที่กล่าวมาแล้ว

ปิดการแสดงความเห็น