ไต เรื่องใหญ่ ต่อสุขภาพ(บันทึกของแผ่นดิน ๑๑)

ไต เรื่องใหญ่ ต่อสุขภาพ (บันทึกของแผ่นดิน ๑๑)


…..โรคไตเรื้อรังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในแง่จำนวนผู้ป่วย และภาระทางเศรษฐกิจและสังคมที่ประเทศต้องแบกรับทั้งในส่วนของรัฐ ผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรที่ดูแล ปัจจุบันคนไทยป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังประมาณ ๘ ล้านคน และเพิ่มสูงขึ้นทุกปี หนึ่งในสาม มีอายุน้อยกว่า ๖๐ ปี เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย ๒๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งต้องได้รับการฟอกเลือดหรือล้างไต และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๕-๒๐ ต่อปี ซึ่งรัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาปีละ ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท ส่วนผู้ป่วยที่ล้างไตมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ ๓๐,๐๐๐ บาท
…..จึงไม่น่าแปลกใจว่า โรคไตกลายเป็นปัญหาสุขภาพที่คนกลัวหนักกลัวหนา โดยเฉพาะโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายหรือไตวาย จนกล่าวกันว่าเป็น “มหันตภัยเงียบ” หรือ “โรคตายไว” เพราะกว่าจะรู้ตัวหรือได้รับการวินิจฉัย ก็มักพบว่าไตฝ่อเกือบหมดแล้ว ทำให้ฟื้นคืนดีได้ยาก ได้แต่รักษาแบบประคับประคองไป บางคนก็ว่า “ไตวายร้ายกว่ามะเร็ง” เนื่องจากบั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและญาติผู้ดูแล มีค่าใช้จ่ายที่สูงมากอย่างต่อเนื่องจนกว่าผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตหรือเสียชีวิต
…..โรคไตเรื้อรังแท้ที่จริงเป็นเครื่องสะท้อนความเสื่อมของร่างกายทั้งระบบ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติหรือความเสื่อมของระบบอื่นๆ ก่อนแล้วค่อยลุกลามไปยังไต บวกกับการแบกรับภาระในการกำจัดของเสียและสารพิษออกจากร่างกายซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของไต ต้นเหตุใหญ่ๆ ของโรคไตเรื้อรัง มาจากโรคเรื้อรังโดยเฉพาะเบาหวาน ความดันโลหิต การรับสารพิษหรือสารที่เป็นภาระแก่ร่างกาย เช่น การบริโภคเค็มจัด ปัญหาในระบบทางเดินปัสสาวะที่ลุกลามไปถึงไต สาเหตุเหล่านี้ค่อยๆ บ่อนทำลายการทำงานของไตจนเสื่อมสภาพทีละน้อย จนในที่สุดเข้าสู่ภาวะล้มเหลว ทั้งๆ ที่เป็นอวัยวะที่ธรรมชาติสร้างให้มีขีดความสามารถสูงมาก
…..ปัญหาโรคไตมีความยอกย้อนตรงอวัยวะที่คอยกำจัดภาระของเสียให้ร่างกายคนเรา กลับกลายเป็นภาระอันหนักอึ้งทั้งในด้านค่าใช้จ่ายและการดูแล ปรากฏการณ์โรคไตเรื้อรังให้บทเรียนด้านสุขภาพที่สำคัญ เพราะเมื่อถึงขั้นไตล้มเหลวแล้ว การบำบัดใดๆ ก็เป็นการรักษาที่ปลายเหตุ การบรรเทาโรคไตเรื้อรังหรือป้องกันโรคไตจึงต้องย้อนกลับไปควบคุมหรือป้องกันที่ต้นเหตุที่กล่าวมาแล้ว
…..หัวใจของการดูแลไตอยู่ที่การมีความรู้เกี่ยวกับไต ตั้งแต่ หน้าที่ การทำงาน ความเกี่ยวข้องกับระบบอื่นๆ สาเหตุและสัญญาณของความเสื่อมสภาพ อาการ วิธีการดูแลเชิงป้องกันและบำบัดรักษา แล้วนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัดหรือให้อยู่ในวิถีชีวิต องค์ความรู้ในการดูแลไตไม่ได้มีอยู่เฉพาะในการแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ยังมีการปฏิบัติในการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการใช้สมุนไพรต่างๆ ของชาวบ้าน ซึ่งมีความเข้าใจและการอธิบายเรื่องไตที่แตกต่างออกไป อย่างไรก็ตามความแตกต่างนี้ไม่ได้เป็นความขัดแย้ง ตรงกันข้าม ความรู้สมัยใหม่และงานวิจัยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นความสอดคล้องกันบางอย่างระหว่างสองแนวทางนี้ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในแบบประสานพลัง หรือ เสริมจุดอ่อนจุดแข็งของกันและกัน ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดในการแก้ปัญหาโรคไต

ปิดการแสดงความเห็น