หม่อน ไม้เพื่อไหมและไต………..โดย ‘พี่ต้อม’

Exif_JPEG_PICTURE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Morus alba L.
ชื่อวงศ์ : MORACEAE
ชื่ออื่น : มอน Mulberry tree, White Mulberry
ลักษณะทั่วไป : ไม้พุ่มขนาดกลางหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ประมาณ ๒.๕ เมตร บางพันธุ์สูงได้ประมาณ ๓ – ๗ เมตร ใบเรียงสลับ รูปไข่ หรือรูปไข่กว้าง ปลายใบแหลมยาว โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจหรือค่อนข้างตัด ขอบใบเรียบหรือหยักเว้าเป็นพู ดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ดอกแยกเพศอยู่ร่วมต้น รูปทรงกระบอก ยาวได้ประมาณ ๒ เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็ก สีขาวหม่นหรือสีขาวแกมสีเขียว ผลรวมเป็นกระจุก รูปทรงกระบอก อวบน้ำ สีเขียว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดงเข้มหรือสีม่วงดำ เนื้อนิ่มมีรสหวานอมเปรี้ยว
การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด
หม่อน สมุนไพรปัจจัย ๓
…..หม่อนเป็นพืชสมุนไพรที่อยู่ในวิถีชีวิตคนไทยอีสานมาเป็นเวลายาวนาน เป็นหัวใจสำคัญของการเลี้ยงไหมซึ่งจะนำมาใช้ทอเป็นผ้าสำหรับครอบครัว กลุ่มชาติพันธุ์ไทน่าจะรู้จักการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมานานเท่าๆ กับที่มีการติดต่อกับจีน จนคนไทยก็เชี่ยวชาญเรื่องการทอผ้าไหมและมีลวดลายของเราเอง มีการส่งเสริมอย่างจริงจังจนมีการตั้งกรมหม่อนไหมในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๒ เพื่อการอนุรักษ์ส่งเสริม การวิจัยและพัฒนาในเรื่องหม่อนไหม ตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
…..แม้ว่าหม่อนจะมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน แต่น่าแปลกว่า เวลาเดินป่าในแถบอีสานสานเคยพบต้นหม่อนสูงใหญ่อยู่ในป่าซึ่งน่าจะมีอายุเป็น ๑๐๐ ปี อาจเป็นไปได้ว่าหม่อนก็เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในภาคอีสานเช่นกัน หม่อนในภาษาอีสานจะเรียกว่า มอน หม่อนมีไม่น้อยกว่า ๒๐ สายพันธุ์ ใบมีทั้งแบบมีแฉกและไม่มีแฉก หม่อนเป็นพืชที่ให้ปัจจัยถึง ๓ อย่าง คือ ใช้เลี้ยงไหมมาทำเครื่องนุ่งห่ม ใช้เป็นอาหาร เป็นเครื่องปรุงรส และเป็นยาสมุนไพร
หม่อน สมุนไพรพื้นฐาน เบาหวาน ความดัน
…..ในแทบทุกประเทศที่หม่อนแพร่กระจายไปขึ้นอยู่หรือมีการปลูกหม่อน จะมีการใช้ไม้ต้นนี้เป็นยาสมุนไพรกันอย่างแพร่หลาย สรรพคุณที่เด่นๆ คือ ใบ ใช้ใน เบาหวาน ท้องผูก หวัด เจ็บคอ ลำต้นใช้รักษาการบีบเกร็ง อาการปวดรูมาติก (rheumatic pains) และความดันเลือดสูง ผล ใช้ในการรักษาอาการกลั้นปัสสาวะ อาการเวียนศีรษะ เบาหวาน ผมหงอกก่อนวัยอันควร และท้องผูกในผู้สูงอายุ
ในการใช้เป็นยาของหมอยาพื้นบ้านไทยนั้น จะใช้แทบทุกส่วนของหม่อน ตั้งแต่กิ่งอ่อน ต้น ผล รวมทั้งกาฝาก ต้นและกิ่งอ่อนที่เด็ดใบทิ้ง เอามาเข้ายาแก้ปวดเมื่อย ลดความดัน เบาหวาน ลดอาการบวมตามร่างกาย บำรุงร่างกาย ข้ออักเสบ ปวดตามข้อ ปวดหัวเข่า ปวดแขน ปวดขา แก้นิ้วมือนิ้วเท้าเป็นเหน็บชา เส้นตึง ลดอาการมือเท้าเป็นตะคริว ขาบวมน้ำ แก้ลมพิษตามตัว บำรุงไต ทำให้ไตชุ่มชื้น กิ่งหม่อนมีสรรพคุณช่วยรักษาอาการปัสสาวะสีเหลือง มีกลิ่นฉุนอันเกิดจากความร้อนภายใน ช่วยให้เส้นผมงดงาม
…..ใบ ใช้แก้เบาหวาน โดยนำมานวด แล้วคั่วในกระทะจนแห้ง เก็บไว้ทำชาใบหม่อน เพื่อลดเบาหวาน ลดความดัน หรือนำใบมาตากแห้ง ชงดื่มเป็นชาใบหม่อนซึ่งมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว รสชาติเหมือนชา แต่อมหวานเล็กน้อย พ่อลายแสง หมอยาไทใหญ่จะเอาใบสดมาหั่นชงชาหรือตากแห้งแล้วเก็บไว้ใช้ การดื่มน้ำชาใบหม่อนจะช่วยเรื่องโรคเบาหวานได้ ใบแก่ ตากแห้งมวนสูบเหมือนบุหรี่แก้ริดสีดวงจมูก ใบหม่อนยังสามารถนำไปอังไฟและทาด้วยน้ำมันมะพร้าวใช้วางบนแผล หรือตำเพื่อใช้ทาแก้แมลงกัด หรือผสมกับหอมหัวใหญ่เป็นยาพอกรักษาแผลจากการนอนกดทับ
…..ผล กินบำรุงกำลัง บำรุงสายตา บำรุงตับ บำรุงไต ลดความดันโลหิต ลดน้ำตาลในเลือด ใช้ทำน้ำยาบ้วนปาก แก้ผมหงอกก่อนวัย แก้เวียนหัว เสียงดังในหู บำรุงสายตา ช่วยรักษาอาการนอนไม่หลับจากภาวะเลือดจาง ภาวะความดันโลหิตสูง หรือภาวะเปลี้ยของระบบประสาท แก้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ แก้ท้องผูก บรรเทาอาการกระหายน้ำ และทำให้ร่างกายสดชื่น ส่วนต้นหม่อนเป็นอาหารที่ชื่นชอบของสัตว์ เช่น วัว เป็นต้น กาฝากหม่อน จะเอามาตากแห้งแล้วมาต้มกินเพื่อบำรุงไต
หม่อน วิจัยก้าวไกล สมุนไพรที่มีการพิสูจน์
…..การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับหม่อนก้าวหน้าไปไกลมาก เป็นสมุนไพรที่มีการศึกษาแทบทุกส่วนอย่างกว้างขวางและละเอียดลออ ทำให้ทราบถึงสารออกฤทธิ์ กลไกการออกฤทธิ์ รวมถึงการวิจัยในคนที่เรียกว่า การวิจัยทางคลินิก ซึ่งก็ได้ข้อมูลที่ยืนยันการใช้ประโยชน์ทางยาของพื้นบ้าน โดยเฉพาะการใช้ใบหม่อนในเบาหวาน และพบสารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย
…..การวิจัยในห้องทดลองและสัตว์ทดลองพบว่า ใบหม่อนมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ลดน้ำตาลในเลือด ต้านความอ้วน ขับปัสสาวะ ต้านการเกิดนิ่วในไต ลดความดันโลหิต ต้านการเกิดหลอดเลือดแดงแข็งจากการที่มีผลลดไขมันตัวร้าย LDL แก้ปวด ลดอักเสบ ปกป้องตับ ปกป้องไต ปกป้องระบบประสาท ต้านการชัก สารสกัดใบมีฤทธิ์ยับยั้งอะไมลอยด์ บีตา (beta-amyloid) ซึ่งน่าจะใช้ในการป้องกันอัลไซเมอร์ได้ ต้านซึมเศร้า และเมื่อให้ในขนาดสูงจะมีฤทธิ์ทำให้หลับ ป้องกันความเสียหายต่อเซลล์ในร่างกาย
…..ผลหม่อนมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงมาก เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระพวกโพลีฟีนอล แอนโทไซยานิน และเรสเวอราทอล ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ มีสารประกอบฟีนอล และเคอร์ซีทิน ซึ่งมีฤทธิ์ต่อต้านอาการขาดเลือดในสมองในปริมาณสูง
…..ผลหม่อนน่าจะนำมาใช้ป้องกันสมองเสื่อมได้ เพราะมีกรดไขมันที่จำเป็นต่อเยื่อหุ้มเซลล์ประสาทและสมอง ปกป้องเซลล์ประสาทจากการถูกทำลาย ทำให้ความจำดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิต ลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด ลดการอักเสบ มีฤทธิ์ต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งต่อมลูกหมาก (ในงานวิจัยในหนูทดลองและหลอดทดลอง) ป้องกันมะเร็ง ต้านการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง มีวิตามินซีในปริมาณสูง ช่วยป้องกันเลือดออกตามไรฟัน ช่วยให้ตาใส ตาสว่างดี บำรุงสายตา สารสกัดจากลูกหม่อนยังช่วยลดน้ำหนักได้
…..ในส่วนกิ่งและลำต้นพบสารหลายชนิดที่ทำหน้าที่ออกฤทธิ์ต่อต้านการสร้างเมลานินซึ่งเป็นสารสร้างเม็ดสี จึงมีการนำมาใช้ในเครื่องสำอาง
หม่อน ปกป้องไตและระบบทางเดินปัสสาวะ
…..หม่อนเป็นสมุนไพรที่นอกจากจะช่วยลดเบาหวานซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไตเสื่อมแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อไตโดยตรง มีงานวิจัยในสัตว์ทดลองหลายชิ้นที่พบว่า หม่อนมีฤทธิ์ปกป้องไต แต่ยังไม่มีข้อมูลการวิจัยในคน ฤทธิ์ปกป้องไตนี้มาจากฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ขับปัสสาวะ ขับกรดยูริก ขับนิ่วในไต ฤทธิ์ลดอักเสบ โดยมีผลยืนยันจากการตรวจชิ้นเนื้อและค่าเลือดซึ่งพบว่า สารสกัดจากใบหม่อนมีผลลดค่า BUN และ ค่า Creatinine ซึ่งแสดงถึงการทำงานของไตที่ดีขึ้น
…..ในตำรายาจีนมีการใช้หม่อนเพื่อรักษาเก๊าท์และลดกรดยูริกซึ่งถ้ามีมากเกินไปอาจตกตะกอนเกิดเป็นนิ่วในไตได้ โดยมีงานวิจัยพบว่า สารสกัดจากใบหม่อนมีผลลดกรดยูริกในหนูทดลอง นอกจากนี้ยังพบว่า สารมัลเบอร์โรไซด์เอ (mulberroside A) ที่พบในหม่อนมีผลขับกรดยูริกทางปัสสาวะและมีฤทธิ์ปกป้องไต โดยมีผลลดค่า BUN และ ค่า Creatinine ในหนูที่มียูริกในเลือดสูง นอกจากนี้การศึกษาในหนูทดลองพบว่า สารสกัดเอทานอลจากใบหม่อนมีฤทธิ์ต้านการเกิดนิ่วในไต โดยช่วยสลายนิ่วและป้องกันการเกิดนิ่ว (ขับแคลเซียมและออกซาเลต) และยังทำให้การทำงานของไตดีขึ้นอีกด้วย ส่วนผลหม่อนนั้นมีการวิจัยพบว่ามีผลป้องกันการเกิดพิษต่อไตในกระต่ายจากยาเจนตามัยซิน
…..ใบหม่อน มีความปลอดภัยในขนาดที่รับประทานทั่วไป มีการศึกษาความเป็นพิษแบบเฉียบพลัน โดยให้หนูกินสารสกัดจากใบหม่อนในขนาดสูงๆ ครั้งเดียว ไม่ทำให้สัตว์ทดลองตาย แต่พบอาการผิดปกติคือการหายใจช้าลง ซึม และไม่เคลื่อนไหว แต่อาการกลับคืนเป็นปกติได้ภายใน 30 นาที การศึกษาความเป็นพิษแบบกึ่งเรื้อรังไม่พบความผิดปกติใดๆ ในทุกอวัยวะที่ศึกษา
…..สำหรับชาใบหม่อนนั้นสามารถดื่มเป็นชาสุขภาพสำหรับผู้ป่วยเบาหวานได้ ภายใต้การกินยาแผนปัจจุบันตามแพทย์สั่ง แต่ต้องระวังไม่กินเข้มข้นเกินไปจนระดับน้ำตาลในเลือดตก
…..ในปัจจุบันพบปัญหาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องตลาดยังขาดมาตรฐานที่แน่นอน ทำให้ต้องมีการพัฒนากันต่อไป
ตำรับยา
…..ยาราชสีห์ของพ่อเหล็ก-บ้านฝาง : ให้เอาเหง้ากระชายหนึ่ง รากหม่อนหนึ่ง ต้มกินหัวค่ำคืนในวันอังคาร และคืนวันเสาร์ มีกำลังดังราชสีห์แลฯ
…..ยาช่วยให้ท้องระบายอ่อนๆ : กินผลสุก นำยอดอ่อนกินเป็นผัก กินกับข้าว
…..ยารักษาแผลสด ช่วยห้ามเลือดไหล : นำใบหม่อนนวดเอาน้ำใส่แผลที่มีเลือดออก เลือดจะหยุดไหล
…..ยาปวดในข้อ ในกระดูก (พ่อลายเงิน) : ให้เด็ดเอายอดอ่อนของหม่อนมาตากแห้ง พอแห้งแล้วนำไปคั่วให้หอม เวลาปวดตามข้อตามกระดูก ให้นำมาชงกินไม่เกินสองวันหาย
…..ยาแก้ความดันโลหิตสูง : ยอดอ่อนนำมารับประทานสด หรือทานเป็นผักกับข้าว
…..ยาดูแลรักษาไต : กาฝากหม่อนต้มทำยา หรือกินผลหม่อนสดบ่อยๆ
…..ยาขับปัสสาวะ แก้ความดันโลหิตสูง ลดเบาหวาน (แม่หมอมือลอ มะแซ, พ่อหมอฮามะ ดือราฮิง) : นำรากที่ได้ทำการตากจนแห้งแล้ว ประมาณ ๑ กำมือต่อน้ำ ๑ ลิตร มาต้มให้เดือด แล้วนำมาดื่มอุ่นๆ ครั้งละ ๑/๒ -๑ แก้วชา วันละ ๓ เวลา เช้า เที่ยง และเย็น หลังอาหาร
ยาบำรุงหัวใจ บำรุงสายตา แก้ร้อนใน เป็นยาระบายอ่อนๆ (แม่หมอมือลอ มะแซ, พ่อหมอฮามะ ดือราฮิง) : กินผลสดบ่อยๆ
…..ยาบำรุงร่างกาย ลดความดันโลหิตสูง ลดเบาหวาน ช่วยละลายไขมันในเส้นเลือด ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น ขับปัสสาวะ ขับเหงื่อ (พ่อหมอนิอุมา นิเงาะ, พ่อหมออับดลหรอหมาน ดาราโชติ, แม่หมอมีเนาะ จะปะกียา, แม่หมอนิปะห์ นิเฮง, แม่หมอแอเสาะ มางะ) : นำใบเพสลาดมาหั่นแล้วตากให้แห้ง แล้วนำมาชงในน้ำร้อนจัด สัดส่วนสมุนไพร ๑ หยิบมือต่อน้ำร้อน ๑ แก้วชา รอให้อุ่นแล้วนำมาดื่ม วันละ ๒ เวลา เช้าและเย็น ก่อนอาหาร หรือนำยอดหรือใบอ่อนมารับประทานสด หรือทานเป็นผักกับข้าว
น่ารู้
…..ใบและผลหม่อนเป็นอาหารสมุนไพรที่ชาวบ้านเชื่อว่าบำรุงร่างกาย ทำให้รู้สึกสดชื่น บรรเทาอาการปวดศีรษะ ช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น
…..ยอดและใบอ่อนนำมาหั่นรับประทานเป็นผักข้าวยำ หรือใช้เลี้ยงสัตว์ เช่น วัว แพะ เป็นต้น ใบหม่อนสามารถใช้เป็นสมุนไพรปรุงรส นำมาใส่ในน้ำซุปปรุงรสชาติให้ดีขึ้น หรือใส่ในผงนัวแทนผงชูรส
…..ผลสุกมีสีดำ รสหวานอมเปรี้ยว กินเปล่าๆ หรือจิ้มพริกเกลือ หรือนำมาทำเป็นเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ ทำแยม แช่อิ่ม ฯลฯ และเป็นอาหารที่ชื่นชอบของบรรดานกต่างๆ อีกด้วย
ข้อควรระวัง
– ในคนปกติที่ไม่เป็นเบาหวาน หรือในผู้ป่วยที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีอยู่แล้ว การรับประทานใบหม่อนในขนาดสูงหรือมากเกินไป อาจมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำเกินไป ควรสังเกตความผิดปกติ เช่น หน้ามืด วิงเวียน ใจสั่น มือสั่น จะเป็นลม หากพบควรหยุดใช้ หากจะกลับมาใช้อีกต้องปรับลดขนาดการรับประทานลดลง
– ใบหม่อนมีผลเสริมฤทธิ์ยาลดน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะการใช้ร่วมกับกลุ่มยาที่ยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดส เช่น acarbose
– ไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานหลายเดือนหรือเป็นปี เพราะยังไม่มีผลการศึกษาความปลอดภัยในกรณีที่มีการใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน