คราม…พิษคร้าม งามผืนผ้า

คราม พิษคร้าม งามผืนผ้า…..โดย ‘พี่ต้อม’

IMG_0113
ชื่อวิทยาศาสตร์  Indigofera tinctoria L.
ชื่อวงศ์  LEGUMINOSAE
ชื่ออื่นๆ  นะฆอ
ลักษณะทั่วไป  ไม้พุ่ม ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ดอกช่อ ออกที่ง่ามใบกลีบดอกสีชมพูอมแดง
การขยายพันธุ์ ใช้เมล็ด


คราม เย็นสงบ สยบพิษ
         ครามถือเป็นพืชที่เก่าแก่ที่สุดชนิดหนึ่งที่มนุษย์รู้จักนำมาปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ โดยมีหลักฐานการใช้ย้อนหลังไปกว่า ๖,๐๐๐ ปี ครามเป็นพืชที่คนไทยรู้จักดีไม่ว่าภาคไหนๆ ต่างเรียกในชื่อเดียวกัน ครามใช้เป็นสีย้อมผ้า ผ้าที่ใช้ครามย้อมเรียกว่า ผ้าย้อมคราม ซึ่งจะมีสีฟ้าเข้ม หรือที่เรียกว่า สีคราม นั่นเอง
ผ้าย้อมครามนั้น คนอีสานเรียกว่า ผ้าหม้อนิล เพราะหม้อที่ใช้ย้อมนั้นจะกลายเป็นสีดำ และไม่ใช่เฉพาะแต่ไทยอีสานเท่านั้นที่มีผ้าหม้อนิล คนลาว คนตระกูลไทยทั้ง ไทยลื้อ ไทยแดง ไทยดำ ไทยขาว ผู้ไทย ไทยพวน ที่อยู่ในลาว ในเขมร ในเวียดนาม ต่างก็มีผ้าหม้อนิลเป็นผ้าประจำชนเผ่า ผ้าหม้อนิลนี้ได้ดำรงอยู่คู่กับเผ่าพันธุ์ไทมายาวนาน เช่นเดียวกับชนชาติที่เก่าแก่ของโลกทั้งอียิปต์ มายา อินเดีย จีน ซึ่งต่างก็ใช้ครามในการย้อมผ้าเช่นเดียวกัน
IMG_0274        ผ้าหม้อนิลมีคุณสมบัติประการหนึ่ง คือ ใส่แล้วจะรู้สึกเย็นสบายไม่ร้อน เนื่องจากผ้าหม้อนิลเป็นฉนวนกันความร้อนได้เป็นอย่างดี ใครสวมใส่แล้วจะช่วยทำให้ผิวขาว มีงานวิจัยทั้งในอเมริกาและญี่ปุ่นพบว่า ผ้าที่ย้อมด้วยครามสามารถป้องกันผิวของผู้สวมใส่จากรังสีอัลตราไวโอเลตได้ ทั้งยังทำให้จิตใจสงบ มีสมาธิ
ครามมีคุณสมบัติเด่นอีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นยาแก้พิษที่ดีมาก พ่อเม่าบอกว่า เมื่อไหร่ที่โดนพิษ ไม่ว่าจะเป็นยาสั่ง พิษยางน่อง งูกัด หรือพิษจากสัตว์มีพิษ ในยามคับขันให้หาต้นครามให้เจอ ถ้าได้ต้นครามที่ค้างปีที่เรียกว่า คามเหี้ย ยิ่งดี ให้นำใบมาตำคั้นเอาน้ำกิน และเอากากพอกแผล ถ้าไม่มีจริงๆ ให้หาผ้าหม้อนิลมาเคี้ยวๆ แล้วกลืนน้ำลายลงไปให้ได้มากที่สุด เพราะครามในผ้าหม้อนิลก็คือยานั่นเอง
คราม สีย้อมผ้า ยาใกล้มือ
การที่ครามอยู่คู่วิถีชีวิตคนไทยมานาน เราจึงมีองค์ความรู้ในสรรพคุณทางยาของครามหลายอย่าง ชาวบ้านมักปลูกต้นครามไว้รอบๆ บ้าน เพื่อทำเนื้อครามไว้ใช้ และในยามจำเป็น เช่น มีบาดแผลก็จะใช้เนื้อครามที่เตรียมไว้ใช้ย้อมผ้านั่นแหละมาทาแผล ทำให้แผลหายเร็วและไม่เป็นหนอง ซึ่งปัจจุบันมีการวิจัยพบว่า เนื้อครามมีฤทธิ์ฝาดสมานและฆ่าเชื้อโรคได้เอย่างดี
ทุกส่วนของต้นครามยังสามารถใช้เป็นยารักษาโรคและอาการเจ็บป่วยต่างๆ เช่น ทั้งต้นใช้แก้ไข้ตัวร้อน ไข้ชัก แก้อักเสบ แก้ปวด ดับพิษ รากใช้ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว ลดบวม เปลือกต้านพิษงู แก้พิษฝี เมล็ดแก้หิด เป็นต้น ซึ่งมีรายงานการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สนับสนุนการใช้ที่กล่าวมาข้างต้นคือ พบว่าครามมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระขับปัสสาวะ ขับนิ่ว ต้านการชัก ต้านมะเร็ง ต้านพิษสารหนู เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการใช้น้ำคั้นจากใบสดของครามช่วยบำรุงเส้นผม และป้องกันผมหงอกได้อีกด้วย
IMG_2905ผ้าหม้อนิล ผืนเดียว ใส่ได้ประคบดี
ผ้าหม้อนิลของคนอีสานนั้นไม่ได้มีไว้สวมใส่เท่านั้น ในตำรายาใบลานซึ่งจารไว้เป็นหลักฐานสืบต่อกันมา รวมถึงวิธีการรักษาของหมอยาพื้นบ้าน มีการใช้ผ้าหม้อนิลห่อลูกประคบ ใช้ในการย่างคนป่วยตกต้นไม้ควายชน โดยใช้เป็นผ้าคลุมตัว หรือคลุมสมุนไพรบนแคร่ก่อนให้คนป่วยนอนทับ อาจกล่าวได้ว่า ลูกประคบในตำรายาอีสานโบราณต้องใช้ผ้าหม้อนิลเท่านั้น พ่อหมอยังบอกว่า ถ้าหาสมุนไพรอะไรมาทำลูกประคบไม่ได้ มีผ้าหม้อนิลอย่างเดียวก็ประคบได้

ตำรับยา

ยารักษานิ่ว
ให้เอาฮากครามเหี้ยหนึ่ง รากฝ้ายเหี้ยหนึ่ง มอนเหี้ยหนึ่ง รากหุ่งผู้หนึ่ง ต้มกินดีแล
ยาแก้คุณ แก้ไสย
ให้เอาฮากครามผี(ครามที่ขึ้นตามธรรมชาติ)หนึ่ง ฮากหญ้าคาหนึ่ง แก่นผุหนึ่ง แก่นขามหนึ่ง ต้มกินดีแล
ยาแก้เจ็บสันหลัง
ให้เอาฮากปิบปีแดง๑ ฮากคราม๑ ฮากซ้าพลู๑ ดีปลี๑ ขิง๑ ต้มกินสามหม้อหายแล
ยาอาบ แม่ลูกอ่อนออกกรรม
ฮากเปล้า ฮากหนาด ไม้ส้มกบ ไม้คราม ซาตีบ้าน(คำไทย) ซาตีเครือ ต้มให้แม่อยู่กรรมอาบ

IMG_2871เรื่องน่ารู้
• เผ่าไทยทรงดำจะให้ผู้ตายสวมใส่ผ้าฮี ซึ่งเป็นผ้าย้อมคราม อันหมายถึงการเดินทางสู่ชีวิตใหม่ คนไทยพวนในการฟ้อนรำบูชาบรรพบุรุษต้องใส่ผ้าย้อมครามเท่านั้น
• ครามเป็นพืชที่ให้สีที่มนุษย์รู้จักใช้มานานกว่า ๖,๐๐๐ ปี อินเดียเป็นแหล่งผลิตสีคราม(indigo) จากธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลกตั้งแต่ในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน
• ปัจจุบันสีครามที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกเกือบทั้งหมดมาจากการสังเคราะห์ สีครามจากธรรมชาติเหลืออยู่เพียงร้อยละ ๔ เท่านั้น

การย้อมผ้าครามเมืองเลย

IMG_2879      ยายผาด แม่หมอเมืองเลย เล่าถึงการใช้สีจากธรรมชาติที่ได้จากต้นพืชที่หาได้ในท้องถิ่นมาย้อมผ้าว่า คนโบราณนิยมใช้สีย้อมจากพืช ๓ ชนิด ได้แก่ เบือก ฮ่อม และคราม ในการย้อมครามมีขั้นตอนดังนี้
     ๑. การทำน้ำด่าง
คนสมัยก่อนโดยทั่วไปใช้ฟืนในการหุงหาอาหาร จึงใช้ขี้เถ้าฟืนมาทำน้ำด่าง แต่ที่อำเภอนาแห้ว นิยมเอาต้นผักหมหนามใหญ่ที่ใช้ในการเลี้ยงหมู มาเผาเพื่อเอาขี้เถ้ามาทำน้ำด่าง เพราะเชื่อว่าทำให้สีสวย วิธีการทำคือ นำเถ้าผักหมหนามใหญ่ใส่ให้เต็มหวดนึ่งข้าว ทำให้เป็นหลุมตรงกลาง ใส่น้ำให้ชุ่ม นำไปห้อยหรือแขวนไว้กับขื่อบ้าน รองหม้อไว้ใต้หวด จากนั้นเทน้ำใส่หลุมตรงกลางให้น้ำซึมผ่านเถ้าหยดลงมาใส่หม้อที่รองไว้ จนกว่าจะได้ปริมาณที่ต้องการ น้ำที่ได้จะออกสีแดงชา เก็บไว้ใช้ได้
IMG_3110     ๒. การหมักแช่คราม
ครามเป็นพืชที่ปลูกและหาได้ง่ายกว่าเบือกและฮ่อม การเก็บเกี่ยวก็ไม่ยุ่งยาก หลังปลูกได้ประมาณ ๕ เดือนก็นำมาใช้ได้ วิธีการหมักแช่คราม คือ เก็บใบครามรวมทั้งกิ่งเล็กๆ ใส่จนเต็มหม้อต้มโบราณ จากนั้นใส่น้ำให้ท่วม ทิ้งไว้ประมาณ ๒ คืน ให้สีครามออกมาในน้ำ ซาวกากใบและก้านของครามขึ้นมาบีบเอาน้ำก่อนจะทิ้งไป ใช้กะลามะพร้าว(สมัยก่อนไม่มีขันหรือถ้วย) ตักโจ้ก คือตักน้ำครามขึ้นมา แล้วเทกลับลงไปในหม้อเดิม ระหว่างนั้นจะนำปูนขาวหรือปูนแดงที่ใช้เคี้ยวหมากขนาดไข่เป็ดมาบี้ใส่ลงไปด้วย เพื่อให้สีสวยยิ่งขึ้น และตักโจ้กไปเรื่อยๆ ให้สีเข้าแกัละตักโจ้กไปเรื่อยๆ ให้สีเข้ากันดี สีครามจะค่อยๆ เข้มขึ้น ใช้เวลาประมาณครึ่งวัน หากสียังไม่สวยก็เอาปูนมาบี้ใส่เพิ่ม เมื่อได้สีสวยและเข้ากันดีแล้ว ปล่อยทิ้งไว้ให้ตกตะกอนประมาณ ๒ คืน ตักเฉพาะน้ำใสออกใส่ภาชนะไว้เพื่อใช้ผสมในครั้งต่อไป นำแต่ส่วนเนื้อที่ข้นมาใช้
IMG_2903     ๓. การย้อมคราม
เมื่อได้เนื้อครามที่ข้นคล้ายวุ้นแล้ว นำมาผสมกับน้ำด่างในสัดส่วนที่เท่ากัน คนให้เข้ากันจนขึ้นฟอง จากนั้นให้ดูสีครามโดยเอามาแตะที่หลังมือจะออกแสบร้อน เมื่อสีเป็นสีน้ำเงินสวยแล้ว แสดงว่าคนได้ที่แล้ว ให้นำฝ้ายหรือผ้ามาชุบน้ำแล้วทุบเพื่อให้เส้นด้ายแตกหรือฟู ปั้นให้น้ำสะเด็ด นำจุ่มลงหม้อครามแล้วคั้นเหมือนกับการซักผ้า ดูให้สีเสมอเข้ากันดีไม่มีรอยด่าง ทำประมาณสามครั้ง จากนั้นนำไปตาก ตรวจดูว่าได้สีอย่างที่ต้องการหรือยัง ถ้ายังไม่พอใจก็นำไปคั้นกับน้ำครามอีก
๔. การย้อมครามจะต้องมีการฆ่าฝ้าย(ด้ายที่ยังไม่ได้ผ่านการทอเป็นผ้า)
          เพื่อให้เส้นฝ้ายเป็นเส้นกลมดีไม่ยุ่ยเกินหรือแตก เวลานำไปทอไปกวักไปเข็นจะไม่ขาด โดยนำข้าวสารเจ้าห้ากำมือ ข้าวเหนียวหนึ่งกำมือเอามาต้มให้สุกพอดีคือ ข้าวแตกเหมือนกับการหุงข้าวต้ม หากสุกเกินฝ้ายจะเป็นขนยุ่ย การที่ใส่ข้าวเหนียวด้วยเพื่อให้ฝ้ายเหนียวและแข็ง จากนั้นเอามาเทใส่ฝ้ายที่ย้อม มัดขอดไว้ทั้งน้ำข้าวและเม็ดข้าว แล้วคั้นให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียวกันทั้งข้าว น้ำ และผ้าหรือฝ้าย จากนั้นนำไปตากโดยพาดกับราวพอหมาด ถ้าแห้งเกินไป ด้ายจะติดกันเป็นแผ่นเหมือนกับปอ จากนั้นกระตุกให้เม็ดข้าวที่ติดกับด้ายหลุดออก กระตุกกลับไปกลับมาให้ทั่ว ภาษาพื้นบ้านเรียกว่า ถก ถกไปเรื่อยๆ จนด้ายเป็นเส้นดี จึงตากให้แห้ง
IMG_2877      ๕. ผ้าย้อมสีธรรมชาติที่เรียกว่า
ผ้าหม้อฮ่อม นั้นมาจากการที่คนโบราณใช้ต้นฮ่อมมาย้อมฝ้ายหรือผ้าแล้วนำมาทอ ถ้านำต้นครามมาย้อมก็เรียกว่า ผ้าคราม หรือผ้าหมอนิล

ปิดการแสดงความเห็น