ยอ…ใช้สารพัด ปัดเป่าโรค

ยอ…ใช้สารพัด ปัดเป่าโรค…โดย ‘พี่ต้อม’

IMG_0003

ชื่อวิทยาศาสตร์  Morinda citrifolia L.
ชื่อวงศ์  RUBIACEAE
ชื่ออื่นๆ   มะตาเสือ ยอบ้าน แยใหญ่
ลักษณะทั่วไป ไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงได้ถึง ๑๒ เมตร ใบรีกว้างแบบตรงกันข้าม ดอกรวมเป็นช่อกลมขนาดเล็กสีขาว ผลค่อนข้างกลมหรือทรงกระบอกมน มีตารอบสีเขียว เมื่อแก่จัดมีสีขาวและมีกลิ่นเหม็น ภายในมีเมล็ดน้ำตาลจำนวนมาก
การขยายพันธุ์  ใช้เมล็ด

สมบัติในไห โรคไหนๆ เรียกใช้ยอ
          ร่ำลือกันว่าคนไทยแต่โบราณชอบเก็บของมีค่าใส่ไหฝังดินเอาไว้  ยอน่าจะจัดเป็นสมุนไพรที่มีค่าอยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อ ๔๐-๕๐ ปีก่อนทุกบ้านจะหมกยอไว้ในไหเกลือ ด้วยความที่ยอเป็นยาสารพัดประโยชน์ ครั่นเนื้อครั่นตัวจะเป็นหวัดก็กินยอ ท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียนก็กินยอ ปวดหัวมึนหัว เป็นลมใจสั่นใจหวิวก็กินยอ ปวดแข้งปวดขา ปวดข้อปวดเข่า เมื่อยเนื้อเมื่อยตัวก็กินยอ หมดเรี่ยวหมดแรง ชามือชาเท้าก็กินยอ เอ็นตกนกตายในผู้ชายก็กินยอ 
  IMG_0095       หมอยาบอกว่ายอเป็นยาร้อน เพิ่มการไหลเวียนของเลือด แก้อาหารไม่ย่อย แก้ลมที่พัดขึ้นเบื้องสูง เช่น ลมที่ทำให้อาเจียน ลมที่ทำให้ไอ ลมที่ทำให้เกิดความดันเลือดสูง รวมทั้งกองลมละเอียดที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ ยอก็ช่วยได้ ดังนั้นยอจึงมีสรรพคุณช่วยแก้อาเจียน แก้ไอ ลดความดัน ลดอาการบวม ช่วยทำให้จิตสงบผ่อนคลายทำให้หลับดี  ยอเป็นกลุ่มยาร้อนช่วยแก้มือเท้าตาย  เหมาะกับคนที่เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต แขนขาชา
         ยอเป็นพืชท้องถิ่นในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงหมู่เกาะในแปซิฟิก เช่น หมู่เกาะฮาวาย หมู่เกาะตาฮิติ ฟิจิ ชาวบ้านในประเทศเหล่านั้น ต่างก็ใช้ยอในสรรพคุณเดียวกับไทย นอกจากนี้ในบางประเทศยังใช้ผลยอในการรักษาโรคเบาหวาน ลดความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย

ยอ สาวน้อยจนถึงสาวใหญ่ต้องไม่พลาด

          ในอดีตเมื่อลูกผู้หญิงเริ่มเป็นสาวอายุสิบสามสิบสี่ก่อนมีประจำเดือน พ่อแม่จะเริ่มบังคับให้ลูกกินยอเพื่อจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องเลือดลม  เมื่อเป็นสาวเต็มตัว หญิงสาวสมัยก่อนจะกินยอเพื่อช่วยทำให้ประจำเดือนเป็นปกติ หญิงที่เลือดไม่ดีผอมแห้งแรงน้อย ไม่มีเรี่ยวแรง หน้าตาซีดเซียว รวมทั้งผู้หญิงที่ผ่านการมีบุตรแล้วกะบูนไม่ดี(กะบูนอาจหมายถึงมดลูก หรือกลไกการทำงานของร่างกายที่เกิดกับผู้หญิงโดยเฉพาะ)  แพ้ง่าย วิงเวียนง่าย มีอาการปวดตามกระดูก ตามเนื้อตามตัวเป็นประจำ  รวมไปถึงอาการหนาวใน ควรให้กินยอเป็นประจำ
         ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนมีอาการผิดปกติต่างๆ นานา เช่น มีอารมณ์หงุดหงิด  เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว ยอก็จะช่วยบรรเทาได้ในระดับหนึ่ง ส่วนผู้หญิงที่เลยวัยหมดประจำเดือนไปแล้วยอก็มีความจำเป็น เพราะช่วยให้กลไกการทำงานของร่างกายเป็นปกติ เช่น บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย  เป็นลม หัวใจสั่น นอนไม่หลับ จิตใจห่อเหี่ยว ปวดเมื่อยตามตัว เป็นต้น ดังนั้นยอจึงเป็นความจำเป็นสำหรับผู้หญิงไทย  ด้วยเหตุนี้เองเราจึงพบวิธีการถนอมยอไว้ให้เก็บได้นานๆ เพื่อนำออกมากินได้ทุกวันได้ทุกฤดูกาล
  IMG_0013       ประโยชน์ของยอต่อผู้หญิงตั้งแต่เริ่มสาวจนถึงวัยเกษียณนั้น ได้รับการยืนยันจากการศึกษาวิจัยสมัยใหม่ซึ่งพบว่า ในยอมีสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน(ฮอร์โมนตัวนี้ช่วยยับยั้งไม่ให้เซลที่ทำหน้าที่สลายกระดูกทำงานมากเกินไป) รวมทั้งมีการศึกษาพบว่า ยอช่วยสร้างมวลกระดูกและลดการสลายตัวของกระดูกในหนูที่ถูกตัดมดลูก

 จากยาอายุวัฒนะ สู่เครื่องดื่มสุขภาพระดับอินเตอร์
            ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านมักจะบอกว่า ยอเป็นยาอายุวัฒนะ คนไทยฟังแล้วเฉยๆ  จนเมื่อสิบกว่าปีก่อน มีน้ำยอหรือโนนิ(Noni) วางขายไปทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วแพร่หลายมาเมืองไทย และได้รับความนิยมอย่างมากอยู่ช่วงหนึ่ง  ในปี ๒๕๕๒ สหภาพยุโรปยอมรับให้น้ำยอขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพจากสมุนไพร สะท้อนถึงการยอมรับในความปลอดภัยของยอ สมุนไพรที่เคยอยู่ในไหเกลือบ้านเรานี้เอง
          การที่ผลไม้ที่น่าเกลียดทั้งรูปร่างและกลิ่นรสอย่างยอ ยกระดับกลายเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพชั้นแนวหน้า ก็เพราะตะวันตกพบว่า ยอมีสรรพคุณดีเยี่ยมในการฟื้นฟูพลังชีวิต จึงนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ โดยใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่เข้มแข็ง ประกอบกับสรรพคุณของยอที่พิสูจน์ตัวเอง จึงทำให้ผลิตภัณฑ์จากยอได้รับความนิยมไปทั่วโลก 
          ในยุคแรกที่ผลิตภัณฑ์ยอออกสู่ตลาดยังมีงานวิจัยรองรับน้อยมาก มีเพียงรายงานพบว่า ในผลยอมีสาร polysaccharide  ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และมีการทดลองในหนูพบว่า สารสกัดของยอทำให้หนูที่เป็นมะเร็งมีอายุยาวขึ้น แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีรายงานการศึกษาวิจัยทั้งใน อเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน อินเดีย และอีกหลายประเทศ พบว่าในยอมีโอสถสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายชนิด สารเหล่านั้นมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านมะเร็ง ต้านความเจ็บปวด เพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดความดัน แม้ว่าการศึกษาวิจัยเหล่านี้จะทำในห้องทดลองและสัตว์ทดลอง แต่ก็สนับสนุนการใช้ยอที่มีมาแต่โบราณ
          ผลยอนั้นเหมือนเจ้าเงาะซ่อนรูป น่าเกลียดทั้งรูปร่างและกลิ่นรส แต่เนื้อในนั้นไซร้ผ่องแผ้วนพคุณ มีสรรพคุณสารพัดจัดให้ จนสาวน้อยสาวใหญ่ไม่กล้าเมิน ยอมเป็นรจนาคว้าเจ้าเงาะไปเชยชม แม้ฝรั่งมังค่าก็นิยมกันทั่ว ถือว่ายอเป็นสมุนไพรไฮคลาสระดับอินเตอร์ทีเดียว
 
IMG_0127กินยอ…แบบไทย
         คนไทยมีวิธีกินยอหลายรูปแบบ สะท้อนถึงความยาวนานในภูมิปัญญา ด้วยสารพัดสรรพคุณ เช่น แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงกำลัง แก้มือเท้าตาย เอ็นตาย คลายเครียด ทำให้นอนหลับ ขับประจำเดือน แก้หนาวใน แก้หวัด แก้ไอ แก้ปวด แก้เมื่อย ทำให้จิตใจชุ่มชื่น เป็นต้น

       จิ้มเกลือกิน 
      
เป็นวิธีกินยอโดยไม่ต้องแปรรูป โดยเก็บลูกยอมาบ่มในไหเกลือ  หมกอยู่ในเกลือสักวันสองวัน ลูกยอจะสุก  แล้วเอามาจิ้มเกลือกิน บางท่านนิยมจิ้มน้ำผึ้งกิน 
      ตำส้ม
       นำผลยอดิบที่แก่จัดมาทำเป็นส้มตำเพื่อแก้หวัด ทำเหมือนกับส้มตำทั่วไป 
คนท้องไม่ควรกิน เพราะยอตำส้มนอกจากจะมียอซึ่งเป็นยาร้อนแล้ว ยังมียาร้อนอื่นๆ เช่นกระเทียม พริก หรือบางครั้งก็ใส่ดีปลีด้วย
       ชงชา 
      
ฝานผลยอแก่จัดเป็นแว่นๆ  ตากแดดให้แห้ง บดเป็นผงให้ละเอียดละลายน้ำร้อนกินครั้งละ ๒ ช้อนชา หรือฝานตากแห้งชงกับน้ำร้อนกินแบบชา พระภิกษุนิยมใช้ตำรับนี้ เพราะสามารถฉันเป็นน้ำชาได้
      ยอลูกกลอน 
       
ฝานผลยอแก่จัดเป็นแว่นๆ  ตาก แดดให้แห้ง บดเป็นผงให้ละเอียดผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอน  นำยอลูกกลอนเก็บใส่โหลปิดสนิทไว้กิน รับประทานครั้ง ๑-๒  เม็ด 

ยอกวน  
       ตำรับที่ ๑  ยอกวนบำรุงสุขภาพ
       นำผลยอสุกใส่เกลือไม่ต้องมาก เติมน้ำลงไปนิดหน่อย ตั้งบนไฟอ่อนๆ คนไปจนยอละลาย แห้งจนสามารถปั้นเป็นก้อนแล้วไม่ติดมือ จากนั้นปั้นเป็นก้อนเท่าปลายนิ้วก้อย ตากแดดพอแห้งหมาดๆ (หยิบไม่ติดมือ) อย่าให้โดนแดดจัด เพราะถ้าแห้งจะแข็งมาก เก็บใส่ขวดโหลเอาไว้รับประทาน ครั้งละ ๒-๔ เม็ดวันละ ๒ ครั้ง
     ตำรับที่ ๒  ยอกวนแก้ไอ  
      เอาลูกยอ ๒๐ ลูก บ่มให้สุก พริกไทย ๑ เฟื้อง (๑.๘๙๕ กรัม) น้ำตาลทรายกรวด ๑ เฟื้อง(๑.๘๙๕ กรัม)  ดีเกลือ ๒ ไพ(๑.๒๙๕ กรัม)  เอาสามอย่างหลังกวนให้เข้ากันก่อน แล้วนำส่วนผสมทั้งหมดตั้งไฟเคล้ากวนให้เหนียวเป็นตังเม ปั้นกินเป็นลูกกลอน ขนาดเท่าเม็ดพุทราไทย เคี้ยวกินกับน้ำอุ่นได้เรื่อยๆ เมื่อมีอาการไอ
yยอ1สารพัดยอดอง  
ยอดองน้ำตาล…ยากุลกา ยาบำรุงสุขภาพในยุคเจ้าพระยาอภัยภูเบศร 
      ส่วนผสม
      ๑. ยอสุก ๓ กิโลกรัม 
      ๒. พริกไทยตากแห้งตำให้ละเอียด ๓ กิโลกรัม
      ๓. ข้าวที่เหลือจากการใส่บาตร  นำไปตากให้แห้ง ๓ ฝ่ามือ 
      ๔. น้ำตาลทรายแดง ๓ กิโลกรัม
      วิธีทำ
       ๑. สับยอให้ละเอียด
       ๒. ตำพริกไทยให้ละเอียด  ใส่ข้าวก้นบาตรลงไป
       ๓. ผสมใส่น้ำตาลทรายแดง  หมักไว้ ๓ วัน  โดยที่ต้องบริกรรมคาถากำกับทุกวัน(การปลุกเสกยาตั้งนะโม ๓ จบ  สวดบทชุมนุมเทวดา ๑จบ   สวดบทพุทธคุณ ๑ จบ   สวดบทธรรมคุณ ๑ จบ   สวดบทสังฆคุณ ๑ จบ   และสวดคาถาทวัตติงสาการะปาโฐ ๓-๗ จบ    สวดบริกรรมคาถาเช้า-เย็น  จนครบ ๓ วัน)
       ๔. นำตัวยามาปั้นเป็นลูกกลอนและนำไปตากแดดจนแห้งสนิท  จึงรับประทานได้
        ขนาดรับประทาน 
       
รับประทานครั้งละ  ๒  เม็ด
(ตำรับนี้ถ่ายทอดโดยป้าบุญทัน ศรีโสมแก้ว หลานสาวของท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร)

ยอดองแป้งข้าวหมากแก้เหน็บชา บำรุงประสาท

      ส่วนประกอบ
      
ลูกยอ  ๒๕ ลูก  แป้งข้าวหมาก  ๙  ลูก พริกไทย  ๔ สตางค์ น้ำตาลทราย ครึ่งชั่ง  เกลือครึ่งถ้วยชา  คนเป็น  ๖  ปี  ยังกินหาย(ตำรับของร้านโพธิ์เงินโอสถ)
      วิธีทำ
       นำยอมาสับให้ละเอียด แล้วคลุกกับแป้งข้าวหมาก พริกไทย เกลือ และน้ำตาล ดองให้ครบ ๗ วัน ตักขึ้นมากินทั้งน้ำและกาก วันละ ๑ ถ้วย เหมาะกับคนเป็นอัมพาต

ยอดองเหล้า
       นำยอมาดองเหล้า โดยนำผลยอดิบฝานตากแห้งดองกับสมุนไพรอื่นๆ เช่น ฝักเพกาอ่อนหั่นตากแห้ง เถาวัลย์เปรียง ฝาง กำลังวัวเถลิง เถาวัลย์เปรียง-สตรีที่มีครรภ์ห้ามรับประทานเพราะอาจทำให้แท้งได้

ยอดองน้ำผึ้ง 
       นำลูกยอแก่จัดเกือบสุกประมาณ ๓๐ ผล ล้างให้สะอาดผึ่งให้สะเด็ดน้ำ นำไปวางในโหลที่สะอาดเติมน้ำประมาณ ๒ ลิตร กะพอท่วมยาปิดฝาให้สนิท และเก็บไว้อย่าให้โดนแสง (สมัยก่อนเก็บในยุ้งข้าว)  
 วิธีรับประทาน
      ๑. หากเป็นยาที่ดองไว้นาน ๑ ปีหรือมากกว่า เวลารับประทานให้ผสมยา ๑ ช้อนชา กับน้ำเปล่า ๑ แก้ว รับประทานก่อนหรือหลังอาหาร ๓๐ นาที ๒-๓ ครั้งต่อวัน หรืออาจรับประทานก่อนนอนอีกครั้งก็ได้
      ๒. หากเป็นยาที่ดองไว้เพียง ๓ เดือน ให้เพิ่มปริมาณยาเป็น ๑ ช้อนโต๊ะ และใช้วิธีรับประทานแบบเดียวกัน

ยอดองเกลือ

       เลือกลูกยอค่อนข้างแก่คัดลูกยอที่มีขนาดใกล้เคียงกัน ล้างทำความสะอาด แล้วก็นำไปผึ่งให้แห้ง นำมาเรียงในภาชนะที่เตรียมไว้(สมัยก่อนจะใช้ไห)นำลูกยอมาเรียงให้เป็นชั้นๆ โดยชั้นแรกจะให้เรียงลูกยอลงไปในไหให้เต็มชั้น หลังจากนั้นใช้เกลือที่เตรียมไว้(ใช้เกลือเม็ด) โรยกลบปิดให้มิดลูกยอ ให้เกลือหนาประมาณครึ่งข้อนิ้วมือ เรียงขึ้นสลับไปจนเกือบเต็มไห สมัยก่อนจะใช้ไหที่สูงไม่เกินหัวเข่า จะเรียงได้ประมาณ ๔-๕ ชั้น แล้วชั้นสุดท้าย(ชั้นบนสุด) จะใช้เกลือกลบให้หนามากกว่าชั้นอื่นๆ ใช้ฝาไม้ปิดลงไป บางคนใช้เทียนลนปิดให้ทั่วปากไห เพื่อไม่ให้อากาศเข้าไปทำปฏิกิริยากับลูกยอได้ จะหมักหรือดองไว้เป็นเวลา ๒ ปีขึ้นไป ถ้าหมักดองไว้แค่ ๑ ปี ลูกยอยังคงมีน้ำอยู่ หรือยังไม่แห้ง แต่ถ้าหมักดองไว้ได้ ๒-๓  ปีขึ้นไป ลูกยอจะมีผลที่เล็กลง เหี่ยวลง แห้ง มีสีน้ำตาลแก่ มีรสเค็มเปรี้ยว เผ็ดอยู่ในผลยอ
การรับประทาน :
     วิธีที่ ๑   
      รับประทานครั้งละ ๑ ลูก พร้อมกับน้ำอุ่น เนื่องจากมัมมี่ยอมีรสชาติค่อนข้างเค็มและเปรี้ยว บางครั้งมีรสเผ็ดร่วมด้วย จึงนิยมให้รับประทานน้ำอุ่นตาม โดยรับประทานลูกยอ ๑ คำ ก็ตามด้วยน้ำอุ่นอีก ๑ คำ รับประทานเช่นนี้จนกว่าจะหมด ๑ ลูก
      วิธีที่ ๒   
      นำลูกยอมาคนให้ทั่วภาชนะที่เตรียมไว้ เช่น กระติกน้ำ หรือนำลูกยอมาบีบให้เละแล้วผสมกับน้ำอุ่นดื่มเมื่อมีอาการ
       วิธีใช้/ข้อบ่งใช้ 
        รับประทานเมื่อมีอาการวันละ  ๑ ลูก ก่อนอาหารเย็น
        การเก็บรักษา 
         เมื่อได้ที่แล้วสามารถเก็บได้ในที่อุณหภูมิห้องทั่วไป เก็บได้ ๒-๓ ปี
(ตำรับยอดองเกลือเป็นของคุณเบญจวรรณ คฤหพัฒนา นักวิชาการ ๘ ว. กรมป่าไม้ ปัจจุบันท่านอายุ ๖๔ ปี เป็นตำรับที่ท่านเคยช่วยปู่ย่าตายายทำมาในวัยเด็กที่บ้านเกิด จังหวัดสระบุรี)
น้ำยอ 
 วิธีการทำน้ำลูกยอ (โนนิ)
        ส่วนประกอบ
        ผลยอสุก  ๔ กิโลกรัม
        น้ำ   ๑๐ ลิตร
        เกลือ มะขาม สับปะรด องุ่น น้ำผึ้ง
        วิธีทำ
         นำยอมาหั่นเป็นชิ้นหยาบๆ และนำมาปั่นรวมกัน นำมาหมักในเหยือกทิ้งไว้สักครู่ แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง จะได้น้ำยอ เติมผลไม้ น้ำผึ้ง เกลือตามต้องการ จากนั้นนำไปต้มทิ้งไว้ให้เย็น เติมน้ำแข็งแล้วดื่ม ไม่ควรเก็บไว้นานเนื่องจากไม่มีสารกันบูด

ยาบำรุงร่างกาย
        ส่วนประกอบ
        ลูกยอแก่จัด ๑/๒ กิโลกรัม น้ำตาลทรายแดง ๑/๒ กิโลกรัม พริกไทย  ดีปลี แต่ละอย่างจำนวนเท่าอายุเจ้าของ
        วิธีทำ
        นำยอมาสับละเอียด แล้วคลุกเคล้ากับน้ำตาลทรายแดง พริกไทย ดีปลี ดองให้ครบ ๗ วัน ตักขึ้นมากินทั้งน้ำและกากวันลำ ๑ ถ้วย

เรื่องน่ารู้
• ยอเป็นต้นไม้ที่คนโบราณทุกบ้านปลูกไว้เป็นเคล็ด  เพื่อที่จะได้รับการสรรเสริญเยินยอ 
• เป็นสีย้อมผ้าไหมและผ้าฝ้ายชั้นยอด เปลือก ราก  เนื้อไม้  ใบของยอให้สีเหลืองแกมแดงที่ติดคงทน 
• ใบยอรองก้นหลุมเสาเอก และเสาโทเวลาปลูกบ้าน ใช้ใบยอรองขันพิธีบายศรีสู่ขวัญในงานมงคลต่างๆ เป็นต้น
• ใบยอเป็นอาหารโดยใช้รองก้นกระทงห่อหมก ใบอ่อนๆ นิยมลวกให้สุกรับประทานเป็นผักจิ้มหรือจะหั่นเป็นฝอยๆ ทำแกงเผ็ด  แกงอ่อน  จะมีรสขมอ่อนๆ ใบยอมีสรรพคุณในการบำรุงน้ำนม และช่วยแก้หวัดได้เช่นเดียวกับผลยอ
• มีคุณค่าอาหารสูงมา ใน ๑๐๐ มิลลิกรัม มีวิตามินซี ๗๖ มิลลิกรัม มากกว่ามะนาวถึงสองเท่า  แคลเซียม ๓๕๐ มิลลิกรัม มากกว่านมสามเท่า นอกจากนั้นยังมีวิตามินเอ  เหล็ก และฟอสฟอรัสในปริมาณสูง

• ผลยอ มีวิตามินซีสูง ใกล้เคียงกับมะขามป้อม  คือ ๒๐๘  มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก ๑๐๐ กรัม ผลอ่อนของยอใช้แกงส้ม  แกงเลียง  ส่วนผลแก่ใกล้สุกทางอีสานนิยมนำมาทำส้มตำแทนมะละกอ
 
มัมมี่…ยอ
          ทางโรงพยาบาลได้รับการบริจาคโอ่งที่มียอหมักอยู่ในไหเกลือ  พร้อมเข่งยอหมักเกลือที่บรรจุในโถดินเผาขนาดพอดีกับผลยอ สันนิษฐานว่ามีอายุไม่น้อยกว่าเจ็ดสิบปี บ่งบอกถึงคุณค่าและความยาวนานในการกินยอของคนไทย ที่มีการถนอมไว้เพื่อจะได้กินทุกวัน และเป็นไปได้หรือไม่ว่าเพื่อส่งออก เนื่องจากทุกถิ่นทุกบ้านต่างก็มีต้นยอกันอยู่แล้ว ดังนั้นการทำบรรจุภัณฑ์อย่างดีเช่นนี้ ถ้าไม่ส่งออกแล้วจะเอาไปขายที่ไหนกัน 

 

 

ปิดการแสดงความเห็น