[หมายเหตุ-อ่าน’รุกถอยหลัง’ของคุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว แล้วได้ข้อคิดเรื่องยาอีสานมาฝาก’รักษ์เขาใหญ่’ได้อ่านกัน]
ยาอีสาน : อลังการของภูมิปัญญาไท-ลาว… โดย ‘นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว’
ในการแพทย์แผนไทยนั้น ปรัชญาการรักษาคนไข้มิใช่เพียงแค่รักษาคนให้หายป่วยตามแบบวัฒนธรรมตะวันตกเท่านั้น หากเริ่มต้นตั้งแต่ทำอย่างไรร่างกายจึงจะอยู่ในสภาพแข็งแรง ทำอย่างไรจึงจะไม่ป่วย เมื่อป่วยแล้วควรจะปฏิบัติตนอย่างไร และถึงที่สุดก็คือเมื่ออาการเพียบหนัก ไม่อาจรักษาให้หายได้ ทำอย่างไรผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยจึงจะสามารถเผชิญกับความตายได้อย่างมีสติ มีศักดิ์ศรี ไม่ทุรนทุรายกับการดิ้นรนเอาชนะที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป
เป็นกระบวนการรักษาที่มุ่งให้ผู้ป่วยเข้มแข็งทั้งทางร่างกายและจิตใจ มากไปกว่านั้นก็คือการรักษาโดยใช้สมุนไพรในอดีต จะเก็บหาพืชพันธุ์ตามป่าและบ้าน อันทำให้ผู้ป่วยและผู้รักษาเป็นอิสระ สามารถพึ่งตัวเองได้ในเรื่องของยา
จากการวิจัยระบุว่า ๗๐ % ของผู้ป่วยทั่วไปสามารถรักษาตัวเองได้ ถ้ารู้จักการใช้สมุนไพร กลุ่มโรคและอาการที่ประชาชนใช้ยากันอย่างฟุ่มเฟือยได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งทดแทนด้วยฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ดตำรับจันทลีลา โรคระบบทางเดินอาหาร ซึ่งทดแทนด้วยขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร กล้วย ฯลฯ โรคผิวหนัง ซึ่งทดแทนด้วยว่านหางจระเข้ เสลดพังพอน ข่า โรคทั้งสามกลุ่มนี้มีแนวโน้มว่าแพทย์จะสั่งใช้ยาที่มีฤทธิ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และใช้ยาสามกลุ่มโรคนี้อย่างฟุ่มเฟือยยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้มีการนำเข้ายาจากต่างประเทศจำนวนมาก คาดว่าถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ค่ารักษาพยาบาลของคนไทยในเรื่องยาที่สูงราว ๗๐,๐๐๐ ล้านบาท จะพุ่งสูงถึง ๒.๓ แสนล้านบาท ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓
ถ้าประชาชนรู้จักใช้ยาสมุนไพรมาดูแลรักษาตัวเอง ก็จะช่วยลดปัญหาความเดือดร้อนเนื่องจากยาราคาแพง และช่วยแก้ไขปัญหาดุลการค้าของประเทศด้วย
แต่แวดวงความรู้เรื่องการใช้สมุนไพรของไทยในปัจจุบันยังมีอยู่จำกัดมาก โดยส่วนใหญ่จะอิงอยู่กับคัมภีร์แพทย์แผนโบราณต่างๆ เช่น พระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย พระคัมภีร์ปฐมจินดา พระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์ ความรู้เหล่านี้เป็นศาสตร์ที่มีต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์
ในขณะที่แพทย์พื้นบ้านทางภาคเหนือและอีสาน กลับมีการใช้สมุนไพรอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าจะเป็นศาสตร์เฉพาะกลุ่มของตน!
เภสัชกรสุภาภรณ์ ปิติพร แห่งโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองมูลนิธิสุขภาพไทยได้ทำการวิจัยภาคสนามในหลายจังหวัดของภาคอีสาน ทำให้ได้สมมติฐานว่า ในส่วนของการแพทย์พื้นบ้านอีสาน อาจจะมีศาสตร์มีระบบของตัวเอง แต่กำลังถูกทอดทิ้งเพราะนักวิชาการที่ทำการศึกษาวิจัยการแพทย์แผนไทยที่ผ่านมามักมองว่า การแพทย์แผนไทยมีระบบเดียวคือการแพทย์แผนไทยแบบภาคกลาง(Central Thai)
เภสัชกรสุภาภรณ์ ปิติพร ศึกษาตรวจสอบวิชาแพทย์แผนไทยมาหลายปี ได้พบหลักฐานจากการเรียกชื่อต้นไม้และลักษณะเฉพาะของพืชพรรณที่ใช้ประกอบเป็นตัวยาสมุนไพร ทำให้สามารถจำแนกการแพทย์แผนไทยออกเป็น ๒ ระบบคือ
การแพทย์แบบอายุรเวทของอินเดีย เป็นระบบการแพทย์ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในระบบการแพทย์พื้นบ้านเอเชียอาคเนย์ ในเมืองไทยก็เช่นกัน ระบบการแพทย์แบบอายุรเวทนี้ได้เคยใช้อยู่ในราชสำนักอยุธยาและภาคกลางโดยทั่วไป ดังเช่นตำรายาวัดโพธิ์ก็แสดงให้เห็นถึงวิธีการรักษาแบบอายุรเวท องค์ความรู้และแนวคิดของการแพทย์ระบบนี้จะว่าด้วยเรื่องธาตุทั้งสี่ อันได้แก่ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ประกอบกันเป็นร่างกายมนุษย์ สาเหตุของการเกิดโรคส่วนหนึ่งมีที่มาจากการมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น การทำงานหนักมาก นอนน้อย กินอาหารไม่ถูกส่วน จนทำให้ธาตุทั้งสี่ในร่างกายเกิดภาวะไม่สมดุล หลักการรักษาคือการปรับสมดุลของธาตุโดยใช้สมุนไพร การใช้สมุนไพรในการรักษาโรคใดขึ้นกับทฤษฎีว่าด้วยรสยาและสรรพคุณยา และตัวยาสำคัญที่ใช้ในระบบการแพทย์อายุรเวทก็คือ โกศ สมอเทศ เทียนทั้งเก้า รวมทั้งมีการใช้เจตมูลเพลิงแดง และขิงแห้งเพื่อปรับธาตุ
การแพทย์พื้นบ้านตำรับวัฒนธรรมไท-ลาว การแพทย์พื้นบ้านในภาคอีสานนั้นไม่ใช้ทฤษฎีธาตุอธิบายในการเกิดโรค แต่จะรักษาตามอาการ สร้างสรรค์ภูมิปัญญาขึ้นจากพืชเฉพาะถิ่น อันได้แก่พืชพรรณจากป่าเต็งรังซึ่งมีชื่อพื้นเมืองเป็นภาษาอีสาน ดังเช่น ก่อมก้อยลอดขอน หัวค้อนกระแต กลิ้งกลางดง ฯลฯ สมุนไพรเหล่านี้ล้วนเป็นพืชพันธุ์ที่ไม่เคยปรากฏชื่ออยู่ในตำรายาวัดโพธิ์และตำราอายุรเวทใดๆ แต่จะอยู่ในตำรายาทางอีสาน เหมือนกับของทางเมืองลาว ซึ่งมีความแตกต่างจากทางภาคกลางอย่างมาก
ตำรายาอีสานแต่เดิมจะจารเป็นตัวธรรม เก็บไว้ตามวัดวาอาราม เมื่อบวช หนุ่มอีสานจะได้เรียนตัวธรรม ทำให้สามารถอ่านตำรายาเหล่านั้นได้อย่างคล่องแคล่ว ใครสนใจก็สามารถคัดลอกมาเก็บไว้ที่บ้าน แต่เมื่อถึงยุคจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการจับกุมกวาดล้างหมอพื้นบ้านที่ไม่มีใบประกอบโรคศิลป์อย่างหนัก ทำให้ตำราหรือเอกสารใบลานเกี่ยวกับการแพทย์พื้นบ้านอีสานสูญหายถูกทำลายเป็นจำนวนมาก
ที่สำคัญก็คือ ยาอีสานไม่มีการใช้สมุนไพรกลุ่มเครื่องเทศ แต่จะใช้ต้นไม้จากป่า โดยเฉพาะป่าเต็งรังซึ่งมีอยู่เฉพาะในประเทศไทย ลาว พม่า เขมร เวียดนาม ตอนใต้ของจีน และส่วนน้อยในอินเดีย ป่าเต็งรังเป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรมของอีสานรวมถึงวัฒนธรรมด้านยา มีสมุนไพรเฉพาะถิ่นอยู่มากมาย และเป็นที่น่าเสียดายถ้าเราคิดว่าสมุนไพรทั้งหมดปลูกได้ เพราะสมุนไพรของอีสาน ๑๐๐ % เก็บจากป่าทั้งหมด ถ้าเมื่อใดป่าธรรมชาติถูกทำลาย นั่นคือยาและวัฒนธรรมทั้งหมดจะถูกทำลายไปด้วย
เภสัชกรสุภาภรณ์ได้ค้นคว้าตำรับยาอีสานโบราณ และได้ริเริ่มเอาต้นเสลดพังพอนมาทำยาที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งให้ผลดียิ่งในการรักษาโรคเริมและงูสวัด ปัจจุบันทางโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองได้ผลิตยาเสลดพังพอนออกมาวางจำหน่ายแล้ว และกำลังศึกษาวิจัยการใช้สมุนไพรจากตำรับยาอีสานตัวอื่นอยู่ด้วย
เราไม่สามารถฟื้นฟูการใช้สมุนไพรได้เลย หากเราไม่สามารถฟื้นฟูศรัทธาในธรรมชาติและสมุนไพรขึ้นมา ประชาชนส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นและคุ้นเคยกับการใช้ยาต่างประเทศ ฉะนั้นการใช้สมุนไพรจึงเป็นเรื่องยาก เพราะต้องต้องต่อสู้กับความเชื่อและศรัทธาของผู้คนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องยากเสียยิ่งกว่าการทำวิจัยทดสอบเพื่อใช้สมุนไพรตัวใดตัวหนึ่ง
นอกจากนี้ สิ่งเร่งด่วนที่ควรกระทำก็คือ จำเป็นต้องพยายามรักษาพื้นที่ป่าเต็งรังเอาไว้เพื่อใช้เป็นฐานความรู้และทรัพยากร เพราะวัฒนธรรมการใช้ยาของหมอยาพื้นบ้านอีสานนั้น สมุนไพรส่วนใหญ่เป็นเนื้อไม้ และรากไม้ที่ได้จากป่าทั้งสิ้น ซึ่งในอนาคตหากความต้องการสมุนไพรมีมากขึ้น ก็ต้องวางแผนการปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ล่วงหน้านับเป็นสิบๆ ปี รวมถึงต้องศึกษาระบบการจัดการให้สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้นอีกด้วย
__________[ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร สื่อพลัง ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๓ ก.ค.-ก.ย. ๒๕๔๑ / รุกถอยหลัง : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว(๔๕-๔๙)]
พระเครื่องhttp://www.rakkhaoyai.com/jungle-path/4207http://www.phra-thai.com/%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b9%80%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%87/%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b8%9b%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b9%88%e0%b8%ad-%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b8%a7%e0%b8%87%e0%b8%9b%e0%b8%b9%e0%b9%88%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b9%88%e0%b8%b3-%e0%b8%a3%e0%b8%b8%e0%b9%88%e0%b8%99/พระเครื่อง