ม้าแม่ก่ำ ยาม้าของคนป่า...โดย ‘พี่ต้อม’
ชื่อวิทยาศาสตร์ Polygala chinensis L.
ชื่อวงศ์ POLYGALACEAE
ชื่ออื่นๆ คำเตี้ย ปีกไก่ดำ เตอะสิต่อสู่
ลักษณะทั่วไป ไม้พุ่มขนาดเล็ก อายุหลายปี สูงได้ถึง ๗๕ เซนติเมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับแบบตรงข้ามเกือบเป็นคู่ แผ่นใบมีหลายแบบ สีเขียวหรือม่วง ดอกเป็นช่อ คล้ายใบหอก ปลายเรียวแหลม ติ่งข้างเป็นปีก กลีบบนสีขาว กลีบคู่ล่างเป็นแผ่นคล้ายติ่งหู
การขยายพันธุ์ ใช้เมล็ด
ม้าแม่ก่ำ กำลังม้า ยาบำรุง
ม้าแม่ก่ำถือว่าเป็นยาม้าของคนไทยใหญ่ก็ว่าได้ เป็นยาพื้นฐานที่ชาวบ้านไทยใหญ่ทุกคนรู้จักดี เชื่อว่าถ้าถอนรากม้าแม่ก่ำมาต้มกินติดต่อกันอย่างน้อย ๑๐ วัน จะบำรุงร่างกายอย่างมาก เดินขึ้นเขาได้สบายไม่เหนื่อย เช่น เดินขึ้นเขาปกติจะต้องหยุดพัก ๓ ครั้ง แต่ถ้าก่อนหน้านั้น ๑๐ วัน กินยาต้มรากม้าแม่ก่ำให้ได้ทุกวัน จะสามารถเดินขึ้นเขาได้รวดเดียวโดยไม่ต้องหยุดพักเลย
หมอยาไทยใหญ่บอกว่ากินยานี้แล้ว หลับสบาย คลายเครียด เพิ่มกำลัง ทำให้เลือดในตัวแล่นดี ดังนั้นในตำรับยาแฮงหรือยากำลัง ยาแก้อ่อนเพลียเหนื่อยง่ายของหมอยาไทยใหญ่จึงมักมีม้าแม่ก่ำอยู่ด้วยเสมอ โดยใช้เป็นสมุนไพรเดี่ยว หรือผสมกับยากำลังตัวอื่นๆ ในสมุนไพรตำรับก็ได้ ใช้ได้ทั้งการดองเหล้าและการต้มกิน เช่น พ่อสายแดดจะมีตำรับยากำลังม้า ซึ่งประกอบด้วยม้าแม่ก่ำ ม้าสามต๋อน ตานคอม้า เป็นยาต้มกินเป็นประจำ เพื่อบำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย เหน็ดเหนื่อย อ่อนเพลีย ร่างกายทรุดโทรม กำจัดโรคภัยทุกชนิด
ม้าแม่ก่ำ เนียมนกเขา ยาบำรุงกำลังของพ่อประกาศ
พ่อหมอประกาศ ใจทัศน์ เรียกม้าแม่ก่ำว่า เนียมนกเขา โดยจะใช้รากหรือทั้งต้นต้มกินเดี่ยวๆ หรือต้มรวมกับสมุนไพรบำรุงร่างกายอื่นๆ เพื่อเป็นยาบำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย เช่นเดียวกับพ่อสมหมาย ทรัพย์รังสิกุล หมอยาปกาเกอะญอ ที่ตำบลหม่องกั๊วะ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ที่เรียกม้าแม่ก่ำในอีกชื่อหนึ่งว่า กะซิปอแกล
พ่อประกาศและพ่ออนุหมอยาไทยใหญ่ยังใช้ม้าแม่ก่ำเหมือนๆ กันคือ รักษาอาการไอหนักๆ หอบหืด โดยใช้รากต้มกิน เชื่อว่าสามารถจะขับเสมหะเหนียวๆ ข้นๆ ให้ออกมาง่ายขึ้น นอกจากนี้พ่อประกาศยังใช้เนียมนกเขาแก้ฝีในท้อง และเป็นส่วนประกอบของยาอบ ยาประคบ เพื่อแก้ปวดเมื่อย แก้หวัด และเล่าว่าคนโบราณเอารากตำใส่ขมิ้นสด ทาตัวให้ตัวมีกลิ่นหอมและกันยุง เนียมนกเขาของพ่อประกาศมีอยู่หลายชนิด ใบกลมจะเป็นตัวเมีย ใบยาวจะเป็นเป็นตัวผู้ แต่มีรากหอมเหมือนกัน และมีชนิดที่เป็นต้นเล็กซึ่งมีกลิ่นหอมทั้งต้น บางทีท่านเรียกว่า เนียมนกเค้า
หนึ่งในสมุนไพรต้านมะเร็งของหมอสมหมาย ทองประเสริฐ
ม้าแม่ก่ำยังเป็นตัวยาหนึ่งในตำรับยารักษามะเร็งของคุณหมอสมหมาย ทองประเสริฐ ซึ่งในตำรับจะเรียกว่าหญ้าปีกไก่ดำ หรือม้าอีก่ำ ส่วนประกอบทั้งหมดของตำรับนี้ ได้แก่ เหง้าพุทธรักษา (Canna indica Linn) ไฟเดือนห้า (Ludwigia hyssopifolia [G.Don] well) ปีกไก่ดำ ( Polygala chinensis Linn) พญายอ( Clinacanthus nutan Lindl.) เหงือกปลาหมอ(Acanthus ebracteatus) แพงพวยฝรั่ง(Catharanthus roseus CL.) ข้าวเย็นเหนือ(Smilax corbularia Kunth C) ข้าวเย็นใต้(Smilax glabra) ซึ่งเป็นตำรับเดียวกับที่ตาวิน ตุ้มทอง หมอยาเมืองเลยใช้ แต่ตาวินไม่ได้ใช้แพงพวยฝรั่งและเหงือกปลาหมอ
ม้าแม่ก่ำกับการศึกษาวิจัยสมัยใหม่
มีรายงานการศึกษาพบว่า สารสกัดน้ำจากม้าแม่ก่ำทั้งต้น มีฤทธิ์ต้านการเจริญของเนื้องอกในหนู และเป็นพิษต่อเซลมะเร็ง ซึ่งสนับสนุนการใช้ในตำรับยารักษามะเร็ง นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายจากสารพิษ ต้านการอักเสบ
ม้าแม่ก่ำเป็นตัวอย่างของความฉลาดรอบรู้ของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ที่สามารถหายาจากธรรมชาติมาใช้กระตุ้นหรือชูกำลัง โดยไม่ต้องใช้ยาเสพติด
เรื่องน่ารู้
• รากของม้าแม่ก่ำมีกลิ่นหอม น้ำที่ต้มจะมีสีชมพูแก่ มีรสเผ็ดเล็กน้อย
• ม้าแม่ก่ำอยู่ในเภสัชตำรับของอินเดีย ปากีสถาน มีชื่อในภาษาอังกฤษว่าIndian Senega พืชในกลุ่มที่มีชื่อลงท้ายว่าSenega นี้ รวมถึงChinese Senega(Polygala tenuifolia ) มีชื่อจีนว่าYuan Zhi เป็นหนึ่งใน ๕๐ สมุนไพรที่จีนใช้มากที่สุด สมุนไพรในกลุ่มนี้มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกัน สรรพคุณเด่นคือ การเป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงสมอง ใช้รักษาความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น นอนไม่หลับ หลงลืมง่าย อารมณ์แปรปรวน เครียดกังวล หวัดไอที่มีเสมหะเหนียวข้น หอบหืด แผล ฝี หนอง น้ำร้อนลวก
• ปัจจุบันมีการซื้อขายม้าแม่ก่ำในตลาดโลกเพื่อใช้ในการผลิตยาสมุนไพร ในไต้หวันและอินเดียมีบริษัทที่ทำการส่งออกม้าแม่ก่ำเป็นวัตถุดิบ ในขณะที่ออสเตรเลียมีมาตรฐานการนำเข้าสมุนไพรม้าแม่ก่ำนี้ด้วย
ตำรับยา
ยาบำรุงกำลัง
รากม้าแม่ก่ำต้มหรือดองเหล้ากิน อาจใส่น้ำผึ้งเล็กน้อยจะทำให้กินง่ายขึ้น หรือจะใช้ม้าแม่ก่ำทั้งห้าแทนก็ได้ แต่การดองควรนำไปตากแห้งก่อน
ยาแก้หัวใจอ่อน ท้อแท้ หมดเรี่ยวหมดแรง
รากเนียมนกเขา(ม้าแม่ก่ำ) รากพวงพี(พนมสวรรค์) ต้มกิน
ยาแก้ฝีในท้อง
รากเนียมนกเขา(ม้าแม่ก่ำ) รากเข็มขาว รากเข็มแดง ต้มกิน