เดือนสาม (ขึ้น ๑ ค่ำ เดือนสาม ตรงกับวันพุธที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘<ปีนี้ศุกร์ ๓๑ มกราคม๒๕๕๗>)
ประเพณีข้าวเหนียว เผาข้าวหลาม ทำข้าวจี่
โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร
เดือนสาม ทางจันทรคติของชุมชนในภูมิภาคอุษาคเนย์ เริ่มวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนสาม เมื่อเทียบปฏิทินทางสุริยคติ ปีนี้ตรงกับวันพุธที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ [ปีนี้ศุกร์ ๓๑ มกราคม๒๕๕๗]
ประเพณีของชาวบ้านช่วงเวลานี้ สืบเนื่องจากเดือน ๒(เดือนยี่) ที่เก็บเกี่ยวและนวดข้าว ได้ข้าวเก็บเข้ายุ้งเรียบร้อยหมดแล้ว ต่อจากนี้ก็มีข้าวใหม่มาหุงกินกับทำบุญเลี้ยงผี เลี้ยงพระ
แต่การนวดข้าวของชาวนายุคก่อนๆ ทำร่วมกันทั้งชุมชนหมู่บ้าน แต่ละหมุ่บ้านมีลานนวดข้าวเป็นของกลางร่วมกัน แล้วขนฟ่อนข้าวที่เก็บเกี่ยวได้มาวางรวมกันหมด เมื่อนวดเสร็จได้เมล็ดข้าวก็แยกของใครของมันขนไปเก็บบ้านใครบ้านมัน สิ่งที่เหลืออยู่ลานนวดข้าวคือฟาง(เป็นรวงข้าวที่เอาเมล็ดออกหมดแล้ว)เก็บไว้ให้ควายกินเป็นอาหารต่อไปทั้งปี
นอกจากฟาง(ข้าว)แล้ว สิ่งที่เหลือทิ้งอยู่เต็มท้องนาคือตอ(ข้าว)หรือซัง(ข้าว)[ต้นข้าวส่วนที่ติดกับดินเหลืออยู่ในนา หลังชาวนาเอาเคียวเกี่ยว(ตัด)ส่วนลำต้นกับรวงข้าวไปนวดแล้ว] ตรงนี้แหละที่ชาวนาโบราณต้องจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งเช่น เผาเป็นถ่านเถ้าทำปุ๋ยต่อไป หรือปล่อยทิ้งไว้ให้เน่าเป็นปุ๋ยธรรมชาติ ฯลฯ ดังทุกวันนี้จะเห็นชาวนาห่างไกลจุดไฟเผาตอข้าวในนามีหมอกควันเต็มไปหมด บางแห่งมีถนนตัดผ่านมีรถยนต์แล่นขวักไขว่ เลยเกิดอุบัติเหตุจากหมอกควันเหล่านั้น
สมัยโบราณการจัดการกับตอหรือซังหรือฟาง เป็นเรื่องสำคัญและศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง เพราะหมายถึงความมั่นคงของชีวิตในอนาคตด้วยว่าข้าวกล้าปีเพาะปลูกต่อไปจะเจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์มากน้อยอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการจัดการของปีนี้ เหตุนี้จึงต้องมีพิธีกรรมเรียกเผาข้าว หมายถึงจุดไฟเผาตอหรือซังในนา พระเจ้าแผ่นดินในรัฐโบราณต้องเสด็จไปทำพิธีหรือโปรดให้เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ไปแทนก็ได้ มีในกฎมนเทียรบาลยุคต้นกรุงศรีอยุธยาเรียกพิธีธานยเทาะห์(เป็นภาษาสันสกฤตว่าธานฺยแปลว่าข้าว กับเทาะห์แปลว่าเผา) เป็นการละเล่นเสี่ยงทาย แล้วมีคำทำนายอนาคตของพืชพันธุ์ธัญญาหาร(เช่นเดียวกับพิธีแข่งเรือ) หรือเตรียมตัวรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในฤดูทำนาคราวต่อไป ซึ่งจะเริ่มเดือน ๖ ในอีกสามเดือนข้างหน้า
พิธีเผาข้าว ส่งแม่โพสพ
พิธีเผาข้าวที่ฝ่ายพราหมณ์เรียกธานยเทาะห์ คือพิธีส่งแม่โพสพซึ่งเป็นเทพีแห่งข้าวกลับสู่ถิ่นเดิมหลังเสร็จสิ้นการช่วยเหลือมนุษย์ให้มีพืชพันธุ์ธัญญาหารแล้ว มีพรรณนาอยู่ในทวาทศมาสโคลงดั้นยุคต้นกรุงศรีอยุธยาเรียก“ฤดูส่งพระไพสพราช” พิธีนี้อาจารย์ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ เคยอธิบายไว้ก่อนนานแล้ว(พ.ศ.๒๕๑๒)ความว่า
“ฤดูส่งพระไพ สพราช นาแม่”นั้น คือฤดูที่เสร็จการนวดข้าวและการขนข้าวขึ้นยุ้งฉาง คล่อมแล้วต่อจากนั้นก็เอาฟางข้าวไปเผา แต่ก่อนจะทำพิธีส่งพระไพสพมีการทำพิธีนวดข้าวที่เก็บเกี่ยวมาเสียก่อน พิธีการเกี่ยวแก่ข้าวตั้งแต่ปลูกดำไถและเก็บเกี่ยวเป็นพิธีหลวง พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นประธานในพระราชพิธี หรือไม่ก็โปรดเกล้าฯ ให้มีผู้ทำหน้าที่แทนพระองค์ เช่น พิธีแรกนาขวัญ เป็นต้น ส่วนพิธีเก็บเกี่ยวนวดข้าวนั้น มีปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศว่า“ถึงหน้าหน้านวดข้าวก็เสด็จไปนวดที่ทุ่งหันตราหลวง แล้วเอาข้าวใส่ระแทะให้พระราชบุตร พระราชธิดา กำนัลนางทั้งปวง ลากไปวังใน แล้วเอาพวนข้าวทำฉัตรใหญ่และยาคูไปถวายพระราชาคณะที่อยู่อารามหลวงทุกๆ ปีมิได้เว้น”
ต่อจากนั้นจะเป็นพิธีธานยเทาะห์ คือพิธีเผาฟางข้าว มีการแห่แม่โพสพไปตามถนนเพื่อนำฟางข้าวไปเผา มีเรื่องอยู่ในตำราพระราชพิธีเก่าว่า “ครั้นเดือนสาม พระราชพิธีธานยเทาะเผาข้าว ตั้งโรงพิธีดุจดอน ให้พนักงานแต่งที่ยาว ๓ เส้น กว้าง ๑๐ วา ให้ตั้งหลัก ๘ ทิศ หลักกลางนั้นหลักหนึ่งให้เป็นสำคัญ เอาปลายไม้ลงทั้ง ๘ หลัก แล้วให้เจ้าพระยาและพระยาหลวงขุนหมื่นเจ้าพนักงาน จับหลักตามทิศของตัวนั้น ทิศบูรพาหลวงธรรมศาสตร ทิศอาคเนย์หลวงอัถยา ทิศทักษิณหลวงศรีสังกร ทิศหรดีหลวงเทพมุนี ทิศประจิมหลวงศรีเสาวภักดิ์ ทิศพายัพพระจักรปาณี ทิศอุดรพระศรีมโหสถ ทิศอิสานพระครูมเหธร ให้ยืนตามทิศ ตามตำแหน่ง ถือพนมข้าวคนละอัน เป็น ๙ พนมด้วยทั้งกลาง เป็นพนักงานกรมนาทำส่ง ครั้นได้เพลาฤกษ์ดีให้อินทรกุมาร แต่งตัวโอ่โถง นุ่งสมปักใส่อินธนูเสนมกุฎ มีสัประทนกระชิงคานหาม แห่มายังโรงราชพิธี จึงกรมพระนครบาลตั้งชุมรมพิธีอันหนึ่ง ใกล้โรงพิธี ๕ เส้น มีพวกเพื่อน ๗๐-๘๐ คน มีกระบือตัวหนึ่งใส่กระดึงแลพรวน มือถืออาวุธเปลือย แต่ขุนพลแต่งตัวนุ่งห่มเสื้อหมวกดำทั้งเครื่อง ครั้นได้ฤกษ์ดีพระอินทรกุมารถือเอาพนมข้าวกับเทียนเล่มหนึ่งออกจากโรงพิธีมาทิศบูรพาก่อน แล้วพระหลวงขุนหมื่นทั้งปวงจับเอาพนมแลเทียนข้าวคนละอันๆ แห่มาเวียน ๓ รอบ จึงพระอินทรกุมารเอาเทียนจุดพนมเข้าก่อน พระหลวงขุนหมื่นทั้งปวงจึงจุดไฟพนมข้าว เข้าพร้อมกันทั้ง ๘ ทิศ แล้วขุนพลกับพวกเพื่อนจึงขี่กระบือโห่ร้องเข้ามาตีชิงเอาพนมข้าว ฝ่ายพระอินทรกุมารก็หนีเข้ามายังโรงราชพิธี ขุนพลกับพวกเพื่อนก็ต่างคนต่างไป”
พระราชพิธีธานยเทาะห์เผาข้าวนี้เป็นพิธีเก่า ทำกันมาจนถึงปลายกรุงศรีอยุธยา ยังมีปรากฏอยู่ในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศกของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ว่า
เดือนสามเคยตามพี่ ดูพิธีธานย์เทาะห์แสดง
เผาเข้าเจ้างามแฝง พงศ์พวกพ้องน้องเคยดู
๏ มาฆมาสอาจเปล่งถ้อย เรียมแคลง
ธานย์เทาะห์พิธีแสดง บอกเบื้อง
เผาเข้าเจ้าเคยแฝง พงศ์พวก
โนนาดยุรยาตรเยื้อง ย่างน่าเอ็นดู
ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ยังมีพิธีเผาข้าวตามโบราณราชประเพณี ดังมีในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือนางนพมาศ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๓ ที่ปรับปรุงจากตำราพระราชพิธีเก่า ได้ความว่า
“เดือนสามประชุมชาวพระนครเล่นเป็นการนักขัตฤกษ์ พระราชพิธีธานยเทาะห์ขนข้าวเข้าลานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสร็จ ณ พระพลาไชยให้พระสนมกำนัลนางระบำนางบำเรอที่มีรูปร่างศิริวิลาศเป็นอันงาม แต่ถ้าใส่เสื้ออย่างเทศอย่างมลายู ออกข้าระแทะทอง ระแทะเงิน ระแทะสีต่างๆ เป็นคู่ๆ กันสิบคู่ ลากฟ่อนข้าวเข้าสู่ลานอันแวดวงด้วยราชวัตรฉัตรธง มีพิดานห้อยย้อยด้วยพวงบุบผามาลัยแลการมโรสพก็เล่นระเบงระบำจิริกางแทงเขน นางกระอั้วผัวแทงควาย หกขะเมนไต่ลวดลอดบ่วงรำแพน เสียงฆ้องกลองนี่สนั่นน่าบันเทิงใจ แล้วชาวพนักงานก็นำพระโคอุศุภราช โคกระวิน เข้ามาเทียมเกวียน พราหมณาจารย์ถือประฏักเงิน อ่านมนตร์ขับโคให้บ่ายบาทเวียนนวดข้าว ครั้นสำเร็จเป็นสังเขปแล้ว นายนักการสุรัศวดีก็สงฟางขนไปกองไว้ในยัญะกระลากูณฑ์ จึงพระครูพรหมหรตพิธีบูชาสมิทธิพระเพลิง ด้วยสุคนธของหอม อ่านอิศรเวทโหมกูณฑ์ บันฦๅเสียงสังข์สามวาระแล้วจึงเชิญพระเพลิงออกจุดเผาฟางและซังข้าว สมมุติว่ากรอกทุ่งเผาป่ากันอุปัทวจรรไร”
พิเคราะห์ตามเรื่องที่ปรากฏแล้วจะเห็นว่าพระราชพิธีเผาข้าวเป็นพิธีที่ต่อจากนวดข้าวสงฟางเสร็จแล้ว จึงนำเอาฟางข้าวไปเผารวมทั้งข้าวที่เสียหายเพราะเมล็ดลีบหรือถูกเพลี้ยด้วงแมลงลงด้วย เป็นการเผาทำลาย ภายหลังทำพิธีเผาข้าวนี้แล้วจะมีฝนตกลงมาอีกครั้ง เรียกกันว่าฝนชะลาน
ข้าวเหนียว เผาข้าวหลาม ทำข้าวจี่
ข้าวเหนียว(ล้านนาเรียกข้าวนึ่ง) เป็นพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมที่บรรพชนคนในอุษาคเนย์ปลูกกินเป็นอาหารนานไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
นักโบราณคดีขุดพบแกลบข้าวเมล็ดป้อมตระกูลข้าวเหนียวอยู่ทั่วไปตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์สืบมาจนยุคทวารวดีถึงกรุงศรีอยุธยา เป็นข้าวที่คนทั่วไปกินเป็นอาหารและทำขนมเป็นข้าวต้มมัด ข้าวต้มลูกโยน ข้าวหลาม ข้าวจี่ เป็นต้น บางทีเรียกข้าวชนิดนี้ว่าข้าวไพร่เพราะเป็นข้าวของสามัญชนคนทั่วไป ตรงข้ามกับข้าวเจ้าเป็นพันธุ์ข้าวจากอินเดีย มีผู้นำพันธุ์เข้ามาเมื่อหลัง พ.ศ. ๑๕๐๐ เริ่มปลูกในนาหลวงของพระเจ้าแผ่นดิน สำหรับพระเจ้าแผ่นดินโดยเฉพาะ
เมื่อได้ผลผลิตใหม่เป็นข้าวเหนียวใหม่ คนเราจึงน้อมรำลึกถึง“ผี”ผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติบันดาลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์มาหล่อเลี้ยงชีวิตคน ด้วยเหตุนี้ผู้คนในชุมชนจึงพากันเผาข้าวหลามในกระบอกไม่ไผ่ แล้วทำข้าวจี่ด้วยข้าวเหนียวใหม่ไหว้ผี เรียกชื่อพิธีบูชาต่างๆ กันเช่น บุญข้าวจี่(จี่แปลว่าปิ้งหรือเผาด้วยไฟ) บุญกำฟ้า(กำกร่อนจากคะลำ หมายถึงข้อห้าม ส่วนฟ้าหมายถึงแถน) รวมถึงข้าวเกรียบด้วย เป็นต้น โดยมีกำหนดเลี้ยงพระกับเลี้ยงผีร่วมกันซึ่งอาจแตกต่างไปตามท้องถิ่นต่างๆ
ประเพณีเหล่านี้เคยทำเหมือนกันหมดในหมู่ชาวสยามตระกูลลาว-ไทย ไม่ว่าภาคกลางที่ราบลุ่มเจ้าพระยาหรือภาคไหนๆ แต่ภายหลังสังคมเปลี่ยนไปจึงยังเหลือร่องรอยอยู่เฉพาะกลุ่มลาวเท่านั้น
บุญส่งฟืนของชาวมอญเรียก“จองโอะห์ต่าน”
เดือนสามของชาวมอญในประเทศไทย มีประเพณีบุญส่งฟืนเรียก“จองโอะห์ต่าน”
“จอง”แปลว่าเผา ส่วน“โอะห์”แปลว่าฟืน “ต่าน”แปลว่าการบริจากสิ่งที่ให้ซึ่งความหมายตรงกับภาษาบาลีว่าทาน
ประเพณีนี้ยังไม่มีชื่อแปลเป็นภาษาไทยที่ตรงตัวนัก แต่ชาวบ้านหลายคนมักเรียกพิธีนี้ว่าบุญส่งฟืนหรือบุญข้าวหลาม เพราะงานบุญดังกล่าวชาวบ้านมีการส่งฟืนและทำข้าวหลามทำบุญเลี้ยงพระ
เดือนสาม พิธีส่งพระไพสพราช ในทวาทศมาสโคลงดั้น ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา
๏ เดือนสามสาโรชน้อง นางเดียว
อกกระอุทรวงธาร เนตรย้อย
เดือนดลใฝ่นุชเชียว มาไป่ มาเฮย
เดือนเร่งไกลนุชคล้อย เร่งคลา ฯ
———-
๏ คิดพาลเพาโพธผ้าย ลองใด
ถอดถอดเททรวงกรรม์ ก่องไหม้
ฤดูส่งพระไพ สพราช มาแม่
ยังไป่เห็นนุชไห้ พี่ไห้เอกา ฯ
๏ อาจารย์รังเริ่มตั้ง พนมรวง แม่ฮา
ถวายสุคนธมา เรียบร้อย
รัถยาบ่าวสาวพวง พาลแพละ กันนา
ตามส่งไพสพคล้อย คลาดคลา ฯ
——————-
๏ พิศเทพีโพธแก้ม เปรมปราง
ทรวงก่ำกรมกลหนาม เสียบไส้
พลแพนร่อนรำฉวาง แหนแห่
เร่งรันลุงลาญไหม้ ผ่าวทรวง ฯ
—————
๏ เสร็จส่งไพสพสิ้น สารสุด
เพลิงฉี่ใบบัวบง เหี่ยวแห้ง
วาววางกะลาบุษย์ พนิกาศ
โอ้อุทรทรวงแล้ง ลั่นลิว ฯ
[____________เอกสารเผยแพร่แบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้สาธารณะ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร]