พญาสัตบรรณ กำนัลสุขภาพดี….โดย ‘พี่ต้อม’
ชื่อวิทยาศาสตร์ Alstonia scholaris (L.) R.Br.
ชื่อวงศ์ APOCYNACEAE
ชื่ออื่นๆ นอพะโดะ ยางขาว ตีนเป็ด ปูแล ปูลา โนะ
ลักษณะทั่วไป ไม้ยืนต้น สูง ๒๐-๓๐ เมตร เรือนยอดเป็นชั้นๆ ใบออกจากแกนเดียวกัน เป็นวงคล้ายนิ้วมือ โคนใบรูปลิ่ม ปลายแหลม เส้นแขนงใบเด่นชัด ดอกเป็นช่อสีขาวหรือเขียวอมเหลือง ผลออกเป็นฝักยาว
การขยายพันธุ์ ใช้เมล็ดหรือกิ่งตอน
พญาสัตบรรณ คุณอนันต์สุขภาพ
พญาสัตบรรณ หรือคนส่วนใหญ่เรียกว่า ต้นตีนเป็ด เป็นสมุนไพรที่ดูไม่น่าไว้วางใจเลย เนื่องจากเมื่อเห็นยางสีขาวของลำต้นแล้วคนมักคิดว่า มีพิษเหมือนกับยางของต้นสลัดได หรือยางของต้นพญาไร้ใบ ดังนั้นเมื่อไปเจอต้นตีนเป็ดที่ใด ก็พยายามจะอยู่ห่างๆ ทำให้เสียโอกาสในการซักถามสรรพคุณ
เมื่อครั้งที่เริ่มเดินป่า เคยได้ยินพ่อเม่าพูดถึงพญาฉัททันต์ ช้างบ้าน ช้างป่า ว่าเป็นยาบำรุงกำลัง ซึ่งพ่อเม่าหมายถึงต้นตีนเป็ดซึ่งมีแก่นสีขาวชอบอยู่ในป่า กับต้นตะโกซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า พญาช้างดำ มีแก่นสีดำมักขึ้นใกล้หมู่บ้าน ทั้งสองใช้ต้มกินเป็นยาบำรุงกำลัง
ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา มีโอกาสได้เข้าไปในทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออกกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้พบกับปกาเกอะญอหนุ่มชื่อ ละเอิ่ง หรือ นายวันชัย สุดก้องหล้าง ผู้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลหมอยาพื้นบ้าน จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเรื่องที่ว่า ต้นอะไรเป็นสมุนไพรสำคัญของชุมชนปกาเกอะญอ คำตอบก็คือ ต้นโนะ ซึ่งก็คือ พญาสัตบรรณนั่นเอง
ละเอิ่งเล่าว่า ชาวปกาเกอะญอถือว่าต้นโนะเป็นต้นไม้สูงศักดิ์ เป็นต้นไม้ที่ทุกบ้านควรปลูกไว้เป็นมงคล สามารถใช้เป็นยาบำรุงร่างกายและรักษาโรคได้หลายโรค เช่น แก้บิด แก้ไข้มาลาเรีย แก้ไข้ รักษามะเร็ง แก้ปวด แก้อักเสบ แก้หอบหืด หลอดลมอักเสบ แก้ไอ รักษาเบาหวาน ขับน้ำนม รักษาแผล แมลงสัตว์กัดต่อย ทำให้ตั้งแต่นั้นมาไปที่ไหนก็จะถามถึงสรรพคุณของต้นตีนเป็ด ก็พบว่าพ่อหมอยาที่เมืองเลย แม่หมอยาปกาเกอะญอที่อมก๋อย พ่อหมอยาไทยใหญ่ทั้งในประเทศไทย ในรัฐฉานและในรัฐใต้คง ต่างคุ้นเคยกับการใช้พญาสัตบรรณมาก และใช้ในสรรพคุณเดียวกันกับละเอิ่ง และยังเหมือนกับในตำราอายุรเวทของอินเดียอีกด้วย
พญาสัตบรรณ ยามหัศจรรย์ของผู้หญิงก่อนคลอด
คุณสาปีนะห์ แมงสาโมง ผู้ประสานงานชุมชนภาคใต้ของมูลนิธิฯ เล่าว่า ปูลาเป็นชื่อภาษามลายูท้องถิ่นของต้นตีนเป็ด ในเทือกเขาบูโดนั้นมีปูลาอยู่ ครั้งแรกที่พ่อหมอบอกว่าปูลาบำรุงน้ำนม คุณสาปีนะห์ไม่แน่ใจ แต่ถามซ้ำมาหลายครั้งยังได้คำตอบเหมือนเดิม จึงจำขึ้นใจว่าปูลาเป็นต้นไม้ที่บำรุงน้ำนมในผู้หญิงหลังคลอด
ชาวบ้านจะนำใบปูลาหรือตีนเป็ดมาหนึ่งกำแล้วตัดหัวตัดท้าย มาตำคั้นน้ำให้ผู้หญิงใกล้คลอดดื่ม ช่วยให้คลอดง่ายขึ้นและเพิ่มน้ำนมได้ด้วย บางตำรับนำมาผสมกับสมุนไพรบำรุงน้ำนมตัวอื่นๆ หรือนำใบตำผสมกับจมูกข้าวและขมิ้น คั้นน้ำดื่มบำรุงน้ำนมในผู้หญิงหลังคลอด นอกจากนี้หมอยาในพื้นที่จังหวัดยะลานำใบและยางของต้นตีนเป็ดมารักษาโรคผิวหนัง
พญาสัตบรรณกับการศึกษาวิจัยสมัยใหม่
พญาสัตบรรณเป็นพืชสมุนไพรที่เก่าแก่ในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ในประเทศเหล่านี้ มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพญาสัตบรรณที่สนับสนุนการใช้ของหมอยาพื้นบ้าน เช่น มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย ต้านเชื้อบิด เพิ่มภูมิคุ้มกัน เสริมการฆ่าเซลมะเร็งของยา Cyclophoaphamide ต้านมะเร็ง ต้านเนื้องอก ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ แก้ไอ ลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต เป็นต้น
พญาสัตบรรณ ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ให้สง่างามทั้งรูปทรงของกิ่งก้าน ใบ ดอก และสรรพคุณ กลิ่นดอกเมื่อบานหอมฟุ้งไปไกล ประกาศเกียรติยศและสรรพคุณที่พร้อมจะเยียวยารักษาผู้คน
ตำรับยา
ยาบำรุงร่างกาย
แก่นพญาสัตบรรณต้มกิน
ยาแก้ผอมแห้ง
คนที่ผอมแห้ง เอาเปลือกรากต้มอาบ
ยาแก้ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเมื่อยในหญิงหลังคลอด
เปลือกต้นพญาสัตบรรณต้มหรือแช่น้ำรวมกับพริกไทยและกระเทียม กิน
ยาแก้หอบ ไอ เหนื่อย ปอดไม่แข็งแรง
เปลือกกะทุ่มบก เปลือกต้นพญาสัตบรรณต้มกิน
ยาแก้ปวดหัว
รากพญาสัตบรรณต้มกิน
ยาขับปัสสาวะ
ย่านลิเภาทั้งห้า เปลือกต้นพญาสัตบรรณ ใบบัวบก ต้มกิน
ยาแก้ไอ
ใบพญาสัตบรรณตากแห้งทำเป็นผง พริกไทยตำผง ผสมน้ำผึ้งทำเป็นลูกกลอนกิน แก้ไอ หอบหืด
ยาเลิกฝิ่น
ใช้ยางตีนเป็ดและเปลือกมะละกอ ต้มกินรักษาฝิ่น ทำให้ไม่อยากฝิ่น
ยาแก้ช้ำใน
กินยางหรือใช้เปลือกต้มกิน
ยาแก้แมลงสัคว์กัดต่อย
ใช้ยางทา
เรื่องน่ารู้
• พญาสัตบรรณ หรือ ต้นสัตตปัณณะ มีชื่อเรียกในอินเดียว่า สตฺตปณฺณรุกข แปลว่า ไม้ที่มี ๗ ใบ เป็นต้นไม้ที่ขึ้นตรงปากถ้ำที่เมืองราชคฤห์ จึงเรียกถ้ำนี้ว่า สตฺตปณฺณคูหา เป็นสถานที่ที่ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรก
• คนไทยเชื่อว่า บ้านใดปลูกพญาสัตบรรณไว้จะทำให้มีเกียรติยศดั่งพญา ได้รับการยกย่องและนับถือจากบุคคลทั่วไป