ฝางเสน…สร้างเลือด สร้างภูมิ โดย ‘พี่ต้อม’
ชื่อวิทยาศาสตร์ Caesalpinia sappan L.
ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE
ชื่ออื่นๆ ฝาง งาย หนามโค้ง
ลักษณะทั่วไป ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง ๑๐ เมตร ลำต้นมีหนามแข็งเล็กๆ โค้งลง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ดอกสีเหลืองมี ๕ กลีบ ผลเป็นฝักแบน โค้งคล้ายมีดปังตอ เปลือกแข็ง
การขยายพันธุ์ ใช้เมล็ด
ฝาง ยาสร้างเลือดดีให้สตรีเปล่งปลั่ง
ฝางจัดเป็นสมุนไพรไทยที่โกอินเตอร์มาช้านานแล้ว มีบันทึกไว้ว่า สมัยอยุธยาไทยมีการติดต่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศจีน ได้มีการส่งไม้ฝางไปเป็นของขวัญถวายพระเจ้ากรุงจีน ขณะเดียวกันก็ส่งเป็นสินค้าออกไปขายทั้งในญี่ปุ่นและจีนด้วย ชื่อฝางยังเป็นชื่อของอำเภอ ๒-๓ แห่ง เช่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น นับว่าเป็นสมุนไพรที่ผูกพันกับคนไทยมาช้านาน
นอกจากนี้คนในกลุ่มชนชาติไทในทุกพื้นที่ ตั้งแต่พ่อหมอไทยใหญ่ในรัฐใต้คง สาธารณรัฐประชาชนจีน และในพม่า หมอยาลาวที่อยู่ในประเทศไทยหรือในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ต่างเรียกฝางในชื่อเดียวกัน และใช้ในสรรพคุณเดียวกันคือ บำรุงเลือด บำรุงกำลัง แก้เจ็บหลังเจ็บเอว ในตำรายาไทยยาบำรุงโลหิตสตรีจะขาดฝางไม่ได้ เช่นเดียวกับแม่ๆ หมอยาเมืองเลยที่ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ยาบำรุงโลหิตสตรีต้องมีฝาง
นอกจากการใช้ในตำรับยาบำรุงโลหิตสตรีแล้ว พ่อเม่า ตาส่วน และพ่อประกาศ ยังใช้ฝางในการรักษาโรคหลากหลายชนิด เช่น โรคประดง โรคไต ขับปัสสาวะ แก้ไข้หวัด แก้ไอ แก้หอบหืด ฝางยังเป็นสมุนไพรที่ปรากฏในตำรับยาในตำราโบราณมากที่สุดชนิดหนึ่ง โดยอยู่ในตำรับยาหอม เช่น ยาหอมอินทจักร ยาแก้ไข้ เช่น ยาจันทลีลา และอยู่ในตำรับยาบำรุงโลหิต แก้ปอดพิการ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ท้องร่วง ธาตุพิการ โลหิตออกทางทวารหนัก แก้กำเดา แก้เสมหะ เป็นต้น
ฝาง ยาอุทัย รินน้ำใจต้อนรับไทยผอง
แก่นไม้ฝางมีรสขมฝาด มีสรรพคุณแก้ร้อนในกระหายน้ำ เมื่อแช่น้ำหรือต้มน้ำจะให้สารสีแดงละลายออกมา เป็นเครื่องดื่มสมุนไพรสีสันชวนดื่ม ในช่วง ๖๐-๗๐ ปีที่ผ่านมา มีการผลิตน้ำยาอุทัยออกจำหน่ายจนเป็นที่นิยมอย่างมาก ผู้ผลิตจะมีสูตรแตกต่างกันออกไป แต่จะมีฝางเป็นตัวยาหลัก แล้วใส่ตัวยาบำรุงหัวใจ บำรุงร่างกาย และตัวยาที่มีกลิ่นหอมตัวอื่นๆ ผสมลงไปด้วย เช่น จันทน์แดง จันทน์เทศ จันทน์ชะมด จันทนา กระแจะตะนาว เกสรทั้งห้า โกฐจุฬาลัมพา รากมะกรูด รากมะนาว เหมือดคน พิมเสน ชะมด น้ำมันกุหลาบ เป็นต้น
กรรมวิธีผลิตจะใช้การเคี่ยวน้ำฝาง แล้วหมักกับตัวยาเหล่านั้นไว้ระยะหนึ่ง จากนั้นนำไปกรองเอาแต่น้ำนำไปบรรจุขวดจำหน่าย เวลาใช้เพียงหยดลงในน้ำสองสามหยด ก็จะได้น้ำยาอุทัยหอมเย็นชื่นใจ ดื่มแก้กระหาย เอาไว้ต้อนรับแขกเหรื่อตามธรรมเนียมไทย
ฝางกับการศึกษาวิจัยสมัยใหม่
ปัจจุบันมีการศึกษาพบฤทธิ์ที่สนับสนุนการใช้ฝางของหมอยาพื้นบ้านมากมาย เช่น สรรพคุณบำรุงโลหิตสตรีอาจมาจากฤทธิ์ของฝางในการยับยั้งการแข็งตัวของเลือด หรือสรรพคุณของฝางในการแก้ไข้หวัด แก้หอบหืด ก็มาจากฤทธิ์ในการปรับปรุงภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการแพ้แบบ anaphylactic ยับยั้งการหลั่งฮีสตามีน ส่วนการใช้แก้ปวดเมื่อย แก้กษัย มาจากฤทธิ์ของฝางที่สามารถแก้ปวด แก้อักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง ต้านเนื้องอกได้ นอกจากนี้ฝางยังมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านไวรัส กดประสาทส่วนกลาง ต้านการเข้าสู่เซลของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
ฝางคือสัญลักษณ์แห่งมิตรไมตรีของคนไทย สีชมพูสดใสแทนน้ำใจจากเพื่อน ที่มอบสิ่งดีๆ มีคุณค่าแก่ผู้มาเยือน ฟื้นการดื่มน้ำฝาง ฟื้นสุขภาพคนไทย ให้ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ
เรื่องน่ารู้
• ฝางเสน มีสารสีแดงที่เรียกว่า บราซิลิน(Brazilin) ซึ่งให้สีแดงหรือสีส้ม สามารถนำไปเป็นสีย้อมธรรมชาติ ใช้ย้อมผ้า ย้อมไหม ย้อมผ้าขนสัตว์ได้ โดยมีการใช้มาอย่างยาวนาน
ตำรับยา
ยาบำรุงโลหิตสตรี
ตำรับที่ ๑
ใช้แก่นฝางตากแห้ง ๑ ชิ้น ขนาด ๓ นิ้ว น้ำประมาณ ๑ ลิตร ต้มหลังจากน้ำเดือดประมาณ ๑๕-๒๐ นาที จนได้น้ำฝางสีแดง ดื่มเป็นประจำ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ลดเสมหะ เป็นยาบำรุงโลหิตสตรี
ตำรับที่ ๒
แก่นฝาง แก่นไม้แดง รากเดื่อหอม อย่างละเท่ากัน ต้มกิน บำรุงร่างกายทั้งสตรีและบุรุษ แก้ประดง
ตำรับที่ ๓
ดอกคำไทย ดอกคำฝอย แก่นฝางเสน ทำเป็นผงละลายด้วยน้ำมะกรูดหรือน้ำมะนาว อาจผสมน้ำผึ้งลงไปด้วย กินครั้งละประมาณครึ่งช้อนชา วันละ ๓ เวลา
ยาบำรุงกำลัง แก้กษัย แก้ปวดเมื่อย
ตำรับที่ ๑
แก่นฝาง ๑ บาท ดอกคำไทย ๒ สลึง ต้มน้ำ ๓ แก้ว เอา ๑ แก้ว แบ่งรับประทานเช้าเย็น รับประทานเถิดวิเศษจริง
ตำรับที่ ๒
แก่นฝาง รากกระจ้อนเน่า กำลังช้างสาร ม้ากระทืบโรง อย่างละเท่าๆ กัน ต้มกินบำรุงกำลัง
ยาแก้กษัยปัสสาวะขุ่นข้น
แก่นฝาง เถาวัลย์เปรียง รากเตย อย่างละเท่ากัน ต้มกับน้ำ อาจเติมน้ำตาลพอหวานเพื่อช่วยทำให้รสชาติดีขึ้น
ยาแก้หวัด แก้ไอ
ตะไคร้ ๓ ต้นทุบให้ละเอียด แก่นฝางหนัก ๓ บาท น้ำ ๑ ลิตร ใส่น้ำปูนใสเล็กน้อย ต้มพอให้ได้น้ำยาสีแดง รับประทาน ครั้งละ ๑ แก้ว วันละ ๓ เวลา หรือจะผสมน้ำตาลกรวดก็ได้
ยาแก้หอบหืด
แก่นฝางเสน ใบมะคำไก่ แก่นแสมสาร เถาวัลย์เปรียง อย่างละ ๒ บาท ๒ สลึง ใส่น้ำพอท่วมยา ต้มเดือด ๑๐ นาที กินยาต่างน้ำให้หมดภายในวันนั้น วันต่อมาเติมน้ำเท่าเดิม ต้มเดือด ๕ นาที กินเหมือนวันแรก ต้มกินจนยาจืด(ประมาณ ๕ วัน) เปลี่ยนยาใหม่ ต้มกิน ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหาย
ข้อควรระวัง
ระมัดระวังในคนท้อง เพราะในยาแผนไทยใช้ฝางเป็นส่วนประกอบของยาขับประจำเดือนและมีรายงานการวิจัยว่ามีฤทธิ์เป็นยับยั้งการแข็งตัวของเลือด