[หมายเหตุ – บุก’ป่า’หนังสือไปอ่านเรื่อง “แมงกับแมลง” ของคุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว แล้วได้ข้อคิดความเห็น ความรู้อันลึกซึ้งอย่างน่าทึ่ง จึงนำมาแบ่งปันภูมิปัญญาให้’รักษ์เขาใหญ่’ได้อ่านกัน]
แมงกับแมลง… ‘โดย’ นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว (ถึงอย่างไรก็อยู่กันมาได้ : ๑๑๓-๑๒๑)
เรามักถูกสอนกันมาตั้งแต่เด็กว่า แมงกับแมลงนั้นต่างกัน แมงมี ๘ ขา ส่วนแมลงมี ๖ ขา หลายคนเชื่อเช่นนั้นโดยไม่เคยสงสัยว่าคนไทยแต่เดิม ได้เคยแบ่งแยกแมงกับแมลงด้วยจำนวนขาของมันจริงหรือไม่ จนแม้คอลัมน์โลกธรรมชาติจากนิตยสาร สารคดี ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๑๕๙ ประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ้งเป็นข้อเขียนของคุณเกรียงไกร สุวรรณภักดิ์ ก็ได้พยายามอธิบายว่า ควรจะเรียก“แมลง”หรือ“แมง”ดี ด้วยการเปรียบเทียบกับตำราฝรั่ง และหลังจากที่คุณเกรียงไกรได้ให้ความรู้จัดจำแนกสัตว์เหล่านี้ทางชีววิทยาไว้อย่างละเอียดแล้ว คุณเกรียงไกรก็ได้ให้ข้อสรุปไว้ในท้ายบทความว่า “การที่พวกสัตว์ในไฟลัมย่อยยูริเรเมีย(มี ๖ ขา) เป็นตัวแทนของแมลง และสัตว์ที่อยู่ในไฟลัมย่อยเชลลิซีเรตา(มี ๘ ขา) เป็นตัวแทนของสัตว์ในกลุ่มแมง อาจเพราะสัตว์ในสองกลุ่มนี้มีความใกล้ชิดกับวิถีชีวิตคนไทยก็ว่าได้ ก็เลยพูดถึงแต่ “แมลง”และ“แมง” เท่านั้น”
พิจารณาแล้ว เหมือนกับคุณเกรียงไกรพยายามจะเสนอว่าคนไทยมีระเบียบคิดเช่นเดียวกับฝรั่ง คือมีการจัดแบ่งกลุ่มแบ่งแยกสัตว์ในไฟลัมอาร์โทร์โพดาออกเป็นกลุ่มๆ ง่ายที่สุดคือแบ่งเป็นกลุ่ม “แมลง”ที่มี ๖ ขา และ “แมง”ที่มี ๘ ขา และที่แบ่งได้แค่ ๒ กลุ่มใหญ่นี้อาจเพราะสัตว์ในสองกลุ่มมีความใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของคนไทย
อันที่จริงประเด็นที่คุณเกรียงไกรเสนอมานี้น่าสนใจมาก เพราะได้เข้าไปแตะต้องในส่วนของวิธีคิดระหว่างคนไทยกับตะวันตกโดยตรงว่า มีระเบียบวิธีคิดเดียวกัน สามารถใช้กรอบแบบตะวันตกมาสวมทับให้สามารถเข้าใจองค์ความรู้ของไทยได้อย่างชัดแจ้ง ว่าง่ายๆ สิ่งที่คุณเกรียงไกรเสนอก็คือ คนไทยคิด(ได้)แบบฝรั่งจึงมีหลักฐานในการเรียกชื่อแบ่งแยกให้มีทั้งแมงและแมลง
พักเรื่องวิธีคิดดังกล่าวไว้ชั่วคราวนะคะ มาว่าเรื่อง “แมง” และ “แมลง” ก่อนดีกว่า
คำว่าแมงและแมลงนี้ นักเรียนทางภาษาศาสตร์จะรู้จักกัน เพราะจะถูกยกตัวอย่างการแยกเสียงของเสียงควบ“มล” เสียง“มล”นี้เชื่อว่าเป็นเสียงดั้งเดิมของคนพูดภาษาตระกูลไท-ลาว ตัวอย่างเก่าแก่ในภาษาเขียนที่ตกทอดมาก็คือคำว่า “มลาย”,“มล้าง”,“เมล็ด”,“แมลง” ฯลฯ
แต่เนื่องจากเสียง“มล”นี้ ในบางถิ่นอาจจะไม่สะดวกในการออกเสียง(ซึ่งมีหลายเหตุผลมากทั้งทางสังคม การหยิบยืมเสียงจากภาษาของชนเผ่าใกล้เคียง การกลายเสียง เสียงหนักเบาของพยัญชนะและสระที่มาประกอบในพยางค์ต่อไป ฯลฯ) การแยกเสียงจึงเกิดขึ้น บางถิ่นเก็บเสียง“ม”เอาไว้ บางถิ่นเก็บเสียง“ล”เอาไว้ และบางถิ่นก็เก็บไว้ทั้ง“ม”และ“ล”เป็นเสียงควบ“มล” ตัวอย่างเช่น
ฟ้า“แมลบ” บางถิ่นออกเสียงเป็น ฟ้าแมบ บางถิ่นเป็น ฟ้าแลบ
ตัว“เมล็น” บางถิ่นออกเสียงเป็น ตัวเม็น บางถิ่นเป็น ตัวเล็น
มล้าง เมื่อแยกเสียงจะมีทั้ง ม้าง และล้าง ซึ่งก็มีความหมายเดียวกัน คำว่า“แมลง”ก็เช่นเดียวกันกับเหตุผลข้างต้น เราจึงมีทั้ง“แมลง” และ“แมง”
ซึ่งการแยกเสียงตามเหตุผลทางภาษา มิใช่เกิดเพราะการนับจำนวน“ขา” ของสัตว์เหล่านั้น
สมัยยังเรียนวิชาภาษาศาสตร์ดิฉันเคยตรวจสอบคำว่า“แมลง” อยู่บ้างเหมือนกัน เคยถามพ่อซึ่งเป็นคนพัทลุงว่า ภาษาถิ่นใต้มีคำว่า“แมลง”บ้างไหม คำตอบคือไม่มี มีแต่คำว่า“แมง”เท่านั้น
นั่นคงไม่ได้หมายความว่าคนใต้นับจำนวนขาแมงหรือแมลงไม่เป็น แต่คงเพราะเขาไม่สนใจจะนับมากกว่า เพราะการไปนั่งนับขาแมงหรือแมลงอยู่ มันไม่ให้มรรคผลอะไรกับชีวิต สาระของการหาอยู่หากินอยู่ตรงที่เขารู้จักธรรมชาติของมันมากแค่ไหน ว่าจะชุกชุมในฤดูกาลใด อยู่ที่ต้นไม้อะไร แมงชนิดไหนบ่งบอกถึงการแตกดอกออกผลของต้นยา หรือพืชบางประเภท ฯลฯ นั่นคือ“สาระ”ของชีวิตเขา ไม่ใช่จำนวนขาของมัน เขาจึงเรียกสัตว์ประเภทนี้รวมๆ ไปว่า“แมง”
เสียง“มล”นี้คนใต้บางถิ่นเก็บไว้แต่เสียง“ม” แต่ในบางถิ่นบางคำก็เก็บไว้แต่เสียง“ล” ดังเช่นการเรียกมะม่วงหิมพานต์ที่มีเม็ดโผล่มานอกลูกว่าลูก“เล็ดล่อ”
ซึ่งก็คือผลไม้ที่มี“เมล็ด” ออกมา“โผล่” ล่อลูกตาอยู่นอกลูกนั่นเอง
กลับมาเรื่องวิธีคิดของคนไทยกับฝรั่งหน่อยนะคะ ตัวอย่างข้างต้น คงจะพอทำให้มองเห็นแล้วว่า ไทยกับตะวันตกมีวิธีคิดวิธีอธิบายธรรมชาติรอบตัวต่างกัน อยู่บนจุดยืนที่ต่างกัน เรื่องของคำว่า“แมง”และ “แมลง” ซึ่งแบ่งแยกกันเพราะเหตุผลทางภาษา จึงไม่อาจอธิบายภายใต้กรอบความคิดของฝรั่งได้ แต่คำ ถามที่น่าสนใจก็คือ แล้วทำไมคนไทยจึงไม่จัดอนุกรมวิธานของสัตว์-พืช ฯลฯ อย่างละเอียดแบบที่ฝรั่งทำ คนไทยคิดเช่นนั้นไม่เป็นหรือ และเพราะสาเหตุอะไรคนไทยถึงไม่นำเอาจำนวนขาของแมลงมาเป็นจุด สำคัญในการแบ่งแยกกลุ่มของสัตว์ประเภทนี้?
ก่อนจะพยายามหาคำตอบตรงนี้ มีตัวอย่างหนึ่งที่อยากบอกเล่าให้ฟัง เป็นตัวอย่างทางภาษาศาสตร์ที่สามารถอธิบายวิธีคิดของคนไทยได้เป็นอย่างดี ในชั้นเรียนวิชา Northern Thai Inscriptions ครั้งหนึ่ง ดิฉันจำได้ว่า ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้บรรยายให้พวกเราฟังว่า คำว่า“จิ้ง”กับ“กิ้ง” มีความหมายใกล้เคียงกัน คือใช้เรียกสัตว์ประเภทที่มีอาการคลานไปกับพื้น เราจึงมีทั้ง
จิ้งหรีด จิ้งจก จิ้งเหลน กิ้งก่า กิ้งกือ
สนุกแน่ล่ะค่ะถ้าเอากรอบแบบฝรั่งมามอง ดังที่คุณกรียงไกรพยายามทำกับแมงและแมลง เพราะไอ้ตัวกิ้งๆ จิ้งๆ เหล่านั้นมันเล่นข้ามไฟลัมกันมั่วไปหมด
แต่ไอ้ตัวกิ้งๆ จิ้งๆ นี่แหละ เป็นหลักฐานให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ไทยกับฝรั่งมอง“เห็น”ในสิ่งต่างกัน
ที่ดิฉันเน้นคำว่า“อาการ” ในข้อความข้างต้นก็เพราะต้องการย้ำให้เห็นว่าจุดนี้แหละที่ทำให้วิธีคิดของไทยแตกต่างจากฝรั่ง คนไทยให้ความสำคัญกับการ“เห็น”ในอาการ แต่ฝรั่งให้ความสำคัญกับการ“เห็น” ในสรีระทางกายภาพ ซึ่งทั้งสองลักษณะนี้ใช้เครื่องมือในการเห็นต่างกัน ฝ่ายหนึ่งใช้ความเข้าใจบนพื้นฐานทางนามธรรม อีกฝ่ายใช้ความเข้าใจบนพื้นฐานของอายตนะที่สัมผัสได้ สิ่งที่เห็นจึงแตกต่างกัน การมองเห็นในสิ่งต่างกันนี้สำคัญมาก เพราะจะทำให้กระบวนชีวิต ความคิดและการกระทำในโลกทัศน์แบบไทยและฝรั่งต่างกันไปด้วย
อีกตัวอย่างที่จะทำให้มองเห็นชัดเจนขึ้นก็คือ ก่อนรับอิทธิพลตะวันตกเราจะเห็นได้ว่า จิตรกรรมไทยประเพณีนั้น ให้ความสำคัญกับเส้นสาย ช่องไฟ เป็นภาพสองมิติ มีเฉพาะกว้างและยาว ไม่ให้ความสำคัญกับแสงเงา ไม่มีความลึก ไม่มีลักษณะ Perspective ผู้คนในจิตรกรรมมีร่างผิดส่วนหัวโต แขนขาบิดโค้งผิดรูป ไม่ตรงตามกายวิภาค คนจะอยู่ตรงไหนตัวโตเท่ากันหมด ไม่มีหรอกว่าคนอยู่ไกลตัวเล็ก อยู่ใกล้ตัวใหญ่ มีแต่ยืนนั่งคับบ้านคับวัง มองดูผิดปกติไปหมด
ดิฉันเคยถามช่างทองร่วง เอมโอษฐ์ ครูช่างพื้นบ้านเพชรบุรี การศึกษาในระบบเพียงแค่ชั้น ป. ๔ ว่า ทำไมจิตรกรรมไทยถึงเป็นอย่างนั้น ทำไมช่างไทยไม่เขียนให้เหมือนตาเห็นอย่างแนว Perspective แบบที่ฝรั่งทำ
ครูตอบว่า เพราะช่างไทยท่านเขียน“ความจริง”ที่ใจสัมผัส คนจะอยู่บนเขาหรืออยู่ในบ้านตัวมันก็เท่ากัน อยู่ตรงไหนคนก็ตัวเท่าคนไม่ได้เปลี่ยนขนาดลงไปเล็กเท่ามดสักกะหน่อย
ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ครูช่างท่านถ่ายทอด“ความเป็นคน”ลงในภาพเขียน ซึ่งคำตอบของช่างพื้นบ้านนี้ก็ตรงกับที่ อ.โกวิท เอนกชัยหรือท่านเขมานันทะเคยให้อรรถาธิบายไว้ว่า แม้จะเขียนรูปน้ำที่อยู่ในขันน้ำหรืออ่าง ช่างไทยก็ยังเขียนเป็นเส้นคล้ายคลื่นล้อกันไป แทนสัญลักษณ์ของธาตุน้ำ(อาโปธาตุ)อันเลื่อนไหล เอิบอาบเซิบซาบจากความรู้สึกสัมผัสอาการของสิ่งนั้นๆ ไม่เพียงรูปที่ตาเห็นได้เท่านั้น
“ความจริง”ที่ช่างไทยมองเห็น และน่าจะเป็น“ความจริง”ที่คนร่วมสังคมยุคสมัยเดียวกันมองเห็น จึงน่าจะเป็นความจริงซึ่งมีลักษณะ“ไม่เพียงรูปที่ตาเห็นได้”เท่านั้น ซึ่งจุดนี้เองทำให้คนไทยไม่เคยแบ่งแมงกับแมลง ด้วยกรอบความคิดแบบไฟลั่มต่างๆ แต่แบ่งไอ้ตัวกิ้งๆ จิ้งๆ เป็นพวกที่มี“อาการ”คลานไปกับพื้น
นั่นคือคนไทยไม่น่าจะให้ความสนใจกับสรีระทางกายภาพในการจำแนกสิ่งต่างๆ ออกจากกันเท่าใดนัก เพราะบรรพชนไทยท่านคงได้เรียนรู้ถึง“มายาของผัสสะ” จนทำให้ความจริงในทัศนะของท่านพ้นไปจากเรื่องเหล่านี้ จึงแม้ตาจะเห็นต้นไม้ในที่ห่างไกลเล็กเท่ามด ท่านก็ยังไม่เขียนลงไปในงานจิตรกรรม เพราะท่านรู้อยู่เต็มอกว่านั่นเป็นมายาของดวงตา
ที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งสำหรับแมงและแมลงที่ไม่อาจแยกกันได้ด้วยจำนวนขาก็คือ การมานั่งนับขานับตีนของมันไม่ใช่สาระของชีวิต จะนับไปเพื่อประโยชน์อะไร ดิฉันมาตระหนักตรงนี้ได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการพยายามหาองค์ความรู้เรื่องดวงดาวของชาวบ้านไทย ว่าดาวมากมายเต็มฟ้า แต่ทำไมคนไทยถึงเรียกชื่อกันอยู่ไม่กี่ดวงไม่กี่กลุ่ม ซ้ำซากไปมาแค่ ดาวว่าว ดาวไถ ดาวช้าง ดาวจระเข้ ดาวคันชั่ง ดาวลูกไก่ ดาวโลง ดาวกา นี่เอาเฉพาะที่ชาวบ้านไทยเรียกกันจริงๆ เมื่อตรวจสอบดูถึงได้รู้ว่า เขาดูเฉพาะดาวที่มีประโยชน์กับการทำนา การเดินเรือ การเดินป่า การปล้น ที่เหลือนอกนั้นหากไม่เกี่ยวพันกับปัจจัยอื่นๆ แล้ว เขาไม่มีแม้แต่ชื่อเรียกเฉพาะลงไปด้วยซ้ำ ไอ้ที่จะมาตั้งชื่อทุกกลุ่มดาวเหมือนฝรั่งนั้น ไม่ใช่วิสัยของชาวบ้านไทย เพราะเขาไม่ได้เฉพาะดูดาว แต่ดูจากลักษณะที่ดาวสัมพันธ์กับธรรมชาติแวดล้อมอื่นๆ ด้วย
กลับมาที่แมงและแมลง แม้คนไทยจะไม่นำสรีระหรือนำจำนวนขามาแบ่งแยกประเภทของสัตว์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนไทยมิได้สังเกตตีนสัตว์ การแกะรอยของครูพรานรุ่นเก่าคงเป็นตัวอย่างได้ดี ท่านรู้จักตีนสัตว์ในมิติที่สัมพันธ์กับธรรมชาติของสัตว์แต่ละชนิดอย่างลึกซึ้ง นึกออกได้ถึงคำกลอนกลบท“เสือซ่อนเล็บ” ที่ไม่เคยมีใครถอดได้มาเป็นร้อยปี จนวันหนึ่งเมื่อประมาณเกือบยี่สิบปีก่อน ดิฉันจำได้ว่า พ่อจับแมวที่บ้านมาวางบนโต๊ะ หงายตีนมันดูลักษณะการเรียงตัวของเล็บทั้งเวลาเหยียดและเวลางุ้มเข้า สังเกตลักษณะอาการ“ซ่อนเล็บ”ของแมว แล้ววาดเป็นลายเส้นคร่อมลงไปบนกลอนกลบท ทีนี้สามารถถอดกลบทได้ในทันที ด้วยวิธีเข้าใจให้ได้ว่า“เสือซ่อนเล็บ”คืออะไร ครูเก่าท่านเคยมีความรู้ความเข้าใจอย่างไรจึงสามารถซ่อนคำตอบไว้ได้นานนัก และเมื่อกลับไปดูตีนแมวอย่างละเอียดด้วยดวงตาแบบที่คนโบราณท่านเคยมองไว้ คำตอบก็แงะออกมาได้จากนังเหมียวข้างตัวนี่เอง
ซึ่งความเข้าใจในตีนดังลักษณะนี้ก็มิได้เกี่ยวเนื่องกับการนับจำนวนขาเพื่อจะมาใช้แบ่งประเภทสัตว์อีกนั่นแหละ คนไทยมองเห็นตีนสัตว์เช่นเดียวกับที่ฝรั่งเห็น แต่เห็นกันคนละแบบ คนละมิติเท่านั้น
ที่พอจะเกี่ยวกับจำนวนตีนอยู่บ้าง ก็คงเป็นการแบ่งสัตว์เป็นจตุบาท ทวิบาท นั่นก็คือมากที่สุดที่คนไทยจะใช้จำนวนตีนมาแบ่งเป็นเนื้อกับนก แต่ก็ไม่ได้จำแนกลงไปอย่างละเอียดมากกว่านี้ ไม่มีการศึกษาชำแหละสรีระสัตว์เพื่อจัดกลุ่มอย่างละเอียดยิบย่อยแบบศาสตร์ทางชีววิทยาของตะวันตก ก็เพราะสาเหตุต่างๆ ที่กล่าวมา คือการเห็นในสิ่งที่ต่างกัน และสาระของชีวิตที่ต่างกัน
ดิฉันพยายามนึกถึงตัวอย่างอื่นเกี่ยวกับแมลงในวรรณคดีไทยว่าเคยมีการพยายามนับตีนมันหรือไม่ ก็นึกไม่ออกเอาเลย เคยเรียนสมัยเด็กๆ …ประเภท ตัวเนี่ยงนิลดำมะละกา นั่นก็ไม่เกี่ยวกับแข้งขาอะไรของมัน ส่วนอีกเรื่องคือระเด่นลันได มีเอ่ยเอาไว้ว่า …เปิดผ้าหาเล็นกันวุ่นไป
นั่นก็ไม่ได้เปิดผ้าหาเพื่อนับตีนตัวเล็นกันหรอก แต่คงหวังจะเปิดผ้าเพื่อทำอย่างอื่นเสียมากกว่า!
ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้นนี้ ดิฉันไม่กล้าหาญที่จะบอกว่ารู้จักวิธีคิดแบบไทย เพียงแต่ว่าในการสำรวจเก็บข้อมูลที่ได้พบ วรรณคดีที่อ่าน ภาพจิตรกรรมที่ได้เห็น และครูบาอาจารย์ที่เคยไต่ถามล้วนให้คำตอบอันโน้มนำมาในแนวทางนี้ ความแตกต่างของ“แมง”และ“แมลง” จึงเป็นเรื่องเหตุผลทางภาษาศาสตร์ ที่เชื่อม โยงให้เห็นความแตกต่างของวิธีคิดระหว่างไทยกับตะวันตกได้เป็นอย่างดี.