นิเวศบริการ-ป่าเต็งรัง โดย ‘เก่ง กลุ่มใบไม้’

นิเวศบริการ โดย ‘เก่ง  กลุ่มใบไม้’

1231667_411427395625508_661585304_nนิเวศบริการป่าไม้และธรรมชาติ เขาให้อะไรกับเราบ้าง?
           นิเวศบริการ หรือ Ecosystem services หมายถึงประโยชน์ที่ธรรมชาติส่งมอบให้กับมนุษย์ นิเวศบริการที่เราคุ้นเคยที่สุดได้แก่ อาหาร น้ำสะอาด และทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ แต่ยังมีบริการอีกมากมายที่เรามักไม่ค่อยนึกถึง เช่น การดูดซับคาร์บอนและบรรเทาภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงของป่าไม้ การกรองและทำน้ำให้สะอาดของพื้นที่ชุ่มน้ำ ฯลฯ
           ดังนั้น ถ้าเรามองระบบนิเวศในฐานะนิเวศบริการ เราก็จะสามารถมองสิ่งแวดล้อมว่าเป็น “สินทรัพย์” ที่การพัฒนาต้องพึ่งพา และดังนั้นการดูแลสิ่งแวดล้อมก็จะเป็น “การลงทุน” ที่จำเป็น เลิกคิดว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็น “ค่าใช้จ่าย” ที่ไม่ได้อะไรกลับคืน

ที่มา : มูลนิธิโลกสีเขียว
ข้อมูลเพิ่มเติมด้านสิ่งแวดล้อม : http://www.greenworld.or.th/library/environment-vocabulary
ถ่ายภาพ : โชคนิธิ คงชุ่ม

ป่าเต็งรัง (Deciduous Dipterocarp Forest) โดย ‘เก่ง  กลุ่มใบไม้’

11518_625584000825183_1214117707_nป่าเต็งรัง         แบบนี้คือป่าเต็งรัง บางคนมองๆ อาจบอกว่านี่คือป่าเสื่อมโทรม แท้จริงแล้วนี่คือระบบนิเวศของป่าเต็งรัง ความหลากชนิดของประเภทป่า เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพของโลกนี้”

ป่าเต็งรัง (Deciduous Dipterocarp Forest)
            ลักษณะสำคัญอันดับแรกของการจำแนกป่าเต็งรังคือ การผลัดใบของไม้ส่วนใหญ่ในทุกระดับชั้นเรือนยอดเช่นเดียวกับป่าผสมผลัดใบ ประกอบกับใช้ลักษณะของไม้ดัชนีในสังคมที่มีความแตกต่างจากป่าในกลุ่มป่าผลัดใบในสังคมอื่นอย่างเด่นชัด ไม้ดัชนีประกอบด้วยไม้ในวงศ์ยาง (Dipterocarpaceae) ที่มีการผลัดใบในช่วงฤดูแล้งได้แก่ เต็ง (Shorea obtusa) รัง (S. siamensis) เหียง(Dipterocarpus obtusifolius) พลวง (D. tuberculatus) และยางกราด (D. intricatus) ปกติไม้เหล่านี้ต้องเป็นไม้เด่นในเรือนยอดชั้นบนและควรมีอย่างน้อย ๒ ชนิดขึ้นไป
 ปกติป่าเต็งรังมีเรือนยอดเปิดมีต้นไม้ขึ้นอยู่กระจายห่างๆ และมีหญ้าปกคลุมในช่องว่างเป็นพื้นที่กว้างๆ ป่าเต็งรังมีถิ่นกระจายโดยกว้างๆ แต่ส่วนใหญ่มักปรากฏสลับกันไปกับป่าผสม ผลัดใบแต่ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ มักมีความอุดมสมบูรณ์ตํ่ามาก เช่น มักยึดครองในพื้นที่ที่มีความแห้งแล้งจัด ดินกักเก็บนํ้าได้ไม่ดี เช่น บนสันเนินเขาหรือพื้นที่ราบที่เป็นทรายจัด มีหินบนผิวดินมากหรือบนดินลูกรังที่มีชั้นของลูกรังตื้น(๑)
             ป่าเต็งรังขึ้นอยู่ในพื้นที่ที่มีฤดูกาลแบ่งแยกค่อนข้างชัดเจนระหว่างฤดูฝนและฤดูแล้ง ปกติมักต้องมีช่วงแห้งแล้งจัดเกินกว่า ๔ เดือนต่อปี ดินตื้นกักเก็บนํ้าได้เลวมาก ปริมาณนํ้าฝนอยู่ในช่วง ๙๐๐-๑๒๐๐ มิลลิเมตรต่อปี ไฟป่าเกิดขึ้นเป็นประจำจนนักนิเวศวิทยาหลายท่านเชื่อว่าสังคมป่าชนิดนี้เป็นสังคมถาวรที่มีไฟป่าเป็นตัวกำหนด (Pyric Climax Community) หากไม่มีไฟป่าสังคมป่าเต็งรังคงไม่สามารถคงสภาพอยู่ได้ ปกติไฟป่ามักเกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนมีนาคม ไฟป่าจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการจัดโครงสร้าง การคงชนิดพันธุ์ในสังคมและการสืบพันธุ์ของไม้ในพื้นที่(๒)

๑. ดอกรัก มารอด, อุทิศ กุฎอินทร์. นิเวศวิทยาป่าไม้. กรุงเทพฯ: ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์; ๒๕๕๒.
๒.อุทิศ กุฎอินทร์. นิเวศวิทยาพื้นฐานเพื่อการป่าไม้. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ฝ่ายโรงพิมพ์สำนักส่งเสริม และฝึกอบรม; ๒๕๔๒.
ถ่ายภาพ : โชคนิธิ คงชุ่ม
สถานที่ : สถานีวิจัยฯ สะแกราช

ปิดการแสดงความเห็น