ผักหนอก สมองสดใส คืนสู่วัยหนุ่มสาว…โดย ‘พี่ต้อม’
ชื่อวิทยาศาสตร์ Centella asiatica (L.)
ชื่อวงศ์ APIACEAE
ชื่ออื่นๆ กะโต่ บัวบก ผักแว่น
ลักษณะทั่วไป พืชล้มลุกขนาดเล็ก อายุหลายปี เลื้อยตามดิน มีไหลเป็นปมเจริญขึ้นเป็นต้นใหม่ได้ ลำต้นอาจยาวได้ถึง ๒.๕ เมตร ใบเดี่ยวเป็นกระจุกจากไหล แผ่นใบรูปโล่ เกือบกลม ขอบเป็นคลื่น ดอกเป็นช่อสีเขียว ผลค่อนข้างกลม
การขยายพันธุ์ ใช้เมล็ดและไหล
บัวบก บำรุงสมอง ป้องกันความชรา
บัวบก หรือผักหนอก เป็นสมุนไพรบำรุงสมองที่คนเฒ่าคนแก่รู้จักกันดี ในช่วงที่แปะก๊วยเริ่มดังไปทั่วโลกในฐานะยาบำรุงสมอง บ้านเราก็มีความพยายามที่จะพัฒนาการปลูกต้นแปะก๊วยเพื่อนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงสมองตามกระแส ปรากฏการณ์นี้ทำให้ฉุกคิดและทบทวนว่า มีสมุนไพรไทยชนิดใดที่ใช้บำรุงสมอง ก็พบว่าผักหนอกเป็นสมุนไพรที่หมอยาทุกภาคใช้บำรุงร่างกาย บำรุงประสาท บำรุงความจำ บำรุงสายตา บำรุงผม บำรุงเอ็น เป็นยาอายุวัฒนะ ใช้ได้ทั้งเด็กและคนแก่
ตำราไทยกล่าวว่า บัวบกมีรสเฝื่อนขมเย็น เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ท้องเสียและอาการเริ่มที่จะเป็นบิด แก้ลม แก้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า เป็นยาบำรุงกำลัง ยาอายุวัฒนะ ในคัมภีร์อายุรเวทของอินเดียก็กล่าวถึงการใช้บัวบกบำรุงร่างกายว่า บัวบกทั้งต้นมีกลิ่นฉุน มีรสขมหวาน ย่อยได้ง่าย เป็นยาเย็น ยาระบาย ยาบำรุง ช่วยฟื้นฟูสุขภาพ บำรุงเสียง ช่วยให้ความจำดีขึ้น เป็นยาเจริญอาหาร แก้ไข้ แก้อักเสบ ผิวหนังเป็นด่างขาว โลหิตจาง มีหนองออกจากปัสสาวะ หลอดลมอักเสบ น้ำดีในร่างกายมากเกินไป ม้ามโต หืด กระหายน้ำ แก้คนเป็นบ้า โรคเกี่ยวกับเลือดและโรคที่มีสมุฏฐานจากเสมหะ ในอินเดียคนในบางแคว้นกินใบบัวบกกับนมทุกวันๆ ละ ๑-๒ ใบ เชื่อว่าจะช่วยทำให้จิตใจสดชื่นแจ่มใส ทำให้ความจำดีขึ้น บำรุงร่างกาย บำรุงประสาทและโลหิต
ส่วนการแพทย์จีนถือว่าบัวบกคือ สมุนไพรของความเป็นหนุ่มสาว สรรพคุณในการคืนความเป็นหนุ่มสาวนี้ ตรงกับการใช้ของหมอยาพื้นบ้านของไทยอย่าง ยายหมื่น ดวงอุปะ แม่หมอยาเมืองเลยที่ยืนยันว่า การกินผักหนอกจะทำให้หน้าตาแดงสดใสอย่างวัยรุ่น โดยให้เอาผักหนอกทั้งห้า มาตากให้แห้ง ตำให้ละเอียด แล้วเอาน้ำผึ้งเป็นกระสายปั้นเป็นลูกกลอนกิน อาทิตย์เดียวก็เห็นผล
บัวบกกับการศึกษาวิจัยและการใช้สมัยใหม่
เมื่อไปสืบค้นงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับบัวบกก็พบว่า มีฤทธิ์ในการบำรุงสมองเช่นเดียวกับแปะก๊วย กล่าวคือ เพิ่มความสามารถในการจำและการเรียนรู้ มีการจดสิทธิบัตรสารสกัดจากบัวบกในคุณสมบัติช่วยเพิ่มความสามารถในการจำ
การทดลองในสัตว์ทดลองพบว่า บัวบกทำให้ลูกหนูมีความจำและความสามารถในการเรียนรู้ดีขึ้น ทำให้เซลสมองของหนูแรกเกิดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความฉลาด มีพัฒนาการดีกว่าหนูในกลุ่มควบคุม ทำให้ปฏิภาณไหวพริบในการหลบหลีกสิ่งกีดขวางของหนูดีขึ้น บัวบกยังเพิ่มสมาธิและความสามารถในการตัดสินใจเฉพาะหน้าในหนู
ส่วนการศึกษาในมนุษย์พบว่า บัวบกทำให้เด็กพิเศษที่กินบัวบกวันละ ๕๐๐ มิลลิกรัมติดต่อกันสามเดือน มีความสามารถเรียนรู้ได้ดีกว่ากลุ่มควบคุม นอกจากนี้ยังมีการศึกษาการเพิ่มความจำในผู้สูงอายุ โดยใช้สารสกัดบัวบก ๗๕๐ มิลลิกรัมต่อวัน นาน ๒ เดือน พบว่าความจำ การเรียนรู้ อารมณ์ของคนสูงอายุดีขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้มีการวิจัยในผู้หญิงอายุเฉลี่ย ๓๓ ปี โดยได้รับสารสกัดบัวบก ๕๐๐ มิลลิกรัม วันละ ๒ ครั้ง พบว่าช่วยลดความผิดปกติที่เกิดจากความกังวล ลดความเครียดและการซึมเศร้า
ส่วนการศึกษาในระดับเซลถึงกลไกการออกฤทธิ์บำรุงสมองพบว่า บัวบกทำให้การหายใจในระดับเซลของสมองดีขึ้น ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการเสื่อมของเซลสมอง คงสภาพปริมาณของสารสื่อประสาท acetylcholine ซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของสมอง เสริมฤทธิ์การทำงานของสาร GABA ซึ่งเป็นสารสื่อประสาททำให้ที่รักษาสมดุลของจิตใจ ทำให้ผ่อนคลายและหลับได้ง่าย นอกจากนี้บัวบกยังทำให้หลอดเลือดมีความแข็งแรงและสามารถนำเลือดไปเลี้ยงในอวัยวะต่างๆ ได้ดีขึ้น
ผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มในการใช้บัวบกเป็นอาหารเพิ่มไอคิว เพิ่มความฉลาด หรือเพิ่มความสามารถในการจำและการเรียนรู้ในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กปัญญาอ่อน รวมไปถึงเด็กสมาธิสั้น ส่วนในคนทั่วไป บัวบกจะช่วยชะลออาการของโรคสมองเสื่อมในวัยชราหรืออัลไซเมอร์ รวมทั้งช่วยคลายเครียดทำให้มีสมาธิในการทำงาน ปัจจุบันในประเทศสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศมีบัวบกแคปซูลวางจำหน่ายในสรรพคุณบำรุงสมอง (brain tonic)
นอกจากนี้บัวบกยังมีฤทธิ์ต้านอักเสบ เพิ่มการสร้างคอลลาเจน ช่วยลดความดันเลือดจากการเพิ่มความยืดหยุ่นให้เส้นเลือด เพิ่มการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดเล็ก จึงอาจใช้กับโรคเหน็บชา เส้นเลือดดำขอดได้ รวมทั้งช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ปัจจุบันครีมบัวบกถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ในสรรพคุณรักษาแผล ป้องกันการเกิดแผลเป็น
บัวบกเป็นผักพื้นบ้านไทยที่กินใช้อยู่ทุกวัน มีคุณอนันต์กับสมอง แล้วเราจะรอช้าอยู่ใย รีบหาบัวบกมากินกันไว ๆ กินให้ถูกวิธีตามวิถีแห่งภูมิปัญญา เพื่อคนไทยจะได้เฉลียวฉลาดและไม่เฒ่าชะแรแก่ชราเร็วเกินไป
ตำรับยา
ยาบำรุงร่างกาย บำรุงสายตา บำรุงความจำ
ตำรับที่ ๑
บัวบกตากแห้ง ๒ ส่วน พริกไทย ๑ ส่วน บดเป็นผง กินครั้งละครึ่งช้อนชากับน้ำร้อน หรือกินกับน้ำผึ้งหรือน้ำอ้อย กินก่อนนอน
ตำรับที่ ๒
บัวบกตากแห้งบดผง ผสมน้ำผึ้งหรือน้ำอ้อย ทำเป็นลูกกลอนขนาดเท่าผลมะแว้ง รับประทานครั้ง ๒ เม็ดเช้า-เย็น
ตำรับที่ ๓
บัวบกทั้งห้า ๒-๓ ก้าน พร้อมใบ นำมาบด รับประทานกับน้ำร้อน ซึ่งอาจผสมน้ำผึ้งลงไปด้วย
ตำรับที่ ๔
บัวบกผลแห้งนำไปบรรจุใส่ในแคปซูลเบอร์ ๐ (ประมาณ ๕๐๐ มิลลิกรัม) รับประทานเพื่อบำรุงสุขภาพทั่วไปครั้งละ ๑ แคปซูล วันละ ๒ เวลา เด็กลดลงตามส่วน
ยาแก้ช้ำในและร้อนใน
บัวบกสด ๑ กำมือ หรือ ๑ แก้ว คือเอาบัวบกมายัดใส่พอแน่นในแก้วได้ ๑ แก้วพอดี (แก้วขนาด ๒๕๐ ซีซี) ตำให้ละเอียด เติมน้ำ ๑ แก้ว คนให้เข้ากัน กรองและคั้นเอาแต่น้ำ ปรุงรสด้วยน้ำตาลหรือเกลือ กินครั้งละ ๑ แก้ว วันละ ๓ ครั้ง ก่อนอาหาร กินประมาณ ๕-๗ วัน ให้หยุดไปอีก ๕-๗ วัน แล้วจึงจะเริ่มกินได้อีก
ยาเลือดกำเดาไหล
ใช้บัวบก ๑ กำมือ ต้มกับน้ำ ๒ แก้วครึ่ง (แก้วขนาด ๒๕๐ ซีซี) กินครั้งละ ๓-๖ ช้อนแกง (๓๐-๖๐ ซีซี) กินวันละ ๓ ครั้ง จะเห็นว่าขนาดกินน้อยกว่ายาต้มทั่วไป ทั้งนี้เพราะบัวบกเป็นยาแรง กินมากเกินไปไม่ดี ถ้าเป็นเด็กลดลงตามส่วน เด็กอายุ ๙-๑๒ ปี ลดลงเหลือ ๑ ใน ๒ ส่วน เด็ก ๕-๘ ปี ลดลงเหลือ ๑ ใน ๔ ส่วน อายุ ๒-๔ ปี ลดลงเหลือ ๑ ใน ๖ ส่วน อายุต่ำกว่า ๒ ปี ลดลงเหลือ ๑ ใน ๘ ส่วน
เรื่องน่ารู้
• ในตำรายาไทยบอกว่า การเก็บบัวบกมาใช้ อย่าเอาเฉพาะใบ เพราะจะได้ตัวยาไม่ครบ ควรถอนเอาทั้งต้นและรากมาด้วย เพราะในรากมีตัวยาด้วย
• ถ้าจะให้ได้สรรพคุณดีที่สุด ควรใช้ผักหนอกขมซึ่งมักจะขึ้นเองตามธรรมชาติ
• การทำให้แห้ง ไม่ควรเอาบัวบกไปตากแดด เพราะจะทำให้สูญเสียตัวยาซึ่งอยู่ในน้ำมันหอมระเหย ควรผึ่งลมไว้ในที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเท เมื่อยาแห้งแล้ว ใส่ขวดปิดฝาให้สนิทกันชื้น
ข้อควรระวัง
๑. บัวบกเป็นยาเย็นจัด และมีการสะสมได้ ดังนั้นจึงไม่ควรกินทีละมากๆ หรือกินติดต่อกัน
นานๆ
๒. คนที่อ่อนเพลียมาก หรือร่างกายอ่อนแอมาก ไม่ควรกิน
๓. ถ้ากินแล้วรู้สึกมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ได้แก่ เวียนหัว ปวดหัว หัวใจสั่นหรือเต้นผิดปกติ หน้าแดง ผิวหนังคันมาก ท้องร่วงคล้ายเป็นบิด แสดงว่าแพ้ยาหรือกินยามากเกินไป ให้หยุดกินทันที
๔. คนที่ม้ามเย็นพร่องไม่ควรกิน คนที่ม้ามเย็นพร่องมักจะมีอาการท้องอืดแน่นเป็นประจำ จับท้องดูจะรู้สึกเย็น
๕. ผู้ป่วยที่ได้รับยาเบาหวานหรือยารักษาโคเรสเตอรอล ไม่ควรรับประทาน เพราะบัวบกจะทำให้ผลของยาลดลง
๖. ผู้ที่กินยาแก้แพ้ ยากันชัก ยานอนหลับ ไม่ควรรับประทาน เพราะบัวบกจะไปเสริมฤทธิ์ ทำให้ง่วงมากขึ้น
๗. คนท้องและผู้หญิงที่ให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน
กินบัวบกอย่างไรให้พอเหมาะ
การกินเป็นยาบำรุงต้องกินตามขนาดที่ระบุไว้ ถ้ากินใบบัวบกสดๆ ในปริมาณน้อยๆ เช่น ๒-๓ ใบ ถึงแม้จะกินบ่อยๆ แทบทุกวัน ก็ไม่มีปัญหาอะไร หรือกินน้ำคั้นบัวบกเพื่อแก้ช้ำในหรือร้อนติดต่อกัน ๕-๗ วัน ก็ยังได้ ถ้าจะกินน้ำบัวบกติดต่อกันทุกวันให้กินวันละประมาณ ๕๐-๖๐ ซีซี หรือถ้ากินเป็นผักจิ้มทีละ ๑๐-๒๐ ใบ อาทิตย์ละครั้ง ก็ยังไม่เป็นไร
แต่ถ้ากินทีละมากๆ เช่น กินน้ำคั้นบัวบกวันละ ๒-๓ แก้ว ต่อเนื่องเป็นสิบวัน หรือกินใบสดวันละ ๑๐-๒๐ ใบ ติดต่อกันเป็นสิบวัน แบบนี้อาจเกิดพิษขึ้นได้ สรุปว่า บัวบกถ้ากินในขนาดพอดีแล้วไม่เป็นไร แต่ถ้ากินมากเกินไปให้ระวัง เพราะเป็นยาเย็นจัด จะทำให้ธาตุเสียสมดุล
ทำน้ำบัวบกให้อร่อย (กินแก้ช้ำในหรือร้อนใน)
๑. เลือกใช้บัวบกที่ใบแก่กว่ากินเป็นผักสด ใช้ทั้งราก ทำความสะอาดอย่างดี
๒. ใบบัวบกจะเหนียวให้ตัดเป็น ๒-๓ ท่อน ก่อนบดหรือตำ
๓. คั้นน้ำแรกโดยผสมน้ำกับใบบัวบกที่บดหรือตำแล้ว นำกากที่เหลือมาคั้นน้ำที่สองเพื่อให้ได้ตัวยาที่ยังเหลืออยู่ ใช้น้ำสะอาดในการคั้น แต่ห้ามใช้น้ำร้อน หรือนำน้ำที่คั้นได้ไปต้ม
๔. กรองน้ำบัวบกโดยใช้ผ้าขาวบางห่างๆ แบบผ้ามุ้ง ถ้าผ้าถี่มากจะกรองไม่ออก
๕. หลังกรองจะมีกากซึ่งเป็นเศษใบ ให้ทิ้งไว้ให้นอนก้นและทิ้งไป รินเฉพาะส่วนใสมาดื่ม
๖. น้ำบัวบกต้องคั้นใหม่ๆ จากใบสดๆ จะดีที่สุด ไม่ควรเก็บน้ำบัวบกไว้นาน และต้องแช่เย็นไว้เสมอ
๗. น้ำเชื่อมถ้าทำจากน้ำต้มใบเตย จะทำให้น้ำบัวบกอร่อยยิ่งขึ้น