ตามหา..ไข่เหี้ย (เส้นทางอันทอดยาว)..ระเมียรคำ

ไข่เหี้ย

ไข่เหี้ย

เคยสงสัยว่าขนมไข่หงส์อันเป็นขนมชนิดหนึ่ง ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากขนมไข่เหี้ยนั้น เดิมไม่น่าจะเป็นของหวาน ควรเป็นของคาวมากกว่า เพราะคนไทยใช้ไข่ทำอาหารคาวอยู่เป็นปรกติ เช่นไข่เจียว,ไข่ดาว หรือไข่ลูกเขย ส่วนบัวลอยไข่หวานนั้นก็แซมอยู่ในขนมบัวลอย ไม่ใช่ขนมไข่หวานโดดๆ ได้ถามผู้(คิดว่า) รู้มาหลายคนก็ยังไม่ได้คำตอบที่แจ้งใจแต่อย่างใด จึงสงสัยคับคาในอกในใจมาตลอด (จำต้อง…ค่อยๆ แกะรอยเรื่อยไป)

วันหนึ่งมีโอกาสได้ไปเดินชมพระนครคีรี เขาวังที่เพชรบุรี ครั้นถึงห้องขายของที่ระลึกได้เห็นหนังสือ อักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทยที่กรมศิลปากรพิมพ์เข้าสามสี่เล่ม (ไม่ครบชุดตามแบบราชการไทย) เปิดอ่านเล่นๆ ตามประสาอยู่ไม่สุข พบคำ “คุณเสือหรือเจ้าจอมแว่น” เข้า เล่าไว้ว่า เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นถวายคราว รัชกาลที่ ๑ มีพระราชประสงค์จะเสวยไข่เหี้ย แต่หาไม่ได้และได้รู้เติมขึ้นอีกนิด ว่าเป็นอาหารซึ่งคนโบราณชอบกินกับมังคุด เอ!ทำอะไรกินแนมมังคุดนะ? ถามใคร ใครก็ไม่รู้อีก (แฮะ!แฮะ! ก็.. ค่อยๆ แกะรอยต่อไป)

ต่อมาขณะอ่านหนังสือของ รงค์ วงษ์สวรรค์(ไม่นานเกินรอ) เจอเมนูคนมีสตางค์ “ยำไข่จะละเม็ดกับมังคุด” อ้าว!เจอแล้ว กินมังคุดแนมกับยำไข่ ทีแรกยังโง่อยู่!..นึกว่าเป็นไข่ปลาจะละเม็ด เลยเปิดพจนานุกรมฯ ดู จะละเม็ด แปลได้ทั้งปลาจะละเม็ดขาว,จะละเม็ดดำ และไข่เต่า  ก็ถึงบางอ้อ! ด้วยเคยรู้มาว่าไข่เต่าเมื่อต้มสุกแล้วไข่ขาวยังเป็นวุ้นไม่แข็งตัว เหี้ยเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ไข่ก็คงเหมือนไข่เต่าเช่นกัน – คือต้มสุกแล้วไข่ขาวไม่แข็งตัว สว่างมาขี้นหน่อย แต่จะเอาไปยำยังไงหว่า มิเล่ะแย่รึ? (ใช่…ค่อยๆแกะรอยต่อไปอีก)

มีเวลาว่างค้นกองหนังสือศิลปวัฒนธรรมเก่าๆ เอามาอ่านใหม่(ฉบับปี -๒๕๓๙) เจอเรื่องบางเหี้ยที่ยอนหูฝ่ายปกครองจนทนไม่ได้ต้องเปลี่ยนชื่อเป็นบางบ่อ เลยได้รู้วิธีทำไข่เหี้ยเติมอีกว่าต้มสุกแล้ว ไข่ขาวยังเหลวอยู่เขาก็เอาเข็มสักให้เป็นรูพรุน แล้วแช่น้ำเกลือให้ความเค็มซึมเข้าไป จึงย่างไฟแล้วนำไปปรุงเป็นอาหารเมนูเด็ดต่อไป เออ!…โล่งอกไปที – ชักหิวไข่เหี้ยซะแล้วสิแต่จะไปหายำไข่เหี้ยได้ที่ไหน? เอ้า! กินไข่หงส์แทนไปก่อนก็แล้วกันนะ

ปิดการแสดงความเห็น