ตานคอม้า… ยอดยาม้า ฆ่าเชื้อโรค

ตานคอม้า… ยอดยาม้า ฆ่าเชื้อโรค โดย ‘พี่ต้อม’
IMG_0881

ชื่อวิทยาศาสตร์  Tadehagi triquetrum (L.) Ohashi
ชื่อวงศ์  FABACEAE
ชื่ออื่นๆ  ฮางแดง ยาแก้รากแดง หญ้าคอตุง  มะแฮะนก ขี้กะตือ  ขี้กะตือแป หมอนกิ่ว ข้าวเม่านก  คอกิ่ว หนอนหน่าย นอจูบี้ กวางหินแจ๊ะ
ลักษณะทั่วไป  ไม้กึ่งพุ่ม ลำต้นเป็นสันสามเหลี่ยมเช่นเดียวกับกิ่งก้าน ใบรูปหอกแกมแถบปลายแหลม ดอกออกเป็นช่อคล้ายฉัตรสีชมพูอ่อนหรือแก่ ผลเป็นฝักยาวคล้ายดาบ
การขยายพันธุ์  ใช้เมล็ด

ตานคอม้า ยาม้าของคนไทยใหญ่
ตานคอม้าเป็นสมุนไพรยากำลังตัวหนึ่ง ชื่อไม้ต้นนี้มาจากลักษณะก้านใบที่เหมือนคอม้า นอกจากเป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงกำลังแล้ว ตานคอม้ายังมีสรรพคุณทำให้เกิดเรี่ยวแรงแข็งขันสามารถขึ้นเขาลงห้วย ปีนต้นไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว เป็นยาบำรุงที่ใช้ตัวเดียวหรือเข้ากับตัวยาตัวอื่นก็ได้ สรรพคุณที่เด่นมากคือ ทำให้เลือดสะอาดและแข็งแรง อ่อนเปลี้ยเพียงใดเจอตานคอม้าเข้า เรี่ยวแรงจะฟื้นคืนกลับมา เนื่องจากการไม่มีแรงมักเกิดเพราะเลือดลมเดินไม่สะดวก แต่ตานคอม้าช่วยแก้ปัญหานี้โดยตรงคือ ทำให้เลือดลมเดินได้สะดวก
IMG_5722       ตานคอม้าเป็นตัวยาสำคัญในสูตรยาสามม้าของพ่อหมอไทยใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย ม้าแม่ก่ำ ตานคอม้า ม้าสามต๋อน ในสามม้านี้ตานคอม้ามีการใช้ประโยชน์ทางยาหลากหลายกว่าอีกสองชนิด คือ สามารถใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรค ยาถ่ายพยาธิ ยารักษาแผล ยาแก้ไข้  แก้ซาง แก้ปวดเมื่อย บำรุงไต ขับปัสสาวะ แก้ปวดหลังปวดเอว รักษาปอดไม่ดี วัณโรค รักษาไซนัสอักเสบ รักษาอาการเจอพิษจากยาฆ่าแมลง เป็นต้น
พ่ออนุ พ่อหมอยาไทยใหญ่บอกว่า ตานคอม้าจะฆ่าเชื้อโรคอันตรายที่มาจากภายนอก แต่จะไม่ทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในร่างกายเรา นอกจากนี้ตานคอม้ายังฆ่าหนอนในไหปลาร้า บางทีคนไทยใหญ่ก็เรียกตานคอม้าว่า หญ้าหนอนตาย พ่ออนุใช้ตานคอม้าต้มกินบำรุงไต ขับปัสสาวะ และขับนิ่ว โดยให้คนป่วยต้มทั้งราก ต้น ใบ ดอก ผล ต้มแล้วได้น้ำยาสีเหมือนน้ำเน่ง(น้ำชาสีแดงๆ ) ส่วนเด็กอ่อนที่จ่อยๆ ผอมๆ ไม่แข็งแรง เป็นซาง พุงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ให้เอาตานคอม้าทั้งห้า(ราก ต้น ใบ ดอก และผล) มาต้มกินต้มอาบ

ตานคอม้า หมอนกิ่วของพ่อหมอเมืองเลย
พ่อหมอยาอีสานส่วนใหญ่จะเรียกตานคอม้าว่า ปอบหนอน หรือ หนอนหน่าย นิยมใช้ฆ่าหนอน ส่วนพ่อประกาศ ใจทัศน์ หมอยาพื้นบ้านชาวภูไทเมืองยโสธร จะใช้หนอนหน่ายเข้า “ยาหม้อใหญ่”(เป็นยาที่รักษาสรรพโรค โดยนำสมุนไพรเกือบหนึ่งร้อยชนิดมาต้มรวมกัน) พ่อประกาศเชื่อว่ายาต้มของท่านจะไม่บูด เพราะใส่ต้นหนอนหน่ายลงไปด้วย  นอกจากช่วยกันบูดแล้ว หนอนหน่ายในยาหม้อใหญ่ยังมีบทบาทเป็นยาแก้กษัย แก้ปวดเมื่อย ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยเพื่อหาสารกันบูดที่ปลอดภัยสามารถใช้กับอาหารได้ และพบว่าสารสกัดจากหนอนหน่ายมีประสิทธิภาพดี
P1040300          ส่วนพ่อหมอเมืองเลยจะเรียกตานคอม้าว่า หมอนกิ่ว ซึ่งมีนัยยะของการเป็นยาบำรุงของคู่สามีภรรยา พ่อหมอแม่หมอหลายท่านใช้หมอนกิ่วเข้ายาบำรุงกำลัง แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้เป็นยาฆ่าพยาธิ ฆ่าแมลง ฆ่าหนอนด้วย ที่น่าสนใจคือ พ่อหมอเมืองเลยมีตำรับทำธูปไล่แมลงจากหมอนกิ่วด้วย

นอจูบี้ กวางหินแจ๊ะ ของปกาเกอะญอ
ในชุมชนปกาเกอะญอแถบทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออก มีการปลูกต้นนอจูบี้ไว้ตามบ้านเพื่อเป็นยารักษาอาการปวดหลังปวดเอว ปวดเมื่อย ยาแก้ไข้ ยาถ่ายพยาธิ ยารักษาแผล ที่สำคัญคือ เป็นยาบำรุงกำลัง และเป็นสมุนไพรที่อาจารย์รตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จำได้ขึ้นใจ จากการได้เดินทางเข้าๆ ออกๆ ป่าตะวันตก จนมีชาวบ้านที่นั่นเป็นญาติ วันหนึ่งอาจารย์รตยาก็ได้รับของขวัญจากชาวบ้านเป็นสมุนไพรบำรุงกำลังชั้นยอด ชื่อที่อาจารย์ฟังออกคือ ต้นหินแฉะ อาจารย์ได้ติดต่อมาให้ช่วยไปพัฒนายาหินแฉะนี้ เผื่อชุมชนที่นั่นจะมีรายได้จากสมุนไพรชนิดนี้ เมื่อได้ตามอาจารย์เข้าไปดู ก็พบว่าสมุนไพรต้นนั้นก็คือ ตานคอม้า นี่เอง จริงๆ แล้ว ที่นั่นไม่มีใครรู้จักชื่อต้นหินแฉะ แต่เขาเรียกกันตามภาษาบ้านๆ ว่า ต้นกวางหินแจ๊ะ

Exif_JPEG_PICTUREตานคอม้ากับการศึกษาวิจัยสมัยใหม่
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับตานคอม้าพบว่า ตานคอม้ามีสารพวก condensed tannins จึงมีคุณสมบัติในการสมานแผลและฆ่าเชื้อโรค นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติในการกันบูด ในปี ๒๕๕๓ มีรายงานการศึกษาพบว่าสมุนไพรที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ phosphodiesterase นั้นมีตานคอม้ารวมอยู่ด้วย เช่นเดียวกับต้นเครือเขาแกบ การพบสมุนไพรที่มีฤทธิ์ดังกล่าวนับเป็นแนวทางใหม่ในการพัฒนายารักษาโรคหัวใจ โรคหอบหืด รักษาอาการซึมเศร้า ปรับระบบภูมิคุ้มกัน เพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ ไปจนถึงบรรเทาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
ตานคอม้าเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่ขึ้นง่าย กระจายอยู่ทุกภูมิภาค สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เมื่อใดเกิดปัญหาวิกฤตด้านสาธารณสุขขึ้นในบ้านเมือง วันนั้นอัศวินตานคอม้าก็พร้อมจะควบเต็มฝีเท้ามาช่วยคนไทยได้แน่นอน
ตำรับยา
ยาบำรุง
ตำรับที่ ๑ ยากำลังตานคอม้า
ใช้ตานคอม้าทั้งห้า ต้มกินเป็นยาบำรุง แก้อ่อนเพลีย แก้ปวดหลัง และช่วยขับนิ่วได้ด้วย
ตำรับที่ ๒  ยาแฮงสามม้า
นำรากของม้าสามต๋อน  ม้าแม่ก่ำ  ตานคอม้า มาต้มกินหรือดองเหล้ากิน บำรุงกำลัง บำรุง
ร่างกายให้แข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย บำรุงเลือดลม

ยารักษาอาการเหม็นในหูและโพรงจมูก
นำตานคอม้าทั้งห้า มาต้มกิน กินไปได้เรื่อยจนกว่าจะหาย
ยาเย็นแก้ไข้
นำกิ่งใบของตานคอม้าใส่กับผักหวานบ้าน ก้านตรง ต้มกินเป็นยาเย็นแก้ร้อนใน หรือจะใช้ใบชงน้ำร้อนกินก็ได้
ยาแก้ซาง
นำตานคอม้าทั้งห้า มาต้มอาบ ก่อนอาบให้กิน ๓ อึก แก้ซาง
ยารักษาเด็กน้อยเป็นหวัด ไซนัส น้ำมูกไหล
ใช้ตานคอม้าทั้งห้า แช่น้ำให้กิน
ยารักษาอาการปอดไม่ดี(พ่อหมอบางท่านบอกว่าคือ วัณโรคปอด)
ใช้ตานคอม้าทั้งห้า ต้มกิน กินครั้งละ ๑ ถ้วย เช้า-เย็น หรือกินผงใบแห้งกับน้ำอุ่นครั้งละประมาณ ๑ กรัม เช้า-เย็น จนกว่าจะหาย
ยารักษาโรคผิวหนังและแผลทุกชนิด
ใช้ตานคอม้าทั้งห้า ต้ม เคี่ยว ๑๐ แก้ว เหลือ ๑ แก้ว ทาแผล
ยารักษารังแคหรือการติดเชื้อที่หนังศีรษะ
ใช้ใบแห้งของตานคอม้ากับใบแห้งของกระดังงา แช่น้ำมันงาแท้ นำมาใช้เป็นน้ำมันทาผมหมักไว้สักครึ่งชั่วโมง แล้วจึงสระออก หรือจะทาทิ้งไว้ก็ได้
ยาฆ่าหนอน
นำตานคอม้ามารูดใบออก นำไปวางบนปลาร้ามีหนอน หนอนจะหนี ตัวที่หนีไม่ได้จะละลาย นอกจากนี้ยังสามารถบดใบใส่แผลวัวควาย ฆ่าหนอนในแผลวัวควายได้
เรื่องน่ารู้
ใบเพสลาดของตานคอม้าสามารถใช้เป็นผัก นำมาคลุกน้ำยำกินเพื่อลดความร้อนในร่างกาย ช่วยขับปัสสาวะได้

สมุนไพรตอนที่แล้ว
ตานกกด… กะปูดตาแดง แข็งแรงทั่วหน้า

ปิดการแสดงความเห็น