บันทึกเรื่องราว จากป่าเขา ไม่ใช่ป่าเรา…

 เรื่องราว จากป่าเขา ไม่ใช่ป่าเรา…บันทึก โดย ‘พี่หวาน’

เส้นทางศึกษาธรรมชาติ จากทางเข้าน้ำตกเหวสุวัต(ลานกางเต็นท์ผากล้วยไม้) เดินตัดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ(ศูนย์บริการ อช.เขาใหญ่-น้ำตกเหวสุวัต)
ระยะเวลาเดินเท้า เริ่มตั้งแต่เวลา ๑๐:๓๐ – ๑๗:๐๐ น. ระยะทางโดยประมาณ ๘ กิโลเมตร
ผู้ร่วมเดินทาง  อ.นพ พี่แขก พี่จิม พี่นิม มอร์ หวาน น้องตา และน้องต่าย


จากบ้านทุ่ง สู้บ้านป่า…

บ่ายโมงกว่าของวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๕ ผมหยิบยกกระเป๋าขึ้นมามอง กระเป๋าเป้ใบเดิมใบเก่งที่ใช้มานมนาน สภาพภายนอกอาจจะดูขาดๆ รอยเย็บ รอยปะกระจายไปทั่วใบ จะขนหรือเก็บสัมภาระใส่เป้ที ก็ต้องมานั่งคิดก่อนว่าจะเอาอะไรไปดี ไม่อย่างนั้นเกิดไปงอแงกลางทางก็เสร็จกัน..
ข้าวของสัมภาระส่วนใหญ่ที่หอบเอาไป หลักๆ คือ เครื่องนอน เสื้อผ้า ของจำเป็นจับใส่ถุงพลาสติกกันไว้ เวลาเจอฟ้าฝน หรือ ตกน้ำ อาหาร ของกิน ยาส่วนตัวยามฉุกเฉิน มีดพก มีดใหญ่เผื่อเอาไว้มีเรื่อง เวลามืดค่ำ ยัดอัดจนเป้ตุงพอประมาณ  เสร็จสรรพก็ออกมาเตรียมรถมอเตอร์ไซค์คู่ใจ ล้อหน้าหลังยังกลมวิ่งดี ไม่เป็นคลื่น น้ำมันพอวิ่งไป ไม่วิ่งกลับ เสียแต่อย่างเดียว รถมีสองที่นั่ง แต่ยังหาคนนั่งซ้อนไม่ได้ ฮา ฮา.. พร้อมแล้วก็ออกเดินทางจากบ้านที่ อ.ปากพลี จ.นครนายก จากบรรยากาศบ้านนา ท้องทุ่ง ลมเย็นๆ มองผืนนาได้ไกลสุดสายตา ในวันนี้ เราจะเดินทางขึ้นเขา เปลี่ยนบรรยากาศมานั่งมองดูสัตว์ป่า เต็มไปด้วยแมกไม้น้อยใหญ่ แห่งขุนเขาที่มีเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วยกัน..

ศาลา สายฝน

 บ่ายสองกว่า.. หลังจากเดินเลือกซื้อกับข้าว เครื่องกระป๋องประทังชีวิตแล้ว ออกเดินทางจากตลาดแยกนเรศวร มุ่งหน้าสู่เขาใหญ่-จุดหมายปลายทางของเราวันนี้  แต่ไฉนเงยหน้ามองท้องฟ้า กลับ มืดครึ้มเต็มไปด้วยเมฆฝน ลมแรงผิดกับตอนแรกที่ออกมาจากบ้าน จะช้าอยู่ใย รีบไปเร็วไวอย่าให้ช้าที
ขับไปได้ไม่ถึงครึ่งกิโลเมตรก็ต้องยอมจำนนกับเม็ดฝนที่โปรยปรายลงมา แล้วหนักขึ้นจนแสบแขน ขา หน้าตากลัวเสียโฉม ดูแล้ว สถานการณ์แบบนี้ ศาลาคนเหงาข้างทางคงเป็นที่พึ่งเราได้เสมอ แม้ว่าสภาพตัวศาลาอาจไม่ค่อยแข็งแรงมากนัก เห็นได้จากสังกะสี ที่ยังไม่ครบหลัง ลมแรงมาทีก็แทบจะบินได้ หรือตัวเราเองต้องหาที่ซุกกัน ลมก็พัดแรงขึ้น หนาวเหน็บกันเลยทีเดียว
แต่ศาลาก็ไม่ได้เหงาและเดียวดายเสมอไปนะ นั่งได้สักพักหนึ่ง มีชาวบ้านที่ทำงานในละแวกนั้นขับรถผ่านมา แวะจอดรถ หอบอุ้มเด็กๆ สองสามคน ขนของใช้ลงจากรถ พ่อแม่ขนอุปกรณ์ เครื่องมือช่างลงมาหลบฝนในศาลา เพราะกลัวว่ารถเก่าๆ อาจจะกันฝนไม่อยู่ ข้าวของจะเปียกเสียหายได้
กลัวว่าบรรยากาศจะเงียบเกิน เลยเปิดประเด็นถามคุณป้าด้วยความอยากรู้..
หวาน “คุณป้าครับ ไปทำงานที่ไหนกันมา”
ป้า “ป้าไปตัดต้นไม้ข้างทางในเมืองมาจ้า แล้วหนูล่ะ จะไปไหน..”
หวาน “ผมจะขึ้นเขาใหญ่ครับ แต่ฝนตกก่อนเลยไม่อยากเปียกขึ้นเขา..”
นั่งมองเม็ดฝนไป มองหน้ากันบ้าง หลังจากหมดเรื่องคุยไม่รู้ว่าจะถามอะไร เฮ้ย..  นั่งคิดโน่นคิดนี่อยู่เกือบชั่วโมง ฝนก็ซาลง แต่ก็ยังไม่หยุดดีนัก ด้วยความหิวจึงต้องกระเสือกกระสน หันไปหันมามองหาที่กินข้าวก่อนแล้วกันนะ หลังจากคิดออกว่าจะไปแวะร้านที่ไหน ก็ขยับรถเตรียมตัวออก คุณป้าก็ถามว่า “จะรีบไปไหนล่ะลูก ฝนยังไม่หยุดเลย..” 
หวาน “ผมจะออกไปหาอะไรกินก่อนครับ หิวแล้ว เดี๋ยวหาร้านนั่งกินข้าวสักพัก ฝนคงหยุดพอดี”
พอสิ้นเสียงตอบ ก็รีบออกรถ เดินทางต่อด้วยความหิวโหยอย่างมาก ไปๆหาอะไรกินกัน ไม่ไหวแล้ว..

ปราการ ด่านขุนเขา…

บ่ายสามโมง.. ขับรถมาถึงด่านเก็บค่าธรรมเนียมของอุทยาน ก่อนมุ่งหน้าสู่ที่ทำการ อช.เขาใหญ่ เหนือจากด่านเราจะมองเห็นทิวเขาพาดยาวมาแต่ไกลๆ นั่นก็คือ เทือกเขาสมอปูน ที่คนพื้นที่อาจรู้จักกันดี แล้วที่พิเศษไปกว่านั้น เราเคยเดินทางเยี่ยมเยียน ใช้ชีวิตเรียนรู้มันมาหลายวัน วันนี้เราก็ยังคงนึกถึงภาพเก่าๆ ความทรงจำที่ทำให้เรายิ้มได้ ไม่รู้ลืม.. 
เทือกเขาสมอปูน เป็นแหล่งต้นน้ำน้อยใหญ่หลายๆ สาย เช่น น้ำตกธารรัตนา ของ อช.เขาใหญ่ ไหลลงสู่เขื่อนคลองยาง ไหลยาวแบ่งเขต ๒ จังหวัดคือ จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดนครนายก ก่อนไหลรวมเป็นสายธารแห่งลุ่มน้ำ บางปะกง

การรอคอย..ค่ำคืนที่แสนยาวนาน หรือ เราคิดเร็วไปเอง…

ใช้เวลาขับรถประมาณ ๓๐ นาที เรามาถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จุดนัดพบแรกของเรา เดินเข้าไปที่ทำการก็จะเห็นพี่ป้อมของพวกเรานั่งประจำการ คอยบริการนักท่องเที่ยวอยู่ทุกๆ วัน ความสนิทไว้ใจจึงทำให้น้องๆ ที่ทำงาน และ พี่ๆคอยช่วยเหลือกิจกรรม งานต่างๆ เวลาที่เรามีปัญหาอยู่ตลอด วันนี้ก็เช่นกันพี่ป้อมเห็นหน้าก็กวักมือเรียกถามเหมือนเช่นทุกๆ ครั้งเรื่อยมา..
พี่ป้อม “เฮ้ย.. วันนี้จะไปไหน แล้วจะไปนอนค้างกันที่ไหน..”
หวาน  “รอพี่แขกอยู่ครับ แต่ยังมาไม่ถึง ว่าจะลองมาถามที่พักกับพี่ก่อน”
พี่ป้อม “อาทิตย์นี้ไม่มีว่างเลยนะ คณะเต็มหมดเลย..”
หวาน “ไม่เป็นอะไรครับพี่(น้ำเสียงอ่อยๆ คอตกๆ ตาเศร้า /ลองนึกสภาพหน้าตานะครับ) เดี๋ยวคงไป 
              กางเต็นท์กันที่น้ำตกผากล้วยไม้แล้วกันสบายๆ ”
พี่ป้อม “เออ.. ตามใจนะ มีอะไรก็โทรฯ มาแล้วกัน”
หวาน “ขอบคุณมากครับพี่..”

หลังจากทราบผลเรื่องที่พัก เลยหันรถกลับมาดูที่จุดกางเต็นท์ผากล้วยไม้ก่อนซึ่งน่าจะเป็นที่พึ่งสุดท้าย ผมขับรถมาทางลัดเลาะสนามกอล์ฟเก่า ผ่านข้างจุดกางเต็นท์ลำตะคอง ระยะทางประมาณ ๑๐ กม. ใช้เวลาประมาณ ๑๕ นาที ก็มาถึงที่พักผากล้วยไม้ โทรหาพวกพี่ๆ พี่นิม พี่แขก เป็นรอบที่เท่าไรแล้ว สามหรือสี่ก็ยังคงมาไม่ถึงกันสักที พี่แขกกำลังขึ้นมาแต่ขอแวะกินข้าวกันก่อนกับ อ.นพ พี่นิม น้องต่าย รอน้องตาที่กำลังเดินทางมาจากกรุงเทพฯ
นั่งคิดอยู่สักพักใหญ่ เห็นท่าจะไม่ดีเลยลองมองดูสถานการณ์ หันไปหันมามองเห็นร้านค้าสวัสดิการของหน่วยผากล้วยไม้ ก็ไปหาอะไรกินเล่นข้ามเวลาดีกว่า ได้ขนม น้ำกินถูกปาก แต่จะให้ดีจริงๆ ต้องมีเปลสักผืน ผูกโยงต้นไม้ หนังสือน่าอ่าน หันหน้ารับบรรยากาศยามเย็น ใกล้ๆ อาทิตย์สิ้นแสง โอ้ย.. สบายจริงแท้เรา ฮา ฮา..
หลังจากบรรลุความใคร่แล้ว ก็นั่งไปได้พักเดียวล่ะ สลบไปตอนไหนยังไม่รู้เรื่องเลย ตื่นมาอีกที ก็เห็นแสงไฟรถแวบผ่านตาไป คิดหวังว่าพี่แขก กับ อ.นพ น่าจะมากันได้แล้วนะ แล้วแสงรถก็ค่อยๆ หายไปกับความหวังน้อยๆ อากาศค่อยเริ่มเย็น ท้องฟ้าเริ่มมืดครึ้มด้วยเมฆก้อนน้อยใหญ่ ยามอาทิตย์ใกล้สิ้นแสง สายตาเริ่มมองไม่เห็นภาพสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าไกลๆ ออกไป นั่งตั้งสติได้สักสองสามนาที ก็เห็นคนเดินมา หันมองดูดีๆ เฮ้ย.. พี่แขกมาสักที รีบลงจากเปลเลยครับ
หลังจากทักทายไหว้ อ.นพ เรียบร้อย ก็พากันเดินดูสถานที่ หาที่พักผ่อนในค่ำคืนนี้ เดินกันอยู่ครึ่งหน่วยก็ยังหาที่กางเต็นท์ผากล้วยไม้ได้ สุดท้ายก็มาลงเอยตรงแนวป่าข้างทาง ฝั่งตรงข้ามกับลานจอดรถของหน่วย เพราะน่าจะปลอดภัยจากฟ้าฝนลมแรงได้ ตกลงกันได้ตามนั้นก็แยกย้ายกันไปขนของ ผ้ายางปูพื้น เต็นท์นอนหลังโต เตาถ่านเก่าๆ สำหรับก่อไปทำอาหารที่ได้ความอนุเคราะห์จากที่หน่วยสนับสนุนมา ประหยัดงบประมาณของน้องๆ ได้เยอะเลยทีเดียว
ว่าแล้วก็ลงมือจัดเตรียมที่พัก แต่ปากก็บ่นไปตามประสา พูดคุยเรื่องราวต่างๆ ที่ได้ไปเรียนรู้มา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตกับ อ.นพ มากมาย ได้ความว่ายังไงเดี๋ยวจะยาวเกินไป เอาแต่สั้นๆ ว่าด้วยความรู้สำหรับการเดินทาง ท่องเที่ยวตามป่าเขา เราก็ได้ประสบการณ์อะไรมามากพอสมควร บางครั้งเราก็ต้องเอามาสอนน้องหรือเข้ามาช่วยพวกพี่โตๆ ได้แล้ว ตอนแรกก็คิดกลัวๆ แต่ถ้าเราพร้อมที่จะเรียนรู้และสอนคนอื่นๆ ไปด้วย ก็น่าจะมีประโยชน์กว่านี้
จัดเตรียมที่พักให้ อ.นพ เสร็จเรียบร้อย เสียงโทรศัพท์จากพี่นิม ก็ดังขึ้นมา ถามไถ่เรื่องราวได้ความว่า..
พี่นิม “ฮัลโหล พี่แขกไปรับน้องโต๋ หน่อยซิ..”
หวาน “ครับพี่ เดี๋ยวบอกพี่แขกให้นะ”
พี่แขก “เออ..”
หวาน  O_o” ทำไมไม่คุยกันเอง..

พี่แขกทราบข่าวว่าน้องๆ จากมหาวิทยาลัยวไลยอลงกรณ์ฯ มาถึงแล้ว หันไปหยิบกุญแจรถยนต์ ขับออกไปที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอย่างเร็วไวเพราะน้องมารอนานแล้ว เหลือเฝ้าที่พักกันอยู่สองคนนั่งมองหน้ากันเองมืดๆ จากที่มีเรื่องเล่าเยอะแยะ ตอนนี้จะหาปัญหาอะไรมาคุย ก็เริ่มจะหมดเรื่องปรึกษาแล้วด้วย คิดอะไรไม่ออก บรรยากาศน่านอนชะมัด อากาศเย็นๆ ด้วย มานั่งก่อกองไฟกับเตาถ่านพังๆ ก็ได้ แก้หนาวเล่นไปก่อน ฮา ฮา.. สักครึ่งชั่วโมงพี่แขกก็กลับมาพร้อมกับน้องๆ โต๋ บิว และรุ่นน้องอีกสามสี่คนได้ มากำลังหิวๆ กันเลย หอบหิ้วข้าวของเครื่องกินกับสัมภาระกองโต แต่ที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ก็คงเป็น จัดหาอะไรอร่อยๆ กินกันก่อนดีกว่า
 โต๋ บิว “พี่หวานหุงข้าวให้หน่อย ผมมีแต่กับข้าวมา ข้าวสวยไม่พอ..”
 หวาน “มีข้าวสารมาหรือเปล่าล่ะ มา มา เดี๋ยวหุงให้”(ใจดีนะครับ ฮา ฮา)

ค่ำคืนนี้มีวงเสวนาชุดใหญ่ ที่ใหญ่นี่คือมี อ.นพ เป็นประธานในการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันพี่ๆ คนอื่นๆ เช่นพี่นิม หรือตัวผมเอง แต่ก็มีน้องๆ ผู้ชายหน้าใหม่หลายคนที่มาร่วมพูดคุย หาประสบการณ์ชีวิตที่ทั้งแปลก และก็ไม่เหมือนใครของแต่ละคนว่าจะเป็นอย่างไร เนื้อหาอาจจะไม่ได้ลงรายละเอียด เพราะว่าดึกๆ แอบมีเรื่องทะลึ่งด้วย ฮา ฮา ดีนะที่สาวๆ เข้านอนกันหมดแล้ว รอดตัวไปครับ นั่งคุยกันไม่ได้คิดอะไร พอสนุกสนานกันไป ยกแขนมองดูนาฬิกาข้อมือ เฮ้ยๆๆๆ พี่แขก นี่มันตีสามแล้วพี่!!!

จุดเริ่มต้นของเส้นทาง อาจไม่ใช่บทสรุปในปลายทาง

 หลังจากตื่นนอนมา นี่มันเจ็ดโมงแล้วเหรอตื่นสายมาก นอนไปได้ไม่ถึงชั่วโมงเลย สักประมาณสิบโมง ทุกคนเริ่มเตรียมตัว จัดของสัมภาระเข้ากระเป๋าเสร็จก็ทยอยเดินออกมาที่ถนนหน้าลานกางเต็นท์ เพื่อที่จะเดินทางไปจุดศึกษาเส้นทาง เป้าหมายของเรา แต่อาจจะไม่ตรงตามที่พวกเรากำหนดไว้ทั้งหมดนะครับ เพราะเนื่องจากมีสมาชิกในทีมต้องเดินทางกลับตอนเย็น หลังจากเดินทางเสร็จ ทำให้ช่วงเวลาของเราสำหรับเดินทางในป่าน้อยลง ถ้าเป็นอย่างนั้นก็มาปรับแผนตาสถานการณ์
 หลังรับทราบข้อมูลโดยทั่วกันและเวลาที่เราตั้งไว้คร่าวๆ แล้วก็พากันเดินมาเรื่อยๆ จนถึงหน้าทางเข้า เลยประตูทางไปน้ำตกเหวสุวัตไปสักประมาณ ๑๐๐ เมตร จะเจอทางเข้าด้านซ้ายมือเป็นทางป่ารกๆ มองดูผ่านๆ เหมือนเป็นทางด่านสัตว์มากกว่าอีก พอคนมาครบแล้วพวกเราก็เริ่มทยอยเดินเข้าไปกันทีละคน นำโดย..
ลุงแขก นักเดินป่า(ฉายา นักร้องหน้าทุเรศ ราเมศ โอชา) ใครนะกล้าทำกับลุงแขกได้ขนาดนี้ ตามมาติดๆ ก็เป็นพี่นิม จากกองตรวจสอบงบประมาณแห่งชาติ คนที่ประสานงานเรื่องคนเดินป่าทั้งหมด
อ.นพ ผู้อาวุโส ที่มีใจรักในธรรมชาติ การเขียนกวี และนักอ่านหนังสือตัวยง
พี่สุนทร หรือ จิม ฉายาอีกาปากเหล็ก เป็นทั้งนักแสดง กวี และนักท่องเที่ยวผู้ที่ชื่นชอบการท่อง
         ธรรมชาติ
พี่นิม  หนุ่มตี๋จากแดนสะตอ
มอร์  สาวสวยจากมหิดล มากด้วยวิชาการถ่ายภาพพรรรณไม้ ผีเสื้อ หรือน้องเห็ดสวยๆ
หวาน  อาสาสมัคร ช่วยงานเยาวชน ชุมชนในพื้นที่ภาคตะวันออก หรือไปได้ทั่วประเทศไทย  
         เดินทางนับพันกิโลฯ  เพื่อตามหาเพื่อนใหม่ มิตรภาพ หรือสิ่งที่ดีๆ จากเพื่อนร่วมโลกใบนี้..
น้องต่าย  อาจารย์ จาก วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร
น้องตา  นักศึกษา ปริญญาโท คณะบริหารและการจัดการ จาก มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

เดินเหยียบย่ำไปตามผืนป่าเละๆ ทากตัวน้อยส่ายหัวไปมารอต้อนรับเราอย่างกระวนกระวายใจ (วันฉันนี้รอพวกเธออยู่นานแสนนาน)   ก็กระดืบมุ่งหน้า คืบคลานเข้าสู่หน้าขาขาวๆ ดำๆบ้าง ตามแต่ความเร็ว..

มีความรู้ใหม่ๆ มาแลกเปลี่ยน เรียนรู้กัน..
การเดินเท้าเข้าป่า หลังจากได้ไปเรียนรู้วิชา เทคนิคการเดินทางในป่าจากกลุ่มคนที่ทำงานท่องเที่ยวป่ามาบ่อยๆ
แต่ถ้าจะให้เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองได้ร่ำเรียนมา ก็ต้องเอามาลองใช้งานดูว่ามันดีจริงหรือเปล่าครับ
ถ้าต้องเดินเท้าเข้าไป หรือ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ การเดินเท้าตามกันเข้าไป เวลาเดินควรเว้นระยะห่างจากคนนำทาง หรือคนที่อยู่หน้าเรา ประมาณ ๑-๒  เมตร เพื่อป้องกันการดีด กิ่งไม้ที่จะเกี่ยว หล่น เป็นอันตรายสำหรับผู้ที่เดินตามหลัง(ไม่เชื่อกันต้องลอง ) แต่ถ้าเดินในรูปแบบของการสำรวจพื้นที่ หรือ งานวิจัย ยิ่งถ้าเป็นช่วงฤดูฝน ต้องเว้นระยะห่างประมาณ ๕-๑๐ เมตรขึ้นไป เพื่อป้องกันอันตรายจากสัตย์ป่า เช่น หมี ที่อยู่ในช่วงฤดูมีลูกน้อย อาจจะดุร้ายเป็นพิเศษ ถึงกระนั้นก็ตาม การเดินทางในป่าต่างๆ เราก็ควรที่จะใช้สติ ในการเดิน สังเกต หรือระมัดระวังในการเดินอยู่เสมอ เพื่อป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุที่มักจะเกิดจากการเดินทาง การจัดตำแหน่งหรือคนที่เดินในกลุ่มนั้นๆ การจับคู่ดูแลกันระหว่างเดิน ก็เป็นวิธีง่ายๆ สำหรับเดินไปในเส้นทางศึกษาธรรมชาติช่วงฤดูฝนหรือฤดูไหนๆ นะครับ..

พรรณไม้ที่เราพบเห็นได้..
 
สาบเสือ  เพลี้ยกระทิง  กลุ่ม-กำลังเลือด.. เครืองูเห่า  เถาวัลย์..
กรวยป่า  เข็มป่า(ดอกแดง)  หวายทะนอย  หวายป่า
สะบ้า  ยางโอน ยางเหียง  ประคำดีควาย  หว้า
กลุ่ม-ขิง ข่า เร่ว หนามเล็บเหยี่ยว  แผ่นดินเย็น
เข้าพรรษา  ไทร  ตังตาบอด  ฯลฯ
 

เท่าที่จำได้นะครับ แต่บางอย่างบางต้นก็ไม่สามารถระบุชนิดพรรณไม้ได้ เนื่องจากเกินความสามารถของผมเกินไป ฮา ฮา.. ตอนแรกกะว่าจะมาพึ่งพาอาศัยน้องจากแผนไทยช่วยดู กลายเป็นว่าหนักกว่าผมเองซะอีกครับ และแล้วเราก็คงต้องพึ่งพาอาศัยกันไปล่ะครับ งานนี้..
เดินทางมาได้พักใหญ่ หลายคนเริ่มออกอาการนิ่ง เงียบจากเสียงที่คุยกันแจ้ว แจ้ว มาถึงตอนนี้เงียบเลย ถ้าฟังดีๆ อาจจะได้หินเสียงหอบของน้องต่ายมาแต่ไกล แต่หันทีไรก็เห็นแต่หน้ายิ้มหวาน ช่างร่าเริงอะไรได้ขนาดนี้น้องเรา ส่วนหนูตา ก็แข็งแรงดีอยู่ เดินไปเก็บภาพต้นไม้ไป นานทีจะได้มาเดินป่า ผ่อนคลายชีวิตเครียดจากการเรียนปริญญาโท ก็พอที่จะสร้างสีสันให้กับชีวิตไปได้บ้างนะน้อง
 นอกจากเราจะได้เรียนรู้พรรณไม้ต่างๆ ไปด้วยกัน ตามทางเดินเราก็จะพบสิ่งมีชีวิตเล็กๆ น้อยใหญ่มากมาย เช่น จำพวกเห็ด เห็ดถ้วย เห็ดหิ้ง เห็ดขี้ช้าง เห็ดชนิดอื่นๆ อีกประมาณ ๕-๑๐ ชนิด ที่พบและไม่สามารถแยกชนิดได้ระหว่างเดิน สำหรับสัตว์ป่า ไม่พบตัว พบแต่รอยตีนสัตว์ เช่น เก้ง กวาง หมูป่า ช้าง หรือ มูลสัตว์ เช่น หมาไน ช้าง  กวาง ฯลฯ

             เราเดินออกมาถึงปลายทาง น้ำตกเหวสุวัต น้องๆ ชวนกันถ่ายภาพเป็นที่ระลึกสำหรับการเดินทางครั้งนี้ ก่อนเดินทางกลับที่พักผากล้วยไม้ แต่เห็นว่าน้องต่าย น้องตา พี่นิม มอร์ พี่สุนทรก็จะพากันเดินทางกลับกรุงเทพฯ อ.นพ กับพี่แขกก็ลงปากช่องด้วย อ้าว.. ทิ้งกันเลยสิแบบนี้???

2 thoughts on “บันทึกเรื่องราว จากป่าเขา ไม่ใช่ป่าเรา…

  1. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หรือ วไลยอลงค์กรณ์ เขียนคนละอย่างนะหวานๆ

    • ชื่อเต็มคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ตรวจปรูฟพลาดไป ขอบคุณมอร์ –บอกอ