สำหรับ(ทุก)นักอนุรักษ์…

[หมายเหตุ :  ได้อ่านคอลัมน์ใน’สารคดี’ แล้วอยากจะนำมา”แบ่งปัน”เพื่อเป็นกำลังใจและข้อคิดแก่(ทุก)นักอนุรักษ์..]

อ้ายพวกนักอนุรักษ์ 
     
“ในความรู้สึกของผม  เราไม่ต้องเสียเวลามานั่งเถียงกันหรอกว่าเราจะใช้ป่าไม้กันอย่างไร เพราะมันเหลือน้อยมากจนไม่ควรใช้ ..เดี๋ยวนี้เขื่อนเริ่มจะเข้าไปในพื้นที่ป่าอนุรักษ์แล้ว  เพราะว่าป่าข้างนอกหมดแล้ว”.
        สืบ  นาคะเสถียร ให้สัมภาษณ์นิตยสาร สารคดี ในบ่ายวันหนึ่งของเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๓  ข้าราชการป่าไม้ซีหกเงินเดือน ๘,๐๐๐ บาท อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งผู้นี้เดินทางมาเยือนที่ทำการ สารคดี ซอยวัดปรินายก เพื่อให้กองบรรณาธิการสัมภาษณ์ในฐานะนักอนุรักษ์คนหนึ่งที่ออกมาวิจารณ์นโยบายการสร้างเขื่อนแก่งกรุงที่ต้องเสียพื้นที่ป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
      สืบเป็นข้าราชการกรมป่าไม้เพียงน้อยนิดที่กล้าออกมาแสดงความเห็นสวนทางกับรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา ไม่เกรงกลัวอิทธิพลใดๆ  โดยเฉพาะในช่วงประท้วงสร้างเขื่อนน้ำโจนอันจะทำให้ต้องสูญเสียพื้นที่ป่าหลายแสนไร่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร(ชื่อในสมัยนั้น)  สืบเดินสายแสดงความเห็นถึงผลเสียในการสร้างเขื่อน  ทุกครั้งที่ขึ้นเวทีอภิปรายเขาจะกล่าวก่อนเสมอว่า“ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า ที่ไม่มีโอกาสได้พูด”
 
       สืบเคยเป็นหัวหน้าทีมอพยพสัตว์ป่าฯ เมื่อครั้งมีการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน  เขารู้ดีว่ามีสัตว์ป่าหลายพันตัวที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องตายจากน้ำท่วมหรืออดตายเพราะถิ่นอาศัยบริเวณที่เคยเป็นป่าเปลี่ยนสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำ

        ครั้งนั้นเขาบอกเราว่า “การที่เราจะสร้างเขื่อนไปก่อน แล้วค่อยตามมาแก้ไขผลกระทบทีหลัง  ผมคิดว่ามันไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ในทางปฏิบัติ ถึงแม้จะเขียนโครงการไว้ดี แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เช่น เรื่องทำไม้บริเวณเขื่อน แทนที่จะหยุดในบริเวณที่จะเป็นอ่างเก็บน้า ก็มีการให้ทำต่อไปอีก”
       ในเวลานั้น สืบ  นาคะเสถียร ถือว่าเป็น“อ้ายพวกนักอนุรักษ์”ตัวพ่อ  ถูกโจมตีจากผู้ที่ไม่เข้าใจ จากข้าราชการด้วยกันเอง จากสื่อมวลชน ที่เห็นว่า“อ้ายพวกนักอนุรักษ์”เป็นผู้ขัดขวางความเจริญ ขัดขวางการพัฒนาประเทศ  แต่ทุกครั้งเมื่อเขาแสดงความเห็นในที่สาธารณะ คนที่ไม่เห็นด้วยแต่เปิดใจกว้างก็ต้องรับฟังสิ่งที่สืบพูด เพราะสืบไม่ได้คัดค้านอย่างไร้เหตุผล  คำพูดของเขามีน้ำหนักด้วยความเป็นนักวิชาการสัตว์ป่าจากมหาวิทยาลัยด้านนิเวศสัตว์ป่าอันดับต้นๆ ของโลก  ทั้งยังลงพื้นที่เดินป่าเก็บข้อมูลอยู่เสมอ และเปิดเผยความรู้อีกมุมหนึ่งที่คนในสังคมขณะนั้นยังไม่รู้  เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาความคิดกระแสหลักมีอยู่ว่า“เขื่อนคือการพัฒนาประเทศ
        เวลานั้นนักอนุรักษ์ถูกโจมตีจากนักการเมืองทุกฝ่ายไม่ว่ารัฐบาลหรือฝ่ายค้าน  การสร้างเขื่อนดูจะเป็นเรื่องเดียวที่นักการเมืองทุกพรรคเห็นพ้องต้องกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คงเพราะเป็นโครงการรูปธรรมที่หาเสียงได้ง่าย
        สืบ  นาคะเสถียร ได้ทำหน้าที่นักอนุรักษ์จนวาระสุดท้ายของชีวิตเมื่อต้นเดือนกันยายน ๒๕๓๓  เพื่อปกป้องผืนป่าห้วยขาแข้งป่าผืนสุดท้ายที่เขาลงทุนเอาชีวิตเข้าแลก
        สี่ปีต่อมาหลังจากการไปของสืบ บริเวณป่าแม่วงก์ ป่าผืนเดียวกับป่าห้วยขาแข้งทางตอนเหนือ ผมและเพื่อนสนิทขับรถเข้าไปในป่ามุ่งหน้าไปเขาสบกกจุดที่ระบุว่าจะเป็นที่ตั้งของสันเขื่อนแม่วงก์ เพื่อเก็บข้อมูลหลังจากรู้ข่าวแน่ชัดว่ามีการอนุมัติโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์นับหมื่นกว่าไร่
        เราขับรถเลียบสันเขา สองข้างทางเป็นป่ารก มองไปด้านล่างเห็นลำน้ำแม่วงก์  เรากะจะลงไปสำรวจลำน้ำจึงขับรถไปจอดชิดขอบทางที่เห็นกอไผ่ขึ้นอยู่ ทันใดนั้นรถเกิดเสียหลัก ล้อหน้ายื่นออกไปในอากาศ  เพิ่งรู้ว่าตรงกอไผ่ที่เห็นแต่ไกลนั้นเป็นเหวลึกหลายสิบเมตร
        โชคดีที่มีกอไผ่ค้ำยันล้อไว้  เราสองคนมองหน้ากัน การเข้าเกียร์ถอยหลังเป็นไปไม่ได้  จึงตัดสินใจค่อยๆ ออกจากรถอย่างระวังเต็มที่ และเดินกลับออกไปขอความช่วยเหลือจากชาวบ้าน  ร่วมชั่วโมงถึงกลับมาพร้อมควาย ๒-๓ ตัว มาช่วยลากรถก่อนที่รถจะดิ่งเหวลงสู่เบื้องล่าง
        หลังจากเกือบขับรถตกเหว เราใช้เวลาอีกหลายวันไปสำรวจลำน้ำจุดที่ตั้งสันเขื่อน เดินสำรวจพื้นที่ป่าที่จะถูกน้ำท่วม  ไปสอบถามความเห็นของชาวบ้าน บางครั้งก็มีมวลชนออกมาถือป้ายประท้วง“อ้ายพวกนักอนุรักษ์” ขณะที่นักการเมืองตระกูลเก่าแก่ในจังหวัดนครสวรรค์ก็โจมตีออกสื่อทั้งทีวีและหนังสือพิมพ์เป็นประจำ
         ขณะพวกเราพยายามเก็บข้อมูล เปิดเผยผลดีผลเสียของการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ความคุ้มค่าของพื้นที่ชลประทาน การป้องกันน้ำท่วมแลกกับพื้นที่ป่าที่ต้องเสียไป เพื่อให้คนทั่วไปได้รับรู้ข้อมูลมากที่สุด  อีกด้านหนึ่งก็ต้องอดทนต่อข้อกล่าวหาต่างๆ นานา จนกระทั่งในปี ๒๕๔๕ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็ได้มีมติไม่เห็นชอบรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และให้กรมชลประทานหาทางเลือกใหม่ของที่ตั้งโครงการเขื่อนแม่วงก์
 
       ยี่สิบปีต่อมา ขณะที่ต้นไม้ ๕ แสนกว่าต้นในป่าแม่วงก์ซึ่งรอดจากการสร้างเขื่อนแม่วงก์กำลังเติบโตเป็นป่าใหญ่  ทุกอย่างก็กลับไปสู่จุดเดิมอีกครั้งเมื่อรัฐบาลชุดปัจจุบันอนุมัติให้มีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ทั้งที่รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่ผ่านการพิจารณา โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันน้ำท่วมภาคกลาง

        มาถึงตอนนี้ อ้ายพวกนักอนุรักษ์ก็คงต้องเปลืองตัวกันอีก
          ท่ามกลางการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง  ไม่ว่ากี่รุ่นกี่คน เกิดการแตกแยกในสังคมเป็นเฉดสีต่างๆ มีวาทกรรมอำมาตย์กับไพร่ แต่อ้ายพวกนักอนุรักษ์ที่ถือกำเนิดในสังคมไทยมาก ๒๐ ปีแล้ว ยังคงทำหน้าที่ของตนเช่นเดิม เพื่อปกป้องป่าไม้และสัตว์ป่าไม่เปลี่ยนแปลง
         และยังคงถูกรุมด่าว่าเป็น“พวกขัดขวางความเจริญของประเทศ” “ทำไมพวกนี้ไม่สูญพันธุ์เสียที” “รับเงินต่างชาติ”— พวกเขาได้แต่อดทนด้วยรู้ว่าทำหน้าที่อะไรอยู่
         ดูเหมือนว่าความอดทนอดกลั้นต่อการถูกกล่าวหาต่างๆ นานา อาจจะเป็นคุณสมบัติข้อแรกของคนที่จะมาเป็น“อ้ายพวกนักอนุรักษ์
[จาก “One Ton”- วันชัย  ตันติวิทยาพิทักษ์ : สารคดี-พฤษภาคม๒๕๕๕ หน้า ๑๖๘-๑๖๙]

ปิดการแสดงความเห็น