คนกับธรรมชาติ ต้องอยู่ร่วมกันจึงอยู่รอด โดย ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล(๒)

หมายเหตุ : ในปาฐกถาเพื่อรำลึกถึงสืบ  นาคะเสถียรนี้ เป็นสิ่งที่นักอนุรักษ์ และ”คน”ทุกคนควรจะได้’ฟัง-อ่าน’ พินิจพิจารณา และใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง–เพื่อใช้เป็นแนวทางการอนุรักษ์ธรรมชาติ…ต่อไป-“รักษ์เขาใหญ่”

(ต่อ…)
            ผมเคยครุ่นคิดถึงปัญหาดังกล่าวมานานหลายปี แล้วสรุปได้ว่าประเด็นมันมิได้มีแค่ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่า หากยังรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน และคนกับชีวิตตนเอง
           กล่าวเช่นนี้หมายความว่ากระไร?  พูดง่ายๆ คือการทำลายป่าและสิ่งแวดล้อมอื่นโดยน้ำมือมนุษย์นั้นมิได้เกิดจากความไร้จิตสำนึกหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์อย่างเดียว(แม้ว่าข้อนี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญ)  แต่การที่ผู้คนทำลายป่าตลอดจนสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากโครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคมด้วย
มันเป็นระบบที่ด้านหนึ่งปลุกเร้าให้มีการผลิตและการบริโภคอย่างปราศจากขอบเขตและในอีกด้านหนึ่งก็สร้างความไม่เป็นธรรมในด้านการกระจายทรัพย์สิน ตลอดจนโอกาสต่างๆ ในชีวิตจนกระทั่งคนจำนวนมหาศาลไม่มีทางเลือกเป็นอื่น นอกจากบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อแสวงหาความอยู่รอด
         กล่าวอีกแบบหนึ่งคือผู้คนรุกล้ำทำลายธรรมชาติเพราะถูกปลุกเร้าหรือไม่ก็ถูกขับต้อนจากคนด้วยกัน
อย่างไรก็ดีกระบวนการดังกล่าวจะเกิดได้ยาก หรือเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้ามุมมองที่มนุษย์มีต่อชีวิตของตนไม่โน้มเอียงไปในทางวัตถุนิยมสุดขั้วดังที่เป็นอยู่ ไม่เข้าใจชีวิตผิดๆ ว่าเป็นเพียงการดำรงอยู่แบบ‘ตัวกูของกู’ และคิดแต่จะอาศัยสิ่งภายนอกมาสร้างตัวตนหรือสนองความพอใจของอัตตา
ดังนั้น ผมจึงจำเป็นต้องยืนยันว่าการทำลายป่าและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอื่นๆ ไม่เพียงเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน  หากยังถูกขับเคลื่อนด้วยความเข้าใจผิดเกี่ยวกับชีวิตอีกอย่างหนึ่ง  จากนั้นกระบวนการทั้งหมดจึงถักทอขึ้นเป็นสภาวะไร้จิตสำนึกอย่างสิ้นเชิงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับจักรวาล
แน่ละ เมื่อแยกแยะลงไปแล้ว การสูญเสียผืนป่าเขตร้อนอาจจะมาจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่การตัดไม้ไปขาย การเปิดพื้นที่ใหม่สำหรับเกษตรกรรม การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ไปจนถึงการขุดแร่ทำเหมือง และการขยายตัวของแหล่งท่องเที่ยว
แต่ถ้าจะให้กล่าวอย่างสรุปรวบยอดแล้วก็คงต้องยืนยันว่าการทำลายผืนป่าและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอื่นๆ มีสาเหตุหลักมาจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม และความไม่เป็นธรรมทางสังคม
           การที่ป่าเขตร้อนมีอยู่เฉพาะในดินแดนใกล้เส้นศูนย์สูตร ผืนป่าแทบทั้งหมดจึงอยู่ในประเทศยากจน เพราะฉะนั้นวิธีหารายได้ง่ายๆ อย่างหนึ่งของประเทศเหล่านี้คือการตัดไม้ขายให้ประเทศที่ร่ำรวย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในซีกโลกตะวันตก สำหรับในซีกโลกตะวันออกนั้นมีญี่ปุ่นเป็นลูกค้าสำคัญ
ยิ่งไปกว่านี้  ป่าเขตร้อนบางแห่งเช่นแถบลุ่มแม่น้ำอะเมซอนในอเมริกาใต้ ยังถูกทำลายอย่างเป็นล่ำเป็นสันเพื่อเปิดพื้นที่ให้กิจการปศุสัตว์  ซึ่งผลิตเนื้อวัวส่งไปยังประเทศมั่งคั่ง สภาพดังกล่าวนับว่าเป็นภัยคุกคามมนุษยชาติอย่างยิ่ง เพราะที่ผ่านมาป่าอะเมซอนได้ช่วยแปลงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับไปเป็นออกซิเจนในปริมาณมหาศาล ออกซิเจนในโลกนั้นถูกสร้างขึ้นโดยป่าอะเมซอนถึงกว่า ๒๐ เปอร์เซ็นต์
เพราะฉะนั้น คงจะไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าการทำลายป่าเขตร้อนเกี่ยวโยงอย่างแยกไม่ออกกับความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจโลก  เกี่ยวโยงอย่างแยกไม่ออกกับวิถีชีวิตแบบบริโภคนิยมของผู้คนในประเทศที่ร่ำรวย  แม้ผู้คนในประเทศเหล่านั้นอาจไม่เคยตัดไม้หรือเผาป่าด้วยตนเอง แต่ก็อยู่เบื้องหลังการสูญเสียป่าเขตร้อนด้วยอำนาจซื้อที่เหลือเฟือ
ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ได้ประเมินไว้ว่าทรัพยากรของโลกประมาณ  ๔ ใน ๕ ส่วน หรือร้อยละ ๘๐ นั้นถูกบริโภคโดยประเทศที่มั่งคั่ง ซึ่งมีคนอยู่รวมกันแล้วแค่ร้อยละ ๒๐ ของประชากรโลกเท่านั้นเอง  แต่ก็อีกนั่นแหละ ประเด็นดังกล่าวไม่ได้จบลงแค่ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ หากยังเกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำภายในประเทศโลกที่สามเอง และนั่นก็เป็นสาเหตุสำคัญไม่แพ้กันที่นำไปสู่การทำลายพื้นที่ป่า
ในประเทศที่มีผืนป่าเขตร้อนขนาดใหญ่อย่างบราซิล  ปรากฏว่าที่ดินทำกิน ๔๒ เปอร์เซ็นต์ถูกถือครองโดยคนแค่ ๑ เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ชาวไร่ชาวนาไร้ที่ดินนั้นมีจำนวนมากถึงครึ่งหนึ่งของประชากรบราซิลทั้งหมด  ดังนั้นคงไม่สงสัยเลยว่าทำไมคนยากจนเหล่านี้จึงต้องรุกเข้าไปตั้งรกรากในป่าอะเมซอน
เช่นเดียวกับในกรณีของประเทศไทย นักวิชาการประเมินกันว่าที่ดินที่ถือครองได้(คือไม่ใช่ที่ดินของรัฐ)มีถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ที่อยู่ในมือของคน ๑๐ เปอร์เซ็นต์   ขณะที่ประชากรไทย ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ต้องเอาที่ดินเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ไปแบ่งกันอยู่อาศัยหรือทำกิน ซึ่งก็แน่นอน คนจำนวนมากมายมหาศาลย่อมไม่ได้รับส่วนแบ่งอันใด  ในประเทศไทยมีชาวนาไร้ที่ดินอยู่เป็นจำนวนมาก และที่รุกเข้าไปหาที่ทำกินในเขตป่าสงวนก็มีจำนวนนับล้านคน
พูดก็พูดเถอะ แม้แต่ในเขตป่าอนุรักษ์ก็ยังมีชาวบ้านอาศัยอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย  อาจจะมากกว่า ๔ แสนครัวเรือน  แต่ปัญหานี้มีความสลับซับซ้อนมากกว่าปัญหาอื่น เนื่องจากโดยส่วนใหญ่ชาวบ้านได้อาศัยอยู่ในป่ามาก่อนการประกาศจัดตั้งเขตอุทยานหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า  นอกจากนี้ยังมักเป็นชาติพันธุ์ส่วนน้อย เช่นชาวกระเหรี่ยงในผืนป่าตะวันตก และชาวมลายูในผืนป่าทางใต้ เป็นต้น  ประชาชนเหล่านี้มีภูมิปัญญาท้องถิ่นในการอยู่ร่วมกับป่ามากกว่าพวกที่รุกเข้าไปจากภายนอก และถ้าหากไม่ถูกระบบทุนนิยมพาไปทางอื่นเสียก่อน ก็ไม่น่าจะก่อความเสียหายอะไร
อย่างไรก็ตาม กล่าวโดยรวมแล้วเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาการสูญเสียผืนป่าในประเทศไทยมีสาเหตุมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทำให้คนจำนวนมากขาดแคลนที่ดินทำกิน หรือเข้าไม่ถึงฐานทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการหาเลี้ยงชีพ
ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงนี้ล้วนเป็นผลมาจากแนวทางพัฒนาที่ไม่สมดุล ซึ่งหมายถึงว่าความยากจนในชนบทนั้นเกิดจากการถูกละเลยทอดทิ้ง กระทั่งถูกจงใจเอาเปรียบโดยนโยบายของรัฐด้วยชาวไร่ชาวนาไทยไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมได้รับการสนับสนุนดูแลเป็นอย่างดี
      ทิศทางการพัฒนาดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างรายได้อย่างมหาศาล ดังจะเห็นได้จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเอง ซึ่งยืนยันไว้ว่าในปี ๒๕๕๐ กลุ่มประชากรร้อยละ ๒๐ ที่มีรายได้สูงสุดมีส่วนแบ่งในรายได้รวมของประเทศถึงร้อยละ ๕๔.๙ ในขณะที่กลุ่มประชากรร้อยละ ๒๐ ที่มีรายได้ต่ำสุดมีส่วนแบ่งรายได้เพียงร้อยละ ๔.๔ เท่านั้น สำหรับกลุ่มประชากรที่อยู่ภายใต้เส้นแบ่งความยากจน(ประมาณเดือนละ ๑,๔๐๐.๐๐ บาท) ซึ่งถือว่ามีรายได้ไม่พอเพียงในการดำรงชีวิตนั้นมีถึงประมาณ ๕.๔ ล้านคน
พูดอีกแบบหนึ่งก็คือว่ายิ่งพัฒนา ช่องว่างระหว่างรายได้ก็ยิ่งถ่างกว้างขึ้น แต่สิ่งที่ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้บอกไว้คือรายได้ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม  …กระจุกตัวอยู่ในสังคมเมือง
ดังนั้นปัญหาความยากจนจึงเป็นสถานการณ์ในชนบทเสียส่วนใหญ่ จากการประเมินของUNDP(สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ)อย่างน้อย ๑ ใน ๑๐ ของครัวเรือนในชนบทไทยยังคงเป็นคนยากไร้
เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ยินเรื่องของชาวนาคนหนึ่งจากจังหวัดปราจีนบุรี  เธอเล่าให้ฟังว่าหลังจากขายข้าวที่เกี่ยวเสร็จในฤดูหนึ่งได้หนึ่งแสนบาท ปรากฏว่ามีเงินเหลือกลับบ้านเพียง ๒๕ บาท เท่านั้นเอง  รายได้ทั้งหมดต้องนำไปใช้หนี้ค่าปุ๋ย ค่าพันธุ์ข้าว และค่ายาฆ่าแมลง ในฤดูถัดมา การเก็บเกี่ยวไม่ได้ผล เมื่อขายข้าวเสร็จแล้วเธอยังต้องตกเป็นหนี้อีกสองแสนบาท
ผมเชื่อว่าเรื่องของชาวนาผู้นี้ สามารถเป็นภาพสาธิตของสถานการณ์ที่ชาวนาไทยกำลังเผชิญอยู่โดยรวม  สิ่งที่น่าวิตกอย่างหนึ่งในเวลานี้ก็คือภาวะยากจนของชาวไร่ชาวนานั้นจะมักแยกไม่ออกจากการมีหนี้สิน  และการมีหนี้สินก็มักนำไปสู่การสูญเสียที่ดินทำกิน ซึ่งหมายถึงว่ากระบวนการสูญเสียที่ดินของชาวนายังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง
ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่า ในยุคโลกาภิวัตน์ การเข้ามาของกลุ่มทุนข้ามชาติบวกกับกลุ่มทุนใหญ่ในประเทศไทย  ยิ่งทำให้ที่ดินทำกินและฐานทรัพยากรอื่นๆ ถูกนำมาไว้ภายใต้กลไกตลาดมากขึ้น  ซึ่งส่งผลให้ที่ดินเปลี่ยนมือได้โดยง่าย  และกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดินยิ่งกระจุกตัวมากกว่าเดิม  ทั้งเพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์และการเก็งกำไร
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การรุกเข้าไปหาที่ทำกินใหม่ในผืนป่า หรือการรับจ้างนายทุนบุกรุกผืนป่าโดยผู้ยากไร้ คงจะยังเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่อไป
เพราะฉะนั้น คงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไม ตลอดเวลา ๒๐ ปีหลังจากการตายของสืบ  นาคะเสถียร ปัญหาการรุกพื้นที่ป่าและการสูญเสียผืนป่าในประเทศไทยจึงยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อผืนป่าสูญหายสัตว์ป่าก็จากไป  แต่ใครเล่าจะตำหนิคนยากคนจนได้ลงคอ…นี่เป็นความร้าวรานใจของคุณสืบมาตั้งแต่ต้น และเป็นความร้าวรานใจของนักอนุรักษ์ธรรมชาติเสมอมา(มีต่อ…)

ความเดิมตอนที่แล้ว
คนกับธรรมชาติ ต้องอยู่ร่วมกันจึงอยู่รอด โดย ดร.เสกสรรค์  ประเสริฐกุล (๑)

ปิดการแสดงความเห็น