หมายเหตุ : ในปาฐกถาเพื่อรำลึกถึงสืบ นาคะเสถียรนี้ เป็นสิ่งที่นักอนุรักษ์ และ”คน”ทุกคนควรจะได้’ฟัง-อ่าน’ พินิจพิจารณา และใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง–เพื่อใช้เป็นแนวทางการอนุรักษ์ธรรมชาติ…ต่อไป-“รักษ์เขาใหญ่”
คนกับธรรมชาติ ต้องอยู่ร่วมกันจึงอยู่รอด (ปาฐกถาเนื่องในวาระครบรอบ ๒๐ ปีการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร โดย ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เลขาธิการคนแรก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๓ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) สาสน์สืบ : มกราคม ๒๕๕๔
ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน ท่านประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย วันนี้เรามาพบกันเพื่อแสดงความคารวะต่อมิตรผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งจากเราไปเมื่อ ๒๐ ปีก่อน ท่านเป็นบุคคลสำคัญที่อุทิศชีวิตให้กับการพิทักษ์สัตว์ป่าและผืนป่าในประเทศไทย ตลอดจนเป็นผู้จุดประกายที่เรืองโรจน์โชติช่วงที่สุดให้กับขบวนอนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศของเรา
ปัจจุบันชื่อของท่านยังคงสถิตสถาพรอยู่ในนามของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
หลายท่านคงจำได้ว่าในปี ๒๕๓๓ ความตายของคุณสืบเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งบดขยี้หัวใจของคนทั้งประเทศ มันเป็นโศกนาฏกรรมที่ทำให้หลายคนต้องหันมาสนใจเรื่องป่าและสัตว์ป่าเป็นครั้งแรกในชีวิต และจำนวนไม่น้อยต้องหันมาถามตัวเองว่าได้ทำอะไรบ้างแล้วหรือยัง ในการช่วยรักษามรดกธรรมชาติไว้ให้ลูกหลาน
ภาพของสืบ นาคะเสถียร เป็นภาพของข้าราชการกรมป่าไม้ตัวเล็กๆ ที่ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการพิทักษ์ผืนป่า แต่ก็ต้องพบกับอุปสรรครอบด้าน ตั้งแต่ความไม่จริงใจของนักการเมืองที่เรืองอำนาจ ระบบราชการอันเย็นชา งบประมาณทำงานอันน้อยนิด การคุกคามของกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นที่ลักลอบล่าสัตว์ตัดไม้ ไปจนถึงชาวบ้านผู้ยากไร้ที่ต้อง‘บุกรุก’ป่าอย่างไม่มีทางเลือก
ทั้งหมดนี้นับเป็นภารกิจอันหนักหนาสาหัส เกินกว่าที่คนๆ เดียวจะแบกรับไว้ได้ ในที่สุด ความคับแค้นที่สั่งสมมาก็ทำให้คุณสืบตัดสินใจส่งข่าวสารต่อสังคมไทย ด้วยวิธีการเฉียบขาดที่สุด และมีราคาแพงที่สุด
วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๓๓ เป็นวันที่ฟ้าหลั่งฝน คนหลั่งน้ำตา… แน่ละ ความตายของคนเรานั้น อาจพิจารณาได้จากหลายมิติ และอาจค้นหาความหมายได้ในหลายระดับ เพราะฉะนั้น ในกรณีของสืบ นาคะเสถียรจึงพูดได้ในบางมุมมองว่าแท้จริงแล้วคุณสืบไม่ได้จากไป หากเพียงเปลี่ยนรูปแบบในการดำรงอยู่ หรือ‘จากไปเพื่อจะได้อยู่ร่วมชั่วนิรันดร์’
ใช่หรือไม่ว่าทุกวันนี้ สืบ นาคะเสถียรยังคงอยู่กับพวกเรา ทั้งในฐานะจิตวิญญาณที่เชื่อมร้อยกับทุกอณูของสรรพชีวิตในผืนป่า อีกทั้งในฐานะแรงบันดาลใจของผู้รักธรรมชาติทุกคน
ใช่หรือไม่ว่าสืบ นาคะเสถียรไม่ได้หายไปไหน หากอยู่ในรูปของมูลนิธิ คุณสืบยังคงเฝ้าดูแลผืนป่าตะวันตก ตลอดจนดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติในอีกหลายๆ ด้าน
อย่างไรก็ตาม…ทั้งหมดนี้มิได้หมายความว่า ๒๐ ปีที่ผ่านมา การสานต่อเจตนารมณ์ของสืบ นาคะเสถียรได้กลายเป็นกระแสหลักในสังคมไทยแล้ว และยิ่งมิได้หมายความว่าสถานการณ์อนุรักษ์ธรรมชาติทั้งในระดับโลก และในประเทศไทยกำลังประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ
เมื่อ ๒๐ ปีก่อน แม้ว่า‘เสียงตะโกนจากพงไพร’ของคุณสืบจะดังกึกก้องไปทั่วทั้งประเทศ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะขานรับคำขอร้องของเขา ยังไม่ใช่คนส่วนใหญ่ที่ยึดถือการอยู่ร่วมกับธรรมชาติเป็นแนวทางแห่งชีวิต
ผมจำได้ว่า เคยเขียนเตือนเรื่องนี้ไว้แล้วในบทความชิ้นหนึ่งซึ่งอุทิศให้กับสืบ นาคะเสถียรโดยตรง
“วีรบุรุษนั้นจะมาก่อนกาลเวลาเสมอ ทั้งนี้เพราะพวกเขาคือผลพวงจากความต่ำต้อยของผู้อื่น…สิ่งที่ชวนโศกสลดก็คือเมื่อเวลาวีรบุรุษล้มลงด้วยความเหนื่อยล้า โลกไม่อาจหามือผู้ใดไปประคองได้ นอกจากมือของผู้ต่ำต้อยที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ต่อจากนั้น…ทุกคนก็แบกร่างเขาไปบนเส้นทางที่ตนคุ้นเคย”
พูดก็พูดเถอะ ในฐานะเลขาธิการคนแรกของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผมได้เห็นขบวนแห่แหน‘วีรบุรุษ’ผู้นี้ด้วยตาของตนเอง ยามนั้นใครๆ ก็อยากได้ของขลังชิ้นใหม่ อยากได้ชื่อสืบ นาคะเสถียรไปแต่งแต้มกิจกรรมและกิจการของตน ไม่เว้นแม้แต่บริษัทห้างร้านที่ขายอุปกรณ์โค่นป่าตัดต้นไม้ และเวทีประกวดนางงาม
กล่าวอีกแบบหนึ่งคือ หลายคนคิดว่าจะใช้ชื่อสืบไปทำอะไรก็ได้ ขอเพียงระบุว่า“รายได้บางส่วนมอบให้มูลนิธิสืบนาคะเสถียร”ก็พอแล้ว
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าในวันนั้น แม้ผู้คนจำนวนมากจะสะเทือนใจอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ไม่ช้าไม่นานพวกเขาก็รุดหน้าไปตามความเส้นทางดั้งเดิมที่ปราศจากสำนึกเกี่ยวร้อยกับสิ่งใด…เส้นทางที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลาง และเห็นชีวิตอื่นเป็นเพียงวัสดุใช้สอย
นี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและเป็นปัญหาจิตสำนึกซึ่งยังคงมีฐานะเป็นกระแสหลักทั้งในโลกและในประเทศไทยมาตลอดระยะเวลา ๒๐ ปี… แน่นอน สภาพดังกล่าวย่อมส่งผลให้โลกเลวลง ถึงตรงนี้ ผมขออนุญาตชวนท่านมาทบทวนสถานการณ์ของโลกธรรมชาติในปัจจุบัน
หลายท่านคงทราบดีอยู่แล้วว่าในอดีตเมื่อประมาณสองสามพันปีก่อน ป่าฝนเขตร้อน(Tropical Rainforests)เคยครอบคลุมพื้นที่ราว ๑๔ เปอร์เซ็นต์ของผิวโลกส่วนที่เป็นแผ่นดิน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ในระยะไม่กี่ศตวรรษมานี้ รวมทั้งตลอด ๒๐ ปีที่ผ่านมา ป่าเขตร้อนกลับมีพื้นที่เหลือเพียง ๖ เปอร์เซ็นต์ของผิวโลกส่วนที่ไม่ใช่น้ำ
ตัวเลขที่เหลือเชื่อก็คือ ทุกวันนี้ผืนป่าเขตร้อนในขอบเขตทั่วโลกยังคงถูกทำลายถึงวันละประมาณ ๒ แสนเอเคอร์(หนึ่งเอเคอร์เท่ากับ ๒.๕ ไร่) ซึ่งเท่ากับ ๑๕๐ เอเคอร์ต่อนาที หรือ ๗๘ ล้านเอเคอร์ต่อปี บรรดาผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าหากอัตราการทำลายป่ายังคงดำเนินไปในลักษณะนั้น ป่าเขตร้อนอาจหายไปจากโลกภายในเวลาอีกไม่ถึง ๔๐ ปี
ป่าเขตร้อนได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ดังจะเห็นได้จากการที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของพรรณพืช พันธุ์สัตว์ และแมลงของโลก ซึ่งประเมินกันว่ามีอยู่ประมาณ ๑๐ ล้านชนิด ล้วนอาศัยอยู่ในป่าแบบนี้ ดังนั้นการสูญเสียพื้นที่ป่าดังกล่าวจึงส่งผลให้สรรพชีวิตต้องจากไปอย่างเลี่ยงไม่พ้น มีการคำนวณว่าในแต่ละวัน พืช สัตว์ และแมลงประมาณ ๑๓๗ ชนิดต้องสูญพันธุ์ไปด้วยสาเหตุที่ป่าถูกทำลาย ซึ่งหมายความว่าในแต่ละปีโลกกำลังสูญเสียพรรณพืช พันธุ์สัตว์ และแมลงถึง ๕ หมื่นชนิดเลยทีเดียว
อันที่จริง ไม่เพียงพืชและสัตว์เท่านั้นที่ถูกคุกคามจากการทำลายป่า มนุษย์เองก็สูญเสียปัจจัยที่เกื้อหนุนความอยู่รอดของตนไปอย่างประเมินค่ามิได้ ทั้งนี้เนื่องจากอย่างน้อย ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของอาหารในโลกที่พัฒนาแล้วล้วนมีแห่ลงที่มาจากป่าเขตร้อน และตัวยาที่ใช้ในการแพทย์แผนตะวันตกก็มาจากป่าเขตร้อนถึง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าป่าเขตร้อนเป็นตัวแปรสำคัญในการผลิตออกซิเจน ดูดซับกาซ เรือนกระจก ช่วยควบคุมอุณหภูมิและความคงเส้นคงวาของภูมิอากาศโลก
ดังนั้นการสูญเสียผืนป่าจึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในกระบวนการก่อภาวะโลกร้อนด้วย ซึ่งส่งผลต่อไปสู่ความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ และได้กลายเป็นภัยร้ายแรงสำหรับมนุษยชาติอยู่ในปัจจุบัน
ในระยะหลังๆ นี้ ท่านทั้งหลายก็คงเคยได้ยินข่าวน้ำท่วมใหญ่ในประเทศต่างๆ หรือพายุรุนแรงที่พัดเข้าถล่มในทุกภูมิภาคของโลก ตลอดจนภาวะแห้งแล้งผิดปกติ และคลื่นความร้อนที่คร่าชีวิตผู้คนในหลายที่หลายแห่ง
กล่าวสำหรับเมืองไทย แม้ว่าหลังจากสืบ นาคะเสถียรพลีชีพไปได้ไม่นาน ผืนป่าตะวันตก อันประกอบด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรรวมกับป่าอนุรักษ์อีกจำนวนหนึ่งจะถูกยกฐานะเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก(คิดเป็นพื้นที่ราว ๑๑ ล้านไร่) แต่ในสถานการณ์โดยรวมหลังปี ๒๕๓๓ พื้นที่ป่าก็ยังคงถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง ตกปีละประมาณหนึ่งล้านไร่เศษ กระทั่งเวลาผ่านมาถึงช่วง ๒๕๔๓-๒๕๔๗ พื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกเพิ่มเติม ก็ยังคงกินบริเวณกว้างใหญ่ไพศาลรวมแล้วเกือบ ๔ ล้านไร่
ผมคงไม่ต้องพูดก็ได้ว่าผลที่เกิดจากการทำลายผืนป่าในประเทศไทยย่อมไม่ต่างจากการทำลายป่าเขตร้อนในประเทศอื่นๆ… สัตว์ป่าและพรรณพืชหลายชนิดล้มหายตายจาก อากาศร้อนขึ้นเรื่อยๆ สภาพน้ำท่วมฉับพลันและภาวะฝนแล้งเกิดขึ้นในความถี่สูง กระทั่งเกิดขึ้นพร้อมกัน
ปัจจุบัน ประเมินกันว่าประเทศไทยมีป่าอนุรักษ์เหลืออยู่ร้อยละ ๑๗.๖๖ ของพื้นที่ประเทศ หรือประมาณ ๙๐.๖ ล้านไร่ แต่นี่เป็นการนับรวมพื้นที่ป่าชายเลนเอาไว้ด้วย ซึ่งหมายถึงว่าป่าบกมีเหลือน้อยกว่านั้น
ถามว่าทำไมเราจึงหยุดยั้งการทำลายป่าไม่ได้ ทั้งๆ ที่องค์ความรู้ทั้งปวงล้วนชี้ชัดว่านี่คือการฆ่าตัวตายรวมหมู่ของผู้คนที่อาศัยอยู่บนพื้นพิภพแห่งนี้? (มีต่อ…)