กำลัง…สมุนไพรให้เรี่ยวแรง โดย “พี่ต้อม”
ในสังคมไทยมีการใช้สมุนไพรเป็นยากำลังมากมายหลายชนิด เนื่องจากสังคมดั้งเดิมของเราเป็นสังคมเกษตรกรรม จึงต้องการทั้งพละกำลังที่จะทำงานในไร่นา และมีลูกหลานมากๆ ไว้ช่วยแบ่งเบาภาระ ดังนั้นจึงมีสมุนไพรที่ขึ้นต้นด้วย“กำลัง”อยู่หลายชนิด ในแต่ละท้องถิ่นอาจจะมียากำลังที่ชื่อหมือนกับพื้นที่อื่น แต่เป็นต้นไม้คนละต้นกันก็ได้ ส่วนใหญ่แล้วยากำลังจะไม่มีบทบาทในการรักษาโรคอื่นๆ มากนัก นอกจากให้เรี่ยวแรงและกำลังวังชา
กำลังเลือดม้า
ชื่อวิทยาศาสตร์ Knema angustifolia(Roxb.) Warb
ชื่อวงศ์ MYRISTICACEAE
ชื่ออื่นๆ มะม่วงเลือดน้อย เลือดควาย(ชลบุรี) มักม่วงเลือด
ลักษณะทั่วไป ไม้ยืนต้น สูง ๑๕-๒๕ เมตร ลำต้นมีน้ำยางสีแดง ใบเดี่ยว เรียงสลับ ดอกช่อสีส้มแกมน้ำตาล ออกที่ง่ามใบ
การขยายพันธุ์ ใช้เมล็ด
กำลังเลือดม้า เป็นสมุนไพรของชาวป่า ใบคล้ายใบมะม่วง หมอยาไทยใหญ่จึงเรียกว่า มะม่วงเลือด เปลือกของกำลังเลือดม้าถ้าฟันหรือถากให้เป็นแผล จะมียางสีแดงเหมือนสีเลือดไหลออกมา พ่อหมอยาในภาคเหนือ กลาง อีสาน ซึ่งมีต้นนี้อยู่มาก จะใช้เปลือกกำลังเลือดม้าเป็นยาบำรุงเลือด บำรุงร่างกาย นิยมใช้เปลือกต้นต้มหรือดองเหล้าบำรุงกำลัง
ตำรับยากำลังเลือดม้า
เปลือกกำลังเลือดม้า รากสุรามะริด โด่ไม่รู้ล้ม เถาม้ากระทืบโรง ต้มหรือดองเหล้ากินเป็นยาบำรุง
กำลังช้างเผือก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hiptage benghalensis (L.) Kurz. ssp. Candicans (Hook. f.) Sirirugsa
ชื่อวงศ์ MALPIGHIACEAE
ชื่ออื่นๆ คำพม่า พญาช้างเผือก(กาญจนบุรี) ฮ่อสะพายควาย(ใบกลม)
ลักษณะทั่วไป ไม้พุ่มหรือไม้เลื้อย ยาวได้ถึง ๓๐ เมตร ลำต้นเป็นไม้เนื้อแข็ง ใบเดี่ยวเรียงตรงกันข้าม เป็นคู่ แผ่นใบรูปรีขอบขนาน หรือรูปใบหหอกถึงรูปไข่กลับ ดอกสีขาวอมชมพู หรือชมพูแต้มเหลือง รูปร่างค่อนไปทางกลม ถึงไข่แกมขอบขนาน ผลแห้งแตกได้ โคนมีปีก ๓ ปีก
การขยายพันธุ์ ใช้เมล็ด หรือตอนกิ่ง
กำลังช้างเผือกเป็นยากำลังที่ใช้กันทุกภาค ภาคเหนือนอกจากจะเรียกว่า กำลังช้างเผือกเหมือนภาคกลางแล้ว ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า ฮ่อสะพายควายใบกลม ส่วนพ่อหมอเมืองเลยเรียกว่า คำพม่า ซึ่งคุณยายหมื่น ดวงอุปะ บอกว่าเพี้ยนมาจากคำว่า กำขาม้า กล่าวคือ สามารถกำขาม้าแล้ววิ่งไปพร้อมกับม้าได้ บางทีก็เรียกว่า กำลังม้า การใช้จะนำลำต้นมาต้มกินบำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย และอาจจะต้มรวมกับสมุนไพรบำรุงกำลังตัวอื่นๆ กำลังช้างเผือกจัดเป็นยากำลังที่สำคัญชนิดหนึ่งของเมืองไทย พ่อหมอส่วนใหญ่รู้จักใช้เหมือนกันแม้จะเรียกชื่อต่างกัน
ตำรับยาอายุวัฒนะของตาวิน ตุ้มทอง
ลำต้นช้างน้าว ลำต้นคำพม่า(กำลังช้างเผือก) ยาหัว ต้มกินบำรุงกำลังได้ทุกเพศทุกวัย
เจ็ดกำลังช้างสาร
ชื่อวิทยาศาสตร์ Peristrophe bivalvis (L.) Merr.
ชื่อวงศ์ ACANTHACEAE
ชื่ออื่นๆ เก้ากำลังช้างสาร
ลักษณะทั่วไป พืชล้มลุกอายุหลายปี สูงได้ถึง ๑ เมตร ลำต้นมีสันตามยาวคล้ายเหลี่ยม โป่งบริเวณเหนือข้อ มีขนปกคลุม ใบเดี่ยวเรียงสลับแบบคู่ตรงข้าม ใบรูปหอก ดอกเป็นกระจุกบริเวณยอด สีชมพูหรือม่วง ผลเป็นฝักยาว
การขยายพันธุ์ ใช้เมล็ด
เจ็ดกำลังช้างสารเป็นสมุนไพรที่หมอยาภาคกลางนิยมใช้ในการบำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย บำรุงสมรรถภาพทางเพศ
คุณศิริรัตน์ ลดหวั่น หลานตาของหมอเนตร เสียงสังข์ หมอยาไทยที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เล่าว่าคุณตาใช้เจ็ดกำลังช้างสารเป็นยาบำรุงกำลัง ใช้ได้ทั้งดองและต้ม ดังนี้
ตำรับยาดองบำรุงเจ็ดกำลังช้างสาร
เจ็ดกำลังช้างสารทั้งห้า ตากแห้ง ๒๐๐-๓๐๐ กรัม ใส่เหล้าโรง จนท่วมตัวยา ดองทิ้งไว้ประมาณ ๒-๔ สัปดาห์ รับประทานครั้งละ ๑ เป๊ก (๓๐ มิลลิลิตร) วันละ ๒ ครั้ง เช้า- เย็น
ตำรับยาต้มเจ็ดกำลังช้างสาร
เจ็ดกำลังช้างสารแห้งทั้งห้า ๕๐ กรัม น้ำ ๓ แก้ว เคี่ยวเหลือครึ่งหนึ่ง ตักน้ำออก เติมน้ำเพิ่มในสมุนไพรหม้อเดิมอีก ๓ แก้ว ต้มจนเหลือครึ่งแก้ว เติมน้ำเพิ่มแล้วต้มใหม่ทำอย่างนี้ ๓-๔ ครั้ง สามารถใส่ขวดเก็บไว้ในตู้เย็นได้นาน
กำลังเสือโคร่ง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ziziphus attopoensis Pierre
ชื่อวงศ์ RHAMNACEAE
ลักษณะทั่วไป ไม้เถาเนื้อแข็ง มีหนามแหลมคม ใบเดี่ยว เรียงสลับ ดอกช่อออกที่ง่ามใบ สีเหลืองอมเขียว มีกลิ่นเหม็น ผลกลมมีขนสีแดง
การขยายพันธุ์ ใช้เมล็ด และตอนกิ่ง
กำลังเสือโคร่งเป็นสมุนไพรยากำลังอีกตัวหนึ่งที่หมอยาทุกภาคเรียกชื่อเดียวกัน พ่อประกาศบอกว่า ในบรรดายากำลังแล้ว กำลังเสือโคร่งเป็นยากำลังที่สำคัญมากตัวหนึ่ง ใช้เป็นได้ทั้งยาดองและยาต้ม ใช้เป็นยาเดี่ยวหรือยาผสมกับยากำลังตัวอื่นๆ ก็ได้ แต่ดูเหมือนว่า กำลังเสือโคร่งไม่สามารถเป็นยาอย่างอื่นได้ นอกจากบำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
ตำรับยาบำรุงกำลัง
ตำรับที่ ๑
กำลังเสือโคร่งทั้งห้าหั่น สับ เป็นชิ้นๆ ตากแห้ง นำมาดองหรือต้มกินบำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย
ตำรับที่ ๒
รากหรือลำต้นกำลังเสือโคร่ง กำลังช้างสารทั้งห้า รากยานางหนุ่มต้น(เอนอ้าขน) เฒ่าลืมไม้เท้า(แผ่นดินเย็น) ต้มกินต่างน้ำ ต่ำกว่า ๔๕ ปี ถ้าไม่มีโรค ห้ามกินจะกระตุ้นมาก
กำลังทรพี
ชื่อวิทยาศาสตร์ Prismatomeris sessiliflora Pierre ex Pitard
ชื่อวงศ์ RUBIACEAE
ชื่ออื่นๆ อีล่ำ
ลักษณะทั่วไป ไม้พุ่มลำต้นตั้งตรง สูง ๑-๒ เมตร ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปขอบขนาน ดอกช่อเชิงหลั่นออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีขาว เชื่อมติดกันเป็นหลอด ไม่มีก้านดอก กลิ่นหอม ผลสดทรงกลมเมื่อสุกสีม่วงดำ
การขยายพันธุ์ ใช้เมล็ด และตอนกิ่ง
กำลังทรพีมีรากสีเหลืองยิ่งกว่าขมิ้น เป็นสมุนไพรที่กินแล้วให้กำลังมากเหมือนควายทรพีในเรื่องรามเกียรติ์ วิถีชีวิตของชาวบ้านทั่วไปในภาคกลางและภาคตะวันออกแต่ดั้งเดิม มักกินยาต้มรากกำลังทรพีไป ขุดสวนไป มีแรงทำงานไม่เหน็ดเหนื่อย ไม่เมื่อยล้าจากงานหนักในไร่นา
ตำรับยากำลังทรพี
รากกำลังทรพีต้มหรือดองเหล้ากินบำรุงกำลัง หรือรากกำลังทรพี กับรากเกียงปืนต้มกิน กินจนยาจืด
กำลังวัวเถลิง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Anaxagorea luzonensis A.Gray
ชื่อวงศ์ ANNONACEAE
ชื่ออื่นๆ ช้าวัวเถลิง(ประจวบคีรีขันธ์) ชะแมบ(ตราด) ปุนทา(นราธิวาส) ปูน(สุราษฎร์ธานี)
ลักษณะทั่วไป ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๕๐-๘๐ เซนติเมตร เปลือกต้นสีเทาอมดำ มีกลิ่นฉุน เนื้อไม้เหนียว ใบรูปไข่กลับ ดอกสีขาวกลีบบาง ผลกลุ่ม เมื่อแก่แล้วเปลือกสีดำ แตกกลางผล ดีดเม็ดกระเด็นไปไกล
การขยายพันธุ์ ใช้เมล็ด
กำลังวัวเถลิงเป็นสมุนไพรที่พบมากในภาคกลาง จึงพบในบันทึกตำราทางการแพทย์ไทยภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ ในยุคที่สยามต้องเผชิญกับการล่าอาณานิคม ความพยายามที่จะรักษาเอกราชทำให้มีการขยายการศึกษาที่ใช้ภาษาไทยภาคกลางไปทั่วประเทศ และมีการส่งแพทย์หลวงจากกรุงเทพไปประจำตามหัวเมืองต่างๆ ทำให้อิทธิพลการแพทย์ภาคกลางแผ่ไปยังภูมิภาคต่างๆ ซึ่งทำให้การใช้สมุนไพรภาคกลางหลายชนิด รวมถึงกำลังวัวเถลิงแพร่ไปยังหมอยาภาคอื่นๆ
กำลังวัวเถลิงนั้นนับว่าโดดเด่นในการใช้เป็นยาบำรุงกำลัง โดยเนื้อไม้และเปลือกปรุงเป็นยาบำรุงโลหิต ทำให้ธาตุบริบูรณ์ บำรุงเส้นเอ็น แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย บำรุงกำลัง และมักอยู่ในตำรับรักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศที่หมอยาทุกภาคนิยมใช้ ซึ่งประกอบด้วยต้นหรือแก่นกำลังวัวเถลิง ต้นหรือแก่นม้ากระทืบโรง เจ็ดกำลังช้างสารทั้งห้า โด่ไม่รู้ล้มทั้งห้า นำมาดองเหล้ากิน
ตำรับยากำลังวัวเถลิง
ใช้ลำต้นกำลังวัวเถลิงต้มหรือดองเหล้ากิน หรือเข้ายากำลังตัวอื่นๆ เช่น รากกำลังทรพี ลำต้นช้างน้าว ต้มหรือดองเหล้ากิน
สมุนไพรก่อนหน้า ….
กองกอยลอดขอน … ยาพาขึ้นเขา