กระท่อมเลือด…แดงปลั่ง ให้กำลังหญิงชาย

กระท่อมเลือดแดงปลั่ง ให้กำลังหญิงชาย  โดย”พี่ต้อม”
ชื่อวิทยาศาสตร์    Stephania venosa (Blume) Spreng.
ชื่อวงศ์    MENISPERMACEAE
ชื่ออื่นๆ   บอระเพ็ดยางแดง(ใต้) กลิ้งกลางดง กระท่อมเลือด(ตะวันออกเฉียงเหนือ) เป้าเลือดโห  ยาปู่หย่อง
ลักษณะทั่วไป   ไม้เถา พันเลื้อย อายุหลายปี ยาวได้ถึง ๕ เมตร ขนาดของหัวกว้างได้ถึง ๔๐ เซนติเมตร ผิวมีตุ่มเล็กๆ คล้ายหัวเข็ม ใบรูปไข่แกมสามเหลี่ยมกว้าง เส้นใบแบบร่างแห เมื่อหักก้านใบจะมียางสีแดงเหมือนเลือด
การขยายพันธุ์    ใช้เมล็ดและรากที่คล้ายหัว

กระท่อมเลือด ยากำลัง คงกระพันชาตรี
ครั้งแรกที่เห็นกระท่อมเลือดในป่านาดีเมื่อเกือบสามสิบปีก่อน รู้สึกตื่นเต้นมากเพราะที่เล่าเรียนมาจากคณะเภสัชฯ ไม่เคยพบเคยเห็นต้นไม้อะไรที่หัวใหญ่มากขนาดนี้  มีเส้นผ่าศูนย์กลางราวครึ่งเมตรได้ แถมกิ่งก้านใบมีเลือดไหลออกมาอีกต่างหาก พ่อเม่าเรียกต้นนี้ว่า ท่อมเลือด และบอกว่าเวลาเดินป่าถ้าไม่มีน้ำกิน ก็ตัดเถาสบู่เลือดออกมากินน้ำสีแดงๆ นี้ได้  พ่อเม่ายังบอกว่า ท่อมเลือดมีอยู่สองชนิด คือ ตัวผู้และตัวเมีย ตัวผู้จะมีหัวยาวๆ  ใช้ทางคงกระพันชาตรี โดยนำหัวและก้านกินกับเหล้า ทำให้อยู่ยงคงกระพัน ถูกเฆี่ยนตีไม่เจ็บ ทั้งยังใช้น้ำยางสีแดงนำไปเป็นหมึกสักยันต์ตามตัวเพื่อให้หนังเหนียว ส่วนตัวเมียหัวจะกลมๆ นิยมนำมาทำเป็นยาบำรุงเลือด บำรุงร่างกาย บำรุงกำหนัด ใช้ได้ทั้งนำมาเคี้ยวสดๆ หรือต้มกิน ดองกิน
เมื่อมีโอกาสได้พบหมอยาท่านอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหมอยาอีสาน ท่านเหล่านั้นก็ใช้กระท่อมเลือดในลักษณะเดียวกัน แม้จะใช้ไม่มากเท่ากับเถาวัลย์เปรียง เครือเขาแกบ หรือตาไก้ ซึ่งน่าจะเป็นเพราะกระท่อมเลือดหายากกว่า แต่ทุกคนก็พูดถึงประสบการณ์การใช้กระท่อมเลือดเป็นยาบำรุงว่า ได้ผลดียิ่งในการฟื้นฟูร่างกายจากความอ่อนเพลีย หน้าซีด ไม่มีแรง

กระท่อมเลือด สวยจนทำให้ชายเป็นบ้า
หมอยาที่เชี่ยวชาญในการใช้กระท่อมเลือดมากที่สุดกลุ่มหนึ่งคือ หมอยาไทยใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเรียกกระท่อมเลือดว่า เป้าเลือดโห และใช้กระท่อมเลือดในทางแก้เลือดลม ลดความดัน บำรุงผู้หญิง ใช้แก้เบาหวาน ผสมกับยาอื่นๆ ทำให้ง่วงนอน เข้ายาได้ทุกอย่าง มีการใช้ทั้งต้มกิน ทำเป็นผง หรือทำเป็นยาดองก็ได้
พ่ออนุหมอยาไทยใหญ่ท่านหนึ่งเรียกว่า ยาปู่หย่อง เวลาที่ไปเจอผู้หญิงบ้านไหนผอมแห้ง หน้าตาซีดเซียวไม่มีน้ำไม่มีนวล พ่อมักจะถามว่าแถวนี้ไม่มียาปู่หย่องหรือ  ยาปู่หย่องของพ่ออนุก็คือ กระท่อมเลือดที่ขึ้นตามหน้าผาหินปูน แล้วพ่ออนุจะแนะนำให้สาวเจ้านำเอาหัวของยาปู่หย่องมาต้มอาบต้มกิน แต่ดูเหมือนในการใช้เป็นสมุนไพรรักษาอาการซีดเซียวไม่มีเรี่ยวแรงของผู้หญิงนั้นค่อนข้างจะซับซ้อนอยู่บ้าง ลองพิจารณาจากตำรับยาที่ให้ไว้ดูเถอะ ดังนั้นการใช้สมุนไพรตัวนี้จึงต้องระมัดระวังสักหน่อย

ตำนานยาปู่หย่อง

การใช้กระท่อมเลือดของคนไทยใหญ่ ยังมีการผูกเรื่องเป็นนิทานสนุกๆ เล่าสืบทอดกันมาช่วยให้จดจำสรรพคุณของยาปู่หย่องได้ไม่มีลืม ดังที่พ่ออนุเล่าให้ฟังว่า
กาลครั้งหนึ่งมีสองผัวเมียชาวไทยใหญ่คู่หนึ่ง  เมียนั้นผ่ายผอมจนติดฟาก (พื้นกระท่อม) ร่างกายอ่อนแอจนเกือบเสียชีวิต ผัวจึงตัดสินใจทิ้งเมียหนีไป ฝ่ายแม่ยายสงสารลูกสาวเป็นกำลัง จึงเข้าป่าไปหายา แล้วตั้งจิตอธิษฐานบนบานเจ้าป่าเจ้าเขา ขอให้พบตัวยาไปรักษาลูกสาว ตกดึกเทพยดาอารักษ์แถวนั้นมาเข้าฝัน บอกให้ไปหาต้นไม้ที่หน้าผา ถ้าพบต้นไหนมีรากเป็นหัว แล้วมีกิ่งก้านเลื้อยออกมา  ให้ลองหักกิ่งดูหากมีเลือดไหลออกมา ให้เอาต้นนั้นมาทำยา  ผู้เป็นแม่จึงดั้นด้นออกค้นหาต้นไม้ตามความฝัน ในที่สุดก็ไปพบต้นไม้ที่มีหัวใหญ่ มีใบที่หักแล้วเลือดไหลออกมา  จึงนำหัวของสมุนไพรนั้นไปต้มให้ลูกสาวอาบกิน ลูกสาวก็หายวันหายคืนกลับมาจิ้มลิ้มพริ้มเพรายิ่งกว่าเก่า ชายผู้เป็นผัวรู้ข่าวก็อยากได้เมียคืน แต่เมียไม่ยอมคืนดีด้วย ทำให้ผัวเสียใจจนเป็นหย่อง คนจึงเรียกว่า ปู่หย่อง ซึ่งคำว่า หย่อง ในภาษาไทยใหญ่หมายถึง บ้า


กระท่อมเลือดกับการวิจัยสมัยใหม่
ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยกระท่อมเลือดเพื่อใช้เป็นยาป้องกันโรคอัลไซม์เมอร์ เนื่องจากในกระท่อมเลือดมีสารที่มีคุณสมบัติยับยั้งเอนไซม์ Acetylcholine esterase รวมทั้งเพื่อพัฒนาเป็นยาต้านมะเร็งด้วย
คนโบราณนั้นฉลาดหลักแหลม มักมีตำนานเกี่ยวกับสมุนไพรมาเล่าให้พวกเราได้จดจำ ทั้งยังแฝงคติสอนใจอย่างเรื่องปู่หย่อง ที่ทำให้ซาบซึ้งในความรักของผู้เป็นแม่ และสอนคู่ผัวตัวเมียให้จริงใจต่อกันไม่ทอดทิ้งกันในยามยากอีกด้วย

ตำรับที่ ๑ ยาบำรุงเลือดของพ่ออนุ
นำหัวมาแบ่งเป็น ๖ ชิ้น วันที่ ๑ นำมา ๓ ชิ้น เอามาต้มน้ำให้พออาบ แล้วเอาตัวยาพักเก็บไว้ วันที่ ๒ นำมา ๓ ชิ้น เอามาต้มน้ำให้พออาบ แล้วเอาตัวยาพักเก็บไว้ วันที่ ๓ นำตัวยาจากวันที่ ๑ และวันที่ ๒ เอามาต้มนำพออาบ ก่อนอาบกิน ๓ อึกทุกครั้ง
ตำรับที่ ๒ ยาบำรุงเลือด เลือดแห้ง อ่อนแอ หน้าเผือก ของพ่อติ๊ 
นำหัวมาหั่นสามชิ้น ชิ้นแรก ต้มใส่น้ำพออาบน้ำ ๔ ลิตร ต้มอาบ เติมน้ำต้มต่ออีก ๓ วัน พักยกไว้ ชิ้นสอง ต้มใส่น้ำพออาบน้ำ ๔ ลิตร ต้มอาบ เติมน้ำต้มต่ออีก ๓ วัน พักยกไว้ ชิ้นสาม ต้มใส่น้ำพออาบน้ำ ๔ ลิตร ต้มอาบ เติมน้ำต้มต่ออีก ๓ วัน พักยกไว้ วันที่ ๑๐ เอาทั้ง ๓ ชิ้นมาต้มรวมกัน เป็นอันจบการรักษา ก่อนอาบกิน ๓ อึกทุกครั้ง
ตำรับที่ ๓ ยาบำรุงของพ่อประกาศ  ใจทัศน์
หัวกระท่อมเลือด รวมกับหัวกลิ้งกลางดาน รากฮางหนาม รากสามควาย เปลือกแก้มอ้น นำมาต้มกินเป็นยาบำรุงเลือดลมที่ดีมาก แก้เลือดลมไม่ดี มะเร็ง(พ่อประกาศบอกว่าหัวของกระท่อมเลือดและหัวกลิ้งกลางดานช่วยคุมมะเร็ง)
ตำรับที่ ๔ ยาดองบำรุงกำลังของพ่อเม่า หรือพ่อบุญมี  ได้ฤกษ์ 
หัวกระท่อมเลือด รากสุรามะริด เถาสะค้าน รากพังคี ดองหรือต้มบำรุงกำลัง
ตำรับที่ ๕ ยาดองบำรุงกำลังของพ่อเม่า หรือพ่อบุญมี  ได้ฤกษ์ 
ฝานหัวกระท่อมเลือดตากแห้ง  ๑ กำมือ ต่อเหล้า ๑ ขวด กินครั้งละ ๓๐ มิลลิลิตร
ตำรับที่ ๖ ยาบำรุงของพ่อลายแสง 
ฝานหัวตากแห้งปั้นลูกกลอนขนาดเท่ากับผลมะเขือพวง กินครั้งละ ๑ เม็ด ก่อนนอน

ปิดการแสดงความเห็น