“เดินป่ามานานแล้ว จะได้รู้จัก ‘ตำดิน กินน้ำ’ กันก็คราวนี้”
– พระอาจารย์แดง วัดมกุฏคีรีวัน –
เพราะฝนขาดช่วง ตั้งแต่กันยายนปีที่แล้ว จนล่วงเข้าปลายกุมภาพันธ์ที่มาถึง ผาด่านช้าง วันนี้เราจึงพบว่าไม่มีสายน้ำชุ่มฉ่ำใสเย็นอย่างเคย ไม่มีแม้สายน้ำน้อยๆ ไหลระริก ถึงกับไม่มีน้ำหยดใดยอมไหลออกจากแอ่งของมัน ทุกหยดขังนิ่งในแอ่ง บางแอ่งขุ่นเน่าเป็นฟอง บางแอ่งใสนิ่งแต่เป็นความใสอันบอบบางพร้อมจะขุ่นข้นหรือแห้งขอดลงทุกเมื่อ
………แม้ผมจะเคยอยู่บนดอยที่ไม่มีแหล่งน้ำเลย ก็ยังแทบจะเดินกลับ ถ้าไม่ใช่เพราะ……….
ครูนพ ให้เราเลือกใช้น้ำจากแอ่งที่ใส หาวิธีจัดการอย่างรอบคอบที่สุด ไม่ให้น้ำจากแอ่งน้ำใช้ไปเปื้อนแอ่งน้ำกิน น้ำดื่มทุกขวดต้องผ่านการต้ม เราจึงต้องแบ่งกำลังคนออกหาฟืนก่อไฟต้มน้ำเป็นวาระเร่งด่วน แบ่งหม้อสนามกว่าครึ่งมาไว้ต้มน้ำ น้ำเดือดทิ้งไว้สักพักจึงกรอกใส่ขวด พอหม้อน้ำว่างก็นำไปบรรจงตักน้ำมาต้มรอบใหม่ไม่ให้ขาด ส่วนการอาบน้ำนั้นทุกคนรู้ดีว่าไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะคิด…กลิ่นตุๆ โชยมารึยังครับ?
“น้ำต้มร้อนๆ แก้กระหายดีนัก”
ขณะน้องเปรี้ยวกรอกน้ำต้มรอบแรกใส่ขวด ครูนพ เริ่มชี้แจงให้คนที่ยังอาลัยอาวรณ์น้ำดื่มเย็นชื่นใจ หลายคนฟังครูพูดแล้วนึกถึงคนจีนที่มักดื่มชาร้อนแก้กระหาย ท่าจะจริงดังคำครู
“ดับกระหายได้ดี เพราะปากจะพอง….”
ครับ ถูกต้องที่สุ…ดะ..ดะ..เดี๋ยวนะ ครูเริ่มก่อนเลยนะครับตั้งแต่ยังตั้งแคมป์ไม่เสร็จดี
คุณหมอแผนไทย ๕ คน จากร้านโพธิ์เงินและเดย์สปา “หมอนก หมอเซิร์ฟ หมอเปรี้ยว หมออาย และหมอพิม” มาเป็นทั้งแขกทั้งลูกค้า แล้วยังต้องมาดูแลพวกเราอีกด้วย..ทำเกินหน้าที่ป่ะเนี่ย? หมอเซิร์ฟ จัดเสบียงข้าวสาร หมู ผัก ปลามาครบครัน มีไก่หมุน ๒ ตัวมาให้กินมื้อเที่ยงและยังทำอาหารเย็นวันแรกให้กินด้วย ปลากระป๋องก็มีหลากหลายทั้งซีเล็ค ซีกลาง ซีใหญ่..ตะลึ่ง..โป๊ะ (นี่คือมุกที่หน้าด้านที่สุดของทริป ..ราคาถูกกว่าปลากระป๋อง..)
นอกจากนี้ ตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึงเช้าทั้งสองคืน คุณหมอๆ ยังจัดเวรยามเฝ้าแคมป์ เป็นสามกะ รับผิดชอบหน้าที่อย่างน่านับถือ ผิดกับพวกสาวแก่วัด ถ้าไม่ใช้ไม้ตายมันไม่ตื่นมาเด็ดขาด
เมื่อลำธารไม่มีน้ำให้เล่น อากาศช่วงวันก็ร้อนแล้ง ต้นไม้ผลัดใบจนโปร่งโล่งมีเพียงใบไม้แห้งกรอบปูเต็มพื้น น้ำตกมะนาวยักษ์ ก็เห็นทั้งน้ำตกในอดีตกับในอนาคต แต่ยกเว้นน้ำตกในปัจจุบัน อีกคลองนึง ลำธารลูกปิ๊นชิ่ง..เห้ย!..ลูกปิ๊งชิ่น..เห้ย!..ลูกชิ้นปิ้ง..เห้ย!..ถูกแล้ว!..ยิ่งแห้งสนิท..ไป..ไปเล่นตรงโน้นไป!
ริมหน้าผาด่านช้าง จึงเป็นสิ่งปลอบประโลมเดียวที่เหลือในช่วงสามวันนี้ ยามพระอาทิตย์ตกยังมีฝูงนกเงือกบิน โฉบ เกาะต้นไม้ตามวิถี ลมเย็นๆ พัดยามใกล้ค่ำและแดดอุ่นๆ ยามเช้าอาบทาหุบผา ผืนป่าและขุนเขาทะมึนตรงหน้าเป็นบรรยากาศงดงามที่หน้าผามอบให้ผู้มาเยือน
และครั้งนี้..หน้าผายังเป็นที่ รวมมุกแป้ก มุกเหงา มุกห้าบาทสิบบาท ไว้มากมาย
“ไปเล่นที่หน้าผาโน่นเลย ไป๊!”
เสียงน้องเปรี้ยวคนสวยยย เชิญใครที่ยิงมุกฝืดให้ไปเล่นเป็นที่เป็นทาง คนที่โดนไล่บ่อยสุดเห็นจะเป็น..โต๋...โต๋ว่า..โต๋งงนะ…โดนเมื่อไหร่ง่ะ..ใส่ร้าย...อีกคนก็ พี่สอง พวกว่าที่เขยแผนไทย พอมีหมอๆ แผนไทยมาด้วย คงไม่กล้ายิงมุกเด็ด กลัวไปเข้าหู...เดี๋ยวงานจะเข้าตัว ขนาดหลับยังละเมอแต่ “ครับ ครับ ครับ” หรือกล้ายิงแต่มุกบาทสองบาทออกมา
ส่วนผมไม่ค่อยโดนนน…หราาาา???…..
ตรงข้ามกับครูติ๋วที่เป็นคู่ดูโอ้กับเปรี้ยว มักบอกด้วยความเป็นห่วง..
“ข้ามห้วย ระวังลื่นนะคะ” ทีแรกงง ไม่นานจึงรู้ว่ามันเป็นการไล่บรรดามุกแป้กทั้งหลายอย่างนุ่มนวลว่า
“ข้ามไปเล่นฝั่งโน้น นะคะ” ถือว่าใจดีแล้วล่ะ มีเป็นห่วงเป็นใยด้วย
คู่หูทั้งสอง แม้จะไม่เล่นทั้งมุกฮาหรือมุกห้าบาทสิบบาท แล้วยังเป็นคอมเมนเตเตอร์คอยสกัดมุกไม่ลงทุนทั้งหลายออกจากระบบอีก แต่สิ่งที่พวกเธอมอบให้คือความสุข (สะใจ) แด่ทุกคน…ตอนพวกเธอโดนรุมแต่งหน้าแต่งผมแต่ละที..ดูแล้วฟิน..
ประธานนกหวีด เพิ่งกลับจากงานติดยิ้มที่อุตรดิตถ์สัปดาห์ก่อน ไปไงมาไง ไปรู้จัก น้องนุช เพิ่งรู้จักก็ชวนกันมาเดินป่า นุชก็มา ให้มาลงปากช่องตอนค่ำที่แต่มีพี่ๆ ผู้ชายไปรับมานอนบ้าน ถามว่าพี่ๆ กับนุชรู้จักกันมั้ย? ตอบ…ไม่เลย.. นุชรู้จักแต่นกหวีดที่ยังอยู่ปราจีนโน่น..ผมขอถามเธอสั้นๆ ตรงนี้แหละ..ทำไมกล้ามา? (วะ)
ได้รู้เบื้องต้นจากนกหวีดว่า นุชเป็นคนสงขลา เคยไปอยู่ปีนังค่อยมาเรียนครูที่ขอนแก่น เมื่อได้พบเท่านั้นแหละ เราไม่เห็นความเป็นสงขลาหรือปีนังในตัวเธอเลย แต่ความเป็นขอนแก่นงี้..มาเต็ม
“ทำไมต้นไม้มักมีตุ่มๆ คะ?” ครูฝึกหัดสาวถามระหว่างเดินดูอดีตลำธารน้อยใสเย็น
“ตุ่มที่เห็นมันคงเคยเป็นหนามมาก่อน ต้นไม้มีหนามเพื่อป้องกันตัวน่ะครับ” ผมตอบตามที่รู้แต่ดูเหมือนน้องนุชยังไม่พอใจคำตอบ
เฮ้อออ ก๊ะได้.. “มันมีไว้ใช้เก็บน้ำครับ เพราะตุ่มมันเก็บน้ำได้” น้องนุชชอบใจคำตอบครับ แต่ผมต้องแลกกับการโดนยัยคู่ดูโอ้มองด้วยหางตาเหยียดหยาม
“กูว่าแล้วต้องมีมุกนี้…” มันพากันพึมพำ “หนูว่าพี่เล่นอยู่นี่แหละ ไม่ต้องไปไหน” (เห้ย..ทำไมใจดีอ่ะ ไม่โดนไล่) “เดี๋ยวพวกเราไปเอง จะกลับแคมป์ละ”
เห็นอย่างนี้ ตลอดสามวันน้องนุชโดนตามจีบเข้าเป็นสมาชิก พรรคกวางเขย่ง อย่างไม่ลดละ อาศัยที่เธอมีความใสซื่อ บริสุทธิ์เป็นเกราะคุ้มกัน เลยยังรอดมาได้…คนจะเป็นครูสมัยนี้เค้าคัดเฉพาะใสๆ งี้ทุกคนรึงัย? ยังไงครูนุช ก็อย่าลืมสอนนักเรียนนะครับว่า เวลาทำการบ้านถ้าได้ยินเสียง ‘กร๊อกกก กร๊อกกก’ อยู่บนต้นไม้ให้รีบปิดสมุดไว้ เพราะพวกมัน..กะลอก..
พรรคกวางเขย่ง.. พรรคที่เติบโตเร็วที่สุดในยุคนี้ พี่เก่ง หัวหน้าพรรคนอกจากมีฝีไม้ลายมือการทำอาหารและตกปลาหาจับตัวยาก ก็ยังพัฒนาพรสวรรค์ทางดนตรีจากที่เล่นกีตาร์ไม่ค่อยจบเพลงเดี๋ยวนี้เล่นได้ทั้งอัลบั้ม ที่หัดเล่นเป็นพิเศษช่วงนี้คือเพลงของมาลีฮวนน่า (อาจเพราะเอาใจลูกพรรครุ่นใหม่ที่ผูกพันกับทางภาคใต้)
“ฉัน..มันแค่ไอ้เด็กบ้านนอกคนหนึ่ง…ตะแล็ง..ตะแล็ง..(เสียงกีตาร์) ที่หวัง..ปีนป่ายจุดหมายปลายฟ้า….” เพลงหมาล่าเนื้อ เริ่มบรรเลงใต้แสงกองไฟยามค่ำ หลายคนร้องได้ก็ร่วมร้องตาม… แต่พอถึงตอนตะเบ็งท่อนฮุค…
“มัวหลงเมืองศิวิไลซ์ หลงแสงไฟหลากสีแพรวพราว….” คนที่กำลังร้องถึงกับหยุดกึกพร้อมกันโดยมิต้องนัด ใครกลั้นขำไม่อยู่ก็ปล่อยพรืดออกมา รอไม่นานค่อยมีเสียงตัดพ้อเบาๆ ของน้องเปรี้ยวลูกพรรคคนสำคัญ…
“พวกนี้อ่าาา..ชอบแกล้งคนสวยยย”
‘…ต้นไทร เป็นเหมือนเซเว่นของป่า…’
ระหว่างทางเดินป่าสั้นๆ เลาะหุบห้วยในสายวันหนึ่ง พี่หวานหยุดแหงนต้นไทรยักษ์ร่มครึ้ม
“เขาบอกว่า ต้นไทร เป็นเหมือน ‘เซเว่น’ ของป่า…..
….แต่พี่ดูแล้วไม่เห็นมันจะมีฟิชโช่ ทาโร่ เลยซักซอง..”
หวีด นุช เปรี้ยว ติ๋ว นุ่น และผม กำลังฟังถึงกับสตั๊นท์หลายวิ ก่อนจะลั่น คิดไม่ถึงว่าไอ้พี่หวานมันจะยิงมุกด้วยสีหน้าเดียวกับตอนมันสอนสมุนไพร
อารมณ์ขัน คงเป็นเครื่องมือหลักที่เราใช้สู้กับความแห้งแล้งในป่า แต่เมื่อดูจากสถิติ แม้จะเห็นว่าเรามีมุกฮาไม่ค่อยขาดก็จริง แต่มุกที่ถูกจัดว่าห้าบาทสิบบาทกับมุกสตั๊นท์นั้นมีมากมายก่ายกองเรี่ยราดกลาดเกลื่อน สรุปว่าที่สู้ความแห้งแล้งของอากาศได้ก็เพราะมุกของเรามันแห้งแล้งกว่าเหรอเนี่ย?
ย้อนกลับไปเรื่องครูฝึกหัด ขณะที่ฟังครูนพ ครูนุช ครูติ๋วกำลังแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน พี่นิมป้อนคำถามใส่ในวง
“ครูฝึกหัดเดี๋ยวนี้ยังถือไม้ทีด้วยป่าว?”
“ก็ยังมีบ้าง” ครูๆ ตอบกลับ
“ดีนะ ไม่ขี่แพะด้วย”
.
.
.
. (สตั๊นท์)
“คืออะไรคะ พี่นิม” น่าจะเป็นครูติ๋วถามเผื่อจะได้รู้ความหมายลึกๆ ของข้อความ
“เออ..เออ..ช่างมันเหอะ” บรรยากาศเริ่มกรุ่นกลิ่นไหม้มาแระ “ก็..เอิ่ม… ‘ไม้ที ขี่แพะไล่’ งัย” เสียง นิมตอบคำพังเพยอย่างเจื่อนๆ เมื่อรู้ตัวว่ามุกนี้ทำให้ตัวเองได้เป็น ผู้ครองถ้วยมุกสตั๊นท์แห่งปี
จากที่มีการเจ็บตัวเจ็บใจใน มหกรรมห้าบาทสิบบาทครั้งนี้ คนที่ถูกหลายคนอิจฉาคือ นุ่น หนุ่มที่คาดเดาเพศจากชื่อหรือคาดเดาอายุจากใบหน้าไม่ได้ เขามีหน้าเข้มๆ เหี้ยมๆ จนสองคู่หูไม่(กล้า) เอ่ยไล่ แต่ผมเห็นว่า แท้จริงจิตใจอ่อนโยนนะ กระตือรือร้นเมื่อพบสิ่งใหม่ๆ ถ้าจีบมาฝึกอีกนิดเอาไว้สกัดพวกคอมเมนเตเตอร์ในคราวหน้าท่าจะดี
ป่าแล้งๆ ครั้งนี้สอนเราให้ได้เรียนรู้หลายสิ่ง…
– หลายคนลืมไปแล้วว่า การต้มน้ำในป่าก่อนดื่ม เป็นวิธีที่ปลอดภัยก็เพราะเราคุ้นเคยกับป่าอุดมสมบูรณ์มีน้ำสะอาดไม่ขาดสาย
– หมอๆ อาจเพิ่งเคยรู้ว่าขี้เถ้า ใช้ล้างคราบมันจากจานชามได้ดีและคงลืมไปด้วยเหมือนกันว่า ขี้เถ้าเป็นสิ่งที่สะอาดมาก (แม่ที่เอาขี้เถ้ายัดปากลูกเพราะต้องการให้ลูกได้สิ่งที่สะอาดที่สุด…มุมมองแง่ดีจากหมอผู้เข้าใจโลกคนไหนผม ไม่กล้าเอ่ยชื่อ..เดี๋ยวจะกระเทือนหน้าที่การงาน ฮาๆๆ)
– รุ่นพี่ๆ ได้เรียนรู้ว่า การเดินป่าที่ลูกพี่ใหญ่ยังไม่สามารถมานำขบวนได้นั้น ตนเองจะต้องฝึกฝนด้านใดบ้าง เราอาจยังต้อง แอบดูคอร์ดเพลง ที่โต๋โหลดใส่สมาร์ทโฟนเพื่อให้ค่ำคืนไม่เงียบเสียงดนตรีแม้เพลงที่บรรเลงไม่ไพเราะเท่าเพลงของลุงแขก และจะมีสักกี่คนรู้ว่า ทางเดินบนเขาที่เราเดินเข้ากับเดินออกมันคนละทาง ดีที่เป็นเส้นทางสั้นและง่าย ถ้าซับซ้อนกว่านี้เราจะไปและกลับกันเองยังไง?– ผมเองเช่นกัน แต่ละทริปจะพบความผิดพลาดของตัวเองเสมอ อย่างครั้งนี้ นิดนึงผมก็ยังพบว่า ผมไม่ได้ไปดูแลครูที่ริมหน้าผาในเย็นนึงที่ครูพาหมอและเด็กๆ ไปชมหน้าผา แต่เรารุ่นพี่อยู่ที่แคมป์ จริงอยู่ว่าต้องทำอาหาร นิม เก่ง นั่นคือพ่อครัว ก็ควรเป็นผมช่ะ? ที่ต้องดูแลอย่าให้ครูได้รับความปลอดภัย (หืม..ว่าใหม่ดิ๊..) ที่ไปดูแลครูก็มีแต่ นุ่น กับ..เอ่อ…ก๊อตด้วยป่าวน้า??? รึมันอยู่ที่แคมป์ด้วย? ไอ้เจ้านี่มันเกิดมาให้คนลืม..จำมันไม่ได้ซักที ไม่ต้องเสียจัยนะก๊อต ทุกคนจำมุกเป็นร้อยของเอ็งได้ดี..ไอ้นี่เล่นมุกลงทุน..แต่ค่าเหล้าน่ะของครูนพ..
สุดท้าย ถ้าจะมีใครบอกว่าเป็นความโชคร้ายของพวกเราทุกคนที่เจอทริปลำบากแห้งแล้งอย่างนี้ก็ขอให้เขาสบายใจในความโชคดีของตนเถอะ ส่วนเรา ถ้าความแห้งแล้งมันสอนให้มองเห็น ‘คุณค่า’ ของความสมบูรณ์ ครั้งต่อไป เมื่อเราได้พบน้ำใสป่าเขียว เราจะเห็นว่าน้ำนั้นใสฉ่ำเย็นกว่าที่เคยและป่านั้นเขียวขจีกว่าที่คนอื่นมองเห็น สายตาและจิตใจนี้มันเป็นสมบัติของพวกเราแล้ว และเป็นของคนที่ผ่านการดำรงชีพในป่าแห้งแล้งมา อย่างพวกเรา…เท่านั้น…
– สิบห้าบาท –
๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙