นี่ไม่ใช่ตำราเดินป่าหน้าฝนและประพฤติการที่เกิดขึ้นในการเดินทางนี้สุดแท้แต่ใครเลียนเยี่ยงหรือเอาอย่าง แต่ผู้บันทึกไม่ขอให้คำแนะนำใดๆ
“ห้วยน้ำซับ” หนึ่งในต้นน้ำบนเขาใหญ่มีต้นกำเนิดจากทิศเหนือของเทือกเขาเขียว เป็นคลองน้ำหลากเล็กๆ หลายเส้นไหลผ่านทุ่งเขาเขียวรวมกันไหลลงใต้ยกระดับเป็น“คลองน้ำซับ” ไหลต่อมาเป็นน้ำตกผากระจาย ผาชมพูและผาตะแบกตามลำดับ ก่อนไปรวมกับห้วยนางรอง ลงน้ำตกนางรองไป
ปีพ.ศ. 2547 เดือนสิงหาคม กลางฤดูฝนอันเป็นฤดูท่องเที่ยวของเรา ดูเหมือนเราจะมีฤดูท่องเที่ยวปีละ 6 ฤดู อันมีฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูมาไม่ปกติ รวมความคือเที่ยวมันทั้งปีและอาจจะทั้งชาติ…หมายความว่าทั้งชาติไทยเนี่ยเราจะเที่ยวให้หมด เรื่องทำมาหากินนั้นไม่ค่อยคำนึงกัน เพราะมีคนหลายคนเขาคำนึงให้เช่นเมีย เจ้านายและอื่นๆ ในครั้งนั้น ณ จุดที่เราตั้งแค้มป์คือบริเวณที่คลองน้ำซับมีห้วยสาขา(ซึ่งไม่ปรากฏชื่อในแผนที่) ไหลมารวม เกิดเป็น“คลองสามแยก”
ถ้าจะเดินทางไปจุดนี้ทางน้ำ จากบนเขาใหญ่ก็ไปจอดรถไว้ที่ที่จอดรถผาตะแบกแล้วเดินย้อนกลับไปจนถึงสะพานที่เพิ่งข้ามมานั่นแหละ จากนั้นกระโดดลงห้วยใต้สะพานนั้นเลย ถ้าไม่ต้องการบาดเจ็บมากนักก็ค่อยๆ ปีนลงไป เดินทางเลาะตามคลองน้ำซึ่งจะไม่ค่อยได้เดินแต่จะต้องปีน ป่าย โหน คลาน เพราะน้ำที่เชี่ยวในฤดูฝนและลักษณะคลองน้ำยังเป็นโขดหินใหญ่ สองข้างลำน้ำเป็นหน้าผาหินสูงชันดังจะเห็นได้จากชื่อผาต่างๆ แถวนั้น ไหลไปตามน้ำพอได้แผลสองแผลแลเห็นวังน้ำปั่นป่วนเพราะมีห้วยสาขามาบรรจบก็ให้รีบตีลังกาตามแรงน้ำเชี่ยวแล้วคลานขึ้นบกด้านขวามือถ้ายังไม่งงจนหลงซ้ายหลงขวา ก็จะเจอจุดตั้งแค้มป์ หรือจะให้ง่ายไปกว่านั้นก็ให้เริ่มเดินจากที่จอดรถเข้าไปในป่า พอเจอทางน้ำก็ค่อยๆเดินตามน้ำไปสัก 15 นาที ไม่ต้องงง อ่านว่าสิบห้านาที เห็นห้วยจากฝั่งตรงข้ามไหลมาบรรจบคลองหลักเห็นเป็นสามแยกแล้วก็เดินข้ามไปถึงจุดตั้งแค้มป์เหมือนกันแต่สบายกว่าเยอะ
การเดินทางสั้นๆ ครั้งนั้นก็ยังมีความยาก ที่พบอย่างแรกคือจุดพักแรมนั้นรกไปด้วยดงปาล์มและกอหวาย พื้นเป็นโคลนเลนไม่มีที่แห้งโล่งให้วางแค้มป์ได้เลย เราจึงต้องส่งหน่วยทะลวงฟันอย่างเอ๊ด อโศก นาวาอากาศเอกยุทธ(ในอนาคต) พี่โก๊ะและพี่ยุดมะเน็ด(นามอันเป็นมงคล มอบโดยอาจารย์ปู่) ไปแผ้วถางก่อน สมาชิกวีไอพีอาทิอาจารย์นพ ป้าอ้อยใหญ่ เฮียหน่อง หมออุ๊ อยู่พักรอที่ลานหินริมน้ำพร้อมบรรดาที่มาเป็นคู่ๆ คือ เก่ง-น้อง โอ๋-เติ้ล และบีกะเมีย เมียเจ้าบีคนนี้เราจำชื่อไม่ได้เพราะมันเปลี่ยนไปเรื่อยไม่ได้เปลี่ยนชื่อเมียนะ มันเปลี่ยนคนเลย
บนต้นไม้ที่แผ่คลุมหัวเรานั่นเองปรากฏว่ามีสมาชิกที่ไม่ใช่พวกเราขดแน่นิ่งผึ่งแดดรออยู่ เป็นงูเหลือมขนาดเท่าเรียวขาสาวๆ ขดอยู่เหนือหัวใครมันไม่ขด ดันขดอยู่ตรงหัวอาจารย์นพที่เห็นงูเป็นต้องช็อคตัวแข็งเป็นหินเหมือนเห็นเมดูซามาเอง หลายคนเห็นก็ไม่กล้ากระโตกกระตาก ต้องเหลือบตาดูแล้วเฉยไว้ มันคงมาหาอาบแดด หรือรอเรือข้ามฟาก หรือรอเราแผ้วถางที่ให้มันนอนก็เป็นได้
เมื่อหน่วยทะลวงฟันบุกเบิกทางได้ ทุกคนก็ต้องเข้ามาช่วยกันตั้งแค้มป์อยู่ดี เพราะพื้นทีรกและลื่นมาก พื้นที่ผูกเปลก็ต้องถางไม้ที่พื้นให้โล่ง พื้นที่กางเต็นท์และตั้งแคมป์ใหญ่ที่เป็นผ้ายางปูนั้นต้องใช้ใบไม้และกิ่งไม้เล็กปูที่พื้นโคลนก่อนจึงปูผ้ายางทับป้องกันน้ำซึมขึ้นมาบนที่นอนได้บางส่วน เต็นท์ใหญ่นี้อยู่จุดสูงสุดของแค้มป์ หน้าเต็นท์หันหาคลองน้ำมีกองไฟอยู่ตรงหน้า ปีกซ้ายของเต็นท์เราใช้ขอนไม้ใหญ่ท่อนหนึ่งวางทำมุมฉากกับหน้าแค้มป์ล้อมกองไฟไว้เป็นที่นั่งอย่างดี ทางขวาเป็นเปลคนโสดพอใช้นั่งล้อมวงได้ และเต็นท์คนมีคู่พอได้มีความเป็นส่วนตัวจู๋จี๋ได้ โดยเปิดด้านที่จะเดินลงห้วยไว้เพื่อจะได้เดินขึ้นลงห้วยอย่างสะดวก ถ้าใครเสียหลักลื่นก็ลงไปที่ห้วยได้เลย
สิ่งสำคัญอันดับหนึ่งคือกองไฟ เราใช้ท่อนไม้ขนาดเท่าด้ามไม้กวาดวางเรียงกันเป็นฐานรองบนพื้นดินเปียกก่อนแล้วก่อกองไฟเหมือนที่เคยทำบนฐานไม้นั้น เมื่อกองไฟกล้าพอที่จะอยู่ได้มันอาจไหม้ฐานไม้บ้างแต่พื้นดินใต้กองไฟก็แห้งแล้วจึงไม่เป็นปัญหากับกองไฟ
อาหารการกินนั้นแทบไม่ต้องห่วงเพราะนอกจากจะมีป้าอ้อยใหญ่ดูแลครัวแล้ว ยังมีบรรดาเมียๆ ที่มาด้วยผลัดเปลี่ยนกันอวดฝีมือที่ไม่ได้กินได้เฉพาะแควนตัวเองเท่านั้น
ครั้งนี้เจ้าเอ๊ด โอ๋และเพื่อนไปได้ไอเดียเอาใส้ตะเกียงมาทำเชือกเปลด้วยความที่มันหนา กว้างกว่าเชือกเปลที่ใช้อยู่จึงอยากทดสอบ ซึ่งมันย่อมไม่เห็นใครจะเหมาะกว่าหมออุ๊ เจ้าเอ๊ดมานำเสนอทั้งสาธิตเหมือนเซลขายเครื่องดูดฝุ่นจนหมออุ๊ใจอ่อนยอมให้มันเปลี่ยนสายเปลเป็นอย่างหนาให้
ผลการทดสอบไม่ทำให้ใครแปลกใจ ตกดึกขณะที่เหลือคนเฝ้ากองไฟไม่กี่คน นั่นคือมีเฮียหน่องคนนึงล่ะ หลายคนหลับสบายที่คืนนี้ปลอดฝน อากาศเย็นกำลังดี เสียงสั้นๆ ฝ่าความมืดไม่ดังนักแต่ชัดเจน ปึด! ตามด้วยเสียงแน่นๆ ตุ้บบ! และเสียงสบถเบาๆ “กูว่าแล้ว เปลกูเอง” ก่อนจะปะติดปะต่ออะไรเป็นอะไรก็เห็นหมออุ๊เจ้าของเสียงลุกจากพื้นโคลนเลอะ ถอดเปลหอบมานั่งร่วมวงเพื่อเปลี่ยนเชือกเปลเป็นเส้นเดิม ตามมาติดๆ ด้วยอาการกุลีกุจอของเจ้าเอ๊ดเจ้าโอ๋ที่มาช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเป็นการใหญ่ ขณะที่หน้าของพวกมันกลั้นหัวเราะแทบไม่อยู่ แต่ยังสำนึกผิดที่เป็นต้นเหตุของเปลขาด กิจกรรมตอนกลางวันเมื่ออยู่ป่าริมห้วยก็พอมีหลายอย่าง บรรดาพรานเบ็ดก็ออกหาปลา โดยเฉพาะจุดที่ห้วยมาสบกันเป็นจุดที่ปลาชุม พี่ยุดได้ปลาขาวตัวยาวเป็นคืบ อโศก เอ๊ดก็ไม่แพ้กัน จึงสนุกสนานทั้งผู้ตกและผู้กิน
หมออุ๊ถอยกล้องดิจิตอลมาใหม่ได้โอกาสลองถ่ายน้ำตก ดอกเทียนป่า เห็ดหน้าตาประหลาด รสชาติไม่รู้(ไม่กล้าลอง) ว่านไก่แดง ดอกเข้าพรรษา หรือฤดูนี้เหมาะกับถ่ายภาพมาโครก็มีทั้งมอส เฟิร์น บีโกเนีย เปราะป่า โดยมีพี่หน่องคอยแย่งไปถ่ายผีเสื้อเป็นระยะๆ เพราะมีทั้งหางติ่ง แผนที่และที่สีสันสวยงามฝูงใหญ่ ขณะที่สาวๆ เล่นน้ำเย็นใจ และกิจกรรมที่เข้าป่าหน้าฝนเมื่อมาค้างแรมรินห้วยต้องทำ ถ้าไม่ทำจะเสียโอกาสมาก นั่นคือ…กินเหล้า
ตกบ่ายแก่ๆ พี่หน่องชวนไปเดินสำรวจรอบๆบริเวณตามนิสัยของแก มีพี่โก๊ะ พี่อุ๊ โอ๋และเก่งหลงกลไปกะแก เดินตามทางด่านออกจากหลังแค้มป์ไปได้สิบกว่านาทีโดยดูโน่นดูนี่ไปด้วย มาถึงคลองเล็กๆ ที่พอยืนกางขาคร่อมได้ แหงนขึ้นฟ้าเมฆครึ้มหนักลงมา มองไปข้างหน้าลอดแนวไม้เห็นทางโปร่งมีเสียงรถวิ่งผ่าน จึงเดาได้ไม่ยากว่าสามารถเดินตัดไปถึงถนนได้ เพื่อความแน่ใจหัวหน้าทีมจึงส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็วโอ๋ที่เพิ่งสอบได้บัตรมัคคุเทศก์สีชมพูมาหมาดๆ กะเจ้าเก่งลูกหาบกิตติมศักดิ์มาแล้วหลายทริปจับคู่กันไปดูให้แน่ใจว่าเป็นถนนแล้วกลับมารายงาน
มันทั้งคู่หายไปนานเกือบชั่วโมง ในขณะที่ฟ้ามืดต่ำลงมาเรื่อยๆ สามคนที่รอมีคำถามมากมายในหัว มันไปถึงถนนแล้วหนีกลับบ้าน? มันข้ามถนนแล้วหลงเข้าป่าอีกฝั่ง? มันกลับมาแต่เดินหนีไปทางอื่น? ฯลฯ ท่ามกลางความเครียดและคำถาม พี่หน่องตัดสินใจว่าต้องรีบเรียกพวกมันกลับโดยออกเดินตามรอยมันไป เมื่อเราเดินถึงถนนก็เห็นแต่รอยเดินออกไม่เห็นรอยเดินกลับเข้า ทั้งสามจึงกลับมาที่ห้วยน้อยเส้นเดิม หัวหน้าทีมสั่งแผนสองคือแยกกันตะโกนหา โดยยึดห้วยที่ยืนอยู่เป็นหลัก พี่หน่องเดินย้อนห้วยขึ้นไป พี่อุ๊ยืนเฝ้าจุดเดิมเป็นศูนย์กลาง พี่โก๊ะเดินตามห้วยไปจนสุดระยะกู่ถึงกัน ให้กู่ร้องเรียกมันตลอดพร้อมฟังเสียงพวกเดียวกันไปด้วย ถ้าไม่ได้ยินเสียงกันให้ถอยกลับ เราดำเนินแผนสองไปนานนับชั่วโมงก็ยังไร้ผล ไม่มีวี่แววคนทั้งสองแม้แต่เงา ในที่สุดคนหาทั้งสามต้องมารวมกันอีกครั้งในบรรยากาศตึงเครียดสุดขีด คนอ่อนล้าเสียงแหบแห้ง แสงบนฟ้าอ่อนหม่น เมฆคำรามไกลๆ ต้องตัดสินใจว่าจะหาต่อไปหรือจะกลับที่พัก หาต่อจะไหวไหม? กลับไปจะบอกเมียมันทั้งคู่ว่าอย่างไร? สุดท้ายตกลงกันได้ว่าทั้งสองทางต้องถอยให้กันและกัน คือกลับไปรายงานต่อหัวหน้าใหญ่(อาจารย์นพ) ที่แค้มป์ กินน้ำกินท่า แล้วจัดกำลังกันออกตามหามันอีกครั้ง ใช้คนมากเข้าช่วย ทั้งสามจึงพากันเดินหงอยกลับแค้มป์
เดินไม่กี่นาทีก็กลับถึงแค้มป์ แต่ภาพที่เห็นทำให้อารมณ์แปรเปลี่ยนไปสุดบรรยาย ทั้งสามเห็นทั้งเจ้าโอ๋และเจ้าเก่งที่ได้โก่งคอตะเบ็งเรียกหามันมาไม่ต่ำกว่าสองชั่วโมง มันกำลังนั่งสบายต้มน้ำชงกาแฟ คุย หัวร่อ อารมณ์แรกคงไม่พ้นความโล่งใจที่เห็นมันปลอดภัยดี ปลดเปลื้องภาระที่หนักในอกออกไปทั้งหมด ไม่ต้องคิดว่าจะบอกเมียพวกมันว่าไง ไม่ต้องวางแผนจัดกำลังออกตามหามัน และไม่ต้องนอนคิดว่ามันสองคนอยู่ในป่าทั้งคืนไม่มีข้าว ที่นอน ฝนตกมันจะอยู่รอดจนเราไปหามันเจอไหม? แต่อีกอารมณ์ที่ทำให้ยิ้มไม่ออกก็คงเป็นอารมณ์แค้น มันกลับมาสนุกสนานสบายใจ ไม่คิดถึงกูสักนิด จะพาคนเดินกลับไปบอกว่ากลับมาแล้วก็ไม่มี จะได้ไม่ต้องร้องเรียกมันคอแทบแตก สรุปคือดีใจที่เห็นมันปลอดภัยแต่ก็อยากบีบคอมันให้ตายกับมือ
ได้ความทีหลังว่าพวกมันเดินไปถึงถนนแล้วเดินเลาะถนนลงไปทางใต้ประมาณ 40-50 เมตรจึงวกกลับเข้าแนวป่า ทำให้หาทางเก่าไม่เจอ พยายามตัดขึ้นเหนือแล้วแต่มีแนวไม้ทึบขวางอยู่ ต้องเลาะมาเรื่อยๆ พอตัดกลับเจอทางเก่าเดินตามทางนิดเดียวก็ถึงแค้มป์แบบโชคช่วย
…หลังจากนั้นพี่ๆ ทั้งสามก็ได้รับการดูแลจากโอ๋และเก่งเป็นพิเศษ ทั้งชา กาแฟ ขนม นวดเฟ้น โดยเฉพาะเจ้าโอ๋กะหมออุ๊ มันทำสองคดีแล้ว
หัวหน้าใหญ่สรุปบทเรียนครั้งนี้ให้เราจำไว้ว่า ถ้ามีคนหลงออกจากกลุ่มเราจะทำอย่างไรกับคนที่หลง และถ้าเป็นคนที่หลงซะเองควรทำอย่างไร อย่าประมาทคิดว่าเดินใกล้ๆ จะไม่หลง
เช้าวันสุดท้ายที่คลองสามแยก ป่าชุ่มน้ำฉ่ำฝนไปทั้งผืน เช้าอย่างนี้น่าหลับนักเพราะมันแสดงว่าคืนที่ผ่านมาต่างนอนกันอย่างกระเบียดกระเสียน แต่ก็เป็นปกติของยามเช้าที่ใครๆ ที่ตื่นนอนแล้วต่างแยกย้ายไปทำธุระ(อ.นพ เรียกทำวิชาตัวเบา เพราะทำเสร็จแล้วตัวจะเบาขึ้นเป็นกิโล) มันเป็นศิลปะของการอยู่ในป่าด้วยกันหลายๆ คนเลยทีเดียว เพราะทิศทางการออกไปทำธุระนั้นมีข้อจำกัดไม่น้อย ไม่ลงน้ำ ไม่ไปทางต้นน้ำ ไม่ใช่ทางต้นลม ต้องห่างแค้มป์พอสมควร แต่ห่างมากเดี๋ยวกลับไม่ถูก หรือกลับมาก็อาจจ๊ะเอ๋คนที่กำลังทำธุระอยู่ทางเดียวกันแต่ไปใกล้กว่า อย่างนี้ก็ต้องให้สัญญาณกันตามเหตุ
เสร็จภาระกิจส่วนตัวค่อยมาใส่ใจส่วนรวม ได้แก่ติดไฟขึ้น ตั้งหม้อข้าวหม้อน้ำ ใครจะกินกาแฟเช้าจะได้มีพร้อม หรือบางคนที่มีนิสัยถาวรเป็นเอกลักษณ์ ไม่อยู่ในลำดับดังกล่าวก็ไม่มีปัญหา อย่างเจ้าโอ๋ตื่นขึ้นมาได้ที่ก็จะเร่งเร้าเพื่อนที่อยู่กองไฟ
“เฮ้ย! กาแฟถ้วยนึง”
“ต่อบุหรี่ให้ตัว..เร็วดิ.”
“รีบไปไหน?” ถ้าใครไม่รู้คงสงสัย
“ปวดขี้ ” ไอ้โอ๋ตอบชัด
มันต้องมีกาแฟ บุหรี่พร้อมในตอนทำธุระ พวกเรารู้กันดี แต่ไม่มีใครเข้าใจ ว่าทำไม?..
เพียงแต่เรื่องราวเช้าวันนี้ไม่ได้เป็นของเจ้าโอ๋ ผู้อ่านเรื่องที่ผ่านมาคงพอรู้จัก “อโศก” กันแล้ว แท้ที่จริงยิ่งกว่าหนังไทยยุคเก่า เขาคือสิบเอกศิวกร ทหารช่างแห่งกองทัพไทยไม่ได้ปลอมตัวมา แม้ดูยังไงก็มีหน้าเป็นแขก เพราะเป็นน้องชายร่วมสายโลหิตของพี่หน่อง ในกลุ่มที่เดินป่ากันบ่อยๆ จะรู้จักจุดเด่นของอโศกดีในเรื่องสันชาตญาณการระวังภัยที่เฉียบไวและตอบสนองดีมาก ก็เป็นธรรมดาของชายชาติตะหาน..หากหลายครั้งก็ดีเกินงาม
สายแล้ว แดดอุ่นๆ มาพร้อมสายลมอ่อนๆ ท่ามกลางป่าเปียกๆ ทุกคนตื่นนอนกันครบแล้ว พี่หน่องยังตื่นแล้ว ไอ้โอ๋กลับมาแล้วพร้อมถ้วยกาแฟว่างเปล่าให้คนรับไว้ยี้เล่น แล้วอโศกก็วิ่งตาตื่นมาอีกแล้ว หน้าตาเหมือนทุกทีที่ตื่นตระหนกตามความระวังภัยของมัน แล้วคราวนี้อะไรอีก..
“ผม..ผม..ผม..กำลังข..ขี้ ใกล้สุดแล้วหละ ดันเอาไม้ไปแหวกใบไม้ทึบข้างตัว เจออีกกองใหญ่กว่าของผมหลายเท่า”
“ขี้ใครมันไปปล่อยไว้ก่อน แล้วไม่ถมน่ะซี”
“ไม่ใช่..ไม่ใช่ขี้ ลำตัวมันใหญ่กว่าต้นแขน นอนขดมองหน้าผมอยู่ก่อนแล้ว แค่นี้ผมก็ไม่อยู่แล้ว”
แล้วนี่มันชำระอะไรเกลี้ยงดีหรือยังวะเนี่ย คนที่ตาลุกวาวกับเรื่องนี้ก็มีคนเดียวคือพี่หน่อง แกสั่งน้องชายตาตื่นนำทางอย่างไม่ปรานีปราศรัย มีสมาชิกตามไปสามสี่คน ทุกคนทึ่งกับงูเหลือมใหญ่ที่ยังนอนขดอยู่ที่เดิม ตาหน่องถ่ายรูปสนุกสนาน แต่ภาพนั้นมันน่าสยดสยองมากกว่า แต่ถ้าดูให้ดีจะเห็นอีกกองที่น่าสยดสยองไม่แพ้กัน
นี่แหละน้า..ที่เขาว่าถึงคราวต้องเลือกระหว่างเจองูกับเจอแขก จะตีอะไรก่อน ใครคิดจะตีแขกก่อนต้องคิดใหม่ให้ดี หรือตีให้ไวเพราะคราวนี้มีแขกมาสองคน แต่ถ้าจะตีงูก็ต้องตีให้ถูกกองนะจ๊ะ…
บันทึก 25 เม.ย. 54 Severus S.