ยานชาร์เลนเจอร์กับ เจ็ดนักสำรวจ ตอน สำรวจดาวอุ้มผาง…..(๒-จบ)

ยานชาร์เลนเจอร์กับ เจ็ดนักสำรวจ ตอน สำรวจดาวอุ้มผางงงงงงงง…โดย ‘มอร์


น้ำตกคำราม

            ครั้งเป็นการสำรวจน้ำตกคำรามเป็นเพียงลูกของน้ำตกคำรามใหญ่ น้ำตกที่คำรามได้นั้นก็คือน้ำตกที่มีชื่อเสียงที่สุดของอุ้มผาง “ทีลอซู” คำนี้มาจากภาษาปะกาเกอญอ บ้างก็แปลว่าน้ำตกใหญ่ บ้างก็ว่าน้ำตกดำ ความยิ่งใหญ่อลังการของมันในหน้าฝนก็ทำเอาหลายคนหวาดกลัวกับเสียงร้องคำรามของมันที่ดังก้องไปทั่วบริเวณ เสียงโครมครามของน้ำตกกระทบหินเบื้องล่างด้วยความสูงถึง ๓๐๐ เมตร และละอองน้ำที่กระเซ็นไปไกลเป็นกิโลเมตร ทำให้พอจะจินตนาการได้ว่าน้ำตกนี้ยิ่งใหญ่สักเพียงใด ใครก็คงจะยำเกรงไม่กล้าลงไปสัมผัสความเย็นยะเยือกของมันหรอก กลัวตะคริวกินเพราะความเย็นจัดของน้ำ ไม่ก็เกรงใจกระแสน้ำที่พุ่งตกลงมาจากผาสูงด้วยอัตราความเร็วมากกว่า ๑๐๐ กม./ชม. และปริมาณน้ำมากกว่าล้านลิตรที่ตกลงมาใส่ตัว มันแรงราวเอาหินทุ่มใส่ อย่าคิดว่าน้ำเป็นเพียงของเหลวที่ไม่มีพิษภัยเชียว ในเวลาที่น้ำรวบรวมกำลังได้ที่ก็เหมือนหินดีๆ นี่เอง หากเสียงทีลอซูเป็นเสียงคำรามของเสือ ก็คงเป็นเสียงที่ส่งสัญญาณว่า “ออกไปนะ อย่ามายุ่งกับฉัน ออกไปจากบ้านฉันนะ มิฉะนั้นฉันจะกลืนกินเธอลงไปในสายน้ำ”
           เนื่องจากครั้งนี้เราไม่สะดวกจะไปทีลอซู เป้าหมายใหม่จึงเป็น “ปะหละทะ” น้ำตกขนาดเล็กในวนอุทยานปะหละทะ น้ำตกที่ถูกโอบล้อมด้วยไร่ข้าวโพด ทางเข้าเป็นโคลนนิดหน่อย แต่ก็ไม่เหนือบ่ากว่าแรงของเจ้าเสือโย่ง รถคู่ใจของลุงอู๊ดดี้ วันนี้เรามาสำรวจกันครบทีม ครูนพนอนใช้จิตบัญชางานให้แต่ละคนอยู่ริมน้ำตก  ตลอดทางเข้ามายังน้ำตก พันธุ์ไม้ที่โดดเด่นที่สุดในช่วงนี้ก็คือดอกกระเจียว ทุ่งกระเจียวสีส้มกระจัดกระจายเต็มสองข้างทางเข้าน้ำตก อีกชนิดคือดอกเข้าพรรษาหรือหงส์เหิร ดอกเหลืองอร่ามอ่อยช้อยเหมือนหงส์กำลังจะบิน ดอกกระทือก็แดงสดชูช่ออยู่ริมน้ำตก ดอกกระชายสีสวยแฉล้มเหมือนสาวแก้มขาวแต้มด้วยสีแดงบ้างชมพูบ้างให้พอมีเลือดฝาดเอียงอายอยู่ใต้ใบเรียว สวยผุดผาดนักบนดินชื้นกลิ่นฝน เปราะสีม่วงซีดก็ผลิดอกเปราะบางสมชื่อมาแข่งกับเขาด้วย ขากลับเราก็แวะทักทายแววมยุราเขาสักหน่อย แม้ว่าดอกจะเล็กกว่าที่พ่อค้าแม่ค้านำมาปรับปรุงพันธุ์ให้ดอกใหญ่ขายตามร้านขายต้นไม้ทั่วไป แต่เธอก็งามตามธรรมชาติ ชูช่อสง่าอย่างมยุราอยู่ที่ปะหละทะนี้
     ปะหละทะวันนี้ยังคำรามร้องอยู่เช่นทุกครั้งที่เรามาเยี่ยมเยียน น้ำสีโอวัลตินแบบหนักนมตกดังโครมคราม ไหลหลากทั่วบริเวณที่เราเคยเล่นน้ำในหน้าร้อน แม้จะไม่น่าเกรงขามเท่าทีลอซู แต่หากใครลงไปเล่นก็คงจะไม่มีหวังจะรอดกลับมาถึงฝั่งเป็นแน่ ก็ลองโยนไม้ไปในน้ำสักท่อนสิ เพียงชั่วพริบตาเราก็คงหาท่อนไม้ไม่เจอแล้ว กระแสน้ำที่ไหลเร็วและแรงไม่ปรานีใครแน่ อย่างไรก็ตามความดุดันของกระแสน้ำก็คงจะไม่เท่ากระแสโลกทุนนิยมในทุกวันนี้หรอก ทั้งโหดร้าย ไร้ความปรานีและฆ่ามนุษย์ทุกวี่วัน ในกระแสน้ำเรายังมีทางเลือกว่าจะลงไปขวางน้ำหรือไม่ แต่กระแสโลกทุนนิยม ใครขวางก็หามีชีวิตไม่ทุกคน
            นอกจากดอกไม้ดอกหญ้า เรายังพบเห็ดถ้วยกอใหญ่ ออกดอกสีส้มหยุ่นๆ เด้งดึ๋งๆ มีขนรอบๆ ดอก และถือเป็นโชคดีที่ผู้เขียนลองให้อาจารย์กุ๊กกู๋ (google) ค้นหาคำว่าเห็ดถ้วย ทำให้ทราบว่า เห็ดถ้วยนั้นมีหลายชนิดเหลือเกิน ทั้งเห็ดถ้วยแชมเปญ เห็ดถ้วยชมพู เห็ดถ้วยขน เห็ดถ้วยนางฟ้าสีเขียว เห็นสวยๆ แบบนี้แต่อย่าไปยุ่งกับเขานะ เพราะมันคือเห็ดพิษ หน้าฝนถือเป็นช่วงที่ดีที่ท้าทายให้เก็บภาพเห็ดตามทางที่เดิน เพราะต้องตาดีๆ ถึงจะเห็นเจ้าเห็ดหลบซ่อนตามขอนไม้บ้าง ต้นไม้บ้างหรือบนดิน และเราก็จะได้ทำความรู้จักกับเห็ดสารพัดชนิดในป่าทั้งกินได้และไม่ได้(อยากได้ความรู้เพิ่มเติมลองขอยืมหนังสือเห็ดที่พี่เก่ง ปากช่องดู แอบเห็นอยู่ที่บ้านแกเล่มหนึ่ง) แล้วที่เราเจอมันเห็ดถ้วยแบบไหนหว่า???  เห็ดอีกชนิดที่เราพบคือเห็ดซางเป็นประเภทของเห็ดที่กินได้ ปลอดภัยและอร่อย เพราะมีกออวบๆ บานแฉ่งรอเรามาเก็บและกอนั้นก็กลายมาเป็นส่วนประกอบในแกงหน่อไม้(ฝีมือป้าทอง แม่ครัวเอกของตูกะสู) วันนั้นเราเลยได้อิ่มตาและกายด้วยน้ำตกปะหละทะและดอกไม้นานาชนิดและอิ่มท้องด้วยแกงหน่อใส่เห็ดที่เราเก็บมาเอง

        ***ปล.ก่อนกลับสองนักสำรวจของเรา พี่นิมกับพี่อั๋นมีภารกิจพิเศษคือเก็บกระป๋องน้ำใบโปรดของลุงอู๊ดดี้ที่พี่อั๋นมาทำหล่นไว้เมื่อวาน งานนี้เหนื่อยหน่อยสำหรับพวกเขา เนื่องจากตำแหน่งของกระป๋องทั้งสูง ชันและลื่น แต่พวกเขาก็ได้รางวัลคุ้มค่าเป็นวิวสวยๆ ของอุ้มผางจากมุมสูงของดอยหัวหมด

ท้องฟ้าร้องไห้

         มาไขปริศนา“ท้องฟ้าร้องไห้ทั้งกลางวันกลางคืน” กันหน่อย ท้องฟ้าที่นี่ไม่ได้มีอะไรผิดแปลกไปจากที่เราเห็นที่อื่นเลย และไม่ได้เศร้าอะไรหรอก เพียงแต่ว่าฤดูฝนของที่นี่ฝนมักจะตกทั้งกลางวันกลางคืน  ทำให้พระอาทิตย์ของที่นี่ทำงานไม่หนัก โผล่มาแป๊บเดียวฟ้าก็รั่วอีกแล้ว ไม่ตกหนัก ก็ตกแบบหยิมๆ ชื้นไปทั้งวัน เดี๋ยวตก เดี๋ยวหยุด เหมือนแกล้งกัน แต่เพราะมีฝน ทีลอซูและปะหละทะจึงเป็นน้ำตกที่คำรามได้ และเพราะฝนดอยหัวหมดจึงกลายเป็นภูเขาดอกไม้ให้เราได้ชมความงามอยู่ทุกปี และก็เพราะฝนอีกผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรจึงยังเป็นแหล่งพึ่งพิงให้แก่สัตว์และมนุษย์ ท้องฟ้าของที่นี่จึงร้องไห้บ่อยๆ ด้วยความยินดีที่จะให้ความสุขความอุดมสมบูรณ์แก่สิ่งมีชีวิตเบื้องล่าง หากใครอยากมาเห็นท้องฟ้าร้องไห้ของที่นี่ก็ให้มาหน้าฝน และจะได้เล่นน้ำฝนฉ่ำใจทีเดียว

ห้วยดับเบิ้ลช็อค

          วันนี้เป็นวันสำรวจวันสุดท้าย หลังจากทีมแม่ของทีมสำรวจเบี้ยวไม่ยอมตื่นไปสำรวจอีกฝั่งของดอยหัวหมด ช่วงบ่ายของวัน เมื่อทีมสำรวจพร้อมหน้าพร้อมตากันทุกคน เราก็ตกลงไปสำรวจห้วยดับเบิ้ลช็อค พูดแล้วน่ากินใช่ไหม ขอเรียกว่าห้วยดับเบิ้ลช็อคเพราะห้วยนี้เกิดจากการสบกันของห้วยสองสายคือแม่กลองและอุ้มผางทำให้น้ำสายนี้มีสองสีเหมือนสีดับเบิ้ลช็อค หน้าฝนแบบนี้น้ำห้วยเย็นขึ้นจากหน้าร้อนมากทีเดียว เย็นราวกับน้ำในแก้วใส่น้ำแข็ง ยิ่งฝนโปรยๆ มาพรมอยู่เป็นระยะๆ ยิ่งเย็นยิ่งหนาวเข้าไปใหญ่ คนที่ถูกใจเหลือเกินก็คงเป็นพี่อุ๊กับพี่อั๋น ก็เล่นนอนแช่ขวางกลางน้ำซะขนาดนั้น  ส่วนพี่นิมก็หนีไปหาที่สงบตกปลาลม(ก็เล่นตกไม่ได้สักตัว ได้แต่ปลาลม) ลุงแขกแยกไปไล่ล่ารูปแมลง พี่แน็ทและพี่มอร์นั่งชมธรรมชาติ และคอยเก็บเงินค่าชมหมีกริสลี่(พี่อุ๊)กินปลา จากเด็กๆ ที่ผ่านมาเล่นที่ห้วย ส่วนครูนพขอตัวพักผ่อนที่ฐานบัญชาการ(คงจะแอบดีใจที่พวกมันไปๆ กันซะได้ ไม่งั้นจะอยู่กวนตีนแกทั้งวัน)
               ห้วยแม่กลองนี้เป็นน้ำสายหลักของชาวอุ้มผาง ระหว่างทางก็จะมีห้วยกล้อทอจากทีลอซู ห้วยแม่ละมุ้ง ห้วยปะหละทะ ห้วยอุ้มผางที่คอยเติมน้ำให้แก่ห้วยแม่กลองตลอดทาง แต่ผู้เขียนไม่ทราบว่าแล้วห้วยแม่กลองไหลลงไปไหนต่อ รู้แต่ว่า อยู่ดีๆ แม่กลองก็ไปโผล่ที่เมืองกาญจนบุรี ไหลไปเรื่อยผ่านราชบุรีและลงสู่อ่าวไทยที่สมุทรสงคราม แล้วมันจะใช่แม่กลองเดียวกันไหมน้า…. ฝากแม่กลองตรงหน้านี้ไปถามแม่กลองที่อื่นๆ ได้ไหมว่าเป็นญาติกันหรือเปล่า  พูดถึงแม่กลองก็นึกเพลงขึ้นมาได้ ทำไมเพลงมนตร์รักแม่กลองถึงไม่ร้องถึงแม่กลองที่เมืองกาญจน์หรือที่อุ้มผางบ้างหนอ อาจต้องส่งกระแสจิตไปถามศรคีรี  ศรีประจวบหรือครูไพบูลย์ บุตรขัน ผู้ประพันธ์ หรือจะเป็นเพลงลาสาวแม่กลอง (ขับร้องโดยพนม นพพร ประพันธ์โดยเกษม สุวรรณเมนะ) ซึ่งก็ยังหมายถึงแม่กลองที่สมุทรสงครามเหมือนเดิม ทำไมหนอแม่กลองแห่งอุ้มผางหรือแม่กลองของเมืองกาญจน์ไม่เป็นแรงบันดาลใจให้คนแต่งเพลงบ้าง จริงๆ แม่กลองที่ผ่านสองที่นี้ก็มีเสน่ห์ไม่แพ้แม่กลองที่สมุทรสงครามจริงๆ นะ


ภูเขาผัก

           และแล้วการสำรวจของเราก็เสร็จสิ้น วันนี้จะเป็นวันเดินทางกลับ หลังจากการล่ำลาเสร็จสิ้น เราก็ออกเดินทางกลับ ชาร์เลนเจอร์ No.1 และ No.2 เตรียมพร้อมทั้งพลขับลุงแขกและพลขับพี่นิม เราออกเดินทางแต่วัน ทำให้ได้ชมวิวทิวทัศน์ได้อย่างชัดเจนกว่าขามาที่มัวแต่เมาขี้ตา หุบเขาสองข้างทางสลับซับซ้อนและถนนก็ถูกสร้างราวกับงูพันรอบพีระมิดไปมา เดี๋ยวลงดอยนี้ไปโผล่ยอดดอยนั้น วิวเหมือนจะสวย บนยอดดอยเขียวๆ มีเมฆคลอเคลีย อ๊ะๆ! เดี๋ยวก่อน มองระยะไกลเราจะเห็นแต่ภูเขาสีเขียวดูชุ่มฉ่ำ แต่หากเข้าไปใกล้แล้วเราจะรู้ว่านั่นคือภูเขาผัก ใช่แล้ว ไม่ผิดหรอก ภูเขาทั้งลูกถูกถากถางเพื่อนำพื้นที่ไปปลูกผักทั้งกะหล่ำ ข้าวโพดและข้าวดอย ใครปลูกพืชชนิดไหนก็จะมีป้ายโฆษณาไม่ปุ๋ยก็ยี่ห้อของเมล็ดพันธุ์นั้นแปะอยู่หน้าไร่ด้วย อันที่จริงนี่ผลจากการค้าแบบผูกขาด ซื้อเมล็ดเขาก็ต้องใช้ปุ๋ยและยาที่เหมาะกับเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อยี่ห้อเดียวกันด้วย  นี่ไงกระแสโลกทุนนิยม ใครมีทุนก็กดขี่ข่มเหงคนไม่มีทางเลือกได้ เมื่อชาวบ้านรู้สึกว่ารายได้ไม่เพียงหรือคุ้มค่ากับการลงทุน จึงพยายามบุกเบิกพื้นที่ใหม่ซึ่งก็คือพื้นที่ป่านั่นเอง หากมองจากยอดดอยหัวหมดลงมา จะรู้ได้เลยว่าป่าถูกกัดกินเข้าไปทุกทีๆ ด้วยไร่ข้าวโพดบ้าง ไร่ข้าวบ้าง ไร่กะหล่ำบ้าง อีกไม่ช้านานภูเขาดอกไม้คงไม่มีดอกไม้ให้บาน น้ำตกคำรามคงจะหยุดคำรามเพราะแล้งน้ำ ห้วยดับเบิ้ลช็อคก็คงจะแห้งขอด ไม่มีปลาให้ตก ไม่มีน้ำให้ล่องแก่ง
           แสงสุดท้ายของวันฉายภาพทุ่งกะหล่ำแถวอุ้มเปี้ยมเป็นภาพสุดท้ายของการสำรวจในครั้งนี้ พร้อมทิ้งคำถามให้ชวนคิดว่า อุ้มผางจะยังเป็นดาวที่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยแก่มนุษย์โลกอยู่อีกหรือ หากยังคงถูกบุกรุกด้วยปิศาจภูเขากะหล่ำ-ข้าวโพดอยู่แบบนี้

 

 

ความเดิมตอนที่แล้ว …
ยานชาร์เลนเจอร์กับ เจ็ดนักสำรวจ ตอน สำรวจดาวอุ้มผาง…..(๒) 

3 thoughts on “ยานชาร์เลนเจอร์กับ เจ็ดนักสำรวจ ตอน สำรวจดาวอุ้มผาง…..(๒-จบ)

  1. ว่าจะเปลี่ยนจาก “ตกปลา” เป็น “ตกหมีกริสลี่” แล้ว ….

    • เหยื่อหมีกิสลี่ตัวนี้คือข้าวเหนียว ส้มตำ ไก่ย่างนะคะ

  2. นึกว่าจะเหวี่ยงเกี่ยวพี่อุ๊ขึ้นจากน้ำและ