หุงข้าว..แจ้งเกิด

เป็นการเริ่มต้นที่ดี ที่ได้กลับมายังป่าบ้านเกิดอีกครั้ง แม้ว่ามีหลายสิ่งเปลี่ยนไป ผู้คนอายุมากขึ้น โลกก็ร้อน ผืนป่าน้อยลง แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือความประทับใจครั้งแรกที่ได้เดินป่า พี่ๆได้สอนอะไรหลายๆอย่าง เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยค่อยๆ ทำค่อยๆ เก็บเป็นประสบการณ์ ทั้งเรื่องตลกสนุกสนาน โดนพี่ๆ รับน้องแกล้งพาเดินหลงป่า ทั้งเหนื่อยทั้งหิว แถมตัวเองอวดเก่งดันบอกไปว่า ถึงที่พักจะหุงข้าวให้กินเอง เดินมาทั้งวันฝนตกพรำๆ ไม้ฟืนเปียกฝนกว่าจะติดไฟ เล่นทำเอาหน้าผมกลายเป็นหน้าท่านเปาไปเลย ถ้าไม่ได้พี่ๆ เข้ามาช่วยท่าจะแย่
คราวนี้เป็นทีผมหุงข้าว เคยแต่หุงข้าวหม้อไฟฟ้า งานนี้มีแต่หม้อสนามของพี่ๆ ไม่ตายก็คางเหลือง ยังดีมีพี่ๆ มายืนดูให้กำลังใจ เขาให้ผมไปหากิ่งไม้ที่เป็นง่ามมา 2 กิ่ง ยาว 50-70 เซนติเมตร แข็งแรงพอที่จะตอกลงในดินได้ไม้ตรงๆ 1 ท่อน เพื่อใช้แขวนหูหิ้วหม้อสนาม   ให้เปลวไฟเลียที่ก้นหม้อ   เอาข้าวสารใส่ครึ่งหม้อตามด้วยน้ำให้ท่วมข้าว 1 องคุลี ปิดฝาแล้วยกขึ้นตั้งไฟด้วยความมั่นใจ โดยไม่ถามใคร ได้ที่แล้วก็รอเวลาให้ข้าวสุก ผมยังมีเวลาพอที่จะไปอาบน้ำทำกิจส่วนตัวได้ กลับมาอีกครั้งที่กองไฟ ผมเห็นพี่ๆ นำกิ่งไม้ผ่าร่องเสียบช้อนมาทำเป็นตะหลิวผัดหรือตัก มันเป็นอะไรที่คิดไม่ถึง พร้อมด้วยกับข้าวบางส่วนที่ทำไว้เรียบร้อยจากฝีมือใครบ้างก็ไม่รู้

              เมื่อเวลาที่รอคอยมาถึง ด้วยความหิว แสงจากกองไฟและแสงเทียนในบรรยากาศที่แสนจะโรแมนติก ทุกคนล้อมวงเข้ามา ผมเป็นคนตักข้าวจากหม้อที่หุงเอง พอเปิดฝาหม้อสนามผมยังไม่กล้าตักเพราะกลิ่นไอที่โชยขึ้นมา ผมได้แต่มองหน้าพี่ๆ ส่วนมือยังค้างที่หม้อข้าว ทุกสายตาจ้องมองมายังผม พร้อมคำถามว่า “ข้าวจะกินได้มั้ยวะไอ้ยุ้ย ผมไม่รู้จะตอบยังไง ข้าวที่อยู่ในหม้อทั้งแข็งและไหม้ พี่ๆ ก็หัวร่อพร้อมหยิบหม้อข้าวอีกใบมาให้ ผมเปิดฝาหม้อออก กลิ่นหอมลอยมาเตะจมูก ข้าวสวยเรียงเป็นเม็ด จึงได้รู้วิธีหุงข้าวด้วยหม้อสนาม ว่ามีเคล็ดลับอะไรบ้าง

        สำคัญที่สุดต้องก่อไฟให้ติด เลี้ยงไฟให้เป็นเปลว เอาข้าวสารใส่หม้อ
 “ถ้าเป็นมือใหม่ ให้สังเกตดูภายในหม้อสนาม จะเห็นรอยขีด 2 ขีด ขีดที่อยู่ใกล้ก้นหม้อ จะเป็นตำแหน่งที่เอาไว้ใส่ข้าวแล้วเกลี่ยให้เท่ากัน เติมน้ำในหม้อถึงขีดที่ 2 ซึ่งอยู่เกือบบนสุดด้านในของหม้อ ยกขึ้นตั้งไฟ ราวๆ 15 นาที ”                      ให้สังเกตดู จะมีน้ำไหลออกมา แสดงว่าข้าวกำลังเดือด ใกล้จะสุกแล้ว ใช้อุปกรณ์ เช่นไม้ ช้อน หรืออื่นๆ เคาะไปที่หม้อเพื่อตรวจสอบ ถ้าได้ยินเสียงทึบแน่นไม่กลวง ให้ยกหม้อลงมา ตั้งไว้ข้างๆ กองไฟ วิธีนี้เรียกว่า  ดง ,อัง ,ขาง    แล้วแต่จะเรียกตามภาษาถิ่น พูดง่ายๆ ว่าลดไฟลง เพื่อให้ข้าวสุกสวยไม่ไหม้ ดูเวลาตามสมควร เท่านี้ เราก็จะได้ข้าวสุกสวยได้ที่ เป็นอันเสร็จสิ้นการหุงข้าวหม้อสนาม ( ตอนหลังๆ ผมเข้าป่าบ่อยขึ้น ผมใช้วิธีตวงข้าวสาร 6 ขีด ต่อ 1 หม้อสนาม )   ลองนำไปใช้ดูนะครับ …

ยุ้ย ปากช่อง
อิงขอน นอนป่า … ตอนที่แล้ว
เพิ่มเว่วที่แก่งยาว

One thought on “หุงข้าว..แจ้งเกิด