เพิ่มเว่วที่แก่งยาว

หลังจากสาดน้ำสงกรานต์ได้อิ่มหนึ่ง คณะเล็กๆ ก็ไปนิคมฯ ผังสามรดน้ำดำหัวอาจารย์ผู้เฒ่า(อ.นพแห่งฝ่ายไร้สาระ) ขอพรปีใหม่และ…ตรงประเด็นเลยดีกว่า..ขอเหล้าเป็นเสบียงเข้าป่าในวันรุ่งขึ้น ซึ่งอาจารย์นพก็ไม่เคยปฏิเสธผู้มาขอ เลยให้ทั้งพรและ…ไอ้ที่เป็นประเด็นไปอีกหลายขวด

รุ่งเช้า (๑๔เม.ย.๒๕๕๕) นัดกันที่บ้านพี่แขก สมาชิกคณะเล็กๆ เราได้แก่ พี่แขกและพี่แนทภรรยาหลวง พี่โก๊ะกะพี่อ้อยภรรยาพี่โก๊ะเช่นกัน พี่อุ๊ พี่เก่ง น้องอั้มหนุ่มปราจีนที่มารออยู่ปากช่องด้วยความกระเหี้ยนกระหือรือหลายวันแล้ว และสุดท้าย พี่หวานขี่มอเตอร์ไซค์คู่ใจข้ามเขามาแต่เช้าตรู่เพื่อเป็นอัศวินในการเดินทางครั้งนี้ เสียดายที่สมาชิกขาประจำหลายรายมีอันต้องอดเพราะทั้งเตรียมบวชและไปงานบวช พวกนี้บวชแล้วนิมนต์มาธุดงค์เส้นนี้ซะให้ซึ้ง เอ..หรือจะไปธุดงค์แถวสีลม รัชโยธินกันหมด..
ถึงบ้านพี่ยงค์คนนำทางตอนสายๆ พี่ยงค์กำลังขมีขมันเก็บแตงกวาเพราะผลผลิตกำลังดี ราคาแตงกวาที่เก็บส่งได้กิโลกรัมละ ๗ บาท เจ้าเก่งผู้ปราดเปรื่องเรื่องตัวเลขก็ให้ความเห็นเลยว่า “รายได้ดีนะเนี่ย ร้านแถวบ้านขายขีดละ ๒ บาทเอง…!” แล้วทำหน้าเหมือนว่าที่บ้านตูขายถูกกว่ากันเยอะ  เมื่อจัดการขออนุญาตและจัดแจงรถราเสร็จเริ่มออกเดินกันตอนเกือบบ่าย(จนได้) แต่โชคดีที่ฝนตกเมื่อคืนเส้นทางจึงไม่ร้อนเท่าไรนัก และด้วยการที่ทุกคนพอเดินได้ไม่มีใครถ่วงใคร(หรืออาจถ่วงกันเองทุกคน) จังหวะการเดินจึงค่อนข้างราบรื่น ช่วงแรกที่เป็นทางลาดขึ้นทีละนิดเราเดินดูสองข้างทางมีเพลี้ยตัวขาวขนยาวเกาะที่เถาไม้เลื้อยเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดูขาวปุกปุยดีเวลาเอามือไปใกล้มันมันจะกระโดดเด้งหนี และก็พบกิ้งกือขนาดใหญ่หลายตัว ชวนให้เราพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องอาหารการกินกันเพลิน…เห็นแล้วน้ำลายไหล!! นอกจากนั้นตามทางยังเห็นเศษเปลือกผลไม้ป่ากลาดเกลื่อนชวนให้ชิม มีมะไฟ คอแลน..ผลเหมือนลิ้นจี่แต่เล็กกว่า รสชาติเปรี้ยวบริสุทธิ์ และผลไม้ที่ไม่รู้จักหลายชนิดมีรอยสัตว์กัดแทะทิ้งไว้ กว่าจะถึงตีนมอสูงชันเราหยุดพักกันแค่สี่ครั้งตามระยะซึ่งทำให้สามารถรักษากำลังไว้ขึ้นมออย่างดี แถมยังได้น้ำเย็นชื่นใจจากตาน้ำน้อยที่พี่หวานและน้องอั้มบริการให้
ผ่านพ้นทางชันที่ต้องปีนป่ายยาวไกลไปได้โดยไม่เหนื่อยอย่างที่คิด เส้นทางชันช่วงนี้ก็มีชื่อกับเค้าเหมือนกันว่า“มอชุมพล” เด็กๆ เทคนิคปราจีนตั้งให้เป็นเกียรติแก่อาจารย์ชุมพลอันเป็นที่รักยิ่ง

ขณะที่พักเท้ากันตรงสันเขาเหนือมอชุมพลนั้นเป็นเวลาบ่ายแก่ๆ เมฆครึ้มส่งเสียงครืน..ครืน..ทั่วฟ้า บางขณะก็ผ่าเปรี้ยง!  ลงไม่ห่างจากที่นั่งพัก คงถูกใจต้นไม้ใหญ่สักต้นเข้าแล้ว เป็นตัวเร่งให้เราต้องเดินทางต่อหลังจากจัดการกาแฟและอาหารกลางวันอย่างเร่งรีบ เส้นทางช่วงสุดท้ายเดินง่ายแต่ยาวไกลมีจุดแบ่งครึ่งเส้นทางยาวนี้คือห้วยน้อยๆ ให้กรอกน้ำแล้วเร่งเดินทางต่อเพราะอยากให้ถึงก่อนมืด
ก่อนแรงจะหมดและก่อนฟ้าจะมืดจุดหมายก็ปรากฎอยู่ตรงหน้า สายน้ำใหญ่ไหลรี่ตามลานหินกว้างคือ“ห้วยใสใหญ่” ที่มีต้นกำเนิดจากด้านใต้

ของเทือกเขาแหลม(ด้านทุ่งเขาแหลม) ไหลเลี้ยงป่าเขาใหญ่เป็นพื้นที่มหาศาลก่อนไหลรวมห้วยสาขาเป็นแควหนุมานลงแม่น้ำปราจีนแถวอำเภอประจันตคาม ตรงที่เราอยู่นั้นห้วยใสใหญ่หลากผ่านลานหินยาวไกลสุดสายตา ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า“แก่งยาว” ตรงริมน้ำเห็น“ต้นไคร้ย้อยต้นนั้น” กำลังออกดอกสีเหลืองนวลเต็มต้น มีดอกมากกว่าต้นอื่น ยืนอยู่โดดเด่นกว่าตรงหินก้อนใหญ่พาดขวางลำน้ำ และดอกของต้นนี้ก็เจือสีชมพูเรื่อๆ สะดุดตาผู้พบเห็นยิ่งมลังเมลืองกับแสงตะวันลับขอบฟ้ายิ่งทำให้เป็นภาพแห่งวัน(Impression of Day) ยากจะละสายตาได้…แต่ชีวิตต้องดำเนินต่อ พี่หวานกะพี่ยงค์เร่งตัดฟืนฉับๆ สองสาวผู้พาสามีมาด้วยก็สาละวนกับอาหารการกิน หนุ่มที่แรงยังดีก็กางแค้มป์ด้วยวัสดุที่มีพร้อมภาวนาให้ฝนฟ้าผ่านพ้นไปก่อน คนขี้เกียจจึงได้ทีทำเป็นถ่ายรูปต้นไคร้ย้อยต้นนั้นไป ถ่ายรูปเพื่อนๆ ทำงานไป เป็นคนดีจะตาย!!!
หลังอาหารมื้ออร่อยที่กินบนลานหินบางคนเลือกนอนเอาแรงหรือนั่งรับลม แต่ไม่ใช่สองหนุ่มหุ่นเฟิร์มอย่างอุ๊กะอั้มที่ประเดิมน้ำใสด้วยการเล่นน้ำล้างเนื้อล้างตัวอยู่นับชั่วโมงก่อนฝนจะลงเม็ดเบาๆ

มาไล่ให้ขึ้นจากน้ำ คืนนี้เสียงเพลงอาจเหงาๆ ด้วยความอ่อนเพลีย แต่รีเจนซี่เดินทางไปขวดที่สามแล้ว….

วันที่สองบนแก่งยาวอากาศโปร่งสบาย แดดสายๆ ลมอ่อนๆ เหมาะจะนอนฟังเสียงน้ำเซาะแก่งบนเปลอย่างยิ่ง พี่แขกสะพายกล้องไล่ถ่ายผีเสื้อแสนสวยหลากชนิดเพราะช่วงเดือนนี้เป็นเวลาที่ดอกไม้บานสะพรั่ง จึงคราคร่ำไปด้วยหมู่ภมรดอมดมเกสรรวมถึง…ผึ้ง แมลงที่มีสังคมเป็นอาณาจักรเช่นนี้ เวลานี้เป็นเวลาหาและสะสมอาหารให้นางพญารุ่นต่อไปแตกรังสร้างอาณาจักรใหม่ น้ำผึ้งเดือนนี้เขาจึงว่าหอมหวานนัก เลยมีลูกหลงให้เราโดนต่อยกันคนละหลายหมัด ทั้งที่ผึ้งก็ไม่อยากต่อยเราเพราะมันเองจะต้องตาย แต่ถ้าใครเผลอขยับตัวไปเบียดบี้มันก็ต้องเจ็บตัวกันไป ยิ่งเราไม่อยากมีเรื่องกับข้าราชการ แต่ก็โดน“ผึ้งหลวง” ต่อยอยู่ดี
กีฬาทางน้ำมีทั้งประเภทเดี่ยวคือพี่เก่งหามุมเหวี่ยงเบ็ดแลดูสายเบ็ดเป็นเส้นฉวัดเฉวียนคดโค้งเพลินตาดีแต่ได้ปลาหรือเปล่าไม่รู้นะ แกเดินไกลไปเรื่อยตามแก่ง นานๆ ทีกลับมาบ่นว่า “แย่เลย เดินก็ไกล แดดก็ร้อน ลืมน้ำไปกินซะได้” แล้วก็คิดได้เองว่าน้ำที่กินก็น้ำแก่งนั่นแหละ ส่วนประเภทกลุ่มก็ได้แก่คู่หูเล่นน้ำคู่เดิมกับพี่หวานเล่นน้ำกันตั้งแต่ก่อนเที่ยงจนบ่าย (ไม่รู้เวลาแน่นอน ลืมนาฬิกาไปได้เลย) เป็นสงกรานต์แบบแก่งยาวแล้วยังเป็นการหนีผึ้งที่มาตอมหาเกลือตามตัวเรา เล่นกันนานโขพี่หวานจำต้องขึ้นจากน้ำเพราะบอก”หนาว” ต่อมาพักใหญ่สองคู่หูก็พากันขึ้นด้วยเพราะบอก”ร้อน” ก็เล่นกลางแดดเปรี้ยงเดือนเมษายนที่พระอาทิตย์ทั้งเข้าใกล้และตั้งตรงกับบ้านเราอย่างนี้ ตกบ่ายเห็นวิ่งขอโลชั่นทาหลังไหม้ ทาไปซี๊ดอูย! ..ซี๊ดอูย…ไป เดี๋ยวคงพองแล้วกลับไปลอกเป็นแผ่นๆ ที่บ้าน
การสำรวจพืชพันธุ์ริมน้ำตอนแดดอ่อนๆ เราได้พบหวายตะมอยช่อขาวส่งกลิ่นอ่อนๆ ทั่วป่า เอื้องตะขาบขาว และกล้วยไม้ที่ไม่รู้จักจึงได้แต่ถ่ายภาพไว้
อาหารเย็นนี้ได้ปลาจาดฝีมือพี่เก่งมาให้แม่ครัวทั้งทอดและต้มยำกันเอร็ดอร่อย ปลาที่ได้มาก็เยอะแต่ยังรู้สึกกินไม่หนำใจสาเหตุจากเจ๊อ้อยตั้งต้นกินตั้งแต่ตอนทอดจนกินข้าวเสร็จ แล้วเกิดประโยคออกตัวทั้งที่ไม่มีใครว่าอะไร “อ้อยกินนิดเดียววว…”
กิจกรรมยามหัวค่ำแบ่งเป็นทั้งกลุ่ม คู่และเดี่ยว สามีภรรยารุ่นใหญ่พากันเดินหาถ่ายภาพชีวิตรอบแค้มป์ สามีภรรยารุ่นกลางพากันนอนแต่หัวค่ำ(เพื่อตื่นมาหิวรอบดึก) กลุ่มศิลปินอินดี้ก็ก๊งรีเจนซี่ไปงมเพลงไป จะมีก็แต่พี่หวานที่เดินไปมาคอยดูแลความเรียบร้อย ย่อยฟืนเข้ากองไฟ ต้มน้ำ จัดแจงตะเกียงแสงสว่าง จนดึกได้ที่จึงถึงรอบศิลปินอินเดียเล่นกล่อมเราบ้าง…

วันที่สามบนแก่งยาวเราชวนกันไปน้ำตก เดินไปตามแก่งแค่ไม่กี่ร้อยเมตรจะเห็นหินใหญ่ที่เป็นลานอยู่ดีๆ ทรุดตัวลงเป็นก้อนเล็กก้อนน้อย(ก้อนเท่าบ้าน) ให้น้ำที่ไหลมาเทลงในแอ่งเกิดเป็นน้ำตกเสียงอื้ออึง แรงน้ำนวดไหล่หลังดีนัก แต่เวลาเล่นต้องคุยกันให้น้อย เล่นนานเข้าเจ็บคอซะงั้น ที่ด้านบน พี่หวานก็ยังก่อไฟต้มมาม่ารอเผื่อใครหิว ต้มกาแฟไว้ตามธรรมเนียมแล้วยังหามะม่วงป่ามาให้ชิม รสชาตินั้นทั้งเปรี้ยวทั้งฝาดประหลาดดี
ที่หัวน้ำตกมีกอหวายแดงกอใหญ่หลายกอและยังมองเห็นกล้วยไม้ชนิดนี้กระจายไปตามยอดไม้หลายๆ ต้นริมน้ำจึงได้รู้ว่าหวายแดงไม่ได้มีที่ผากล้วยไม้เท่านั้นและอาจเป็นว่านอกจากจะกระจายพันธุ์ไปตามห้วยลำตะคองได้แล้วยังจะกระจายไปตามห้วยใสใหญ่ได้อีกด้วย…น่ายินดี
ว่าถึงพี่หวานของน้องๆ หรือน้องหวานของพี่ๆ หรือตาหวานของใครๆ ผู้ชายร่างเล็ก หน้าซื่อใส มีตาหวานฉ่ำเป็นพิษสงคู่กายออกฤทธิ์ละลายหัวใจ หลายค่ายหรือหลายการเดินทางที่ต้องยกตำแหน่งสุดยอดพี่เลี้ยงให้(บางสำนักระบุชัดลงไปอีกว่าสุดยอดพี่เลี้ยงฝ่ายหญิง? เพราะดูแลน้องๆ ผู้หญิงดีมากๆๆๆ) เราจะเห็นหวานคอยดูแลทุกคนและทุกอย่าง ตั้งแต่หาฟืนก่อไฟ หุงข้าว ต้มน้ำ เป็นลูกมือทำครัว ล้างถ้วยจาน ค่ำมาก็คอยดูแลฟืนไฟ ปัดกวาดรอบแค้มป์ ผูกโยงยึดเชือกหมุดที่หลวมคลายและอื่นๆ จิปาถะ ขึ้นเปลนอนเป็นคนท้ายๆ แต่ก่อนสว่างก็เห็นมาเติมฟืนพัดไฟแล้ว ที่เขียนนี้ ไม่ได้อยากให้ใครมาสู่ขอไปเป็นแม่ศรีเรือนหรอกนะครับ เพราะหวานเป็นชายทั้งแท่ง…(พิสูจน์แล้ว) แค่อยากบอกว่าถ้าไปเที่ยวกับหวานก็อย่าแย่งหวานทำงานเท่านั้นเอง พร้อมกันนั้นก็ยังต้องระวัง…หัวใจของคุณไว้ให้ดี….

เช้าวันสุดท้ายที่น่าใจหายแต่ก็พอให้หายใจโล่งเพราะรอดปลอดภัยจากฟ้าฝนไปได้ตลอด จึงอยากเสพบรรยากาศไว้ด้วยกิจกรรมอ้อยอิ่งต่างๆ นานา ถ่ายภาพ (พี่หน่องพี่แนท) ตกปลา(เก่ง) เล่นน้ำ(อุ๊ อั้ม) ชมวิว(อ้อย โก๊ะ) หุงข้าวทำกับข้าว (หวานเช่นเคย)
เราเริ่มเดินทางกลับตอนเที่ยงและใช้เวลาเดินสี่ชั่วโมงถึงภาคพื้น เป็นการลงถึงพื้นขณะฟ้ายังสว่างจ้าซึ่งน้อยครั้งจะเป็นอย่างนี้ ลาก่อนแก่งยาวอันงดงาม ร่มรื่น เย็น ใสและให้พลัง ตั้งใจว่าปีหน้าจะต้องมาอีกให้ได้
บันทึก ๒๕ เมษายน ๒๕๕๕ 

อ่าน แก่งยาว ปีก่อน ๆ
มื้อนี้หม้อสนาม ตอน ชมเดือนเยือนแก่งยาว

2 thoughts on “เพิ่มเว่วที่แก่งยาว

  1. ขอบคุณที่เพิ่มรูปและจัดรูปให้ครับ สวยจัง

    • ไม่เป็นไรครับพี่ … พี่แขกส่งรูปมาเพิ่มเติม